Skip to main content
sharethis

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์


จาก คอลัมน์ With Words That Appear Like Bats  ใน www.onopen.com


 


 


เราอยู่กันคนละเวลาจริงๆครับ ...


ผมตื่นมาสักเก้าโมงเช้าของวันที่ 19 กันยายน ในเวลาที่ล้าหลังจากเมืองไทยหลายสิบชั่วโมงอยู่


ผมนึกถึงชื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับในโลก ที่มีคำว่า "Times" อยู่ในชื่อ ไม่ว่าจะอยู่ด้วยตัวของมันเอง หรืออยู่ด้วยการต่อกับ "เมือง" หรือ "ประเทศ" เช่น New York Times หรือ LA Times


แปลให้ "เชยๆ" ก็คือ นิวยอร์ค "สมัย" แอลเอ "สมัย" บางกอก "สมัย"


เช้าวันนั้น ... จนถึงวันนี้ ... คำถามที่ดูธรรมดาคำถามหนึ่งมันจึงกลายเป็นคำถามที่ไม่ธรรมดาอีกต่อไป


"ที่เมืองไทยเวลาเท่าไหร่แล้ว ?"


.........


เช้าวันนี้ของที่นี่ อีเมลและข้อความในโปรแกรมแชทของผมท่วมทะลักไปด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวกับการทำรัฐประหารในประเทศไทย ซีเอ็นเอ็นออกข่าวด่วนสลับกับรายงานการประชุมใหญ่ที่สหประชาชาติ ซึ่งเป็นวันที่บุชกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยเรื่องความร่วมมือในการปราบปรามการก่อการร้ายในโลก


ความวุ่นวายของวันนั้นก็เริ่มขึ้น ด้วยว่าทางมหาวิทยาลัยที่นี่เขาปล่อยให้ผม "ยึดอำนาจ" ในการ "ควบคุมสื่อต่างประเทศ" เสียเอง ทั้งทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในแถบนี้ทั้งหมด ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าผู้เชี่ยวชาญเรื่องไทยที่นี่ที่มีนั้นขอตัวที่จะไม่พูด ผมก็เลยกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยของมหาลัยแห่งนี้แทน


"ความเชี่ยวชาญ" ในเรื่องของเมืองไทยนั้นจริงๆแล้วอยู่ที่ไหนกันแน่? อะไรคือสิ่งที่คนคาดหวังที่จะฟังจากเรา? ผมนั่งนึกถึงประเด็นปัญหานี้มาโดยตลอด


นับวันผมยิ่งไม่เชื่อว่า "ความจริง" นั้นมีหนึ่งเดียว


ผมเชื่อว่าความจริงนั้นควรประกอบด้วย "ความหมาย" ด้วย กล่าวคือความจริงที่เราพูดมันมีความหมายกับตัวเราอย่างไร และมันมีความหมายกับคนฟังอย่างไร


นับจากวันที่เกิดรัฐประหารมาจนถึงวันนี้ ผมรู้สึกว่าความจริงนั้นแยกขาดจากความหมายไม่ค่อยได้


ผมเห็นคนที่เป็น "ผู้หลักผู้ใหญ่" ในสังคมของเราออกมาพูดว่าแม้ว่าแม้ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น


ผมไม่ได้โกรธ ไม่ได้ผิดหวัง หรือแม้กระทั่งไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับผู้หลักผู้ใหญ่เหล่านั้น


แต่แบบว่า ถ้ารัฐประหารมันเป็นทางเลือกเดียวที่มี แล้วจะต้องออกมาให้เหตุผลกับการทำรัฐประหารทำไมหล่ะครับ?


หมายความว่าถ้าไม่คิดว่าการทำรัฐประหารมันเป็นปัญหา แล้วจะพูดถึงมันทำไม?


แล้วถ้าคิดว่ามันเป็นปัญหา ปัญหามันอยู่ตรงไหน?


ในสังคมที่กินเนื้อแต่ห้ามฆ่าสัตว์ ความอึดอัดใจระหว่างหลักการกับความเป็นจริงน่าจะเป็นเรื่องธรรมดา


บางทีนะครับ ... บางที ... คำถามมาตรฐานแบบว่า "การเมืองไทยจะเป็นอย่างไรในวันข้างหน้า" อาจไม่สำคัญเท่ากับคำถามที่ว่า ตัวเราจะให้ความหมายและใช้ชีวิตในโลกอันเต็มไปด้วยความขัดแย้งและไม่ลงรอยกันของหลักการกับความเป็นจริงเช่นนี้ได้แค่ไหนอย่างไร


บางทีนะครับ ถ้าผู้นำคนนั้นประสบอุบัติเหตุตายไปในลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา อาทิ โดนยิงตาย หรือโดนระเบิดตายไป "ผู้หลักผู้ใหญ่" ในสังคมคงจะโล่งใจและสบายใจมากกว่านี้ เพราะเขาจะไม่ต้องรู้สึกว่าเขาเกี่ยวพันและเป็นส่วนหนึ่งกับการรัฐประหารที่ "โดยหลักการ" แล้ว "ไม่เห็นด้วย" เป็นอย่างยิ่ง "แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้" หรือ "เกิดขึ้นไปแล้ว"


บางทีนะครับ สังคมอาจจะดูดีกว่านี้ เพราะผู้หลักผู้ใหญ่เหล่านั้นจะได้ออกมายืนพูดว่ามันผ่านไปแล้ว ควรให้อภัย หรือสอนลูกสอนหลานได้ว่า เห็นไหมจุดจบของคนเลวมันเป็นเช่นนั้นเอง และพวกเขาเหล่านั้นจะได้ปกปิด "ความโล่งใจ" ด้วยการตอกย้ำถึงความดีงามของสังคมต่อไปอย่างไม่ขัดเขินและอึดอัดกับความไม่ลงรอยกันระหว่าง "หลักการ" กับ "ความเป็นจริงทางการเมือง" เหมือนดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้


บางทีนะครับ ... บางที


.............


วิธีหาข่าวของฝรั่งนั้นนอกเหนือจากที่จะโทรมายังสำนักประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย และศูนย์เอเชียอาคเนย์ศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ถูกผมยึดอำนาจไปแล้วนั้น ก็จะมีการสอบถามไปยังคนที่มาทำมาหากินและนักเรียนไทยที่นี่ โดยที่รถถ่ายทอดข่าวนั้นไปตั้งหลักที่ร้านอาหารและซุปเปอร์มาร์เก็ตไทยคอยสัมภาษณ์เด็กๆที่นี่


เรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งในหลายๆเรื่องของการรัฐ(ธรรมนูญ)ประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็คือ ภาพที่ออกมาหน้าจอทีวีในเมืองไทย และเมืองนอกที่มีความแตกต่างกัน


เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องว่า มีการเซ็นเซอร์ข่าวโดยอำนาจรัฐ หรือ ข่าวนั้นมีความเป็นอิสระ เหมือนกับที่คนทั่วไปมักจะสนใจแต่การมองว่ามีการเซ็นเซอร์ข่าวหรือไม่ เพราะเชื่อว่าข่าวนั้นคือความจริง และจะถูกเซ็นเซอร์โดยอำนาจภายนอก และเชื่อว่าข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศนั้นจะต้องถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริงเสมอไป


ทั้งที่เรื่องที่ต้องพิจารณาก็คือ ข่าวนั้นอาจจะถูกเซ็นเซอร์จากภายในตัวของผู้เขียนข่าวเอง (self-censorship) โดยการเลือกที่จะไม่เสนอ เลือกที่จะปิดตัว หรือเลือกที่จะมองมุมไหน


ครูของผมท่านหนึ่งเคยบอกว่า ขนาดรูปภาพมันยังต้องมี "กรอบ" เลย


ในขณะเดียวกันสังคมเราก็ไปคาดหวังว่าสื่อมวลชนต่างประเทศนั้นจะช่วยรายงานข่าวเมืองไทย และเหมือนจะเป็นเดือดเป็นร้อนว่าถูกตัดสัญญาณ


ครั้งนี้คงจะคิดผิดแล้วครับ เพราะว่าในวันนั้นสื่อเมืองนอกเขาสนใจแต่สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีบุชในเวทีการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ แล้วการรายงานข่าวที่เกี่ยวกับเมืองไทยวันนั้นก็มีแต่ภาพข่าวรถถัง ที่ออกมาเต็มถนน แต่ไม่มีความรุนแรงอะไร ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คือเรื่องของ Unseen Thailand ที่ Amazing เหลือเกิน นั่นแหละครับ


.................


ฝรั่งเขาอยากเห็นอะไรเมื่อเขาทำข่าวและเสนอข่าวการรัฐประหาร แล้วคนไทยอยากเห็นอะไรในการเสนอข่าวรัฐประหาร?


หมายถึงว่าทำไมฝรั่งเขาถึงกับฟันธงว่า bloodless coup แล้วทำไมคนไทยถึงภูมิใจนักหนากับ bloodless coup


ราวกับว่า coup ในเมืองไทยนั้นเคย bloodshed ?


ผมคิดว่า เวลาที่ฝรั่งเรียก coup ว่า bloodless coup เขามี เครื่องหมาย "คำถาม" อยู่เบื้องหลัง


ส่วน bloodless coup ที่เราภูมิใจนั้นเต็มไปด้วยเครื่องหมาย "โล่งใจ" ดังที่มีอีเมล์ของลูกศิษย์ของผมคนหนึ่งเขียนเล่าเรื่องความสนุกสนานในการออกไปถ่ายรูปกับรถถังในวันรุ่งขึ้น ความว่า


"In fact I wanted to see a real tank coz I never saw it."


"Even (though) the tanks are harmful to democracy, I think they save us from amoral leader. Many parts of the world become fall season and maybe many people are thinking that our democracy is falling and step backward now. But in my opinion, our democracy is falling safely and many Thais are falling in love with the things that the coup is doing".


...................


ผมคิดว่าสภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการทำรัฐประหารก็คือสิ่งที่เรียกว่า "lost in translation" นั่นแหละครับ


ของบางอย่างมัน "แปล" ไม่ได้


เพราะเอาเข้าจริง การแปลมันก็คือการเขียนใหม่อีกครั้งนั่นแหละครับ ดังนั้นบางทีความหมายมันก็ตกหล่นไปบ้าง หรือคนที่รับสารเขาอาจจะรับสารด้วยความเข้าใจของเขาอยู่ดี ด้วยเหตุนี้กระบวนการแปลมันจึงค่อนข้างสลับซับซ้อน


คือฝรั่งเองเขาก็คาดหวังในการเสนอข่าวว่าจะเกิดสภาพความวุ่นวายทั่วทุกหัวระแหง จากโทนสีแดงและภาพตอนกลางคืนที่มีนักข่าวรายงานยังกับจะมีสงครามการเมืองเกิดขึ้น ด้วยความเข้าใจว่าการทำรัฐประหารนั้นมันเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเสรีภาพของพลเมือง


แต่สำหรับคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์ต่างชาตินั้น คนที่ไม่ชอบทักษิณนั้นก็ตอบได้เลยว่า "โล่งใจ" แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่คนโล่งใจจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญมากกว่าคณะปฏิรูปการปกครองก็คือเขารู้สึกว่า ทำไมฝรั่งถึงได้เป็นห่วงเป็นใยพวกเขาขนาดนั้น ทำไมฝรั่งถึงต้องถามว่าที่บ้านของพวกคุณเป็นไงบ้าง


และไม่เข้าใจว่าฝรั่งจะต้องตกใจทำไมและเสนอข่าวว่าพวกลูกหลานของฝรั่งนั้นปลอดภัย


กล่าวง่ายๆว่า ในห้วงจังหวะแรกของการให้คำสัมภาษณ์ ทั้งในลักษณะทางการ หรือ ลักษณะที่เป็นการสนทนากับฝรั่งนั้น สิ่งแรกที่เราตอบคำถามเขา นั้นอาจไม่ใช่เรื่องของ "ประชาธิปไตย" หรือแม้กระทั่ง "เผด็จการ"


แต่เป็นเรื่องของ "ความเป็นไทย"


หมายความว่าข่าวที่เราผลิตและสื่อสารกับโลก และตัวเราเอง นั้นไม่ใช่การไม่ทำข่าวรัฐประหาร


แต่เป็นการเสนอข่าวการทำรัฐประหาร "แบบไทยๆ"


ซึ่งแตกต่างจาก รัฐประหาร "ในประเทศไทย"


....................


"พี่ ... หนูต้องพยายามอธิบายให้ฝรั่งเข้าใจ และรักษาหน้าตาของประเทศด้วย"


สรุปว่าตั้งแต่เรื่องการรัฐประหาร จนถึงเรื่องการบัญญัติศัพท์ในดิกชั่นนารี่เรื่องบางกอกเมื่อหลายปีก่อน สิ่งแรกที่ "คนไทย" จะต้องอธิบายก็คือ เรื่องหน้าตาของประเทศที่พวกเราต้องช่วยกันรักษา และภาคภูมิใจในความเป็นไทย


ภาระหนักใจของคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ใช่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทำรัฐประหาร หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีส่วนทำให้การทำรัฐประหารครั้งนี้ประสบความสำเร็จในการไม่เสียเลือดเนื้อ (ด้วยการกินเนื้อแต่ไม่ฆ่าสัตว์-ด้วยตัวเอง) ก็คือการรักษาความเป็นไทย ซึ่งมีความหมายอันยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตของพวกเขา


ก่อนหน้าที่คณะรัฐประหารจะหาคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในส่วนหนึ่งของนานาชาติเสียอีก


เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กนะครับ การอธิบายว่าเราไม่ได้ "ถอยหลังเข้าคลอง" แต่เรา "เล่นรำวง" อยู่เนี่ย มันอธิบายกันได้เฉพาะในประเทศเท่านั้น มันสื่อสารกับนานาชาติไม่ได้ว่ารำวงเนี่ยเป็นรำวงมาตรฐาน หรือรำวง(จรอุบาทว์) กันแน่


การพูดว่าการถอยหลังก้าวหนึ่งเพื่อให้มีความมั่นคงในการเดินไปข้างหน้า มันเป็นเพียงกลไกทางจิตวิทยาเท่านั้นเองที่จะทำให้พวกเราสามารถอยู่ภายใต้ความรุนแรงทางอำนาจที่กระแทกเข้าสู่ตัวเราในระดับนี้ได้


เพราะภาระการสร้างความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติที่คนที่อยู่ต่างบ้านต่างเมืองอย่างพวกผมกำลังเผชิญอยู่ ในทุกห้วงหายใจ มันกว้างขวางลึกซึ้งกว่าความหมายแคบๆ ประเภทการลงทุนจากต่างชาติจะกระทบบ้านเมืองเราไหม นักท่องเที่ยวจะมาเพิ่มขึ้นหรือลดลง


ความเชื่อมั่นจากต่างชาติในความหมายที่คับแคบแค่มี "ของดี" ให้มันดู ให้มันเข้ามาทำมาหาแดกด้วยการแอบอิงกับการขูดรีดคนยากคนจน เช่นนั้น มันก็เลยออกมาเป็นวิธีคิดที่ว่า ผู้บริหารประเทศนั้น ต้องได้รับการยอมรับจาก "นานาชาติ" ในความหายง่ายๆ แค่นักลงทุนต่างชาติที่มาแสวงหากำไร และ รัฐบาลนานาชาติ ที่หวังพึ่งพาเราในการแสดงความเป็นมหาอำนาจ หรือหวังประโยชน์ของชาติเขา ซึ่งอาจไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนทุกคนในโลก ที่ควรจะเริ่มต้นจากความทุกข์ยากของของคนตัวเล็กๆ ในสังคมเรา


ผมไม่แน่ใจว่าคำว่า "นานาชาติ" หรือ "ต่างชาติ" ที่ผู้นำประเทศและสื่อมวลชนทั้งหลายในประเทศนั้นใช้และเข้าใจ จะเป็นความหมายเดียวกันกับคำว่าต่างชาติ ที่หมายถึงหลักการขึ้นพื้นฐานที่คุ้มครองเสรีภาพในความเป็นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่แค่ไหน


เวลาเขาจะให้เรามีมาตรฐานอุตสาหกรรมต่างๆ เรารีบทำให้อย่างทันทีด้วยความภูมิใจ แต่ถ้าใครถามถึงว่าเรามีมาตรฐานทางการเมืองเหมือนกับเขาไหม ... เราจะใช้เรื่องของ "ความเป็นไทย" ในการตอบเขาก่อนเสมอ


......................


จนถึงวันนี้ วันที่เขียนบทความนี้ เรายังไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่ได้รับการรองรับจากกฎหมาย แม้ว่าจะมีความพยายามที่บอกว่าถ้าอยากได้อะไรก็ให้ขอมา หรือส่งข้อเรียกร้องมา


จนถึงวันนี้สิ่งที่เราเจอก็คือการ "ขอความร่วมมือ" จากสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าว โดยมีทหารประจำการที่กองบรรณาธิการ


เว็บไซต์ที่เห็นแตกต่างถูกปิด เว็บไซต์ของบรรณาธิการที่ออกมาฉีกกระดาษเปล่าๆ ถูกปิด


การที่คนจำนวนหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างแล้วไม่ถูกจับกุมคุมขัง ถูกนำมาเป็นคำอธิบายว่า "การปกครอง" และ "ผู้ปกครอง" ในปัจจุบันไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก และมีความเมตตา


เหรอครับ? ความเมตตาของผู้ปกครองอยู่ที่การใช้ปืนมาสร้างกฎหมาย แล้วก็สร้างบารมีด้วยการไม่จับกุมคนที่กรองแล้วว่าไม่มีอันตราย ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง


พวกเขาเป็นเพียงสีสันให้พวกท่านดูดีขึ้นเท่านั้นเอง เพราะคนเหล่านั้นไม่เข้าใจความเป็นจริงทางการเมืองไทย เป็นเพียงพวกอุดมคติ ไร้เดียงสาและอาจตกเป็นเครื่องมือของความขัดแย้งและผู้ไม่หวังดี


ไม่ต้องมีมันหรอกเสรีภาพในการแสดงออกที่รองรับด้วยกฎหมาย ... ไอ้น้องเอ้ย ... มาเตะฟุตบอลกระชับมิตรระหว่าง ผู้คุม กับ นักโทษ ดีกว่า


...................


มาจนถึงวันนี้ประเทศของเราก็ยังขายของแปลกให้กับชาวโลกได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แถมยังเชื่อว่าของแปลกนั้นได้รับความชื่นชมจากชาวโลกในมุมมองเดียวกับที่เรามอง


ปมสำคัญทางจิตวิทยาของเราก็คือการอยากมีตัวตนของเราเอง และก็อยากได้รับการยอมรับจากชาวโลก แต่เราชอบคิดว่าเราสามารถจะได้สองอย่างนี้พร้อมกันโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย และไม่ต้องตอบคำถามอะไรเลย


นับวันปมข้อนี้ของเราก็แรงขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมที่มีเด็กมัธยมที่ได้รางวัลเหรียญทองโอลิมปิควิทยาศาสตร์ และในสังคมทีมีธูปที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ล้มทับคนตาย


ในสองสัปดาห์แรกหลังการรัฐประหาร เรามีการปกครองโดยคณะทหารเต็มรูปแบบที่ออกแถลงการณ์ยืนยันสนับสนุนอดีตรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่แล้ว ให้ลงแข่งขันชิงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีของประเทศกำลังร่วมประชุมอยู่ในนั้น และเลขาธิการสหประชาชาติก็ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใย(อ่านว่าไม่เห็นด้วย) กับการทำรัฐประหารในประเทศไทย


......................


สำหรับผมแล้ว ห้วงจังหวะที่การแปลความหมายของการทำรัฐประหารครั้งนี้มีความแตกต่างกันระหว่างความเข้าใจโลกของคนไทย กับ คนต่างชาติมากที่สุด ไม่ได้เกิดจากความไร้เดียงสาของนักวิชาการอุดมคติที่ไม่เข้าใจ "ความเป็นไทย" หรอกครับ แต่อยู่ที่แถลงการณ์ฉบับเล็กๆ ฉบับหนึ่งของกระทรวงต่างประเทศที่ว่า




 


ที่ 428/2549


โดยที่คำแปลชื่อภาษาอังกฤษของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตามที่กำหนดไว้เดิม ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในต่างประเทศและสื่อมวลชนต่างประเทศบางแห่ง เกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น คปค. จึงเห็นชอบให้แก้ไขคำแปลชื่อภาษาอังกฤษของ คปค. ใหม่เป็น "Council for Democratic Reform (CDR)" กระทรวงการต่างประเทศจึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการใช้คำแปลชื่อตามที่กำหนดใหม่นี้ในการรายงานข่าวเกี่ยวกับ คปค. เป็นภาษาอังกฤษต่อไปด้วย


26 กันยายน 2549


ที่มา: ข่าวสารนิเทศ: การแก้ไขคำแปลชื่อภาษาอังกฤษ ของคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) - 26 กันยายน 2549 20:10:5


 


ลองดูฉบับภาษาอังกฤษ นะครับ



 


Press Release - CLARIFICATION ON THE ENGLISH TRANSLATION OF THE TITLE OF THE COUNCIL FOR DEMOCRATIC REFORM (CDR)


September 26, 2006, 8:10 pm


No. 428/2549


As the previous English translation of the Thai title of the Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy had led to misunderstanding and false interpretation in some countries and for some foreign media on the role of the Monarchy, the Council, therefore, deems it appropriate to change the English translation of its title to "COUNCIL FOR DEMOCRATIC REFORM" or CDR. The Ministry of Foreign Affairs thus requests all media to refer to the Council by this new English translation of its title in their reporting.


 


ผมเองยังไม่แน่ใจว่า ฝรั่งเขาจะเข้าใจคลาดเคลื่อนคำว่า monarchy เหมือนที่คณะรัฐประหารกังวล หรือว่าเอาเข้าจริงแล้วฝรั่งเขาสนใจว่าทำไมคณะรัฐประหารถึงใช้คำว่า constitutional monarchy ในการแปลจากภาษาไทยว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คำที่หายไปคือคำว่ารัฐธรรมนูญครับ บอกให้ก็ได้)


ไม่นับว่าภาษาไทยนั้นไม่ได้เปลี่ยนหรือตัดคำในชื่อ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" และไม่ได้ลบย้อนหลังเหมือนคำภาษาอังกฤษในแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารเองในเว็บไซต์ของคณะรัฐประหาร


น่าแปลกประหลาดมากนะครับ ที่ว่า การทำรัฐประหารครั้งนี้มีความมุ่งมั่นที่สำคัญในการแยกแยะความเข้าใจการทำรัฐประหาร "ในประเทศไทย" กับ การทำรัฐประหาร "แบบไทยๆ" ออกจากกันได้อย่างชัดเจนขนาดนี้ ...


 


หมายเหตุ: ปรับปรุงจากบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เรื่องโม้ๆของนักเรียนนอก (โดย เพี้ยน นักเรียนนอก) ตอน "Unseen/Amazing Thailand กับ Bloodless Coup?" ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 747 วันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2549


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net