Skip to main content
sharethis

วานนี้ (7 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ อาคารบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" จัดการเสวนาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง กับความหวังของประชาชน" มีผู้อภิปรายได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง สุนันท์ ศรีจันทรา ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ นางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ


 


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2540 การเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลง ประชาชนสนใจพรรคการเมืองมากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบสัดส่วน นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. พรรคการเมืองมีการแข่งขันนโยบายสูง สอดรับกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจขณะนั้น และประชาชนต้องการเลือกที่นโยบายของพรรคการเมือง


 


ดังนั้นการเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548 จึงเกิดลักษณะพิเศษ คือ ประชาชนเลือกพรรคการเมือง สนใจนโยบายพรรคการเมืองมากเป็นพิเศษ คนให้ความสนใจกับนโยบายมากกว่าการซื้อเสียง แต่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ทำท่าถอยหลังไปเยอะ หลายพรรคเป็นพรรคใหม่ นโยบายดูเหมือนจะคล้ายๆ กัน ที่สำคัญคือการแข่งขันทางนโยบายไม่เข้มข้นเท่าปี 2544 และ 2548 อีกทั้ง กกต. ก็ดี ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองก็ดี ไม่ค่อยเน้นให้ประชาชนสนใจนโยบาย ไม่มีใครบอกให้ประชาชนไปเลือกนโยบายที่ดี มีแต่ให้ประชาชนไปเลือกคนดี ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งประชาชนพัฒนาไปมากแล้ว ประชาชนภาคเหนือ หรือภาคอีสานตื่นตัว เขาเข้าใจว่าต้องเลือกนโยบาย แต่ผู้มีอำนาจกลับมาพูดให้เลือกคนดี คนดีก็ควรเลือก แต่ดีอย่างไร ไม่ดื่มสุรา ถือศีล 5 อย่างนั้นหรือ


 


นอกจากนี้พัฒนาการของการเมืองไทยทุกวันนี้ ยังเหมือนกับที่เผยแพร่ในเอกสารลับของ คมช. ที่เป็นข่าวเกรียวกราว มีการดำเนินการสกัดกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งถ้าผู้มีอำนาจยังดำเนินการเช่นนี้ความแตกแยกไม่จบสิ้นแน่นอน ถ้าผู้มีอำนาจกำหนดว่าใครเป็นหรือไม่เป็นรัฐบาล นี่ไม่ใช่หลัก free and fair election แล้ว


 


อีกทั้งวันนี้ นสพ.บางกอกโพสต์ พาดหัวว่า "Sonthi pins hopes on swing vote Hopes 'undecided' will turn against the PPP" มีรายละเอียดข่าวว่า อดีต ปธ.คมช. หวังว่าคนที่ยังไม่ตัดสินใจในวันเลือกตั้ง จะไม่เลือก พปช. จะได้แพ้ ซึ่งแบบนี้ความหวังของประชาชนจะอยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตาม ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว โดยหวังว่าประชาชนจะใช้การเลือกตั้งจะเป็นโอกาสตัดสินเอาเอง


 


นายสุนันท์ ศรีจันทรา ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาในการเลือกตั้ง ประชาชนรับเงินเพื่อไปลงคะแนนเลือกตั้ง ก็เพราะมีคนอยากจะรับ และมีคนอยากจะให้ ข้อเท็จจริงนี้ มีแต่คนโกหกเก่งเท่านั้นที่จะปฏิเสธ ยุคนี้เป็นยุคที่การเมืองสับสนมาก หลังการเลือกตั้งพรรคไหนมาก็ยุ่ง มองไม่เห็นทางออกจริงๆ


 


ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีนักการเมืองที่มีความจริงใจต่อบ้านเมือง มีแต่การทุจริตทำให้บ้านเมืองเสียหายทั้งระบบ มาแล้วก็ไม่แก้ปัญหา แถมทำเองอย่างโจ่งครึ่มด้วย ซึ่งในอนาคตถ้ายังเป็นเช่นนี้ บ้านเรามีแนวโน้มที่จะเป็นเหมือนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า สำหรับตัวเขาไม่รู้ว่าการปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ผิดหรือถูก แต่รู้ว่าก่อนหน้านี้การเมืองกำลังเข้าสู่ยุคการเผชิญหน้า และไม่รู้ว่าหากเกิดการนองเลือดขึ้น ตัวเขาจะต้องนั่งร้องไห้แทบฆ่าตัวตายเหมือน 6 ตุลาหรือเปล่า มันเจ็บปวด


 


นางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด กล่าวว่า การเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 นักการเมืองเอาผลประโยชน์ตัวเองตลอด ตัวหัวหน้าอาจรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน แต่ลูกน้องก็ไปมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนา ที่ผ่านมาชาวบ้านกรูด-บ่อนอก ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2540 จนชนะ แต่ชาวบ้านที่อื่นยังแพ้ เพราะกำลังไม่พอ ต่อมาก็มีการฉีกรัฐธรรมนูญ และเขียนรัฐธรรมใหม่ ซึ่งมีบางมาตราให้เสรีภาพกับชุมชน เช่น มาตรา 67


 


อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ ชาวบ้านก็ยังไม่มีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง เช่น ถูกกีดกันไม่ให้แสดงความคิดเห็น มีการจ้างนักเลงอันธพาลเตรียมสลายการชุมนุมของชาวบ้าน มีหน่วยงานความมั่นคงมากมาย ทำอะไรก็จะถูกหน่วยงานความมั่นคงคอยสอบถามความเคลื่อนไหว ที่น่าอดสูคือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม. มีเพิ่มประกาศพื้นที่กฎอัยการศึกในพื้นที่ๆ มีขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชาวบ้านใน จ.ประจวบคีรีขันธ์


 


"เรากำลังถูกกล่าวหาว่า คนที่ต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ไม่มีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยการคุกคามล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการวิ่งรถแห่รอบตลาด แจกใบปลิว บอกว่าให้ใช้ไม้ตอกตะปู ติดธงชาติ ทำร้ายพวกต่อต้านโรงถลุงเหล็กให้หมดเพราะพวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์" นางจินตนากล่าว


 


เมื่อถามว่า ชาวบ้านได้อะไรจากการเมือง ไม่ได้อะไร แต่เราไม่ปฏิเสธการเลือกตั้ง เราจะใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างรอบคอบ จะดูรอบด้าน ดูว่าหัวพรรคเป็นอย่างไร หางพรรคเป็นอย่างไร พรรคไหนมีทุนสนับสนุน สนับสนุนมีธุรกิจอะไร นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านประจวบคีรีขันธ์ต่อสู้มา 10 ปี ซึ่งเราไม่คาดหวังกับพรรคการเมืองทุกพรรค แต่ถ้าไม่มีแรงผลักดันช่วยกัน ชาวบ้านทุกที่ก็จะแพ้


 


รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ถ้าในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้พวกเราคิดเพียงแค่ เลือกพรรค ตัวพรรค เราก็ตกกับดักทางประวัติศาสตร์ ตนเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม ยังไม่ใช่คำตอบ และเกรงว่าจะเกิดความปั่นป่วนอย่างยิ่ง และจะมีอะไรประหลาดๆ เกิดขึ้นสร้างความเจ็บปวดต่อสังคม หวังน่าเราในฐานะประชาชน จะคิดให้ยาวขึ้น และลึกขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน และหลุดพ้นจากดับดัก


 


ขณะนี้การเมืองไทยยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระยะยาว นับตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน โดยขั้วหนึ่งเป็นการเมืองราชการ กับ ขั้วการเมืองของนักเลือกตั้ง และหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการอ้างอิงเบื้องสูงเยอะมาก ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการหวนกลับไปสู่ยุค พล.อ.เปรม ซึ่งไม่เหมือนยุคนั้นเสียทีเดียว โดยหลังรัฐประหาร 19 กันยายน ได้ทำให้ส่วนเสี้ยวของระบบราชการกลายเป็นผู้ตัดสินใจทางการเมือง ทำให้ความสามารถประนีประนอมเป็นไปได้ยาก ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้ ได้สร้างกลไกประหลาดๆ ขึ้นมา ทำให้ความสามารถในการประนีประนอมของกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นได้ยาก ดังจะเห็นจาก ความต้องการที่จะทำลายพรรคการเมือง และจะเกิดกดขี่ประชาชนอย่างหนักหน่วงมากขึ้น


 


ดังนั้นในการเลือกตั้ง ภาคประชาชนต้องทำให้กลไกการเมืองเป็นเครื่องมือของเรามากที่สุด อย่าได้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจทหาร หรือพรรคการเมืองใด ซึ่งถ้าทำไม่ได้ เราจะพบโศกนาฐกรรมครั้งสำคัญของสังคมไทย


 


นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ คือเป็นการเลือกตั้งในสถานการณ์ที่มีการยึดอำนาจและรัฐประหาร เกิดการเลือกตั้งที่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของพรรคพลังประชาชน และการเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการพยายามทำลายสถาบันการเมืองระบบรัฐสภา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ในช่วงก่อนและหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยก่อนรัฐประหารมีความพยายามทำให้สังคมไทยคิดว่าชนชั้นนำในรัฐสภาไม่เหมาะเป็นผู้นำเลย สนใจว่าทำไมสถานการณ์ที่สังคมเชื่อว่าคนดีไม่ได้อยู่ในสภา แต่อยู่นอกสภาเกิดขึ้นได้อย่างไร


 


มีนักวิชาการฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เป็นการรัฐประหารของระบบราชการ แต่ตัวเขาคิดว่ามันต่างจากรัฐประหารครั้งอื่น พลังหลักของการรัฐประหารไม่ได้อยู่ในระบบราชการ แต่อยู่นอกระบบราชการ ที่มีอำนาจมากกว่าระบอบอำมาตยาธิปไตย


 


ในกรณีสังคมไทย คนที่มีอำนาจ Ruling class แต่ไม่ได้ทำการปกครองด้วยตัวเองหลังรัฐประหาร เกิดขึ้นได้อย่างไร ก่อตัวขึ้นมาได้อย่างไร ถือเป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ ของการเมืองไทยหลัง 19 กันยา มีความพยายามทำให้คนบางกลุ่มมีอำนาจในการปกครอง โดยไม่ต้องแสดงตัวในที่สาธารณะ


 


นายศิโรตม์กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างถึงความประหลาดของ Ruling without governing เช่น มีข่าวที่ใหญ่มากช่วงอาทิตย์ก่อน คือเรื่องของนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เรื่องที่พูดที่ กทม. ว่าเชียร์นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีและบอกว่าตนเชื่อผู้ใหญ่ที่นับถือมา 30 ปีและจะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง แต่พอไปหาเสียงในภาคอีสานกลับบอกว่าไม่มีปัญหาในการร่วมกับพรรคพลังประชาชน


 


เรื่องนี้อาจไม่แปลกในเมืองไทย แต่เรื่องนี้จะประหลาดในอังกฤษ ถ้าคุณอยู่พรรคแรงงาน แล้วบอกว่าเรื่องให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้มีผู้ใหญ่ที่ผมนับถือ 30 ปี คุยกับผมไว้ ถ้าคุณผู้สมัครประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกาบอกว่า จะตั้งรัฐบาลแบบที่ผู้ใหญ่ที่ผมนับถือ 30 ปีคุยไว้


 


ซึ่งหากเป็นเมืองไทยจะไม่มีใครขำ เพราะการตัดสินใจตั้งรัฐบาลมันไม่ได้เกิดในรัฐสภา มันเกิดในกระบวนการนอกรัฐสภาออกไป นี่เป็นปรากฏการณ์น่ากลัวเพราะมันถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา ทั้งที่มันผิด และไม่เป็นประชาธิปไตย


 


"มันทำให้เห็นว่าการเลือกผู้นำประเทศไม่ได้ตัดสินด้วยเสียงของประชาชนแต่อยู่ที่การเจรจาตกลงนอกเหนือจากการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่คุยกันแล้ว ซึ่งจะทำให้คนไทยส่วนหนึ่งเห็นว่ามันเป็นการเลือกตั้งที่ไร้สาระ ไม่มีความหมาย สิ่งสำคัญในชีวิตของเรา มันถูกตัดสินจากการเมืองนอกการเลือกตั้ง แล้วเราจะไปเลือกตั้งทำไม" นายศิโรตม์กล่าว


 


การเลือกตั้งครั้งนี้จะชี้ชะตาอนาคตการเมืองไทยว่าจะให้รัฐสภาอยู่ในกระบวนการนอกรัฐสภา หรือนอกอาณัติของเราหรือเปล่า ผลการลงคะแนนจะส่งผลต่อการเมืองในอนาคต การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่จะกำหนดชีวิตของพวกเราเป็นเวลานานๆ


 


นอกจากนี้ในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ยังมีความพยายามร่างกฎหมายโดย สนช. เพื่อจำกัดสิทธิ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ร่าง พ.ร.บ.เซ็นเซอร์ ซึ่งกระบวนการนี้หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญ ทั้งที่ถ้ากฎหมายพวกนี้ผ่านมันจะส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ทำให้อำนาจเผด็จการเข้าไปอยู่ในห้องนอน ทำให้สถาบันที่อยู่นอกการเมือง เหนือการเมือง เข้ามาควบคุมชีวิตประจำวันของเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net