Skip to main content
sharethis

พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ รายงาน


 


ผ่านพ้นไปแล้วกับงานสมัชชาสังคมไทย การสังสรรค์ของคนตัวเล็ก (แต่อุดมการณ์ไม่เล็ก) กว่า 3,000 คน จาก 70 องค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 21-22 ตุลาคม 2549 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อร่วมกันถกเถียง แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ในประเด็นสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ของภาคประชาชนเข้าสู่เวทีปฏิรูปการเมือง-สังคม ของสาธารณชน ซึ่งงานนี้มีจุดบรรจบที่การแถลงข่าวการจัดงานสมัชชาสังคมไทยที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว และเดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อประกาศข้อเรียกร้องของสมัชชาสังคมไทยสู่สาธารณชน ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร เป็นจำนวนมากเฝ้าสังเกตการอยู่ห่างๆ (และบางโอกาสก็เข้ามาสอบถามอย่างใกล้ชิด!)


 


ประชาไทเก็บตกควันหลง ของการเดินขบวนดังกล่าว ผ่านการสนทนาสั้นๆ กับผู้ร่วมเดินขบวน 4 คน กลางถนนราชดำเนินระหว่างการชุมนุม พวกเขามาจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทย ซึ่งคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้เองที่ทำให้เวทีสมัชชาสังคมไทยครั้งนี้มีชีวิตชีวาจากการสร้างสรรค์ของพวกเขา พวกเขามีความคาดหวังอันใดต่อการเดินขบวน และก้าวต่อไปของ "สมัชชาสังคมไทย" ควรเป็นเช่นใด มาฟัง "ถ้อยคำ" และ "ความเห็น" ของพวกเขากัน


 


000


 









 



 


 


สุธีรา ลืนคำ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต


 


เกือบบ่ายโมง ก่อนการอ่านคำประกาศสมัชชาสังคมไทยของคณะกรรมการจัดงานจะเริ่มขึ้น บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เริ่มมีคนเข้าร่วมจนลานกิจกรรมที่อนุสรณ์สถาน คับแคบไปถนัดตา


 


เราได้มีโอกาสคุยกับพี่สุธีรา ลืนคำ จากกลุ่มสหภาพแรงานย่านรังสิต ที่ร่วมงานสมัชชาสังคมไทยตั้งแต่เริ่มงานกระทั่งวันสุดท้ายที่มีการเดินขบวน หลังจากทำความรู้จักกันแล้ว เราเริ่มถามถึงเหตุผลที่ต้องเดินขบวนในวันนี้ พี่สุธีราบอกกับเราว่า "เดินขบวนในวันนี้เพื่อที่จะทำให้วัตถุประสงค์ของการจัดเวทีสมัชชาสังคมไทยในวันที่ 21 และ 22 ตุลาคม มาสู่สาธารณชนในวันนี้" และบอกกับเราถึงความสำคัญของการที่จะต้องเดินขบวนว่า


 


"สำหรับแรงงาน เราได้อะไรมาเพราะใช้ขาเดิน ทุกครั้งทุกรัฐบาลเราใช้ขาเดินตลอด ไม่มีรัฐบาลที่ไหนให้เรา เราต้องเดินเอาตลอด" พี่สุธีราย้ำอย่างหนักแน่น


โดยก่อนหน้าที่จะมีการเดินขบวนในวันที่ 23 ตุลาคม มีความเห็นที่ต่างกันระหว่างหลายเครือข่าย เช่น องค์กรชุมชนจากภาคชนบทส่วนหนึ่งที่เห็นว่าไม่ควรจะมีการเดินขบวนเพราะเกรงจะไม่ปลอดภัยเนื่องจากอยู่ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก ทำให้องค์กรชุมชนส่วนหนึ่งตัดสินใจไม่ร่วมเดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อประกาศเจตนารมณ์สมัชชาสังคมไทย แต่เลือกที่จะเข้าพบกับนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมและ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ตึกสันติมาตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมเป็นประธานที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และปัจจุบันหวานชื่นอยู่กับรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


 


ซึ่งรูปการนี้สะท้อนว่าแกนนำองค์กรพัฒนาเอกชนหลายเครือข่ายหวังที่จะได้ "ต่อสายตรง" กับ "ไพบูลย์" เอ็นจีโอรุ่นพี่ที่ได้เป็นถึงรัฐมนตรี ใต้เงารัฐบาลทหาร เช่นเดียวกับที่เอ็นจีโอบางคนเคยมีความหวังกับ "สายตรง" อย่าง "พี่อ้วน" ภูมิธรรม เวชยชัย หรือ "ไอ้ก้านยาว" ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร


 


แต่กับพี่สุธีราแล้ว เรื่องการเดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนี้พี่สุธีราเห็นว่า "ใครพร้อมที่จะเดินก็เดิน ขึ้นอยู่กับสิทธิของเขา พี่เคารพการตัดสินใจของทุกคน แต่แรงงานเราเห็นพ้องต้องกันว่าเราควรเดิน"


 


"พี่น้องแรงงานหลายเครือข่ายและพี่น้องผู้พิการมาเดินมาแสดงพลัง เพื่อบอกประชาชนทุกคนว่าเราต้องการแสดงจุดยืน บอกวัตถุประสงค์และเผยแพร่เป้าหมายที่เราจัดงานใน 2 วันนี้ ให้กับสาธารณชนได้รับทราบ" พี่สุธีราย้ำชัดอีกครั้งถึงเป้าประสงค์ในการเดินขบวนในวันนี้


 


000









 



 


 


กันยา แซ่อึ้ง ล่ามแปลภาษามือ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย


 


เนื่องจากเวทีสมัชชาสังคมไทย เป็นเวทีที่เปิดกว้างให้กับคนทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ทุกภาษา ทุกข้อจำกัดทางกายได้เข้าร่วมแล้ว


 


ดังนั้น ในเวทีสมัชชาสังคมไทย นอกจากเราจะพบล่ามภาษาต่างประเทศ ยังมีล่ามแปลภาษามือ เพื่อแปลภาษาพูดให้กับคนหูหนวกในบางห้องประชุม


 


เหล่านี้ย่อมสะท้อนภาพสังคมใหม่ที่หลายคนเฝ้าวาดหวังว่าทุกคนจะมีที่ยืนอย่างเท่าเทียมกันในสังคม


 


เช่นเดียวกับวันนี้ 23 ตุลาคม ในการประกาศสมัชชาสังคมไทย ทั้งรอบสื่อมวลชนที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว และรอบสาธารณชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ปรากฏล่ามแปลน้ำเสียงจากการอ่านแถลงการณ์ของคณะกรรมการจัดงาน ถ่ายทอดเป็นภาษามือให้กับคนหูหนวกได้ยิน เช่นกัน


ประโยคแรกที่ "พี่กันยา" หรือกันยา แซ่อึ้ง ล่ามแปลภาษามือบอกกับผู้สื่อข่าว "ประชาไท" คือ "วันนี้ไม่เหนื่อยหรอกค่ะ การแปลมันขึ้นอยู่กับคำพูดที่เขาพูด อย่างเช่นแบบนี้เขาใช้ภาษาการเมืองเยอะ" โดยวันนี้มีการใช้ล่ามแปลภาษามือระหว่างอ่านแถลงการณ์ 3 คน (กันยา แซ่อึ้ง, กนิษฐา รัตนสินธุ์, จุฑามาศ สุธนวัฒนาเจริญ) เมื่อถามว่าไปทุกเวทีของงานไหม พี่กันยาบอกว่าถ้ามีคนหูหนวกเข้าฟังเราก็จะเข้าไปแปลให้เขาฟัง "ถ้าไม่มีคนหูหนวกฟังก็ไม่รู้จะแปลให้ใคร"


 


เกี่ยวกับความคาดหวังของงานสมัชชาสังคมไทย พี่กันยาตอบว่า "จริงๆ แล้วพวกเรา (ล่ามแปลภาษามือ) อยู่ในเครือข่ายองค์กรคนพิการ เพราะฉะนั้น ถ้าคนพิการมีอะไรเราก็ต้องเข้ามาช่วยเขาเรียกร้องสิทธิที่เขายังไม่มี ซึ่งไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐานนะแต่เป็นการเรียกร้องสิทธิที่เขาต้องจัดให้สำหรับคนพิการ" พี่กันยาทิ้งท้ายก่อนที่จะลาไปตั้งขบวนเตรียมเดินรณรงค์ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


 


ถึงตรงนี้ คงต้องบันทึกสักหน่อยว่า เมื่อ "ประชาไท" ตามขบวนคนพิการไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็เพิ่งได้ตระหนักว่าฐานของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่มีทางลาดสำหรับรถเข็น ดังนั้นเมื่อไปถึงอาสาสมัครทั้งหลายต้องช่วยกันยกรถเข็นวีลแชร์ขึ้นไปยังอนุสาวรีย์อย่างทุลักทุเล คล้ายกับจะเป็นภาพสะท้อนที่ทางของคนพิการในสังคมประชาธิปไตยไปด้วยในเวลาเดียวกัน


 


ก็ได้แต่หวังว่า หลังงานสมัชชาสังคมไทย คงจะมีการผลักดันสิทธิเพื่อผู้พิการเข้าไปอยู่ในทิศทางแห่งการปฏิรูปการเมืองด้วยอีกโสตหนึ่ง


 


 


000









 



 


 


จรรยา ยิ้มประเสริฐ


โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย


 


ในช่วงของการจัดรูปขบวนจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ "พี่เล็ก" หรือจรรยา ยิ้มประเสริฐ จากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย พี่เล็กเล่าให้เราฟังว่า วันนี้มีแรงงานหลายส่วนออกมาเดินขบวนเท่าที่จะมาได้ เช่น คนงานย่านรังสิต โรงงานสมานฉันท์ กลุ่มเยาวชนคนงาน โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานอื่นๆ


 


พี่เล็กกล่าวถึงข้อเสนอของขบวนการแรงงานในเวทีสมัชชาสังคมไทยว่า "ประเด็นปัญหาแรงงานไม่ว่าการเมืองรูปแบบใดก็ตามยังไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของปัญหาแรงงาน อย่างที่เราเห็นปัญหาแรงงานข้ามยุคทั้งเผด็จการและประชาธิปไตย เราก็ยืนยันว่าต้องสู้ตลอด โดยเน้นเรื่องของปัญหาแรงงาน เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ความปลอดภัยของอนุสัญญาต่างๆ ของสภาพการจ้างงานที่เป็นมาตรฐานสากล กลไกรัฐบาลต้องให้ความใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง" พี่เล็กกล่าว


เราถามถึงพี่เล็กว่าสภาพการเมืองแบบนี้ คิดอย่างไร พี่เล็กกล่าวว่า "หลายคนไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร พี่เองก็ไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร แต่ที่วันนี้เรานำเสนอวันนี้คือข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานทุกยุคทุกสมัย" พี่เล็ก จรรยา ยิ้มประเสริฐกล่าวในที่สุด


 


000









 



 


 


รัชพงษ์ โอชานนท์


นักศึกษา ม.รามคำแหง, พรรคแนวร่วมภาคประชาชน


 


คนสุดท้ายที่เราได้มีโอกาสคุยคือ "เฉื่อย" หรือรัชพงษ์ โอชานนท์ คนหนุ่มอายุอานามราว 20 ต้นๆ ซึ่งในวันเดินขบวน เฉื่อยปรากฏตัวอยู่บนรถนำขบวนคันใหญ่ในฐานะคนนำขบวน และอาจเป็นเหมือนตัวแทนคนหนุ่มสาวหลายร้อยชีวิตที่มาร่วมงานสมัชชาสังคมไทย เพราะมีความฝันที่จะเห็นสังคมใหม่ที่เท่าเทียม เขาพูดผ่านไมโครโฟนเพื่อปลุกเร้าและให้กำลังใจผู้ร่วมชุมนุม ตลอดจนสื่อสารกับรถราและผู้คนที่สัญจรบริเวณถนนราชดำเนินให้เข้าใจว่าผู้คนหลายร้อยคนมุ่งหน้าไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อสิ่งใด


 


เมื่อเริ่มต้นการสนทนา เฉื่อยบอกกับเราว่า "รู้สึกเหนื่อย" พร้อมเสียงหัวเราะแหะๆ อย่างอารมณ์ดี ก่อนที่จะบอกถึงความมุ่งหวังของการเดินขบวนในวันนี้ว่า ประเด็นที่จะเรียกร้องหลักๆ ในวันนี้เกิดจากการประชุมกันที่เวทีสมัชชาสังคมไทย ซึ่งเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองและสังคม ตลอดจนเรียกร้องรัฐสวัสดิการ


 


"เราพูดเพื่อที่จะบอกว่าเราไม่ได้ขอให้เบื้องบนช่วยเหลือเรา แต่การเดินขบวนวันนี้เป็นการพูดกับคนข้างนอกว่าเรามีข้อเสนอแบบนี้ ถ้าคุณเห็นด้วยเชิญมาร่วมกับเรา ถ้าการก่อตัวนี้มีการขยาย คนข้างบนต้องปฏิบัติตามเราเอง" เฉื่อยบอก


 


ต่อความคาดหวังหลังจากสมัชชาสังคมไทย เฉื่อยบอกกับเราว่า "ผมมองว่าจากการที่ภาคประชาชนในสายแรงงานกับสายเกษตรต่อสู้กันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่หลายปีก่อนหน้านี้จนกระทั่งในปีที่ไล่ทักษิณ และก็มีการคุยกันและรู้สึกว่าเรามีปมอย่างหนึ่งร่วมกันคือถ้าเรามีรัฐสวัสดิการและเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองในแบบของเราได้ ปัญหาหลายอย่างที่เราประสบอยู่จะหายไป คือเขาเจอปมนี้แล้ว และการต่อสู้เพื่อมุ่งแก้ปมนี้จะทำให้เขาไปสู่ชัยชนะได้"


 


... บ่ายแก่ๆ ...


 


หลังการอ่านแถลงการณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของขบวนสมัชชาสังคมไทย ผู้คนที่มาร่วมงานสมัชชาสังคมไทยได้ทำหน้าที่ของเขาจนงานสังสรรค์ของคนตัวเล็กๆ สิ้นสุด พวกเขาต่างพากันแยกย้ายกลับบ้าน


 


แต่ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ยังมีวงดนตรีเพื่อชีวิตขับกล่อมผู้คนที่เลิกจากการชุมนุมแล้วยังไม่อยากไปไหน พวกเขาเหล่านั้นตั้งหน้าตั้งตาฟังเสียงเพลงขับกล่อมประหนึ่งเพลงบรรเลงแก่นักรบผู้คอยท่าให้ภารกิจแห่งการปฏิรูปเพื่อสังคมที่เท่าเทียมบรรลุ


 


แม้ปัจจุบัน คำว่า "ประชาธิปไตย" จะเป็นอดีตหอมหวาน (ที่คลุกเลือดและน้ำตาในบางยุค) ของสังคมไทย แม้จะเป็นการยากที่จะคาดเดาถึง "รัฐธรรมนูญฉบับใหม่" ว่าจะปฏิรูปไปเพื่อสืบทอดอำนาจของใครบ้าง แต่ "โลกใบใหม่ที่เท่าเทียม ประชาชนสร้างได้" อันเป็นคำป่าวประกาศของสมัชชาสังคมไทย คงจะเป็นจริงในสักวันถ้า "ประชาชนจะชิงชัย"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net