Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 7 พ.ย.2549 ในโอกาสที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มประเทศอาเซียน กำลังร่วมหารือร่วมกับกองทุนพัฒนาเพื่อผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) เพื่อใช้อนุสัญญาการว่าด้วยการจัดการต่อการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ CEDAW (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women) ในการแก้ปัญหาที่เกิดกับแรงงานข้ามชาติหญิง ระหว่างวันจันทร์ที่ 6 และอังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2549 ณ อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน ถือเป็นจังหวะที่ดีในการหยิบยกประเด็นการเข้าไม่ถึงการรักษาในประเทศไทยที่แรงงานต่างชาติหญิงกำลังเผชิญอยู่


 


ที่จังหวัดพังงา ทางใต้ของไทย ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ขององค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) กำลังหาทางให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานต่างชาติหญิงซึ่งไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ แรงงานต่างชาติหญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ กองทุนสนับสนุนเพื่อที่จะเข้าถึงการรักษาของไทย  ทั้งนี้จากการเข้าไม่ถึงการรักษา และขาดข้อมูลการดูแลสุขภาพของครอบครัวและชุมชน ทำให้แรงงานข้ามชาติหญิงเหล่านี้ไม่มีการวางแผนครอบครัว ไม่มีการฝากครรภ์ บ่อยครั้งคลอดลูกเองที่บ้านโดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล และเด็กจำนวนมากไม่ได้รับวัคซีนที่จำเป็นสำหรับเด็กแรกเกิดเพื่อป้องกันโรคต่างๆ อย่างที่ควรจะได้รับ ซึ่งจากการสำรวจในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีขององค์การหมอไร้พรมแดน พบว่า เด็กมากกว่า 80% ไม่ได้รับวัคซีนครบตามโปรแกรม และบางคนไม่เคยได้รับวัคซีนเลย


 


ทีมคลินิกเคลื่อนที่ขององค์การหมอไร้พรมแดนได้จัดการอบรมให้แก่แรงงานต่างชาติ เพื่อให้ข้อมูลและความรู้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น การสาธารณสุขมูลฐาน และการวางแผนครอบครัวในชุมชนแรงงานข้ามชาติต่างๆ ซึ่งนอกจากการบริการให้ข้อมูลตามชุมชนต่างๆ แล้ว ทีมพังงาขององค์การหมอไร้พรมแดนยังมีบริการให้ข้อมูล-ความรู้ดังกล่าว ที่คลินิก 2 แห่ง และ โรงพยาบาลอีก 2 แห่ง ในจ.พังงา ปีที่ผ่าน แรงงานข้ามชาติหญิง 771 คน จากไซท์งานก่อสร้าง สวนยางฯ และอุตสาหกรรมประมง ได้เข้าร่วมอบรมการให้ข้อมูล-ความรู้แก่ชุมชนฯ 


 


อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แรงงานต่างชาติหญิงเข้าถึงการรักษาฯ จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติไม่ได้ให้สิทธิในการรักษาฯอย่างที่คนไทยได้รับ แม้ว่าจะให้การรักษาในหลายโรคก็ตาม


 


ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีช่วงเวลาสั้นๆเพื่อให้แรงงานต่างชาติสามารถขึ้นทะเบียนฯได้ในแต่ละปี เมื่อขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องก็จะได้สิทธิในบัตรประกันสุขภาพ  แต่สิทธิที่แรงงานต่างชาติชายได้รับไม่ครบอคลุมถึงภรรยาของพวกเขา แม้แรงงานต่างชาติหญิงบางคนอาจจะมีคุณสมบัติสามารถขึ้นทะเบียนฯ และมีบัตรประกันสุขภาพได้ แต่ก็ดูเหมือนว่าระบบและขั้นตอนในการมีบัตรฯ และการได้รับสิทธินั้นจะซับซ้อนและห่างไกลเกินกว่าแรงงานต่างชาติหญิงเหล่านี้จะเข้าถึงได้


 


ในความเป็นจริง ไม่ใช่แต่เพียงแรงงานต่างชาติหญิงเท่านั้นที่เผชิญกับความยากลำบากเหล่านี้ แต่ยังรวมไปถึงแรงงานต่างชาติชายด้วยเช่นกัน ที่ต้องเผชิญปัญหาสุขภาพ และการเข้าไม่ถึงการรักษาในระบบสาธารณสุขของไทย


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net