Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 30 พ.ย.2549   ประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยระบุว่านโยบายนี้จะกระทบโดยตรงต่อคนยากจน เนื่องจากค่าเทอมที่จะสูงขึ้นกว่าร้อยละ 50  อีกทั้งการที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่มีสิทธิที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนที่จะตัดสินดำเนินนโยบายที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของประชาชน เช่น การแปรรูปน้ำไฟ หรือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบได้


                            


 


รายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้


 


 


แถลงการณ์ประชาคมจุฬาฯคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ


 


จากที่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปฯ ในวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา กำลังรีบเร่งที่จะนำมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งออกนอกระบบราชการตามแนวทางเศรษฐกิจที่เน้นกลไกตลาด โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็น 3 มหาวิทยาลัยแรก และจะตามมาด้วยมหาวิทยาลัยอื่นๆอีกกว่า 20 แห่ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลทักษิณที่พยายามผลักดันนโยบายที่เน้นกลไกตลาดเหล่านี้ในช่วงที่อยู่ในอำนาจ แต่การผลักดันดังกล่าวของรัฐบาลทักษิณก็ถูกยับยั้งไปอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของประชาชนที่คัดค้านนโยบายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาโดยตลอด


 


หลังจากที่คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลปัจจุบันได้ประกาศว่าจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าพิจารณาในสภาฯ ทางนิสิต คณาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั่วไปจำนวนมากได้พูดคุยกันและมีความเห็นว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นเป็นการกระทำที่ไม่มีความชอบธรรม ด้วยเหตุผลดังนี้


 


1.ตามที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศอ้างว่า ตนเองมีหน้าที่ในการล้างระบอบทักษิณซึ่งเป็นระบอบเศรษฐกิจที่มีนโยบายที่ทำลายผลประโยชน์ของประชาชนคนยากจนในสังคม อาทิเช่น นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบตามแนวทางเศรษฐกิจที่เน้นกลไกตลาดนั้น รัฐบาลชุดนี้กลับไม่รักษาคำพูดแต่กลับดำเนินนโยบายที่ซ้ำรอยกับรัฐบาลชุดเดิม กอปรกับการที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้รวมไปถึงสมาชิกของสภานิติบัญญัติที่ถูกตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงนั้นจึงไม่มีสิทธิที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนที่จะตัดสินดำเนินนโยบายที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของประชาชน เช่น การแปรรูปน้ำไฟ หรือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบได้


 


2.แนวนโยบายที่ต้องการแปรรูปมหาวิทยาลัยเช่นนี้ มีผลที่สำคัญต่อคนยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมโดยตรง อันเนื่องมาจากค่าเทอมที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และจะพุ่งสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆหลังจากที่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบสำเร็จแล้วนั้น จะเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับคนยากจนในสังคมที่ไม่สามารถจ่ายค่าเทอมที่แพงลิบลิ่วได้ นอกจากนี้ ทุนการศึกษาที่มหาวิทยาลัยหยิบยื่นให้นั้นเป็นไปในรูปแบบสังคมสงเคราะห์ที่นิสิตต้องนำเสนอความยากจนของตนให้เป็นที่ประจักษ์พอใจแก่คณะกรรมการให้ทุน ถือว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างมาก เราขอเสนอว่ารัฐควรจะกลับมาทำหน้าที่หลักของตนเองคือ การสนับสนุนการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยไม่เห็นแก่ชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนาและความแตกต่างทางเพศ ด้วยการทำให้การศึกษาทุกระดับเป็นสวัสดิการแก่ประชาชน และให้เก็บภาษีอัตราก้าวหน้ามาเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แทนที่จะกระทำสิ่งที่ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมให้มากขึ้นอย่างในปัจจุบันและในยุคสมัยของรัฐบาลที่ผ่านมา


 


3.การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นส่งผลโดยตรงต่อสวัสดิการและความมั่นคงในการทำงานของอาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยในปัจจุบันอาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยจำนวนมากอยู่ภายใต้สภาพการจ้างงานที่เหมือนบริษัทเอกชน ซึ่งต้องเซ็นสัญญาจ้างงานในระยะสั้น และไม่มีสวัสดิการใดๆทั้งสิ้น และยิ่งเมื่อนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบสำเร็จแล้ว อำนาจในการตัดสินใจจ้างงานหรือการลงโทษคนที่ทำงานในมหาวิทยาลัยนั้นจะรวมศูนย์อยู่ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่ใช่ระบอบการบริหารจัดการที่เคารพหลักการการมีส่วนร่วม โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกระดับซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


 


4.ในด้านของคุณภาพและความหลากหลายของการศึกษานั้นจะลดลงอย่างมาก โดยเมื่อรัฐบาลลดการสนับสนุนงบประมาณแก่มหาวิทยาลัย ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต้องหาเงินด้วยตัวเอง มหาวิทยาลัยจะเน้นการให้การศึกษาเฉพาะในสาขาวิชาที่สร้างกำไรให้แก่มหาวิทยาลัยมากกว่าสาขาที่ไม่สามารถสร้างกำไรได้ เช่น สาขาวิทยาศาสตร์เชิงทฤษฎี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์โดยทั่วไปอาจจะถูกยุบหรือไม่ได้รับเงินอุดหนุนในการพัฒนาคุณภาพอย่างเพียงพอ อันเนื่องมาจากไม่ใช่สาขาที่จะทำกำไรให้แก่มหาวิทยาลัยเท่ากับสาขาอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ทางเลือกของนิสิตและอาจารย์ที่ต้องการเรียนและสอนวิชาที่หลากหลายหมดไป


 


5.กระบวนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบขาดความโปร่งใส และขาดการรับฟังความคิดเห็นจากนิสิต นักศึกษา  อาจารย์และเจ้าหน้าที่ เพราะไม่เคารพความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ที่คัดค้านข้อเสนอนี้ และหลายคนมองว่าข้อเสนอนี้ขัดกับพระราชกระแสตามจดหมายจากสำนักราชเลขาธิการ ในวันที่ 26 เมษายน 2543


 


6.และจากที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะอธิการบดีของจุฬาฯ คือ คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์ ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญในสภาฯของรัฐบาลชุดนี้ แต่กลับไม่ทำหน้าที่ในนามของประชาคมจุฬาฯที่จะคัดค้านหรือโต้แย้งนโยบายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบของรัฐบาลแม้แต่น้อย ดังนั้นในฐานะของอธิการบดีซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาคมจุฬาฯทั้งหมดจึงควรจะเลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีหรือลาออกจากการเข้าร่วมกับรัฐบาลเพื่อแสดงความโปร่งใสตรวจสอบได้และความจริงใจต่อประชาคมจุฬาฯโดยทันที


 


จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ในนามของประชาคมจุฬาฯ และในนามของนิสิต  นักศึกษา  อาจารย์


บุคลากร ของทุกมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปจึงมีความเห็นร่วมกันว่า รัฐบาลต้องยกเลิกการผลักดันร่างพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยและร่างพระราชบัญญัติอื่นๆที่เป็นไปเพื่อการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการโดยทันที โดยประชาคมจุฬาฯและประชาชนที่รักความเป็นธรรมทั่วไปจะขยายการเคลื่อนไหวออกไปอย่ากว้างขวางเพื่อคัดค้านนโยบายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบให้ถึงที่สุดจนกว่ารัฐบาลและผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะยกเลิกการกระทำที่ไม่ชอบธรรมดังกล่าว


 


 


30 พฤศจิกายน 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net