Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 19 พ.ย. 2547 -- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิสุขภาพไทยเรียกร้องให้ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งผลิตยาต้านไวรัสและยาที่จำเป็นต่อชีวิต แทนการผลิตครีมหน้าเด้งและครีมนมเด้ง และเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบผลิตภัณฑ์และการโฆษณาที่เข้าข่ายเกินจริง

กลุ่มองค์กรดังกล่าวทบทวนความทรงจำว่าองค์กรเภสัชกรรมซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงสาธารณสุข นั้น ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวกันของโอสถศาลาซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2444 กับโรงงานเภสัชกรรมซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2482 โดยวัตถุประสงค์ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตยาสำหรับใช้ภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพิงยาจากต่างประเทศ

การเตรียมผลิตครีมหน้าเด้ง นมเด้ง สะท้อนว่ากระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่ทำกำไร จนลืมภารกิจสำคัญขององค์การเภสัชกรรม

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ต้องรักษาระดับราคายาและเวชภัณฑ์ไม่ให้สูงขึ้น และรักษาคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน อีกทั้งต้องจัดหาเวชภัณฑ์ให้แก้หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามความต้องการของหน่วยงาน โดยไดรับสิทธิพิเศษให้รัฐต้องซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม

ทว่า การผลิตครีมหน้าเด้ง และนโยบายผลิตเครื่องสำอางอีกมากมายหลายชนิด อาทิเช่นครีมล้างมือ สารต้านอนุมูลอิสระสะท้อนถึงการบิดเบือนเจตนารมณ์องค์การเภสัชกรรมและกระทรวงสาธารณสุข

จากทรัพยากรต่าง ๆ งบประมาณถูกใช้ไปในเรื่องดังกล่าวจนไม่สามารถพัฒนาการผลิตยาที่จำเป็นต่อการมีชีวิต ซึ่งเป็นภารกิจหลักขององค์กร

ขณะนี้ ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อได้รับยาเพียง 50,000 คน ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อที่ควรได้รับยามากถึง 120,000-140,000 คน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับยามากถึง 70,000-90,000 คน ทว่ายาต้านไวรัสที่ยังไม่สามารถรวมอยู่ในระบบหลักประกัน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยมะเร็งที่ยังไม่สามารถใช้ยาที่ผลข้างเคียงน้อย เนื่องจากราคาแพง สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์

กลุ่มองค์กรดังกล่าวจึงเรียกร้องให้ดักระทรวงสาธารณสุขดำเนินการดังต่อไปนี้

ให้รีบเร่งดำเนินการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตยาและนำเข้าซ้อนกับยาที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศแต่มีความจำเป็นและราคาแพงมากในปัจจุบัน เช่น ยาต้านไวรัส ยารักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น

ต้องหยุดและไม่เป็นตัวอย่างในการโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความจริงกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ผลักดันไม่ให้นำระบบทรัพย์สินทางปัญญาเจรจาในระดับพหุพาคีและเจรจาเพิ่มเติมภายใต้ระบบทวิภาคี

กำหนดกำไรขั้นสูงของยาไม่ควรเกิน 3 % ในการจำหน่ายยาขององค์การเภสัชกรรมหรือบริษัทยากับที่จำเป็นเพื่อให้ผลิตยาตอบสนองต่อเป้าหมายในการใช้ยา หรือเข้าถึงยา

ให้ยกเลิกระบบสิทธิบัตรกับยาที่มีความจำเป็นต่อชีวิต(Live Saving)

ให้มีการรวมระบบบริการสาธารณสุขจากกองทุนต่าง ๆในปัจจุบัน ให้อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทำให้บริการสาธารณสุขของคนเท่าเทียมกัน

และให้มีองค์การควบคุมกำกับดูแลคุณภาพและราคายาที่เป็นอิสระ โดยประกอบด้วย ตัวแทนนักวิชาการ องค์กรผู้บริโภค ตัวแทนผู้ป่วยที่ใช้ยา

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net