Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง กับความหวังของประชาชน" (คลิกที่นี่เพื่ออ่านข่าวย้อนหลัง) ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ อาคารบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย สุนันท์ ศรีจันทรา ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จินตนา แก้วขาว กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ่อนอกหินกรูด อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ และนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฮาวายอิ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


โดยผู้อภิปรายคนแรก คือ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และอดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้มีมุมมองต่อ "รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง กับความหวังของประชาชน" ดังนี้



 


000


 



 


เรียนท่านคณบดี ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมต้องขออภัยที่ต้องขอพูดเป็นคนแรกและพูดจบแล้วอาจอยู่ฟังได้สั้นๆ ก็ต้องไป เพราะมีงานแทรกเข้ามาและไม่สามารถปฏิเสธไม่ได้ คือ 111 พบประชาชน ฟังดูเหมือนเยอะเพราะมีตั้ง 111 คน จริงมีผู้พูด 2 คน พิธีกร 1 คน ถ้าผมไม่ไปจะเหลือผู้พูดคนเดียว จึงขอพูดก่อน ทั้งที่จริงตั้งใจจะอยู่ตลอดงาน


 


จากหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง กับความหวังของประชาชน" ความจริงเป็นหัวข้อที่น่าจะมีการพูดกันมากๆ ช่วงที่มีการเลือกตั้งมักจะมีคำถาม และมีคำตอบ ที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย โดยเฉพาะประชาชนที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะต้องคิด ทำไมถึงเลือกอย่างนั้น ก็ธรรมดา เมื่อมีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้ง คนก็ควรจะคิดกันง่ายๆ ก็คือจะไปเลือกพรรคไหนดี และจะไปเลือกใครดี ใครชอบใคร ใครชอบผู้สมัครคนไหนก็ไปเลือกคนนั้น ใครชอบการเมืองไหนก็อยากไปเลือกพรรคนั้น นี้หมายถึงเป็นเรื่องในภาวะปกติธรรมดาของการเลือกตั้งในประเทศต่างๆ ซึ่งเมืองไทยก็เคยผ่านการเลือกตั้งเช่นว่านี้มาหลายครั้ง


 


ชาวบ้านก็มีคำถามแบบนี้ พรรคไหน ผู้สมัครคนไหนเป็นอย่างไร เคยเห็นหน้าไหม นับญาติกันมากไหม ถ้าเป็นเรื่องซื้อเสียงก็ใครจะจ่ายเงินเท่าไหร่ นั่นคือเกิดมาแล้วหลายครั้ง


 


แต่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ หลังจากเรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 สิ่งที่คนหวัง ไม่แน่ว่าจะได้ตามที่หวัง อยากได้รัฐบาลแก้ปัญหา มีผู้แทนเป็นปากเสียง แก้ปัญหาบ้านเมือง ชีวิตตนเองจะได้ดีขึ้น แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีมาหลังรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเคยพูดแล้วว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหามาก ผมเสนอว่าไม่ควรจะเห็นชอบในการลงประชามติ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจริง เขียนไว้ให้อำนาจผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมาจากการแต่งตั้งด้วยวิธีการต่างๆ รัฐธรรมนูญนี้ยังต้องการให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และมีโอกาสสูงจะได้รัฐบาลอ่อนแอ และไม่มีเสถียรภาพ


 


ในการลงประชามติ คนทั่วประเทศข้างมากเห็นชอบ ข้างน้อยไม่เห็นชอบ แต่คะแนนใกล้เคียงกันอย่างที่หลายๆ คนคิด เอาล่ะ ก็ผ่านไปแล้ว และก็จะมีการเลือกตั้ง


 


ทีนี้การเลือกตั้งที่ว่าชอบพรรคไหนก็ชอบพรรคนั้น ชอบคนไหนก็เลือกคนนั้น ถ้าพูดถึงพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย เราเคยมีการเลือกตั้งแบบที่คนไม่รู้จักพรรคการเมืองเลยด้วยซ้ำ เพราะยึดอำนาจกันมานาน ร่างรัฐธรรนูญกันนานสมัยก่อน พรรคการเมืองคืออะไรคนแทบไม่รู้จัก พอมีการเลือกตั้งก็เกิดพรรคใหม่ๆ ขึ้น ซึ่งยังไม่ทันเป็นที่รู้จักของประชาชน พรรคไหนเป็นพรรคไหน พรรคการเมืองคืออะไรคนยังไม่ค่อยรู้ ก็เน้นที่ผู้สมัคร ผู้สมัครก็สมัครกันหลายๆ ครั้งเข้า นักธุรกิจก็เข้ามาเล่นการเมืองมากขึ้น มีการซื้อเสียงมีบทบาทมากขึ้น แต่คนก็ยังสนใจที่ว่าชอบใคร ไม่ชอบใคร ใครจะอยู่กับใคร ใครจะให้ประโยชน์อะไรได้มากกว่า และมีแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น


 


มาในรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการเลือกตั้งหลังจากนั้นในปี 2544 และ 2548 การเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง คือ ประชาชนจะสนใจพรรคการเมืองมากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญมี ส.ส.ระบบสัดส่วน นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. พรรคการเมืองเข้มแข็งมากขึ้น มีการแข่งขันนโยบายสูง มันไปสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ บ้านเมืองกำลังแย่ และประชาชนต้องการผู้นำและนโยบายมาแก้ปัญหา


 


การเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 จึงมีลักษณะพิเศษ เกิดพัฒนาการที่ประชาชนไปคะแนนโดยเลือกพรรคการเมือง และให้ความสนใจนโยบายพรรคการเมืองมากเป็นพิเศษ หลายพื้นที่ของประเทศไทย การให้ความสนใจด้านนโยบายมีมากกว่าการซื้อเสียงด้วยซ้ำ ทีนี้พอมาคราวนี้ก็ทำท่าจะถอยหลังไปเยอะ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ หลายพรรคเป็นพรรคใหม่ นโยบายดูเหมือนจะคล้ายๆ กัน ที่สำคัญคือการแข่งขันทางนโยบายไม่เข้มข้นเท่าปี 2544 และ 2548


 


พรรคใหม่ๆ หลายพรรคไม่มีเวลานำเสนอ กกต.ก็ไม่ส่งเสริมให้ใช้เวลาผ่านสื่อ โดยเฉพาะวิทยุ โทรทัศน์ ไปออกทีวีก็นั่งเรียงกันเยอะแยะไปหมด จัดเวทีกลางก็มีคนมาฟัง 3 คน 5 คน 8 คน 10 คน หรือบางที่ก็ไม่มีเลย คนเลยไม่ทราบว่าพรรคการเมืองมีนโยบายแตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน


 


ที่สำคัญคือการเลือกตั้งด้วยนโยบายยังลดความสำคัญลงไปอีก นอกจากสภาพที่ว่านักการเมืองใหม่ เวลาที่ให้นำเสนอน้อย และนโยบายลดความสำคัญลงไปอีกด้วยเหตุที่ กกต. ก็ดี ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองก็ดี ไม่ค่อยเน้นให้ประชาชนสนใจนโยบาย ไม่ค่อยมีใครบอกให้ไปเลือกพรรคที่มีนโยบายที่ดี คนที่พูดนโยบายให้ฟัง เขาจะบอกว่าให้เลือกคนดี ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง เน้นอยู่แค่นี้ ทั้งๆ ที่การเมืองไทยพัฒนาไปมากแล้ว เลยขั้นนี้ไปแล้วพอสมควร ชาวบ้านโดยเฉพาะประชาชนภาคเหนือ ภาคอีสานที่ตื่นตัว เขาเข้าใจว่าต้องเลือกนโยบายพรรคการเมือง แต่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งกลับมาพูดให้เลือกคนดี ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง ถามว่าเลือกตั้งควรเลือกคนดีไหมก็ควรเลือก แต่คนดีนี้คืออย่างไร ต้องเลือกคนที่ถือศีล 5 ถือศีล 8 ไม่ดื่มสุรา ไม่เกเรหรือ ซึ่งในกฎหมายมันก็มีคุณสมบัติอยู่แล้ว ว่าไม่เคยทำผิด จำคุกมา ติดคุกมาต้องพ้นมาเท่าไหร่ๆ


 


แล้วสุดท้ายบ้านเมืองจะไปทางไหน จะบริหารไปอย่างไร ตามระบบรัฐสภาอย่างไร ต้องดูว่าพรรคการเมืองเขานำเสนอนโยบายอย่างไร นักการเมืองพูดนโยบายแล้วเขาพูดทำได้จริงไหม เราต้องดูประวัติความเป็นมาของพรรค แต่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองยังนำเสนอไม่ตรงกับหน้าที่และบทบาทการเลือกตั้ง คือต้องหาพรรคการเมือง หาคนเป็นรัฐบาลมาบริหาร หรือหาคนมาเป็นฝ่ายค้านมาถ่วงดุลกัน นื่คือมิติที่ค่อนข้างถอยหลัง


 


แต่ว่า ที่ยิ่งมีปัญหามากกว่านั้น ในการที่ทำให้การเลือกตั้งของเรายังไม่ใช่การเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายอย่างที่ประชาชนชอบ ที่สำคัญคือ การที่พรรคการเมืองซึ่งมีนโยบายต่างๆ กัน กำลังจับขั้วกัน หรือไม่จับขั้วกัน ด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่เหตุผลเพราะนโยบายเหมือนกันหรือไม่เหมือนกัน หมายความว่า เวลาพรรคการเมืองมาบอกว่าพรรคฉันมีนโยบายแบบนี้ 1 2 3 4 5… ประชาชนก็ฟัง ประชาชนอาจว่าเข้าท่าดี แก้ปัญหาฉันได้ แก้ปัญหาของประเทศได้ แก้ปัญหาภาคเหนือได้ หรือแก้ปัญหาเชียงใหม่ได้อะไรต่างๆ ประชาชนก็จะไปเลือก แต่ไปเลือกแล้วจะเจอปัญหาว่า พอไปดูข้อมูลจริงๆ แค่ติดตามข่าวสารที่นักการเมืองพูดกันเอง พรรคการเมืองที่ว่ามีนโยบายชอบใจ กำลังจับขั้ว สองพรรค หรือ สามพรรค ซึ่งนโยบายไม่ได้เหมือนกัน


 


แล้วถ้าอย่างนั้นจะไปเลือกพรรคนี้เพราะนโยบายแบบนี้ ความหมายก็ไม่ใช่การเลือกเพื่อนโยบายแล้ว เขาไม่สามารถดำเนินนโยบายของเขาได้แน่ เพราะเขาไปตกลงจับขั้วกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มีนโยบายต่างกัน ความหมายของการเลือกตั้งที่ว่าเลือกพรรคการเมืองเพื่อให้ได้นโยบายอย่างในอดีตก็หายไป ทีนี้ถ้าจับขั้วโดยใช้นโยบายเป็นตัวตั้ง เขามีนโยบายเหมือนกัน ก็ดีแล้ว ชัดเจนว่าเลือกขั้วนี้เข้าไป ได้นโยบายแบบนั้น แต่เวลานี้การจับขั้วเป็นเรื่องที่มีเหตุผลจากการเมืองก่อนมีรัฐธรรมนูญ คือมีเหตุผลมาจากการเมืองก่อนการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549


 


อย่างที่ท่าน พล.อ.สนธิ ขออนุญาตพาดพิง ท่านพูดลงหนังสือพิมพ์ว่าท่านมีบันได 4-5 ขั้น [1] ท่านพูดไว้ชัดเจนในขณะที่เป็นประธาน คมช. ว่าทั้งหมดต้องเป็นไปตามขั้นตอน คือ 1.การยุบพรรคจะต้องเกิดขึ้น เพราะคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตนรู้จักทุกคน มันเป็นความผิดทางกฎหมายเห็นๆ 2.คดีที่ผิดเรื่องการโกงกิน และการคอรัปชั่นจะปรากฏ 3.พรรคจะเริ่มแตก และวิ่งกระจัดกระจาย และ 4. เรื่องของคดีก็จะสิ้นสุด และไปสู่การลงประชามติของร่าง รธน. และการเลือกตั้ง


 


"การเลือกตั้งคราวหน้า จะต้องเป็นพรรคที่ทุกคนอยู่ในฝ่ายบริหาร จะต้องรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ประเทศไทย และสถาบัน ซึ่งขณะนี้เป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้ และผลผลิตของ คตส.กำลังจะบรรลุเป็นขั้น ๆ วันที่ 19 มิ.ย. ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด จะเห็นการตัดสินครั้งสำคัญ การประกาศการทุจริตครั้งสำคัญอีกวันหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่คดีอาญา"


 


"พอถึงการเลือกตั้งมีพรรคใหญ่อยู่ 2-3 พรรค เขาจะได้เป็นผู้บริหารประเทศ ซึ่งหมายถึงพรรคตรงข้ามกับพรรคการเมืองทุนที่ผ่านมา"


 


จะเห็นว่าการเมืองไทยก็พัฒนาตามที่ท่านพูดไว้เลย บันได 4 ขั้น


 


แล้วก็ต่อมามีเรื่องปรากฏในเอกสารลับ 2 ฉบับ เป็นข่าวเกรียวกราวอยู่เหมือนกัน แต่ฉบับที่ 2 เป็นข่าวน้อยกว่า แต่มีเนื้อหาร้ายแรงกว่า ฉบับแกรโดยสรุปเป็นเอกสารของหน่วยงาน คมช. เสนอต่อ ประธาน คมช. ซึ่งเป็น ผบ.ทบ. เสนอว่าต้องดำเนินการกับพรรคการเมือง นี่ในข่าวเปิดเผย เวลาเขาชี้แจงเรื่องแหล่งข่าวเขาไม่ได้ใช้คำว่าพรรคอะไร เขาจะบอกว่า "กลุ่มอำนาจเก่า" ต้องจัดการ "กลุ่มอำนาจเก่า" อย่างเป็นระบบ (24) ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น จำกัดการออกสื่อ ก็ต้องให้สถานีของรัฐเสนอมาได้แต่ต้องเสนอภาพลักษณ์ในภาพลบ พรรคอื่นเสนอเป็นบวก มีการจัดการเพื่อให้แน่ใจว่าพรรคการเมืองที่ไม่อยู่กับกลุ่มอำนาจเก่าจะได้เป็นรัฐบาล โดยย่อๆ ว่าอย่างนั้น ซึ่งต่อมาคณะกรรมการสอบสวนของ กกต. สอบสวน และเขาสรุปว่า อันนี้แสดงให้เห็นว่า คมช. ไม่เป็นกลาง และส่งเรื่องให้ กกต. วินิจฉัย กกต. ก็บอกว่าขอเอกสารบ้าง ก็เลื่อนเวลาไปเป็นวันที่ 11


 


แต่ในระหว่างนั้น คมช. ออกหนังสือชี้แจงถึง กกต. บอกว่าที่ต้องจัดการกับกลุ่มอำนาจเก่า พรรคการเมืองบางพรรค เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากการปฏิรูป เพราะปฏิรูปมาก็ต้องการจัดการกับกลุ่มอำนาจเก่า เพราะฉะนั้นจะจัดการต่อไปอีก จนกระทั่งว่าจะต้องจะสกัดพรรคการเมืองบางพรรค แล้วอ้างว่าที่เขาทำแบบนี้ เขามีสิทธิ มีอำนาจที่จะทำตามรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐธรรมนูญ ม.309 คุ้มครอง


 


ซึ่งผมเคยพูดแล้วที่นี่ เคยพูดแล้วว่า ม.309 ต่อไปจะมีปัญหา เพราะอาจจะมีคนอ้างเพื่อไปคุ้มครอง การกระทำของ คมช. คตส. ที่ผิดกฎหมาย พวกร่างรัฐธรรมนูญก็บอกว่าไม่ใช่ ม.309 คุ้มครองเฉพาะที่ถูกกฎหมาย เวลานี้ คมช. อ้างว่า คุ้มครองเขาที่ทำผิดกฎหมาย คือวางตัวไม่เป็นกลาง เขาจำเป็นต้องวางตัวไม่เป็นกลาง เพื่อให้การปฏิรูปการปกครองนั้นบรรลุผลสำเร็จสมบูรณ์


 


ประเด็นคือว่าจริงๆ ใช้อ้างคุ้มครองการกระทำที่ผิดกฎหมายไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้น คมช. อาจจะบอกว่าจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อช่วยกับพรรคการเมืองต่างๆ สู้กับกลุ่มอำนาจเก่าจึงจำเป็นต้องไปปล้นธนาคารก็ได้ ถ้าบอกว่าทำแบบนี้ได้ ก็จะอ้างว่าไปปล้นธนาคารได้ เพราะว่าวางตัวไม่เป็นกลางได้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 74 ฉบับปัจจุบันให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องวางตัวเป็นกลาง พ.ร.บ.เลือกตั้ง มาตรา 57 ก็ให้วางตัวเป็นกลาง ไม่ใช่เฉพาะหลังประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง แต่ต้องทุกขณะ


 


จะเห็นว่าในเอกสารฉบับนี้ ชี้แจงมาตรงรับสารภาพชัดเจน เขาไม่เป็นกลาง บางพรรคจะต้อง ตรงตามบันได 5 ขั้น 6 ขั้นอีกนั่นเอง


 


ที่น่าเป็นห่วงกว่านี้ คือ เอกสารลับฉบับที่ 2 ที่ไม่ค่อยพูดกันเท่าไหร่ [2] โดยย่อคือ ที่สรุปคำบรรยายของ ผบ.ทบ.ของพลเอกสนธิ ท่านมองพรรคการเมืองพรรคหนึ่งใช้ ประชานิยม ใช้เงินมหาศาล ให้ประชาชนนิยมผู้นำ ล้มล้างสถาบัน และมีแนวทางสงครามเย็น ท่านมองแบบนั้น ท่านว่าต้องมี 3 กลยุทธ์เกาะติด ซึ่งนั่นออกมาพูดบ่อยๆ และนี่เป็นการพูดกับพันโทขึ้นไปในกองทัพบก 3 กลยุทธ์เกาะติดเพื่ออะไร เพื่อแย่งชิงประชาชน แย่งชิงประชาชนไปทำอะไร ต้องทำสงครามประชาชน นี่คือ ผบ.ทบ.นะ ต้องทำสงครามประชาชน และกองทัพต้องร่วมกับทุกกระทรวงทำแผนยุทธศาสตร์ นักการเมืองเข้ามาบริหารต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ที่กองทัพร่วมกับปลัดกระทรวงทำไว้ นี่คือเนื้อหาของเอกสารลับฉบับที่ 2


 


ท่านจะเห็นว่า ถ้าทำแบบนี้ความแตกแยกไม่จบสิ้นแน่นอน และการเลือกตั้งหนนี้ก็เป็นการเลือกตั้งที่ฝ่ายผู้มีอำนาจกำหนดแล้วว่าใครเป็นรัฐบาล ไม่เป็นรัฐบาล เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้เป็นอิสระเสรีแบบทั่วโลก ไม่ใช่ free and fair election แล้ว นี่คือปัญหาที่ว่า "รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง กับความหวังของประชาชน" เป็นอย่างไร


 


ถ้าในส่วนผู้มีอำนาจ เขาคิดแบบนี้ เขาเขียนรัฐธรรมนูญก็มีวัตถุประสงค์แบบนี้ เลือกตั้งที่จะมีขึ้นก็มีวัตถุประสงค์อย่างนี้ ที่ผมไม่เห็นด้วยและเสนอประเด็นหนึ่งคือ ท่าน พล.อ.สนธิ ซึ่งท่านเป็นเจ้าของเอกสาร 2 ฉบับ อนุมัติให้ดำเนินการ ให้สกัดพรรคไหน ช่วยพรรคไหน และท่านเป็นคณะกรรมการรณรงค์ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง มันจึงไม่เป็นธรรม เพราะว่าขณะนี้ท่านมีความไม่เป็นกลางชัดเจนอยู่แล้ว ขนาดคนของสำนักงาน คมช. ยังบอกว่า ต้องไม่เป็นกลาง เพราะจำเป็นต้องทำให้การปฏิรูปการปกครองบรรลุผลสำเร็จ อย่างนี้แย่


 


นสพ.บางกอกโพสต์ วันนี้ [3] เป็นฉบับที่แปลกที่สุด ผมก็หาหนังสือพิมพ์ไทยดูทั้งหมดไม่เจอข้อความแบบเดียวกัน "Sonthi pins hopes on swing vote Hopes 'undecided' will turn against the PPP" ลงข่าววันนี้โดยย่อว่าท่านหวังว่าคนที่ยังไม่ตัดสินใจจะไม่เลือกพรรค พปช. และ พปช. จะได้แพ้ ในนี้มีข่าวค่อนข้างเยอะแปลกมาก ฉบับอื่นไม่ค่อยมี ธรรมดาบางกอกโพสต์เมื่อก่อนลงข่าวช่วย คมช. เยอะ ตอนหลังนี้มาลงอยู่ฉบับเดียวก็เป็นเรื่องแปลก แต่นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ออ นี่ไม่เป็นกลาง


 


ความหวังของประชาชนอยู่ไหน ถ้าให้พูดสั้นๆ ขณะนี้ก็คือว่า มันก็ไม่ได้หมดหวังเสียทีเดียว การเลือกตั้งเป็นโอกาสที่ประชาชนจะไปตัดสิน ถ้าประชาชนไม่เอาตามนั้น ผลคะแนนจะเป็นอย่างไร ก็จะเป็นไปอย่างนั้น เผอิญว่าผมพูดอยู่กับผู้นำประชาชนที่ทำงานด้านองค์กรทางสังคมมาด้วยนะ (หมายถึงคุณจินตนา แก้วขาว ผู้ร่วมอภิปราย) คือถ้าไปเลือกตามปกติ เราก็ดูว่าพรรคไหนที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง แล้วไปดู ปรากฏว่าเขาอาจจะบอกว่าแก้หรือไม่แก้อย่างไร


 


แต่สุดท้ายการเมืองมันอยู่ที่ว่าเขาจะการจับขั้วทางการเมืองอย่างไร ซึ่งการจับขั้วทางการเมืองมันจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ประเด็นสำคัญของการเมืองในขณะนี้ ถ้าประชาชนจะมีหวังอย่างไร คงต้องวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง นอกจากจะดูพรรคไหนมีนโยบายอย่างไร ผู้สมัครคนไหนมีคุณสมบัติอย่างไรแล้ว ที่สำคัญก็คือว่าพรรคการเมืองต่างๆ กำลังจับขั้วกันอยู่ กำลังแบ่งข้างกันอยู่ด้วยเหตุผลอะไร


 


และสุดท้ายท่านเห็นด้วยหรือไม่กับที่ผู้นำ คมช. ซึ่งก็ยึดอำนาจมา อยู่เบื้องหลังโครงการเขียนรัฐธรรมนูญมา เสร็จแล้วยังมีแผนอย่างชัดเจน พูดไว้ ยอมรับอย่างชัดเจนว่าจะต้องสกัดกั้น ทำลายพรรคการเมืองหนึ่ง เพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองหนึ่งเป็นรัฐบาล จะได้บรรลุผลภารกิจของการยึดอำนาจ ซึ่งในความเห็นผมคิดว่านี่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี่ คุณยึดอำนาจ ล้มพรรคการเมือง ล้มรัฐบาล บอกว่ายึดอำนาจเสร็จแล้วจะคืนอำนาจให้ประชาชน จริงๆ คือต้องแล้วแต่ประชาชนตัดสิน แต่ไม่ใช่บอกว่า ภารกิจ คมช. ยังไม่สำเร็จ จะเสร็จต่อเมื่อตั้งรัฐบาลใหม่ และจะเสร็จต่อเมื่อสกัดกั้นพรรคการเมืองหนึ่งไม่ให้กลับมาสู่อำนาจได้ ถ้าอย่างนี้ไม่ใช่การเลือกตั้งตามหลักการระบอบประชาธิปไตย


 


ก็จะทำให้ประชาชนจะมีความหวังแค่ไหน ตอนนี้ต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับประชาชนเอาเท่านั้น ที่จะต้องตัดสินเอาเอง ขอบคุณครับ


 


หมายเหตุโดยประชาไท


[1] 'สนธิ'ให้รอฟัง'นายกฯ-คตส.'แถลงพรุ่งนี้ รู้ทันนปก.จุดไฟฟื้นระบอบเก่า, กรุงเทพธุรกิจ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2550


[2] เอกสารลับฉบับที่ 2 ที่จาตุรนต์พูดถึง น่าจะหมายถึงเอกสารฉบับที่ผู้ใช้นามแฝงว่านายประดาบ เขียนบทความเรื่อง "เปิดคำสั่งลับ "สนธิ" ทำสงครามประชาชน"  ลงในเว็บไซต์ไฮทักษิณ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2550 ที่ผ่านมา โดยผู้เขียนบทความอ้างว่าเอกสารลับมากฉบับนี้ออกมาจากส่วนราชการ ยก.ทบ. (กองนโยบายและแผน) เลขที่หนังสือ กห 0403/512 วันที่ 26 กันยายน 2550 เรื่อง สรุปการบรรยายพิเศษและการประชุมมอบโอวาทของผบ.ทบ. ให้กับ ผบ.หน่วยระดับกองพันขึ้นไป โดย พล.ต. อักษรา เกิดผล จก.ยก.ทบ. ทำถึง ผบ.ทบ. เพื่อขออนุญาตนำคำบรรยายของผบ.ทบ. ไปแจกจ่ายเพื่อนำไปยึดถือเป็นกรอบในการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างบูรณาการและเป็นเอกภาพ (คลิกที่นี่เพื่ออ่านเอกสาร 1 หรือ 2)


[3] Sonthi pins hopes on swing vote Hopes 'undecided' will turn against the PPP, WASSANA NANUAM SUBIN KHUENKAEW, Bangkok Post, Friday December 07, 2007


 


ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง


เสวนาที่ ม.เชียงใหม่ "เลือกตั้งในสถานการณ์รัฐประหาร", ประชาไท, 8 ธ.ค. 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net