Skip to main content
sharethis

สังคม ศรีมหันต์ : รายงาน


 


 


 


10 ธ.ค. 2549 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยโครงการเผยแพร่และช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย (คชปก.) จัดเวทีสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "บทบาทของภาคประชาชนกับการมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ"ขึ้น ณ ห้องประชุมสัตบรรณ โรงแรมอุบลบุรีรีสอร์ท อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งในการจัดงานในครั้งนี้มี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ครูผู้สอนวิชาสังคมศาสตร์ ผู้นำองค์กรภาคประชาชนและภาคประชาสังคมต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชน ในจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 80 คน เข้าร่วม


           


โดยที่ประชุมได้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันในประเด็นทบทวนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน เมื่อปี 2540 มีการสรุปบทเรียนพร้อมทั้งศึกษากระบวนวิธีขั้นตอนในการร่างรัฐธรรมนูญ ของสภานิติบัญญัติ ภายหลังจากนั้นสมาชิกผู้เข้าร่วมจึงได้เสนอความคิดกำหนดบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเฉพาะในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี


 


ในเวทีดังกล่าว มีความเห็นตรงกันว่า ข้อผิดพลาดหลายข้อของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นข้อผิดพลาดจากกระบวนการร่าง ตั้งแต่การคัดสรรบุคคลขึ้นเป็นสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้มีการเมืองไปแทรกอยู่เยอะ ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นต้องเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญของประชาชนทุกหมู่เหล่า ไม่ผูกขาดเฉพาะอำนาจรัฐและนักการเมืองแต่ฝ่ายเดียว ประชาชนก็เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องระบุอย่างชัดเจนในเรื่องสิทธิ์ของประชาชนให้มีสิทธิ์และกระบวนการเข้าถึงสิทธิ์นั้น เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบ การถอดถอน ถ่วงดุล และเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย


 


นางอัฐฌาวรรณ พันธุ์มี ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กรณีโครงการทุบทางเท้า การยกเลิกจุดผ่อนผันตลาดกกยาง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และการสร้างเตาเผาขยะติดเชื้อ กล่าวว่า เหมือนกับการสร้างบ้านสักหลังให้ทุกคนๆ สามารถอยู่อาศัยร่วมกันและมีความสุขในบ้านหลังนี้ร่วมกันได้ ทั้งที่วิถีชีวิตก็แตกต่างกัน ความสุขของแต่ละคนก็แตกต่างกัน ความชอบไม่เหมือนกัน พื้นฐานต่างกัน


           


ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตนเองไม่ได้มองว่าตัวรัฐธรรมนูญมิใช่หลักประกันของความเป็นประชาธิปไตย เพราะความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของตัวคนที่บังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ และการมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่มองว่าการเมืองหรือเรื่องประชาธิปไตยเป็นของนักการเมืองเป็นผู้เล่นการเมืองฝ่ายเดียว เป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบเดิมที่อิงพึ่งพิงกับขั้วอำนาจที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบคาราวานคนจน การปิดล้อมหนังสือพิมพ์เนชั่นจึงเกิดขึ้นในสังคมไทย


 


 "สังคมเปลี่ยนแปลงเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้อย่างแน่นอน ถ้าวัฒนธรรมทางการเมืองไม่เปลี่ยนไป ร่างทรงของการเมืองหรือร่างทรงของรัฐบาลทักษิณที่กลายพันธุ์ ดื้อยา ร้ายยิ่งกว่าเดิม ก็จะกลับคืนอำนาจมา ตัวรัฐธรรมนูญจัดการกับรัฐบาลแบบทักษิณไม่ได้ แต่วัฒนธรรมทางการเมืองจัดการได้" นพ.นิรันดร์ กล่าว


 


ทั้งนี้ ข้อสรุปจากที่ประชุมเสนอให้เรื่องการสร้างกฎหมายรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายแม่บท และต้องสร้างกฎหมายลูกที่สามารถสร้างความสมดุลภาครัฐกับประชาชนได้ กระจายอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบ มุ่งสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองของภาคประชาชนให้เข้มแข็ง เป็นตัวขับเคลื่อนสังคม


 


โดยเอาปรากฏการณ์ร่างรัฐธรรมนูญเป็นพลังขับเคลื่อนการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมคนอุบลราชธานี ผ่านการจัดเวทีขององค์กรพันธมิตร องค์กรประชาสังคม ของพื้นที่อุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายเสริมสร้างการเสร้างเสริมสุขภาพที่กระจายตัวอยู่ทั่วจังหวัด เครือข่ายนักวิชาการในสถาบันการศึกษา เครือข่ายชุมชนเมือง สื่อมวลชน และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ร่วมกันจัดเวทีแลกเปลี่ยนระดมข้อเสนอและความคิดเห็นจากประชาชน ลงพื้นที่ให้ข้อมูลกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอประเด็นต่างๆว่า ประชาชนต้องการอะไร รวบรวบจัดการให้เป็นระบบ ผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนทำงานคู่ขนานกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 200 คน ซึ่งคาดการว่ายังไม่มีไอเดียในการเสนอประเด็นในการร่างรัฐธรรมนูญ


 


นอกจากนั้น ในที่ประชุมยังได้เสนอให้ใช้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นจุดศูนย์กลางประสานเครือข่ายติดตามจัดระบบการทำงานร่วมกัน ซึ่ง ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ กล่าวว่า พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ อีกทั้งกล่าวว่าหากไม่งบประมาณเขาพร้อมสละเงินเดือนจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นงบประมาณดำเนินการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net