Skip to main content
sharethis

บทความโดย


จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ


พรรคแนวร่วมภาคประชาชน


 


 


เหตุผลหรือแรงบันดาลใจในการเขียนบทความเล็กๆ ชิ้นนี้ มาจากบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน ที่สิทธิเสรีภาพถูกพูดถึงกันอย่างมาก แต่ในทางปฎิบัติกลับรู้สึกว่า เสรีภาพนั้นเหลือน้อยเต็มที ถึงแม้ว่าจะมีการอ้างว่าทุกกลุ่มทุกองค์กรจะสามารถเคลื่อนใหวทางการเมืองได้ โดยอิสระ และปราศจากความรุนแรง แต่อีกด้านหนึ่งบรรยากาศแห่งความกลัวก็ได้ถูกสร้างขึ้นมาควบคู่กันไปด้วย ดังตัวอย่าง การให้สัมภาษณ์ของคณะรัฐประหาร รวมถึงแกนนำบางคนของภาคประชาชนเช่น สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย( ครป.) ที่สนับสนุนให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวที่ว่า


 


"แม้คนส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ก็ยังอยากเห็นรัฐบาลเร่งพิสูจน์ผลงาน นอกจากนี้การชุมนุมปรากฏว่าแกนนำบางคนไปโยงกับกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ทำให้มวลชนแคลงใจในตัวผู้นำชุมนุม ทำให้ที่ผ่านมาจึงมีผู้ร่วมชุมนุมไม่มาก ตนจึงเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีคนเป็นหมื่นในการชุมนุมวันที่ 10 ธ.ค. แต่ถ้ามีมากจริงก็เป็นเรื่องผิดปกติแน่ ว่ามีน้ำเลี้ยงหรือแรงหนุนจากอำนาจเก่าเข้ามาผสมโรงหรือไม่" 


 


ผมเป็นประชาชนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ไม่ยอมรับการทำรัฐประหารตั้งแต่แรก และคัดค้านรัฐประหารมาโดยตลอด ตั้งแต่หน้าสยามพารากอน จนถึงการชุมนุมในที่อื่นๆ ตามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์  แต่บ่อยครั้งผมก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการบางอย่างของบางคนที่ใช้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในครั้งนี้ เช่น กรณีแกนนำบางคนของเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ที่ไปถือป้ายประท้วง สุริยใส กตะศิลา กับ พิภพ ธงไชย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เพราะผมยังมีเส้นแบ่งเล็กๆ อยู่ในใจว่า คนเหล่านี้คงไม่ทรยศเรา และรวมถึงความคิดของผมที่ว่า ภาคประชาชนควรจะร่วมมือกัน ลดความขัดแย้งกัน และยังมีความเชื่อเล็กๆ ว่า คนเหล่านี้จะมาร่วมต่อสู้เพื่อไล่เผด็จการ และที่ผ่านมาเขาอาจจะผิดพลาดไปบ้างก็คงเป็นเรื่องปกติของมนุษย์เพราะคงไม่มีใครสมบูรณ์แบบ


 


แต่หลังจากบทสัมภาษณ์ของ สุริยะใส ที่กล่าวถึงข้างต้น ทำให้ผมรู้สึกว่า เส้นแบ่งที่ว่านั้น มันคงไม่มีเหลืออีกแล้ว เพราะสิ่งที่สุริยะใสพูด มันเป็นการสร้างความกลัวให้กับประชาชนอย่างให้อภัยไม่ได้ ถึงแม้จะพูดว่าเป็นเสรีภาพที่สามารถกระทำได้ในการชุมนุมโดยปราศจากความรุนแรง ทั้งยังกล่าวเตือนผู้จัดการชุมนุมอีกว่า ต้องคำนึงถึงชีวิตของผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นสำคัญ ซึ่งถ้าตีตามคำพูดก็คงเป็นเรื่องที่ดี แต่มีอะไรแฝงอยู่ในคำพูดเหล่านี้


 


ความรู้สึกแรกที่ได้อ่าน ทำให้รู้สึกถึงความกลัวขึ้นมาทันที ถึงแม้จะเป็นความกลัวที่ไม่มาก แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามันไม่เกิดขึ้น เพราะภาพการชุมนุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม เต็มไปด้วยความหวาดระแวงว่า จะเกิดความรุนแรง โดยมีที่มาของความรุนแรงจากสองส่วน คือ หนึ่ง ฝ่ายที่ยังสนับสนุน ทักษิณ ชิณวัตร จะอาศัยสร้างสถานการณ์รุนแรงให้เกิดขึ้น เพื่อดึงกระบอกปืนจากอีกกลุ่มหนึ่งมาใช้ นั่นคือ กระบอกปืนของคณะรัฐประหาร ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ผมก็ข้อสรุปว่า ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นก็น่าจะมาจากคณะรัฐประหารเป็นสิ่งสำคัญ


 


และถ้ามีผู้มาชุมนุมเป็นจำนวนมาก เราสามารถพูดได้ว่า มีการสนับสนุนหรือที่เรียกว่าน้ำเลี้ยงจากอำนาจเก่าได้หรือไม่ สิ่งนี้เป็นข้อกล่าวหาที่ยังไม่มีหลักฐาน ซึ่งอาจเป็นจริงหรือไม่ก็ได้ แต่มันเป็นสาระมากน้อยขนาดไหนเมื่อเทียบกับเนื้อหาสาระของผู้ที่ชุมนุม ว่ามีเหตุผลอะไรในการชุมนุม มีเหตุผลมากน้อยแค่ไหน น่าจะมาถกเถียงกันในประเด็นเหล่านี้ไม่ดีกว่าหรือ


 


สุดท้ายผมอยากจะเรียกร้องว่า เราควรจะใช้เส้นแบ่งที่ชัดเจนว่า ใครเป็นมิตรใครเป็นศัตรูของประชาชน โดยใช้เส้นแบ่งเรื่องการสร้างความกลัว ถ้าใครที่จะพยายามสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในการเคลื่อนใหวของประชาชน คนเหล่านั้นย่อมไม่ใช่มิตรของประชาชน เพราะเสรีภาพที่แท้จริง ย่อมต้องปราศจากความหวาดกลัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net