Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคใต้-30 พ.ย.47 รายงานข่าวจากพื้นที่ชายหาดบ้านวังงู หมู่ที่ 8 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างท่าเรือเพื่อขนอุปกรณ์โรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซียขึ้นฝั่ง ระบุว่า เวลาประมาณ 20.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาอารักขาการก่อสร้างท่าเรือดังกล่าว ได้เข้าสลายการชุมนุมกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย รอบสอง หลังจากมีการสลายการชุมนุมไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวานนี้ (29 พ.ย.)

รายงานข่าวในเบื้องต้นระบุว่า เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือเข้าสลายและจับกุมชาวบ้านที่กลับมาชุมนุมบริเวณจุดก่อสร้างท่าเรือฯ ทำให้ชาวบ้านแตกกระจาย โดยบางส่วนถูกจับกุม บางส่วนหลบหนีเข้าในหมู่บ้านวังงู ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ ซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวัน(30 พ.ย.) ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซียกว่า 200 คน ซึ่งถูกตำรวจ 200 นาย เข้าสลายการชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือ ที่บริเวณเดียวกันนี้ เมื่อคืนวันที่ 29 พ.ย.47 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 6 นาย ทยอยกลับมายังจุดก่อสร้างท่าเรือเผชิญ หน้ากับตำรวจเกือบ 200 นาย ที่เข้ามาอารักขาการก่อสร้างท่าเรือดังกล่าวอีกครั้ง

เวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่บริษัทซัมซุง เอนจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย ให้กับบริษัททรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด (ทีทีเอ็ม) ได้เข้ามาปรับสภาพพื้นที่ เพื่อเตรียมขนอุปกรณ์หนักไปยังโรงแยกก๊าซฯ โดยในทะเลบริเวณหน้าหาดมีเรือจอดอยู่ 2 ลำ มี 1 ลำ บรรทุกท่อขนาดใหญ่ ส่วนบนฝั่งมีรถปรับพื้นดินทำงานอยู่ 5 คัน

นายอำนวย ลายไม้ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์ บริษัท ทรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้รอการปรับสภาพพื้นที่ เพื่อให้เรือเข้าเทียบฝั่งได้ และแก้ปัญหาชาวบ้านที่ขัดขวางให้เรียบร้อยก่อน จึงจะนำอุปกรณ์แยกก๊าซที่อยู่บนเรือขึ้นไปติดตั้ง ในเขตก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร ซึ่งจะใช้เวลากว่า 6 วัน

นายอำนวย กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่า ตำรวจที่เข้ามารักษาความปลอดภัย จะตรึงกำลังนานแค่ไหน เพราะเป็นเรื่องของจังหวัดสงขลา บริษัท ทรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ทำถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง ทางราชการจึงต้องเข้ามาความคุ้มครอง

นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า ส่วนการใช้ที่ดินแปลงดังกล่าว บริษัท ซัมซุง จำกัด ได้ขออนุญาตกับกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี และองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชันแล้ว โดยเช่าที่ดิน 6 แปลง จากชาวบ้าน 1 - 2 เดือน เมื่อเสร็จสิ้นการใช้งาน จะปรับพื้นที่กลับสู่สภาพเดิม

นายอำนวย เปิดเผยว่า อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นอุปกรณ์หนักไม่สามารถนำเข้าติดตั้งที่โรงแยกก๊าซฯ ทางบกได้ มีจำนวน 6 ชิ้น แยกเป็นหอกลั่น 2 ชิ้น มีน้ำหนักชิ้นละ 500 ตัน ยาว 40 เมตร ที่เหลือเป็นอุปกรณ์ประกอบหอกลั่น อีก 2 ชุด ชุดละ 2 ชิ้น น้ำหนัก 100 และ 200 ตัน

ส่วนอุปกรณ์ประกอบโรงแยกก๊าซฯ อีก 80 ชิ้นนั้น นำขึ้นฝั่งที่ท่าเรือน้ำลึกสงขลาทั้งหมด โดยทยอยขนเข้ามาติดตั้งที่โรงแยกก๊าซฯ แล้ว

"ส่วนการก่อสร้างท่าเรือชั่วคราว ตรงจุดท่อก๊าซขึ้นจากทะเล ยกเลิกไปแล้ว เพราะไม่ต้องการมีเรื่องกับชาวบ้าน ประกอบกับที่ดินแปลงดังกล่าว มีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์อยู่ด้วย" นายอำนวย กล่าว

นายสักกริยา หมะหวังเอียด แกนนำคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 พ.ย. 47 นายณัฐพล ชูทอง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน ได้ทำหนังสือยืนยันกับกลุ่มคัดค้านฯ ว่า ยังไม่ได้อนุญาตให้บริษัทซัมซุง เอนจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน ก่อสร้างท่าเรือ

นายสักกริยา กล่าวว่า ตนจึงไม่เชื่อว่า มีการออกใบอนุญาตให้บริษัท ซัมซุงฯ ก่อสร้างท่าเรือ จนเป็นเหตุให้มีการนำกำลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคัดค้านฯ ถ้าได้รับอนุญาตจริง บริษัท ซัมซุงฯ ต้องนำหนังสืออนุญาตมาแสดงต่อชาวบ้านแล้ว การที่นายอำนวยอ้างว่า องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชันอนุญาต จึงเป็นการแอบอ้าง ตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมแกนนำคัดค้านฯ โดยเร็วที่สุด

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์ , มูฮำหมัด ดือราแม
ศูนย์ข่าวภาคใต้รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net