Skip to main content
sharethis

"รัฐบาลต้องรับผิดชอบและต้องดำเนินการกับผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย" ปากคำ "คุณหญิงอัมพร" มีศุข ปธ.อนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงตากใบ

------------------------------------------------

ประชาไท-21 ธ.ค. "ตามที่จะมีแถลงข่าววันที่ 21 ธ.ค.นั้นต้องขอเลื่อนไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากไม่อยากให้สังคมสับสน เพราะว่าคุณพิเชต เพิ่งส่งผลการสอบกรณีตากใบไปให้ทางนายกรัฐมนตรี ทางกรรมการสิทธิจะดูก่อนว่าถึงจังหวะเมื่อไร และจะแถลงเรื่องอะไร" คุณหญิงอัมพร มีศุข ประธานอนุกรรมการตรวจสอบกรณีตากใบ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับ" ประชาไท"

คุณหญิงอัมพรกล่าวว่า จะแถลงผลการตรวจสอบเหตุการณ์ตากใบหลังจากนายกรัฐมนตรีแถลงชุดของนายพิเชตแล้ว โดยทางกรรมการสิทธิฯจะคอยฟังข้อมูลจากการแถลงของนายกรัฐมนตรีเสียก่อนเพราะมีข้อมูลบางอย่างตรงกัน และไม่อยากให้สาธารณะชนเข้าใจผิดว่ามาแข่งกันทำ ทั้งที่ทางกรรมการสิทธิฯได้ตั้งกรรมการเป็นการภายในก่อนที่นายกฯจะตั้งชุดกรรมการอิสระฯ

หน้าที่ของกรรมการสิทธิฯคือ รวบรวมข้อมูลแล้วมาวิเคราะห์ดูว่าทำอย่างไรจะมาแก้ไขเยียวยาความทุกข์ร้อนผู้ที่ถูกผลกระทบ และหาวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีก ทั้งนี้ผลการสอบของกรรมการสิทธิฯ เสร็จไประดับหนึ่ง ซึ่งทางกรรมการสิทธิฯ ได้ทำหนังสือเพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาลแล้วว่ารัฐบาลควรจะทำหรือไม่ควรทำอะไร

ตัวรายงานฯ ที่จัดทำก็ไม่หนามาก มีประมาณ 19-20 หน้า โดยมีเนื้อหาตามที่กรรมการสิทธิฯ ได้สืบข้อมูลตั้งแต่ต้นว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นหน้า สภ.อ.ตากใบ ระหว่างการเคลื่อนย้าย ใครตายไปอย่างไรบ้าง การตายเพราะขาดอากาศระหว่างลำเลียงมีสาเหตุจากอะไร

ย้ำชัดไม่ก้าวก่ายตัดสินผิด/ไม่ผิด
"ในรายงานเราไม่ระบุชื่อผู้ที่รับผิดชอบ แต่ระบุว่าจะต้องมีคนรับผิดชอบ ส่วนใครจะรับผิดชอบบ้างไม่ใช่หน้าที่ของกรรมการสิทธิ ฯเพราะเราไม่ใช่กรรมการสอบสวนหรือกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจ สอบ เราไม่ใช่องค์กรที่จะไปเอาผิดกับใคร กรรมการสิทธิฯบอกแต่เพียงว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบและต้องดำเนินการกับผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย" คุณหญิงอัมพรกล่าว

การที่เราไม่ได้ระบุหน่วยงานเพราะว่าการระบุหน่วยงานก็เหมือนกับระบุชื่อคน ถ้าเราบอกว่าเป็นเรื่องของกองทัพภาคที่ 4 มันก็ต้องเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 การที่เราจะเสนอกับรัฐบาลไปโดยการระบุชื่อนั้นเป็นการล่วงล้ำเอกสิทธิ์และอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล

ที่ผ่านมาทางกรรมการสิทธิฯ เองมีหนังสือตั้งแต่สองวันหลังจากเกิดเหตุการณ์ตากใบ ขอให้รัฐบาลตรวจสอบว่า มีความผิดพลาดตรงไหน และแจ้งให้ประชาชนทราบ เพื่อให้ดำเนินการตามระเบียบพระราชกำหนดกฎหมายไป ซึ่งก็เป็นเรื่องของรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ทางกรรมการสิทธิจะแถลงข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี ให้กับทางสื่อมวลชนได้ทราบแน่นอน

ส่วนรายงานจริงๆนั้น จะแจกให้ในภายหลัง เพราะขณะนี้ ข้อมูลที่ได้ มีความสับสนในบางเรื่องเนื่องจากกรรมการสิทธิไม่แน่ใจว่า ข้อมูลที่ได้รับจริงแค่ไหน จึงต้องตรวจสอบข้อมูลในแน่ชัดอีกครั้ง

ทางกรรมการสิทธิไม่ได้ต้องการไปสั่งสอนรัฐบาล เพียงแต่เสนอรูปธรรมกับรัฐบาลในการทำงาน เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เช่น เรื่องปัญหาทางราชการที่มีการอ้างว่าข้าราชการเลือกปฏิบัติเพราะต่างศาสนา ซึ่งจริงบ้างไม่จริงบ้างนั้น รัฐบาลต้องแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องการเลือกปฏิบัติจากความต่างทางศาสนา แต่เป็นเรื่องการเลือกปฏิบัติทั่วไป

ไม่ฟันธง 78 ศพ ประมาทหรือจงใจ?
คุณหญิงอัมพรกล่าวว่า กรรมการสิทธิมีหน้าที่ตามกฎหมายและมีหน้าที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ที่ไหนสงสัยว่ามีการละเมิดสิทธิก็ไปทำ กรณีตากใบกรรมการสิทธิเห็นว่า มีการละเมิดสิทธิ การตายจากการเคลื่อนย้ายมีสาเหตุจากความประมาทไม่รอบคอบ ส่วนจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คิดว่ากรณีที่เกิดขึ้นไม่น่าจะตั้งใจ เพราะคิดไม่ออกว่าจะมาตั้งใจทำให้เกิดการตายอย่างนี้ทำไม

ขณะนี้กรรมการสิทธิฯกำลังดำเนินการด้านเยียวยา โดยได้เสนอรัฐบาลไปตั้งแต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นครั้งแรกว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะของรัฐบาลที่จะต้องช่วยผู้ที่ถูกผลกระทบ ผู้ตายไม่ว่าจะตายในลักษณะไหน บนรถ 78 คน หรือตายหน้าโรงพัก รวมทั้งหาสาเหตุว่าเป็นมาเช่นไร

ที่ผ่านมากรรมการสิทธิได้ติดต่อด้านมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด กองทัพ ตำรวจ รวมทั้งได้ไปเยี่ยมคนเจ็บในโรงพยาบาลเพื่อพูดคุยกับแพทย์ พยาบาล ผู้ได้บาดเจ็บ ครอบครัวผู้ที่ได้รับความบาดเจ็บ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ

จากการที่รัฐบาลบอกว่าจะช่วยเหลือ เช่น ใครตายก็จะให้เงินค่าตัวเท่านั้นเท่านี้ กรรมการสิทธิก็ไปติดตามดู เพราะข้อมูลสับสน เนื่องจากทางราชการบอกว่าได้สั่งการไปแล้ว แต่พอกรรมการสิทธิลงพื้นที่ไป ผู้เดือดร้อนบอกว่ายังไม่ได้รับ กรรมการสิทธิจึงพยายามติดต่อราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้

" เราพูดด้วยความเห็นใจ ด้วยความเป็นมิตร ไม่ได้ประณามหรือไปด่า ทำอย่างไรจึงไปเร่งกระบวนการให้ได้ตามที่รัฐบาลแถลงเอาไว้" คุณหญิงอัมพรกล่าว

เน้นเยียวยาญาติผู้สูญเสีย
ขณะนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในด้านกำลังใจ ในเรื่องจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นปัญหาหนักกว่าในเรื่องด้านกายภาพ อย่างครอบครัวของผู้ที่ตายหรือผู้ที่บาดเจ็บไม่ว่าในลักษณะใด ถ้าเผื่อมีความเคียดแค้น มีความขมขื่นมันก็เปิดช่องให้ผู้ที่เขาไม่ปรารถนาดีเข้ามาทำร้ายมากขึ้น อันนี้ก็เป็นโครงการระยะยาว ซึ่งทางกรรมการสิทธิได้พยายามบอกแก่รัฐบาล

นอกจากนี้กรรมการสิทธิฯยังได้พยายามประสานองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องเป็นการภายใน เพื่อจะได้ช่วยผู้ที่สมาชิกเขาตายหรือครอบครัวที่บาดเจ็บ หรือที่เคียดแค้น ขมขื่น ว่าจะเยียวยาอย่างไร ทั้งผู้นำศาสนา ครูบาอาจารย์ สมาชิกองค์กรประชาชนหรือNGOs จะมีหนทางช่วยได้อย่างไร

งานที่กรรมการสิทธิฯทำนั้นไม่ได้ต้องการให้ออกข่าวเพราะจะหาว่าเป็นการทำงานเอาหน้า ถ้าเที่ยวออกข่าวเป็นประจำ สังคมจะมีอาการหมั่นไส้ งานของกรรมการสิทธิฯเป็นงานที่ปิดทองหลังพระ หลายเรื่องที่กรรมการสิทธิฯทำ หากเปิดหมดอาจจะทำให้สถานการณ์เลวลงแทนที่จะดีขึ้น

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net