Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.50 ภายในงานประชุมเรื่อง "การเปิดเสรีการลงทุนใน JTEPA" ดร.วิลาวรรณ มังคละธนะกุล คณะเจรจาความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ไปทำความเข้าใจเพิ่มเติมกับญี่ปุ่นในประเด็นเรื่องสิทธิบัตรจุลชีพ และของเสียอันตรายนั้น ขณะนี้ได้ทำการเจรจาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องเสนอขึ้นไปยังครม.ต่อไป


 


ขณะเดียวกันก็มีรายงานข่าวว่า นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ระบุว่าพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในช่วงวันที่ 1-6 เม.ย. โดยจะมีการหารือในประเด็นความร่วมมือกรอบทวิภาคี พหุภาคี เศรษฐกิจ และการเมืองภายในของประเทศไทย  อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะมีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA หรือไม่ ต้องรอมติจากครม.ก่อน ซึ่งในวันอังคารที่ 27 มี.ค.นี้ จะนำเรื่อง JTEPA เข้าครม.ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องขยะมลพิษและสิทธิบัตรจุลชีพที่ได้ทำความเข้าใจระหว่างสองฝ่ายแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม ภายในงานสัมมนามีการอภิปรายในประเด็นของการเปิดเสรีการลงทุนและการคุ้มครองการลงทุน โดยเฉพาะ "การยึดทรัพย์ทางอ้อม" โดยรศ.ดร.ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชแสดงความกังวลว่า การยึดทรัพย์ทางอ้อมที่ปรากฏในข้อตกลงซึ่งต้องมีการจ่ายค่าชดเชยนั้น ยังไม่มีนิยามที่แน่นอน สามารถตีความได้กว้างขวาง หากลงนามจะทำให้รัฐไทยไม่มีอธิปไตยในการจัดการทรัพยากร เพราะถ้ากระทบนักลงทุนญี่ปุ่นมีโอกาสฟ้องร้องได้หากตีความได้ว่าเป็นการยึดทรัพย์ทางอ้อม ขณะที่นิยามของเขตการลงทุนก็กว้างขวางไปถึงทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ


 


ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย จากสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างว่า ปัจจุบัน "ฟูจิ ซีร็อกซ์"  มีการนำเข้าเครื่องถ่ายเอกสารเข้ามารีไซเคิลในประเทศไทยอยู่แล้ว หากลงนาม JTEPA ไปแล้วแล้วไทยออกกฎหมายควบคุมสิ่งเหล่านี้ในอนาคต กรณีนี้ก็อาจมีปัญหา โดยเฉพาะเป็นการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว


 


ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ ยังกล่าวอีกว่า เรื่องการคุ้มครองนักลงทุนยังมีการกำหนดว่ารัฐบาลไทยต้องรับผิดชอบต่อเอกชนหากมีความเสียหายจากการจลาจล ดังนั้นหากเกิดกรณีที่ชาวบ้านประท้วงโครงการดังเช่นกรณีของชาวบ้านบ่อนอก-บ้านกรูด ที่ประท้วงจนโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นร่วมทุนตั้งไม่ได้นั้น หลังลงนาม JTEPA แล้วรัฐบาลไทยก็อาจต้องชดใช้ให้นักลงทุนญี่ปุ่น


 


ส่วนความกังวลที่ว่าข้อตกลงนี้จะเปิดช่องให้มีการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ได้ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะขณะนี้สหรัฐและญี่ปุ่นกำลังพยายามใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจน (Hydrogen Base) มาแทนเทคโนโลยีคาร์บอน (Carbon Base) โดยพบว่าจุลินทรีย์ในประเทศไทยเป็นจุลินทรีย์ที่ดีที่สุดในกระบวนการแยกไฮโดรเจนออกมาจากคาร์บอนในน้ำมัน


 


ดร.วิลาวรรณ กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องการคุ้มครองการลงทุนว่า การใช้มาตรการทางสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์สาธารณะถือเป็นข้อยกเว้นที่มีการยกมาไว้ในข้อตกลงด้วย ดังนั้น หากมีการออกมาตรการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งไม่ได้กระทบให้เอกชนต้องปิดกิจการ ไม่มีทางถูกฟ้อง ส่วนเรื่องการประท้วงในพื้นที่โครงการ เป็นสิ่งที่กระทำได้ ไม่ได้ถือเป็นการจลาจล ส่วนการกำหนดการคุ้มครองการลงทุนในข้อตกลงก็คุ้มครองเฉพาะโครงการที่เปิดกิจการแล้ว ไม่ได้ให้การคุ้มครองก่อนที่จะลงทุน


 


รศ.สุริชัย หวันแก้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า วันที่สนช.ได้อภิปราย JTEPA นั้นมีข้อกังวลเพียง 2 ข้อคือเรื่องของเสียอันตรายและสิทธิบัตรจุลินทรีย์ แต่วันนี้มีความกังวลเพิ่มขึ้นในเรื่องการลงทุนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ควรจะได้เป็นข้อมูลการตัดสินใจต่ออนาคตของชาติ น่าจะต้องมีการทบทวนกันให้รอบคอบ


 


อนึ่ง ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์จะจัดเวทีใหญ่วิเคราะห์เนื้อหาร่างความตกลงที่มีผลกระทบกับคนไทยใน 4 ด้าน คือ ด้านเกษตร สาธารณสุข การลงทุน และสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นจะมีการชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อกดดันรัฐบาลให้ชะลอการลงนามออกไปก่อนจนกว่าจะมีการวิเคราะห์และแก้ไขสาระความตกลงอย่างรอบคอบ


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net