Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 26 ก.พ.2550 เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ห้องประชุม 210 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดเวทีการเมืองกินได้ เพื่อให้กลุ่มต่างๆ ในภาคใต้นำเสนอสภาพปัญหา รวมทั้งแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชน มีผู้เข้าร่วม 70 คน ประกอบด้วย ตัวแทนกลุ่มปัญหาและองค์กรภาคประชาชน 12 องค์กร นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน


 


นายบรรจง นะแส เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคใต้ อภิปรายว่า ปัญหาหลักๆ ของภาคประชาชนคือเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ซึ่งปัจจุบันสภาพของชุมชนและการเกษตรได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบในด้านการละเมิดสิทธิชุมชน ซึ่งโดยรวมแล้วรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาของชาวบ้านได้ แม้ว่าได้ให้สิทธิในการชุมนุมเรียกร้องอย่างสงบ แต่ปัญหาก็ไม่ถูกนำไปแก้ไข ในขณะที่คนที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว คือ ชนชั้นกลางและกลุ่มข้าราชการ


 


นายบรรจง เสนออีกว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านได้ ดังนั้นในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องมีหลายมาตรา แต่น่าจะระบุเฉพาะมาตราที่กล่าวถึงความเป็นชาติไทยเท่านั้น และกำหนดให้แต่ละพื้นที่ หรือภูมินิเวศสามารถมีธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาของตัวเองได้ เนื่องจากแต่ละภูมินิเวศมีความหลากหลายและแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น การออกกฎหมายฉบับเดียวแล้วใช้ครอบคลุมทั้งประเทศ จะไม่สามารถแก้ปัญหาของชาวบ้านได้


 


นายประสาท มีแต้ม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอให้สร้างความสมดุลกันระหว่างการเมืองภาคพลเมืองกับการเมืองในระบบเลือกตั้งหรือแบบตัวแทน โดยได้ยกตัวอย่างคำกล่าวของอมาตยา เซ็น ที่ว่า ประชาธิปไตย คือ การใช้เหตุและผล ไม่ใช่การเลือกตั้ง โดยต้องมีการเปิดเวทีให้มีการถกเถียงกันและตกลงร่วมกันอย่างมีกระบวนการ ส่วนจะมีกลไกอย่างไร ต้องมาถกเถียงกันด้วยเหตุและผล เช่น อาจใช้สื่อเป็นเวทีสาธารณะในการแสดงเหตุและผลโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นต้น


 


นายประสาท กล่าวต่อไปว่า การสร้างเวทีใช้ประชาชนได้ใช้เหตุผลมาถกเถียงและตัดสินใจ จะทำให้ให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งสำคัญมาก เพราะเป็นการฝึกให้สังคมไทยรู้จักเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ไปบีบบังคับคนที่เห็นต่างให้ยอมรับความคิดเห็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนกลไกจะเป็นอย่างไร ต้องมาคิดร่วมกัน อาจจะคล้ายกับการทำประชาพิจารณ์ แต่ต้องให้ทุกคนทุกฝ่ายมีความเท่าเทียมกัน


 


"ยกตัวอย่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ น่าจะกำหนดไปเลยว่า จะแก้ปัญหาเรื่องอะไร เช่น จะแก้ปัญหาเด็กไทยมีไอคิวต่ำ ก็ต้องเอาเด็กเป็นตัวตั้ง แล้วพิจารณาว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เราจะมีหลายเรื่อง เช่น การศึกษา การกินอยู่อาศัย การคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น" นายประสาท กล่าว


 


นายเลิศชาย ศิริชัย อาจารย์สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เสนอว่า การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้องนั้น น่าจะใช้มาตรการให้สังคมเข้ามาร่วมตรวจสอบและแก้ปัญหา แทนที่จะให้สถาบันใดสถาบันหนึ่งรับผิดชอบแก้ปัญหา เช่น สำนักงานปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น เพราะสถาบันเหล่านี้ไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net