Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นับตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เราต้องยอมรับความจริงว่าสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุด เพราะได้เกิดการเข้าพบนายกรัฐมนตรีโดยนักวิชาการ 22 ราย, มีพระราชเสาวนีย์ในวันที่ 16 พฤศจิกายน, มีโครงการพับนกแห่งชาติ, เกิดการประกาศตั้งค่าหัวให้ผู้ก่อการร้าย,

ล่าสุด ลูกเสือชาวบ้านในสามจังหวัดภาคใต้เตรียมจัดการชุมนุมใหญ่ที่จังหวัดยะลา โดยคาดว่าจะมีผู้ร่วมชุมนุมหนึ่งแสนราย ในขณะที่รัฐบาลก็มีดำริจะออกกฎหมายพิเศษเพื่อต่อต้านผู้ก่อการร้ายโดยตรง

ถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ในช่วงนี้ กับสถานการณ์ในช่วงหลังกรณีตากใบ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ความตายในกรณีตากใบกระตุ้นให้สาธารณะแสดงความเห็นในเรื่องภาคใต้อย่างเต็มที่ ขณะที่หลังกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา รัฐกลับเป็นฝ่ายควบคุมญัตติสาธารณะเกี่ยวกับสามจังหวัดภาคใต้อย่างสมบูรณ์

หากคิดทบทวนให้ดี ความตายในกรณีตากใบเป็นชนวนให้เกิดเผชิญหน้าและขัดแย้งระหว่างคนหลายฝ่ายอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ, องค์กรประชาธิปไตย , วุฒิสมาชิก, ลูกเสือชาวบ้าน, ทหาร, กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ, หอการค้า, พระสงฆ์ , จุฬาราชมนตรี, ผู้ก่อความไม่สงบ, ประเทศเพื่อนบ้าน, สหประชาชาติ , cyber soldiers ตามเว็บบอร์ด ฯลฯ

แต่ถึงตอนนี้ ความขัดแย้งแนวราบระหว่างผู้คนอันหลากพวกหลายกลุ่มเหล่านี้ถูกแยกสลายให้หมดไป กลายเป็นความขัดแย้งเชิงเดี่ยวที่ทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่รัฐและคนกลุ่มที่รัฐเรียกว่า "ผู้ก่อความไม่สงบ" โดยตรง

พูดในเชิงเปรียบเปรยแล้ว ตากใบนำไปสู่ "บทสนทนาสาธารณะ" เรื่องสามจังหวัดภาค ใต้ แตกต่างจากสภาวะการณ์ในปัจจุบันนี้ ที่มีแต่ "รัฐ" ซึ่งผูกขาดนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้อยู่เพียงฝ่ายเดียว

น่าสนใจว่าขณะที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าท่านรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขับรถแท็กซี่หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย 22 ราย แต่ภายใต้กระบวนการรับฟังความเห็นนั้นเองที่เป็นต้นกำเนิดของ "ความเงียบ" ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

มองอย่างถี่ถ้วนแล้ว รัฐใช้อุบายหลายอย่างเพื่อกำจัดบทสนทนาสาธารณะเรื่องสามจังหวัดภาคใต้ เช่นพับนก, ตั้งกรรมการสมานฉันท์ , ให้ข่าวเกี่ยวกับเครือข่ายก่อการร้าย รวมทั้งอุบายอื่นๆ ที่สรุปโดยรวมแล้วก็คือการหันกลับไปหยิบยืมอาวุธทางถ้อยคำและความคิดที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพที่สุดของรัฐ นั่นก็คือความคิดเรื่องความเป็นชาติไทย

ชาติในความหมายปัจจุบันเป็นแนวคิดว่าด้วยการรวมกลุ่ม ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์เมื่อไม่กี่คริสต์ศตวรรษที่ผ่านมา และย้อนหลังไล่ไปได้ไม่เกินร้อยปีกว่าๆ ในสังคมไทย จึงไม่ใช่การรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นเองจากความจำเป็นตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่การรวมกลุ่มที่สืบทอดเป็นเส้นตรงมาแต่อดีต แต่เป็นการรวมกลุ่มที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่เอง

ชาติมีองค์ประกอบพื้นฐานที่หลากหลาย หมายถึงชาติ, ศาสนา และพระมหากษัตริย์ก็ได้ และในบางช่วงเวลา ก็อาจประกอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ได้อีก ชาติเป็นแนวคิดนามธรรม จึงจับต้องไม่ได้ แต่ฆ่าคนได้ สั่งคนให้ไปตายได้ และปรากฏตัวในรูปสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมหลายชนิดในชีวิตประจำวัน เช่นเพลง, ธง, กีฬา, กองทัพ, สถาบันการศึกษา , เครื่องดื่มชูกำลัง, หนังโป๊ ฯลฯ

ด้วยเหตุดังนี้ โลกทรรศน์ที่สังคมไทยมีต่อกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ และวีซีดีน้องแน๊ท จึงทำงานบนตรรกะความเป็นชาติแบบเดียวกัน นั่นคือกรรมการสมานฉันท์เป็นตัวแทนของ "สถาบันการศึกษาแห่งชาติ" จึง "เป็นกลาง" จนทุกฝ่ายต้องรับฟัง ขณะที่น้องแน๊ทนั้นถ่ายหนังกับนักแสดงต่างชาติมากเกินไป จึงเป็นอันตรายต่อ "วัฒนธรรมแห่งชาติ" ของไทย

ธงชัย วินิจจะกูล เคยกล่าวไว้ในคำบรรยายสำคัญของเขา เรื่อง "เรื่องราวจากชายแดน : สิ่งแปลกปลอมต่อตรรกะทางภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย" ว่าชาติไทยวางอยู่บนฐานคติว่าความรู้และตรรกะทางภูมิศาสตร์บางแบบ เป็น "ความจริง" อย่างไม่ต้องสงสัย และหากตั้งข้อสงสัยกับความรู้แบบนี้ ประวัติศาสตร์ก็จะถูกสงสัยท้าทายไปด้วย

ธงชัยเรียกความรู้ทางภูมิศาสตร์แบบนี้ว่า "ตรรกะทางภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์ไทย" (The Geographical Logic of Thai National History) ซึ่งแม้จะไม่ใช่ตรรกะชุดเดียวที่กำหนดประวัติศาสตร์ แต่ก็มีตรรกะชุดอื่นไม่มากนักที่มีบทบาทในลักษณะแบบเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ความคิดเรื่องความเป็นชาติไทยจึงมีทำงานภายใต้การคิดถึงชาติโดยกรอบคิดเรื่องอาณาเขตดินแดน

อย่างไรก็ดี ดินแดนไม่ได้เป็นฐานคิดเพียงอย่างเดียวของความเป็นชาติไทย เพราะฐานคติที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า "ดินแดน" ก็คือการยอมรับว่าชาติไทยเป็นของคนเชื้อชาติไทยอย่างไม่มีทางเป็นอื่นไปได้ ถึงขั้นที่หากคิดถึงชาติโดยออกไปจากกรอบอ้างอิงเรื่องเชื้อชาติแบบนี้ ความเป็นชาติไทยก็จะถูกสั่นคลอนและท้าทายอย่างรุนแรง

ทั้งหมดนี้ทำให้ความเป็น "เชื้อชาติ" เป็นปัญหาใหญ่ของชาติไทยตลอดเวลา จนกล่าวได้ว่าชีวิตประจำวันของคนไทยนั้น ส้องเสพ และพัวพันกับวาทกรรมความเป็นเชื้อชาติไทยไปทั้งหมด ทำให้คาราบาวแดงขายได้ เพราะพูดถึงปัญหาสำคัญของสังคมไทยเรื่องความเป็น "คนไทยหรือเปล่า" ของคนทั่วไป

แน่นอนว่าสังคมไทยไม่มีประวัติเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือนหลายสังคม จึงไม่ได้เป็นสังคมที่คลั่งเชื้อชาติ จนถึงแก่ฆ่าคนที่ผิดแปลกทางเชื้อชาติได้ เชื้อชาติที่ "ไม่ไทย" จึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องถูกกำหราบปราบปรามให้หมดสิ้นไป หากมีแต่เชื้อชาติที่เป็นภัยคุกคามดินแดนเท่านั้น ที่ถูกถือว่าเป็นอันตรายร้ายแรง

ถึงจุดนี้ ความเป็นชาติไทยจึงทำงานอยู่บนตรรกะที่สำคัญสองชนิด ตรรกะแรกคือตรรกะทางภูมิศาสตร์แห่งชาติ และตรรกะที่สองคือตรรกะเรื่องความเป็นเชื้อชาติแห่งชาติไทย นำไปสู่การคิดถึงชาติไทยในแบบแผนซึ่งเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งมีลักษณะทางเชื้อชาติอย่างชัดแจ้ง (ethno geographical territorial space) ไม่ใช่ชาติซึ่งปราศจากลักษณะทางเชื้อชาติในแบบหลายสังคม

ในตรรกะแบบนี้ ความผิดแปลกทางเชื้อชาติและดินแดนเป็นเรื่องอันตราย จนอาจทำให้ถูกฆ่าได้อย่างโหดร้าย ตัวอย่างเช่นการฆ่าและทำร้ายศพในวันที่ 6 ตุลา 2519 รวมทั้งความตายของคนเชื้อสายมลายูที่ตากใบ ซึ่งทั้งหมดนี้ตายโดยถูกถือว่า "ไม่ไทย" และเป็นตัวแทนของคนต่างเชื้อชาติที่หมายคุกคามดินแดนไทย

อย่าลืมว่าเนื้อหาส่วนแรกของเพลงชาติไทยนั้นประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า "ประเทศไทย รวมเลือดเนื้อ ชาติเชื้อไทย" ขณะที่เนื้อหาท่อนอื่นก็เชิดชูความสำคัญของการรบพุ่ง ถึงขั้นเรียกร้องให้คนเชื้อชาติไทยทั้งมวลนั้น "สละเลือดเป็นชาติพลี" ในกรณีที่เผชิญกับศัตรูผู้คิดร้ายคุกคามอาณาเขตและดินแดนทางภูมิศาสตร์ของไทย

อนึ่ง น่าสนใจว่าไม่มีท่อนไหนในเพลงชาติที่พูดถึงคำสำคัญอื่นๆ เช่น เสรีภาพ, ความเท่าเทียม, และสิทธิ แม้แต่นิดเดียว

กลับไปที่กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกที

นับตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงต้นปี และเกิดการเสียชีวิตของพลเรือนในกรณีตากใบ ความขัดแย้งระหว่างคนทุกฝ่ายก็ขยายตัวอย่างกว้างขวาง โดยที่เมื่อรัฐล้มเหลวในการจรรโลงสภาวะสันติต่อไปได้ ความขัดแย้งก็กลายเป็นความตื่นตระหนกอันเกิดจากความไม่รู้ว่าจะอธิบายเหตุการณ์ทั้งหมดว่าอย่างไรดี

สถานการณ์เหล่านี้คือสถานการณ์ที่ผิดปกติอย่างยิ่งยวด จึงเป็นสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้ความเห็นและทรรศนะทุกแบบเผยตัวออกมาได้อย่างเต็มที่ ทำให้มีการพูดถึงการแบ่งแยกดินแดนมากขึ้น รวมทั้งมีการพูดถึงการแทรกแซงโดยฝ่ายอเมริกามากขึ้น และแน่นอนว่ามีการเล่าลือข่าวสารและพงศาวดารฉบับกระซิบไปต่างๆ นานา

มองในแง่นี้ สถานการณ์ในช่วงหลังตากใบเป็นต้นมา ทำให้สังคมการเมืองไทยแทบจะตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน (state of emergency) ซึ่งรัฐไม่อาจแสดงอำนาจปกครองอย่างสมบูรณ์ได้ต่อไป

อย่างไรก็ดี ด้วยการประกาศอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่ากลุ่มก่อการร้ายคือฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ ความขัดแย้งในสังคมระหว่างคนหลากกลุ่มหลายฝ่ายอันเนื่องมาจากปัญหาภาคใต้ก็หมดไป กลายเป็นความขัดแย้งเชิงเดี่ยวที่รวมศูนย์อยู่ที่ชาติไทยกับอิสลามหัวรุนแรงข้ามพรมแดน

จริงอยู่ว่ามุสลิมก่อการร้ายนั้นอันตราย แต่ความรุนแรงในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะที่น่าจะเป็นอิสระจากการก่อการร้ายในความหมายสากลอยู่มาก ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสี่ข้อ

ข้อแรก ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งไม่มีประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทางศาสนาที่รุนแรงอย่างเห็นได้ชัดแบบโลกตะวันตก

ข้อสอง ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยองค์ประกอบทางสังคมที่ส่งผลให้ผู้คนไม่ได้แบ่งแยกฝักฝ่ายตามความแตกต่างทางศาสนาอย่างตายตัว แต่อาจแบ่งแยกด้วยเหตุผลอื่น และรวมกลุ่มโดยเหตุผลอื่นได้ด้วย เช่น ความยากจน ชาติพันธุ์ ความเป็นละแวก ฯลฯ

ข้อสาม การเผชิญหน้ากับรัฐไม่ได้ปรากฏแต่ในรูปของวินาศกรรมและเข่นฆ่า หากในหลายกรณียังแสดงออกในรูปของการชุมนุมและรวมกลุ่มในลักษณะต่างๆ จึงมีผู้คนที่เกี่ยวข้องโดยกว้างขวางและเปิดเผยเกินกว่ากลุ่มก่อการร้ายข้ามพรมแดนไม่กี่ราย

ข้อสี่ เป็นไปได้มากที่กลุ่มก่อการร้ายจะได้รับความสนับสนุนข้ามพรมแดนจากเครือข่ายก่อการร้ายสากล แต่คุณลักษณะทางชาติพันธุ์ของเครือข่ายก่อการร้ายสากลก็เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวในสามจังหวัดภาคใต้อยู่มาก จนต่อให้แม้จะมีความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายในความหมายสากล คนกลุ่มนี้ก็มีอิทธิพลได้แต่คนในแวดวงจำกัดเท่านั้น

แน่นอนว่าการก่อการร้ายเป็นอันตราย เพราะมุ่งทำลายระเบียบของสังคมโดยไม่สนใจว่าใครคือ "เหยื่อ" ของการก่อการร้ายนั้น รัฐจึงมีหน้าที่พื้นฐานในการต่อต้านการกระทำนี้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องตระหนักว่าการก่อการร้ายไม่เคยมีประสิทธิผลถึงขั้นผลักดันให้มวลชนต้านรัฐอย่างกว้างขวาง อันเป็นปรากฏการณ์สำคัญของสามจังหวัดภาคใต้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ต้นตอของความรุนแรงในภาคใต้ไม่ได้อยู่ที่การแทรกตัวของกลุ่มก่อการร้าย แต่อยู่ที่ความล้มเหลวในการสร้างชาติที่เป็นอิสระจากการผูกขาดทางชาติพันธุ์

(ตีพิมพ์ครั้งแรกในอะเดย์วีคลี่ วันที่ 10 ธ.ค.47)

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net