Skip to main content
sharethis

ตรวจสอบนาน...อย่าพาลลืม

เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว มีข่าวเกรียวกราวของ "มะละกอจีเอ็มโอ" ปนเปื้อนสู่แปลงเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียง จนกรมวิชาการเกษตรเข้ามาตรวจสอบ พร้อมทั้งยืนยันการปรากฏตัวนอกรั้วแปลงทดลองของมะละกอเจ้าปัญหา

จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ชุดหนึ่งเป็นชุดสอบสวนของกรมวิชาการเกษตรเอง
ส่วนอีกสองชุดเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการหลุดรอดของมะละกอจีเอ็มโอ และคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องสิทธิบัตร ซึ่งมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมด้วย

แต่ข่าวคราวความเคลื่อนไหวทั้งหมดเงียบหายเข้ากลีบเมฆ กลายเป็นปริศนาสาธารณะเฉกเช่นกรณีก่อนหน้า อย่าง "ฝ้ายบีที" ที่โด่งดังเมื่อปี 2542 แต่ถึงเวลานี้เมื่อเอ่ยถึงมัน น้อยคนนักที่จะจดจำได้

"ตอนกรณีของฝ้ายบีทีก็มีการตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบซึ่งก็พบสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แล้วกรมวิชาการเกษตรก็ประกาศว่ามีแค่แปลงเดียวที่หลุดออกไป ทำลายแล้ว หลุดไปอย่างไรก็ไม่มีการพิสูจน์ ไม่มีผู้ผิด ไม่รับผิดชอบ ไม่จัดการต่อไป 5 ปีผ่านมา ฝ้ายบีทีปลูกเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ ผิดกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลก็ไม่ทำอะไรเลย ทั้งที่กฎหมายกักพืชก็มีอยู่แล้ว" เดชา ศิริภัทร จากมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งเคยเป็นกรรมการตรวจสอบกรณีฝ้ายจีเอ็มโอยืนยันเช่นนั้น

หลายองค์กรได้หยิบยกเหตุการณ์ปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอสู่ธรรมชาติ เพื่อขัดขวางการเดิน หน้านโยบายของรัฐบาล ที่กำลังจะอนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอในแปลงทดลองระดับไร่นา และเปิดเสรีการนำเข้าสินค้าจีเอ็มโอ เพราะการปนเปื้อนครั้งนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า การควบคุมการปนเปื้อนนั้นเป็นไปได้ยาก แม้แต่ในแปลงทดลองที่มิดชิดรัดกุม

อย่างไรก็ตาม การยุตินโยบายดังกล่าวก็เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นไปเพื่อการศึกษา รวบรวมความคิดเห็นแล้วสร้างทิศทางนโยบายที่ชัดเจน หรือรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมพอให้ตัดสินใจเดินหน้าอีกครั้ง

เวลานี้จึงเป็นห้วงยามแห่งความอิหลักอิเหลื่อ ซึ่งจะส่งผลต่อข้อเสนอที่ คณะกรรมการเรื่องสิทธิบัตร จะต้องดำเนินการ เพื่อต่อรองกับมูลนิธิวิจัยมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตร 2 สิทธิบัตร

ดร.สุณี เกิดบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายชัดเจนว่า ฤทธิ์เดชของสิทธิบัตรหนึ่งในนั้นซึ่งมีนักวิจัยไทยร่วมประดิษฐ์ด้วย จะครอบคลุมสายพันธุ์ไวรัสใบด่างวงแหวนของไทยและของโลกที่มีอยู่ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ในผลสรุปการประชุมครั้งที่ 2 (12 ต.ค.47) ยังระบุชัดเจนว่า คำขอสิทธิบัตรนี้ครอบคลุมมะละกอทุกสายพันธุ์

ที่สำคัญ ยังมีการยื่นขอจดสิทธิบัตรอีกระบบที่เรียกว่า พีซีที (PCT : Partant Cooperation Treaty) ที่จะอำนวยความสะดวกในการคุ้มครองสิทธิใน 40 กว่าประเทศทั่วโลก

ประเด็นก็คือ จะทำอย่างไรเมื่อทรัพยากรของเรา กำลังจะกลายเป็นของคนอื่นโดยผ่านเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า "เทคโนโลยี"

ในเบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรพยายามหาทางออก โดยส่งจดหมายไปยังมูลนิธิวิจัยคอร์แนล ของมหาวิทยาลัยคอร์แนล เพื่อขอเป็นผู้ทรงสิทธิ์ร่วมด้วย (หรืออีกนัยหนึ่งคือการเป็นเจ้าของร่วม) ฐานที่ใช้ไวรัสสายพันธุ์ไทย ซึ่งดร.นงลักษณ์ ศิรินทุ นักวิจัยจากกรมวิชาการเกษตรนำไปทดลองร่วมที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลเมื่อปี 2537 จนหลังจากนั้น 21 เดือน จึงได้มะละกอจีเอ็มโอกลับทดลองต่อที่สถานีวิจัยพืชสวนต.ท่าพระ จ.ขอนแก่น

อย่างไรก็ดี ทางมูลนิธิฯ ได้ตอบปฏิเสธอย่างนิ่มนวล โดยให้เหตุผลว่า ดร.นงลักษณ์ ได้รับการพิจารณาว่ามาร่วมวิจัยในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยลัยคอร์แนล ภายใต้โครงการของคอร์แนล ซึ่งนี่เป็นวิถีปฏิบัติที่คอร์แนลใช้กับทุกประเทศทั่วโลก และเป็นนโยบายที่ใช้มายาวนานของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ดังนั้น ทางเลือกสุดท้ายในการปกป้องสมบัติของชาติคือการคัดค้านสิทธิบัตรจึงเกิดขึ้น โดยคณะกรรมการสิทธิบัตรทั้งหมดเห็นควรให้ค้าน แต่ระดับของการค้านนั้นมีประเด็นหลักที่เห็นแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ

อาจารย์เจริญ คัมภีรภาพ เป็นกรรมการคนหนึ่งที่มีความเห็นขัดแย้งกับผลสรุปของที่ประชุมคณะกรรมการ โดยเสนอว่าไทยควรคัดค้านการยื่นขอจดสิทธิบัตรของคอร์แนลในระดับลึกที่สุด เพราะการวิจัยนี้ได้กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ซีบีดี)

ซีบีดีระบุว่า เมื่อประเทศใดต้องการนำสารพันธุกรรมของประเทศหนึ่งไปทำการทดลองเพื่อการค้า ต้องมีการขออนุญาตล่วงหน้า และปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งต้องตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมกับเจ้าของประเทศ ดังนั้นสิทธิบัตรนี้จึงไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น

โดยอาจารย์เจริญระบุชัดว่า ได้เสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการ และทุกคนเห็นด้วย แต่ผลสรุปการประชุมออกมาโดยที่เรื่องนี้กลับเป็นความเห็นส่วนตัว และไม่ถูกนับเป็นข้อสรุปของที่ประชุม

ส่วนผลการประชุมครั้งล่าสุด (ครั้งที่2) นั้นระบุว่า ประเทศไทยควรยื่นคัดค้านด้วยเหตุผลที่ว่างานประดิษฐ์นี้ "ไม่ใช่เรื่องใหม่" โดยเคยมีการตีพิมพ์งานประดิษฐ์ใน Gene Bank และ State Pacific gernal แล้ว ทั้งนี้ เพราะการจะยื่นขอจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ใดๆ ได้ต้องมีคุณลักษณะ 3 ประการหลัก คือ ความใหม่ ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และการประยุกต์ใช้ได้ในทางอุตสาหกรรม

ที่ประชุมยังเห็นว่า การดำเนินการคัดค้านควรดำเนินการโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จะเหมาะสมกว่าให้เป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะเกรงจะเสียความสัมพันธ์ในโครงการวิจัยต่างๆ ที่มีร่วมกันมายาวนาน

นอกจากนี้ยังมียังเห็นควรให้มีการทำบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู (MOU : Memorendom Of Understanding) ในเรื่องการใช้สิทธิ์ต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศไทย และให้มีการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshop) โดยเชิญนักวิชาการ นักกฎหมายและผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็น

"ถ้าเราจะถือเอาเรื่องความใหม่มาคัดค้าน เราก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลในการยื่นต่อประเทศต่างๆ ที่คอร์แนลกำลังจะยื่นขอผ่านระบบพีซีที ซึ่งครอบคลุมกว่า 40 ประเทศ" อาจารย์เจริญกล่าว

ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการเขายังสะท้อนความเหนื่อยหน่ายต่อระบบราชการ ที่แต่ละส่วนงานดำเนินการอย่างหละหลวม และดูเหมือนจะไม่จริงจังกับการแก้ปัญหา ประกอบกับรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก

"เรื่องนี้ถ้าไม่ทำอะไร ประเทศไทยจะเสียหาย เพราะมันจะกลายเป็น president case หรือเป็นบรรทัดฐาน ที่เหมือนกับเรายอมรับการนำเอาพันธุกรรมจากไทยไปจดสิทธิบัตร รัฐบาลต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องติดตามคัดค้านการจดสิทธิบัตรให้ถึงที่สุด เพื่อไม่ให้พืชพันธุ์ภูมิปัญญาของไทยถูกนำไปจดได้โดยง่ายในอนาคต" อาจารย์เจริญกล่าว

การแก้ปัญหาโจรสลัดทางชีวภาพที่เกิดขึ้นนี้ แทบไม่ต่างจาก 10 ปีที่แล้ว ที่อาจารย์เริ่มทำงานด้านนี้ร่วมกับหลายหน่วยงาน พร้อมทั้งร่วมกันส่งเสียงเตือนรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่า

ดังนั้น ในฐานะของผู้ส่งเสียงเตือนและเฝ้าดูการแก้ปัญหาโจรสลัดชีวภาพของหลายรัฐบาลมาโดยตลอด อาจารย์เจริญเสนอว่า การจะแก้ปัญหาให้ได้ผลต้องสังคายนาทั้งระบบที่เกี่ยวกับการจัด การทรัพยากรชีวภาพ โดยควรจะมีการออก พ.ร.บ.ควบคุมการเข้าถึงทรัพยาการพันธุกรรม โดยตรง และวางระบบแน่นหนาเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้เสียค่าโง่ต่อไปในอนาคต

"การจัดการยังย่ำอยู่กับที่ ในขณะที่เปิดประตูบ้านอย่างโล่งโจ้ง ทั้งที่เรื่องนี้ใหญ่กว่านารายณ์บรรทมสินธ์เสียอีก เพราะมันคืออาหารลูกหลานในอนาคต" อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย

ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาอย่างไร หวังว่ากรณีนี้จะไม่ซ้ำรอยของฝ้ายบีที ที่เป็นประเด็นขึ้นมาเพื่อที่จะหายเงียบไปอย่างไร้ร่องรอย

เพราะ "มะละกอ" เป็นอาหารสำคัญของคนทั้งชาติ ตราบเท่าที่ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์สำนักไหนกล้ายืนยันถึงความปลอดภัยในระยะยาวของอาหารจีเอ็มโอ และตราบเท่าที่การควบคุมการปนเปื้อนไปสู่ธรรมชาติยังมีปัญหา ที่สำคัญ กรณีนี้เพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นด้วยสิทธิอำนาจจากต่างชาติที่จะเข้ามาจัดการกับทรัพยากรชีวภาพของไทยอย่างถูกต้องชอบธรรม

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net