Skip to main content
sharethis

"พญ.พรจิต จันทรัศมี" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี และ "นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสภ.อ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา เข้าให้ปากคำกับคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา

นพ.สุทัศน์ กล่าวถึงความรับผิดชอบในส่วนของรพ.นราธิวาส ว่า เมื่อทราบว่ามีการปะทะในช่วงเย็นจึงประกาศใช้แผนรองรับอุบัติเหตุฝูงชน โดยได้ส่งแพทย์ 2 คน และรถพยาบาลไปช่วยที่รพ.ตากใบ

หลังเหตุสลายการชุมนุม มีผู้ที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6 ราย และได้ส่งไปชันสูตรที่รพ.นราฯ โดยมีแพทย์ พนักงานสอบสวน อัยการ และตัวแทนมหาดไทย ทั้งหมด 4 คนร่วมชันสูตร แต่ไม่มีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิต

" ผมไม่ได้เป็นแพทย์ที่ร่วมชันสูตร จึงไม่เห็นศพและไม่ทราบผลการชันสูตร โดยเอกสารดังกล่าวจะอยู่ที่พนักงานสอบสวน และรพ.จะมีสำเนาเก็บไว้เท่านั้น" นพ.สุทัศน์ระบุ

นอกจากนี้ที่รพ.นราฯ ยังมีผู้บาดเจ็บจำนวน 8 คน ที่ถูกส่งไปรักษาตัว โดยเป็นตำรวจ 1 นาย กระสุนฝังที่ปอด และผู้ชุมนุม 7 คน โดยหนึ่งรายเสียชีวิตในวันถัดไปเนื่องจากกระสุนเข้าช่องปอดทะลุเส้นเลือดใหญ่ ส่วนที่เหลือได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดปืนบริเวณขา และมีลักษณะบาดแผลเหมือนเกิดจากของมีคม

อย่างไรก็ดีข้อมูลของผู้เสียชีวิตปรากฏในรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมฯ โดย นายศิวะ แสงมณี รองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) โดยระบุไว้ในขั้นตอนการสลายการชุมนุมว่า

เริ่มจาก ฉีดน้ำจากรถดับเพลิง 2 คัน เพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุม และยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อเตือนให้ผู้ชุมนุมสลายตัว ตามด้วยยิงแก๊สน้ำตาเพื่อขัดขวางมิให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง โดยห้ามใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในฝูงชน

เวลา 15.40 น. เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้จากการตรวจสอบพบว่า มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุมีบาดแผลรอยกระสุนปืนตามร่างกายรวม 6 คน (อยู่ติดกำแพง สภ.อ.ตากใบ 1 ศพ อยู่ห่างจากกำแพง สภ.อ.ตากใบ ออกไป 2 ศพ และพบที่ริมแม่น้ำตากใบ 3 ศพ)

เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร บาดเจ็บ 14 นาย(ตำรวจ 8 นาย ทหาร 6 นาย) จึงเริ่มทำการควบคุมผู้ชุมนุมเท่าที่จำเป็น ด้วยการผูกข้อมือไขว้หลังไว้ทุกคน นอกจากนี้จากการตรวจค้นหาในบริเวณพื้นที่ชุมนุมพบ ปลย. M16 จำนวน 4 กระบอก ปลย.AK 47 จำนวน 3 กระบอก กระสุนปืน M16 จำนวน 26 นัด กระสุนปืน AK 47 จำนวน 109 นัด ระเบิดขว้างจำนวน 1 ลูก และมีดพร้าวจำนวน 1 เล่ม (ซึ่งมีรายงานข่าวว่าค้นพบหลังจากการสลายการชุมนุม 1 วัน จากก้นแม่น้ำตากใบ)

ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน ยังปรากฏในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 27 ต.ค.47 ระบุว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่26 ต.ค. เจ้าหน้าที่ได้พบศพที่คาดว่า เป็นผู้ร่วมชุมนุม ถูกยิงด้วยอาวุธปืนอีก 3 ศพในแม่น้ำตากใบ

พันตำรวจโทภักดี ปรีชาชน รองผู้กำกับสอบสวน ส.ภอ.ตากใบ เองก็ยืนยันกับ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้ คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา นำโดยพล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงฯ ขณะที่เดินทางไปติดตามข้อเท็จจริงที่สภอ.ตากใบ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า

โรงพยาบาลชันสูตรแล้วพบว่าเป็นบาดแผลจากอาวุธปืน โดยส่วนใหญ่อยู่บริเวณศีรษะ ท้ายทอย มีเพียงศพเดียวที่มีบาดแผลบริเวณสีข้างซ้าย ส่วนคนอื่นๆบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ทางด้านเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บประมาณ 20 คน จากการถูกไม้และก้อนหินศีรษะแตก โดยมีตำรวจ 1 คนที่ถูกยิงบริเวณสีข้าง แต่ไม่ทราบชนิดอาวุธปืนเพราะกระสุนยังฝังอยู่ที่ปอด ปัจจุบันรักษาตัวอยู่ที่รพ.นราฯ

ขณะที่พญ.พรจิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานีกล่าวว่า คืนวันที่เกิดเหตุได้รับการประสานจากรพ.ค่ายอิงคยุทธบริหาร ว่าให้เตรียมรับผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งทยอยมาจนถึงช่วงตี 2-ตี 3 ทั้งหมด 17 คน

เช้าวันที่ 26 ต.ค.ได้ส่งทีมแพทย์ไปช่วยตรวจที่ค่ายอิงคยุทธฯ โดยมีผู้บาดเจ็บส่งมาเพิ่มอีก 12 คน จากนั้นวันที่ 27 ต.ค. รพ.ค่ายอิงคยุทธฯ ได้ส่งผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการไม่ปัสสาวะและขาบวมมาเพิ่มอีก 8 คน รวมผู้บาดเจ็บที่รพ.ปัตตานีทั้งหมด 37 คน

แยกเป็นผู้บาดเจ็บจากกระสุนปืนจำนวน 11 คน ซึ่งมี 2 คนที่อาการหนักโดยลูกปืนฝังที่ปอด ส่วนคนอื่นถูกส่วนอื่น เช่น แขน ขา นอกนั้นมีอาการบาดเจ็บลักษณะแผลถลอก แผลกดทับเหมือนไฟไหม้ กล้ามเนื้อบวมช้ำ

ส่วนกลุ่มที่มีการประเมินว่า อาจจะมีอาการไตวายเฉียบพลัน มีการฟอกไตชั่วคราว มี 14 คนและเนื่องจากเครื่องฟอกไตที่รพ.ปัตตานีมีเพียง 5 เครื่อง จึงส่งผู้บาดเจ็บที่ต้องฟอกไตไปรักษาที่รพ.นราฯ 3 คน รพ.ยะลา 2 คน และรพ.มอ.หาดใหญ่ 5 คน

โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่รพ.นราฯ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.พบว่ายังรักษาตัวอยู่ 5 คนพบว่า 3 ใน 5 คนถูกยิงขณะที่หมอบราบกับพื้นหน้าสภ.อ.ตากใบ ทำให้ได้รับบาดแผลจากกระสุนวิถีต่ำ

นายมหามะอาลี จาระแว อายุ 51 ปี กล่าวว่า เดินทางไปธุระที่ อ.ตากใบ และเห็นคนจำนวนมากจึงแวะเข้าไปดู แต่ติดอยู่ข้างในบริเวณสนามเด็กเล่นออกมาไม่ได้ จากนั้นเมื่อได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจำนวนมากจึงหมอบลงโดยก้มหน้าลงกับพื้น แต่ถูกยิงโดยวิถีกระสุนเข้าบริเวณด้านบนหัวนมด้านขวาทะลุปอดลงด้านล่างหัวนม

นายมะลือดี ยะโก๊ะ อายุ 39 ปี อาชีพประมง กล่าวว่าตนกำลังเดินทางไปรับแฟนที่ ต.ตาบา ซึ่งอยู่ห่างจากตากใบ 4-5 กม. ได้แวะดูเหตุการณ์จนเมื่อได้ยินเสียงฉีดน้ำและได้ยินเสียงปืนจึงก้มลง และถูกยิงเข้าด้านหลัง

เด็กชายแวดี มาโซ๊ะ อายุ 14 ปี ถูกยิงที่ใบหน้าและขา กล่าวว่าไปซื้ออะไหล่รถจักรยานยนต์กับเพื่อน ถูกยิงบริเวณศีรษะขวาไปทะลุตาข้างซ้ายทำให้ตาบอด และบริเวณขาซ้าย แต่พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย กล่าวว่ามารดาระบุว่าวันที่เกิดเหตุมีรถกระบะมารับลูกชายที่บ้าน

พญ.พรจิต ระบุว่าปัจจุบันยังมีผู้บาดเจ็บรักษาตัวอยู่ที่รพ.ปัตตานีเพียง 2 คน เนื่องจากต้องทำความสะอาดแผลป้องกันการติดเชื้อ นอกนั้นทยอยส่งกลับไปที่รพ.ค่ายอิงคยุทธฯ เพื่อสอบปากคำ จึงไม่ทราบรายละเอียดว่ายังรักษาตัวอยู่ที่ค่ายหรือไม่ ส่วนนพ.สุทัศน์ระบุว่า รพ.นราฯมี 1 คนที่ยังรักษาตัวอยู่เพื่อล้างไต

ในส่วนค่ารักษาพยาบาลใช้บัตร 30 บาท เนื่องจากผู้บาดเจ็บเป็นคน จ.นราธิวาสทั้งหมด ซึ่งเฉพาะรพ.ปัตตานีพบว่ามีค่ารักษาพยาบาลถึง 8 แสนกว่าบาท โดยผู้บาดเจ็บที่ถึงขั้นพิการนั้นก็ยังไม่มีคำตอบจากหน่วยงานใดว่าจะมีการดูแลอย่างใดหรือไม่

ดูเหมือนทุกฝ่ายจะตั้งคำถามกับความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ทหารในการขนย้ายผู้ชุมนุม ถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 78 ศพ แต่กลับไม่ติดใจกับผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตจากอาวุธปืนทั้งในที่เกิดเหตุและที่โรงพยาบาล

ถึงจำนวนผู้ที่เสียชีวิตระหว่างการขนย้าย เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ พร้อมกับที่หลายฝ่ายไม่ได้ติดใจกับจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตระหว่างการปะทะ โดยเฉพาะจากอาวุธปืนเนื่องจากมีจำนวนเพียงเล็กน้อย แต่ทั้งหมดยังเป็นเรื่องคาใจว่า กระสุนปริศนาที่ทำให้คนบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้นมากจากไหน จากฝั่งผู้ชุมนุมหรือจากเจ้าหน้าที่

และสำหรับผู้สูญเสียเหล่านั้น(ทั้งเจ้าหน้าที่และฝ่ายผู้ชุมนุม) ท้ายที่สุดใครจะเป็นผู้ชดเชยให้กับพวกเขา

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net