Skip to main content
sharethis

ภายใน 1 - 2 ปีนี้ เชียงใหม่จะมีโรงแรมหรู 5 ดาว เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 7 แห่ง เม็ดเงินลงทุนมากกว่ากว่า 10,000 ล้านบาท การเกิดขึ้นของโรงแรมทั้ง 7แห่งดังกล่าว คาดว่าจะมีจำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1,500 ห้อง

"แมนดาริน โอเรียลเต็ล ดาราเทวี เชียงใหม่" ทุ่ม 2,000 - 3,000 ล้านบาท เนรมิตโรงแรม 5 ดาวสุดเลิศหรูอลังการ ขนาด 65 ห้อง ตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่-สันกำแพง สำหรับโรงแรมแห่งนี้วางตำแหน่งเป็นโรงแรมอันดับ 1 ของโลก ซึ่งเตรียมเปิดให้บริการได้ต้นปี 2548 นี้

กลุ่มโรงงงานน้ำตาลมิตรผล ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงแรม "แชงกรี-ลา เชียงใหม่" ขนาด 250 ห้อง ความสูง 13 ชั้น บนเนื้อที่ 10 ไร่ ย่านถนนช้างคลาน มูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ราวกลางปี 2549 ด้านนักธุรกิจจากจังหวัดภูเก็ต เตรียมเนรมิตรีสอร์ตขนาด 120 วิลล่า มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท สถานที่อยู่ที่บ้านแม่ตะมาน อำเภอแม่แตง ภายใต้ชื่อ "คอนราด เชียงใหม่ แอนด์สปา" คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2548

กลุ่มเบียร์ช้าง ของนายเจริญ ศิริวัฒนภักดี เตรียมสร้างโรงแรมและคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ มูลค่าเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งอาจใช้ชื่อโรงแรมว่า "เลอเมอริเดียน ไนท์สแควร์" ความสูงของอาคาร 37 ชั้น จำนวนห้องพัก 480 ห้อง ตั้งอยู่ย่านไนท์บาร์ซาร์ ขณะที่ตระกูลชินวัตร เตรียมสร้างโรงแรมระดับ 5 - 6 ดาว โดยคาดว่าจะใช้ "เชนอมันบุรี" เลือกทำเลย่านถนนสายอำเภอแม่ริม มูลค่าเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

เช่นเดียวกับรีสอร์ทหรูกลางใจเมืองเชียงใหม่ ติดริมแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสถานกงสุลอังกฤษเดิม ภายใต้ชื่อ "เดอะ เชดีย์" มีจำนวนห้องพักทั้งหมด 40 วิลล่า มูลค่าเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ราวปลายปี 2547 และอีกกลุ่มทุนที่เป็นกลุ่มนักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่เอง ที่เตรียมสร้างรีสอร์ทระดับ 5 - 6 ดาว มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยวางแผนสร้างห้องพักเป็นห้องสวีตทั้งหมดจำนวน 100 ห้อง และคาดว่าจะใช้เชนแมนดารินสิงคโปร์เข้ามาบริหาร

นายวรพงษ์ หมู่ชาวใต้ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ กล่าวว่า ปัจจุบันโรงแรมระดับ 5 ดาวในจังหวัดเชียงใหม่มีเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งถือเป็นโอกาสทางการตลาดที่ดีของโรงแรมระดับ 5 ดาวที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ เพราะเชียงใหม่ยังขาดโรงแรมระดับนี้มาก ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวระดับบนที่มีกำลังซื้อสูงเดินทางเข้ามาเยือนเชียงใหม่มากขึ้นในอนาคต แต่อีกด้านหนึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งของธุรกิจโรงแรมจะต้องรุนแรงขึ้นแน่นอน อาจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้โรงแรมระดับต่ำกว่า 5 ดาวที่มีอยู่ในปัจจุบันจำเป็นต้องเร่งปรับตัวในหลายด้าน โดยเฉพาะการปรับมาตรฐานทุกด้านที่ต้องยกระดับให้สูงขึ้น ไม่ใช่แข่งขันโดยใช้ราคาเป็นตัวนำเหมือนในอดีต

ปัจจุบันโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่มีประมาณ 220 แห่ง มีจำนวนห้องพัก 14,000 ห้อง แยกเป็นจำนวนห้องพักดัดแปลงประมาณ 3,000 - 4,000 ห้อง โรงแรมระดับ 5 ดาวมีจำนวน 2 - 3 แห่ง ห้องพักประมาณ 600 ห้อง ที่เหลืออีก 60 % เป็นโรงแรมระดับ 3 - 4 ดาว และอีก 30 % เป็นเรือนแรม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงแรมระดับ 5 ดาวที่เตรียมทยอยเผยโฉมออกมาในเร็ววันนี้ คือสีสันใหม่ที่จะเข้ามาปลุกธุรกิจโรงแรมของจังหวัดเชียงใหม่ให้คึกคักขึ้นอีกครั้ง และคือตัวแปรสำคัญที่จะทำให้สนามการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มดีกรีความร้อนระอุขึ้นมาอย่างแน่นอน.

*************

"เชียงใหม่เป็นเมืองพิเศษ ตอนนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นช่วงขาขึ้น"

ด้วยอัตราเร่งการเจริญเติบโตของเมืองเชียงใหม่ จากแรงขับของโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณเกือบ 200,000 ล้านบาทในระยะ 5 ปีนับจากนี้ อันจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) เพิ่มมากขึ้นในอนาคต สิ่งที่จะตามมาคือจะส่งผลให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ - ลำพูน เพิ่มขึ้น

ในข้อเท็จจริงภาวะอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่จะเติบโตและขยายตัวอย่างที่มีการคาดการณ์กันไว้หรือไม่ "วัชระ ตันตรานนท์" นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่ - ลำพูน บอกว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเชียงใหม่ที่กำลังจะเติบโตขึ้นนับจากนี้ไม่ใช่แค่เฉพาะบ้านจัดสรร แต่รวมถึงคอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ หอพัก อาคารพาณิชย์ ที่จะเติบโตไปพร้อม ๆ กันทั้งหมดแน่นอน อย่างอาคารพาณิชย์ด้านหน้าโรงพยาบาลลานนาจำนวนหลายคูหาก็ขายได้หมดแล้ว ซึ่งธุรกิจอาคารพาณิชย์กำลังจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากหายไปจากวงการไปนาน 3 - 4 ปี

"ผมมั่นใจว่าธุรกิจนี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ไม่โอเวอร์ซัพพลายแน่นอน เพราะเรามีบทเรียนช่วงฟองสบู่เมื่อปี 2540 และคาดว่าปีนี้ธุรกิจนี้จะโตขึ้น 20% จากปีที่ผ่านมา ที่เชื่อมั่นอย่างนี้ก็เพราะมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่กล่าวไปแล้ว โครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ของภาครัฐที่มาลงเชียงใหม่เป็นตัวเร่งสำคัญ เชียงใหม่นั้นเป็นเมืองพิเศษ และเชียงใหม่ก็น่าจะเติบโตขึ้นอีกหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป"

โปรโมท "ฮับสุขภาพ" โกย 5 พันล้าน
ชู "สปา-นวดไทย" อัตลักษณ์ล้านนา

ศ.พญ.กรรณิการ์ พรพัฒน์กุล นายกสมาคมส่งเสริมบริการสุขภาพเชียงใหม่ เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของสมาคมในปี 2548 ได้กำหนดไว้เป็น 3 ส่วนคือ 1.โครงการประชาสัมพันธ์และการตลาด ได้แก่ เน้นการประชาสัมพันธ์สู่ตลาดสากล, การจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก, การสัมมนาสื่อมวลชนทุกแขนง, การพัฒนาระบบ Website และระบบข้อมูลต่าง ๆ, การจัดทำ VCD เป็นภาษาต่างประเทศ, การประชาสัมพันธ์ในการประชุมวิชาการนานาชาติ

2.โครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสู่สากล ได้แก่ การรับรองมาตรฐานโรงพยาบาล HA ISO, การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานบริการทันตกรรม, การประชุมสัมมนาวิชาการผู้ป่วยโรคหัวใจ, การพัฒนาแพทย์ทางเลือกสู่ตลาดสากล, การอบรมนวดแผนไทยแก่ผู้พิการทางสายตา, การตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ, การจัดทำแปลงสาธิตปลูกสมุนไพรปลอดสารพิษ, การตรวจประเมินสถานการประกอบการสปาและนวดไทย

3.โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรด้านภาษาอังกฤษ, การปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการเพื่อสุขภาพ, การประชุมพัฒนาอัตลักษณ์ล้านนาสปา, การพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้ประกอบ การอาชีพนวด, การประชุมเชิงวิชาการผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เป็นต้น

ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2547 พบว่าธุรกิจด้านสุขภาพทำรายได้ให้กับเชียงใหม่ 3,202 ล้านบาท สูงกว่าปี 2546ถึงร้อยละ 34 และในปี 2548 คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,850 ล้านบาท และในปี 2549 คาดว่าธุรกิจนี้จะมีมูลค่าถึง 5,000 ล้านบาท อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ การดำเนินงานให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย จำเป็นต้องสานต่ออย่างต่อเนื่อง และต้องมุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานด้านธุรกิจบริการสุขภาพให้ได้มาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก พัฒนาบุคลากรในแต่ละสาขา มุ่งเน้นการสร้างอัตลักษณ์ไทยล้านนาในธุรกิจสปาและการนวดแผนไทย พร้อมทั้งต้องประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกรู้จักธุรกิจด้านสุขภาพของจังหวัดเชียงใหม่ให้มากยิ่งขึ้น

จับตาฮับการบินเชียงใหม่

นับเป็นเวลา 2 ปีแล้วที่โครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้ท่าอากาศยานจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบินในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Aviation Hub) ตามดำริของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร มีความคืบหน้า เป็นรูปธรรม และคึกคักเป็นอย่างมาก

ล่าสุดมีการประกาศว่าเชียงใหม่จะเป็นศูนย์กลางการบิน หรือ HUB อย่างสมบูรณ์ในปี 2550

สถิติที่น่าสนใจที่สนับสนุนให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบินก็ยิ่งน่าสนใจคือ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2547 ว่า มีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่รวมทั้งสิ้น 1,354,273 คน แยกเป็นผู้โดยสารในประเทศ 1,175,838 คน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 178,435 คน ซึ่งเฉลี่ยแล้วมีจำนวนผู้โดยสารเดือนละ 123,115.73 คน และวันละ 7,523.74 คน ทั้งนี้จำนวนผู้โดยสารในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2547 นี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2546 ที่มีผู้โดยสาร 912,351 คนมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 441,922 คน

เรืออากาศโทสุธารา ห่วงสุวรรณ สรุปผลการดำเนินงานด้านการบริการของท่าอากาศยานเชียงใหม่ระหว่าง ต.ค.46-ส.ค.47 ว่า มีจำนวนเที่ยวบินจำนวน 18,423 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.19 มีจำนวนผู้โดยสาร 2,455,251 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.09 และมีปริมาณการขนส่งสินค้าจำนวน 22,645 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.87

ขณะที่นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เชียงใหม่ ยังจำเป็นจะต้องหาจุดขายโดยเฉพาะการมีแหล่งท่องเที่ยวหลัก ทั้งจากการปรับปรุงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเดิมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่จะใช้เป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาได้ตลอดทั้งปี เพื่อให้เชียงใหม่จะไม่ต้องมีไฮซีซั่นและโลว์ซีซั่นอีกต่อไป"

ทังนี้ จากการคาดการณ์ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ประเมินปริมาณจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานเชียงใหม่ว่า ในปี 2549 จะมีผู้โดยสารใช้บริการรวม 2.64 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศ 2.5 ล้านคน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1.43 แสนคน ในปี 2554 คาดว่า จะมีผู้โดยสารใช้บริการรวม 3.38 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศ 3.2 ล้านคน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1.86 แสนคน จำนวนสินค้า 2.98 หมื่นตัน และมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.94 หมื่นตัน ในปี 2559 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.13 หมื่นตัน และปริมาณสินค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.39 หมื่นตันในปี 2564

ในปี 2559 คาดว่า จะมีผู้โดยสารใช้บริการรวม 4.25 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศ 4.02 ล้านคน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2.36 แสนคน และในปี 2564 คาดว่า จะมีผู้โดยสารใช้บริการรวม 5.23 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศ 4.92 ล้านคน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 3.09 แสนคน

จึงเห็นได้ว่าโครงการผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบินนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มีหลายเรื่องที่จะต้องเร่งปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นฮับที่สมบูรณ์ในปี 2550 ทั้งระบบขนส่งมวลชน การพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัด ภาคเหนือ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเป็นระบบ รวมถึงการพัฒนาสู่ระบบการขนส่ง Logistics ที่มีประสิทธิภาพในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป.

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net