Skip to main content
sharethis

กรณี ‘ป้าบัวผัน’ รวมถึงอาชญากรรมอื่นๆ ทั้งก่อนและหลังที่เกิดจากน้ำมือเด็กและเยาวชนสร้างความเดือดดาลในสังคม เกิดกระแสเรียกร้องให้แก้กฎหมายเอาผิดเด็กและเยาวชนเหมือนกับผู้ใหญ่ ทว่า นี่อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่ตอบสนองความสะใจของสังคมหรือไม่? ขณะที่มุมมองของผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าเครื่องมือต่างๆ ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวขนที่มีอยู่กลับถูกละเลย ไม่ได้รับการปฏิบัติ และรากเหง้าของปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างตรงจุด

  • นักอาชญาวิทยามองว่าการเปลี่ยนรุ่น การเข้าถึงเทคโนโลยี และโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนไปเป็นสาเหตุหนึ่งของการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน
  • กลไกและเครื่องมือในการดูแล ปกป้อง และเยียวยาเด็กและเยาวชนใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ถูกปล่อยปละละเลย ไม่มีการนำมาปฏิบัติจริง
  • การแก้กฎหมายไม่ใช่ทางออกต่อเรื่องนี้ นอกจากติดเงื่อนไขของสหประชาชาติแล้ว หากแก้กฎหมายก็จำเป็นต้องแก้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก ทั้งที่กฎหมายเดิมยังไม่ได้รับการปฏิบัติแต่กลับจะเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐ
  • ระบบสนับสนุนเด็กและเยาวชน ครอบครัว ล้มเหลวและไม่สามารถสร้างพื้นที่ด้านสว่างให้แก่เด็กและเยาวชนได้มากเพียงพอ
  • การเยียวยาเด็กและเยาวชนที่ก่ออาชญากรรมควรเป็นรัฐสวัสดิการประเภทหนึ่งที่รัฐจัดหาให้เช่นเดียวกับในประเทศตะวันตก

คดีการทำร้ายร่างกาย ‘ป้าบัวผัน’ หรือบัวผัน ตันสุ จนเสียชีวิตที่จังหวัดสระแก้ว โดยผู้ต้องสงสัยในคดีเป็นเยาวชน 5 ราย ปลุกความเดือดดาลของผู้คนในสังคม ตามมาด้วยเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอาผิดกับเยาวชนทั้ง 5 รายนี้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่คนหนึ่ง เพราะเชื่อว่าด้วยความเป็นเยาวชนกฎหมายย่อมลดหย่อนผ่อนโทษจนไม่สมกับความผิดที่ได้กระทำลงไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ศาลเยาวชนและครอบครัวสระแก้วได้อ่านคำพิพากษาลงโทษผู้ปกครองของเยาวชนทั้ง 5 รายโดยสั่งปรับ 10,000 บาท แต่เนื่องจากรับสารภาพจึงลดกึ่งหนึ่งเหลือ 5,000 บาท ตามที่พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร เสี่ยงต่อการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (3) ประกอบมาตรา 78 ซึ่งต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยคดีนี้เป็นคดีแรกที่ผู้ปกครองของเด็กหรือเยาวชนที่ก่อเหตุร้ายแรงถูกดำเนินคดี

แน่นอนว่ากระแสโซเชียลมีเดียไม่พอใจกับคำตัดสินของศาล เกิดคำถามว่าราคาชีวิตของคนไทยแค่ 25,000 บาทเท่านั้นหรือ?

ถอยกลับไปดูข้อมูลข้างต้นที่ว่า ‘คดีนี้เป็นคดีแรกที่ผู้ปกครองของเด็กหรือเยาวชนที่ก่อเหตุร้ายแรงถูกดำเนินคดี’ มันก็ชวนให้ฉุกคิดว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมาเครื่องมือและกลไกต่างๆ ใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ได้ทำงานอย่างที่ควรจะเป็นแล้วหรือยัง

ทำไมเด็กและเยาวชนจึงอาชญากรรมรุนแรง

สุณีย์ กัลป์ยะจิตร ประธานหลักสูตรอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม (นานาชาติ) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งส่งผลให้มีการปรับแก้วิธีพิจารณาคดีและการดูแลเด็กเยาวชน เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กห้ามไม่ให้ประเทศลงโทษเด็กด้วยการประหารชีวิต เป็นต้น

เมื่อประเทศไทยให้สัตยาบันแล้วย่อมต้องยอมรับกติกาสากลนี้ ดังนั้น จะไม่มีการประหารชีวิตเด็กไม่ว่าความผิดนั้นจะรุนแรงขนาดไหน แต่จะมีวิธีการลงโทษอื่นๆ รวมถึงเครื่องมือดูแลครอบครัว การที่มีเจ้าหน้าที่คุมประพฤติคอยสอดส่องดูแลร่วมด้วยเหมือนกัน ในเชิงอาชญาวิทยาถ้าเด็กเยาวชนกระทําความผิดจะต้องได้รับโทษรุนแรงรับโทษเหมือนผู้ใหญ่หรือ ก็ต้องพิจารณาว่ามูลเหตุของการกระทําผิดคืออะไร

สุณีย์อธิบายว่าสาเหตุการก่อเหตุร้ายแรงของเยาวชนในภาพใหญ่ว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของรุ่น (generation) ทำให้พฤติกรรมแตกต่างจากคนรุ่นก่อนเนื่องจากการเลี้ยงดู วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่ต่างกัน บวกกับอิทธิพลของโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้ง่ายซึ่งกระตุ้นความอยากรู้ การอยากทดลอง

“มันหมายรวมถึงภาวะโรคโคโรน่าที่ทำให้เราใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ตลอด เด็กก็เห็นก็รู้อยากจะประกอบระเบิดปิงปองลูกหนึ่งคุณเปิดยูทูปเจอมั้ย การที่เราไม่ได้ปิดกั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันทําให้สื่อพรั่งพรูและวัยของเด็กที่อยากรู้อยากเห็นและทำสิ่งต่างๆ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์”

นอกจากนี้ ลักษณะโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนไปมีลักษณะครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ครอบครัวที่ฐานะปานกลางลงไปต้องปากกัดตีนถีบส่งผลให้การดูแลลูกล้มเหลว การกระทําผิดของเยาวชนจึงไม่ได้มีสาเหตุเดียว แต่เกิดจากผลรวมทั้งหมดที่รายล้อมพวกเขา

“อาชญาวิทยามีทฤษฎีหนึ่งที่ชื่อว่า social bond หรือพันธะทางสังคม ถ้าคุณได้พันธะทางสังคมที่ดีคุณก็จะไปในทิศทางที่ดี ถ้าคุณได้พันธะทางสังคมที่ติดลบ สังคมที่ให้คุณอยู่เป็นสังคมที่ติดลบนั่นหมายถึงว่าถ้าคบคนผิดก็จะไปในทางที่ผิด ถ้าเป็นเชิงบวกเขาก็พาไปในเชิงบวก เพราะฉะนั้นเราต้องสอนให้มีพันธะต่อกันและกันเพิ่มมากขึ้น”

ใช้กฎหมายเดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในแง่การเรียกร้องให้แก้กฎหมายเอาผิดเยาวชนให้เหมือนผู้ใหญ่ สุณีย์กล่าวว่ากฎหมายที่มีอยู่เปิดช่องไว้ว่าถ้าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวสามารถนำไปสู่การพิจารณาคดีอาญาของผู้ใหญ่ได้ ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดกรณีเช่นนี้แล้วจึงไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย อีกทั้งการแก้กฎหมายก็ต้องสอดคล้องกับหลักสากลและวิธีการปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นๆ ร่วมด้วย

แต่สิ่งที่สามารถทําได้ทันทีคือการนำ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการควบคุมพฤติกรรมและป้องปรามไม่ให้เกิดการเลียนแบบได้ สุณีย์เห็นว่าถ้าบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามวิธีปฏิบัติจะสามารถที่จะทําอะไรได้อีกหลายอย่าง อย่างไรก็ตาม วิธีการต่างๆ ก็ต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น การลงโทษให้บําเพ็ญประโยชน์ด้วยการกวาดล้างวัดย่อมไม่สอดคล้องกับยุคสมัย แต่ต้องเป็นการลงโทษในลักษณะที่ทันต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง

กล่าวคือต้องเข้าใจพลวัตของสังคมและกำหนดวิธีการลงโทษที่เหมาะสม เช่น การจํากัดสิทธิ์ การคุมประพฤติ การนับชั่วโมงทำงาน ที่จะทำให้เยาวชนผู้กระทำผิดเกิดความตระหนักว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นความผิด ในกรณีนี้เยาวชนทั้ง 5 รายเคยมีคดีมาก่อนและถูกคุมประพฤติอยู่ก่อนแล้ว

ถ้าเช่นนั้น เราสามารถตั้งคำถามได้หรือไม่ว่ากระบวนการคุมประพฤติที่มีอยู่ขาดประสิทธิภาพ สุณีย์กล่าวว่าคงพูดว่าขาดประสิทธิภาพไม่ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการคุมประพฤติมาจากการพิจารณาของศาล ศาลเป็นผู้วางเงื่อนไขต่างๆ จุดนี้คือสิ่งสําคัญในกระบวนการทั้งหมดของการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องของเด็กและเยาวชน ซึ่งส่วนตัวสุณีย์เชื่อว่าศาลมีการศึกษาและปรับเปลี่ยนวิธีการลงโทษให้เข้ากับบริบทอย่างต่อเนื่อง

แต่จุดหนึ่งที่ต้องนับเป็นปัจจัยด้วยคือการใช้อภิสิทธิ์ของพ่อแม่ทำมีลักษณะให้ท้ายเยาวชน ตอกย้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด รักลูกในทางที่ผิด จนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมขึ้น

ระบบสนับสนุนที่ล้มเหลว

ในมุมของ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมากว่า 2 ทศวรรษ กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า

“เวลาเกิดอาชญากรรมรุนแรงโดยเด็กที่อายุน้อยแล้วกระทําต่อผู้บริสุทธิ์หรือแม้แต่อริของเขาเองหรือใครก็ตาม เราอาจจะรู้สึกโกรธ รู้สึกอ่อนไหวไปกับเหตุการณ์ แต่ถ้าเราขยับไปอีกนิดเราจะพบว่าจริงๆ แล้วเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเด็กมันไม่ได้สะท้อนแค่ความเป็นเด็ก ไม่ว่าจะในนามเด็กนรก เด็กเหลือขอ อาชญากรเด็ก แต่มันสะท้อนความล้มเหลวเชิงระบบที่ขับเคลื่อนโดยรัฐ โดยราชการ โดยผู้บังคับใช้กฎหมาย แล้วก็ผู้ที่รับรู้ว่าโลกนี้มันมีระเบียบใหม่ของมันอยู่ มันมีพลวัตรของมัน อย่างเช่นในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่เป็นระเบียบใหม่ของชาวโลกที่ให้มองเด็กในฐานะมนุษย์ที่เราจะต้องการันตีสิทธิของเขา

“นึกภาพออกเช่นกันถึงความเจ็บปวดที่ว่าเขายังเด็กแต่ต้องเข้ามาอยู่ในเหตุการณ์ที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ขณะเดียวกันเราก็มีผู้ใหญ่ซึ่งต้องรับผิดชอบชีวิตเขา แต่เรื่องมันเล่าว่าผู้ใหญ่ไม่ได้รับผิดชอบตามตัวบทกฎหมาย ตามเจตนารมณ์ คือถ้าเรารับผิดชอบกันอย่างที่กฎหมายเขียนกติกาไว้ มันไม่มีทางเดินทางมาถึงวันนี้”

ทิชา ณ นคร (แฟ้มภาพ)

ทิชาให้ความสำคัญกับระบบเป็นพิเศษ เธอย้ำว่าการเติบโตของเด็กคนหนึ่งจะต้องไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องความโชคดีหรือปาฏิหาริย์ แต่จำเป็นต้องมีกลไกดูแล ส่งเสริม ทั้งตัวเด็กและครอบครัวของเด็ก ซึ่งในต่างปประเทศที่ประสบความสําเร็จพบว่ามีการจัดระบบการสนับสนุน (empowerment) ครอบครัวที่ดีเพื่อก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลําบากได้

“แต่ถ้าเราหันมาดูประเทศไทย ระบบสนับสนุนครอบครัวไม่มี มันก็เลยไปเข้าร่องเดิมอีกก็คือว่าหลายเรื่องของประเทศไทยเป็นเรื่องของความโชคดีโชคร้ายปาฏิหารย์ อันนี้แหละที่เป็นประเด็นให้เกิดสถานการณ์เลวร้าย แล้วเราก็กลับมาชี้ไปที่ความเป็นปัจเจกของมนุษย์ เราไม่เคยถามหาระบบที่สามารถพามนุษย์ไปอยู่ในจุดที่ได้ใช้ศักยภาพ ได้ใช้บทบาทหน้าที่ของตัวเองอย่างเหมาะสม เราไปไม่ถึง เชื่อว่าจํานวนมากของผู้คนในประเทศไทยเพดานสูงสุดที่เราจะเดือดดาลก็คือปัจเจก 5 คนแล้วก็พ่อแม่ของเขา แต่จริงๆ เราต้องไปให้ไกลกว่านั้นว่าระบบสนับสนุนครอบครัว ระบบสนับสนุนพื้นที่ด้านดีของเด็กๆ เราทําแล้วหรือยัง”

สร้างพื้นที่ด้านสว่าง

อย่างไรก็ตาม ทิชาไม่ได้กล่าวว่าปัจเจกไม่ต้องรับผลจากการกระทําของตนเอง เพราะอย่างไรเสียกฎหมายก็ให้ปัจเจกรับผิดชอบอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าจะพูดในเชิงการหาทางออกระหว่างที่เจอปัญหาก็ต้องมองให้ครบ เพราะหากใช้ความโกรธนำในที่สุดจะเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรง

“การที่เราพูดไม่ถึงปัจเจกไม่ได้แปลว่าเขาไม่ต้องรับผิดชอบเพราะสังคมที่เค้าเติบโตไม่รับผิดชอบชีวิตเขา มันไม่ใช่ในความเป็นจริงกติกาประเทศไหนก็เขียนอยู่แล้วว่าปัจเจกต้องรับผิดชอบ แต่ในเชิงหลักคิดจะต้องไต่เพดานขึ้นไปว่าในที่สุดปัญหาที่รุนแรงนี้จะทําให้ลดน้อยลง ระบบที่เกี่ยวข้องมันอยู่ตรงไหน แล้วเราก็ถอดรหัสให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ความผิดพลาดหรือโศกนาฏกรรมนี้มีสัดส่วนที่ลดลง ไม่ได้แปลว่าเราจะปกป้องปัจเจก ไม่ใช่เราไม่แคร์คนที่ถูกปัจเจกนั้นทําร้าย ยิ่งเรารู้สึกเจ็บปวดกับความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์เท่าไหร่ เรายิ่งต้องหากุญแจดอกนี้ให้เจอ เพื่อไม่ให้มีผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตจากการกระทําของปัจเจกผู้ขาดแคลนเหล่านี้”

ทิชากล่าวว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่มีพื้นที่ด้านดี ด้านสว่างให้เด็กมีโอกาสสนุกสนาน มีโอกาสค้นพบตัวเอง มีโอกาสรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความสามารถ ที่ได้สัดส่วนกับพื้นที่ด้านมืด ธุรกิจสีเทาดำ ธุรกิจที่ปล้นความเป็นเด็ก โดยเฉพาะสามสี่ปีหลังนี้ที่เลี้ยวไปทางไหนก็เจอกัญชา เจอกระท่อม สังคมต้องไม่ไร้เดียงสาที่จะยอมรับว่าเด็กไม่ได้ใช้กัญชาและใบกระท่อมเพื่อการบำบัดรักษา

ทั้งหมดนี้ทำให้มีเฉพาะลูกคนมีเงินเท่านั้นที่จะเข้าไปซื้อบริการด้านสว่างในห้าง ในค่ายพักแรม ในต่างประเทศ หรือใดๆ ก็แล้วแต่ที่พ่อแม่มีกําลังซื้อ

พื้นที่ด้านสว่างกับพื้นที่ด้านมืดไม่อาจโยนให้เป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ตามลําพังได้ เนื่องจากพ่อแม่จํานวนมากเข้าไม่ถึงพื้นที่ด้านดีซึ่งมีราคาที่ต้องจ่าย เราจึงต้องตั้งคําถามกับรัฐที่มีหน้าที่ลงทุนสร้างพื้นที่ด้านสว่าง

“อีกปัจจัยหนึ่งถ้าเราดูจากข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ เด็กในแก๊งเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยหรือเปล่า ที่ตอนนี้ตํารวจกําลังโฟกัสอยู่เป็นเด็กที่ออกจากโรงเรียนโดยเฉพาะช่วงมอต้น เมื่อประตูโรงเรียนปิดใส่เด็ก ประตูคุกมันเปิดทันที”

เมื่อรู้ว่าโลกเปลี่ยนโรงเรียนจะทำตัวไม่น่าสนใจเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะถ้าพื้นที่ข้างนอกน่าสนใจกว่าในที่สุดเด็กๆ ก็จะกระโจนเข้าไป เหมือนกับว่าโรงเรียนไม่ไม่ปรับตัวกับความเป็นพลวัตของโลก แต่กลับเรียกร้องให้เด็กนิ่งและสงบเหมือน 50 ปีที่แล้ว แล้วพอเด็กกระทำความผิด เด็กสมัยนี้ก็ถูกปรามาสว่าแย่กว่าเด็กสมัยก่อน ซึ่งทิชาเห็นว่าการคิดไม่ครบของผู้ใหญ่เช่นนี้ยิ่งพาให้หลงทาง

แก้กฎหมายไม่ใช่ทางออก-กฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ทำงานด้วยซ้ำ

ขณะที่ข้อเรียกร้องให้แก้กฎหมาย ทิชากล่าวว่าอยากให้สังคมคิดช้าๆ แล้วย้อนดูว่าเยาวชนทั้ง 5 คนสร้างความเดือดร้อนมายาวนานเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำอะไรบ้าง เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่าให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เจ้าหน้าที่ตํารวจทําอะไรบ้าง เนื่องจากเยาวชนเหล่านี้อยู่ในกลุ่มที่ต้องคุ้มครองเป็นพิเศษตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก หมวด 4 มาตรา 40 ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการกระทําผิด

นอกจากนี้ กฎหมายยังกําหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับกรุงเทพมหานคร และระดับจังหวัด มีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ มีอํานาจตามกฎหมายหลายประการ ซึ่งทิชาตั้งคำถามว่าคณะกรรมการเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ของตนหรือยัง

“กลไกที่มีอยู่ทั้งหมดในกฎหมาย ทําอะไรกันบ้าง แล้วพอวันหนึ่งเด็กเหล่านี้เปลี่ยนตัวเองให้เป็นอาชญากรเด็กขึ้นมาเราก็คิดว่าสิ่งที่ต้องทําอย่างเร่งด่วนคือต้องลดอายุ แล้วก็เพิ่มโทษให้เท่ากับผู้ใหญ่ มันเร็วเกินไปมั้ย คิดแบบด้านเดียวเกินไปมั้ย ที่สําคัญผู้ใหญ่ทั้งหมดที่อยู่ในกฎหมายศึกษาวิจัยหน่อยได้มั้ยว่าทําอะไรไปบ้างแล้วหรือยัง และถ้าไม่ทําจะโดน 157 มั้ย เราไม่เคยมีการลงโทษผู้ใหญ่ที่ไม่ทําหน้าที่เลย” ทิชากล่าวและเสนอว่า

ควรมีการศึกษาย้อนหลังว่ากลไกทั้งหมดภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ได้มีการริเริ่มทำอะไรไปบ้างและทำไมถึงไม่ทำหน้าที่ของตน

“ความเป็นซาตานของเด็กๆ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวของเขาเอง แต่เกิดขึ้นจากกลไกที่ผุพังอ่อนแอ ที่มากกว่านั้นอาจจะต้องถาม ผบ.ตร. ก่อนที่จะบอกว่ามีข้อมูลชัดเจนแล้วว่าเด็กๆ ก่อคดีที่รุนแรงในช่วงหลังมีสักเท่าไหร่ซึ่งจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้กฎหมาย ทั้งหมดนี้ก็ต้องถูกเอามาบวกลบคูณหารก่อนที่จะแก้กฎหมายไม่อย่างนั้นมันก็ไม่แฟร์ พูดอย่างนี้ก็ไม่ใช่แปลว่าปกป้องเด็กและไม่เห็นค่าชีวิตของป้าบัวผันและผู้เสียชีวิตทุกคน ไม่ใช่

“แต่ก่อนที่เราจะเดินทางต่อไปเราต้องดูให้ครบไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่ากฎหมายใหม่ก็ไปเอ็มเพาเวอร์ผู้มีอํานาจซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายเดิมที่เขียนเอาไว้ แล้วจะไปเพิ่มอํานาจอะไรให้เขาอีก อันเก่ายังไม่ทําเลย”

รัฐสวัสดิการและกระบวนการเยียวยา

สุณีย์อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าในทางอาชญาวิทยามีทฤษฎีที่เรียกว่าทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม ทำให้เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องแยกการทำผิดของเด็กและเยาวชนออกจากผู้ใหญ่ เนื่องจากพฤติกรรมการกระทําผิดของผู้ใหญ่มีความแยบยลในการวางแผน เมื่อไหร่ก็ตามที่นำเด็กไปขังรวมกับผู้ใหญ่ เด็กจะถูกชี้นําไปสู่ในทิศทางที่ผิด ดังนั้นจึงต้องตัดช่องทางการเรียนรู้ตรงนี้ออกให้มากที่สุดโดยใช้มาตรการอื่นทดแทน ในต่างประเทศเรียกสิ่งนี้ว่า home detention หรือกการกักตัวอยู่กับบ้านหรือศูนย์เอกชนที่รับดูแลเด็กเหล่านี้

“ในต่างประเทศหลายประเทศ เมื่อเด็กคนหนึ่งกระทำผิดเขาจะใช้ระบบสวัสดิการรัฐ พ่อแม่อาจจะไม่ต้องเสียเงินที่จะเข้าสู่ระบบศูนย์เยาวชนของเอกชน รัฐจะจ่ายให้ครึ่งหนึ่งหรือหนึ่งในสาม แล้วแต่ลักษณะของกฎหมายเขาก็จะต้องนำลูกไปอยู่ในกระบวนการกี่เดือนก้ว่ากันไป home detention มีทั้งของรัฐและเอกชนและการเสียเงินเข้าก็เป็นส่วนหนึ่งของของสวัสดิการสังคมเหมือนกัน แต่บ้านเรามีเฉพาะของรัฐบาล ดังนั้น home detention อาจจะจําเป็นในอนาคต”

สุณีย์เล่าตัวอย่างประเทศออสเตรียว่ามีเด็กและเยาวชนที่กระทําผิดน้อยเพราะมีระบบสวัสดิการสังคมที่ดี แต่มีเด็กรายหนึ่งแทงผู้ปกครองเสียชีวิตจึงต้องถูก home detention ในศูนย์ของเอกชนซึ่งจะมีโปรแกรมการดูแลสุขภาพจิตและกิจกรรมนันทนาการ มีการประเมินทุกสามวัน มีการทํากลุ่มบําบัดเพื่อค้นหาศักยภาพของเด็ก และวางแผนการบำบัดเฉพาะบุคคลเพื่อค้นหาสาเหตุที่เด็กก่อความรุนแรงแล้วทำการบำบัด เมื่ออยู่ครบตามกำหนดเวลาเด็กก็จะถูกปล่อยตัว

การที่เด็กคนหนึ่งกลายเป็นอาชญากรก่อคดีอุกฉกรรจ์แล้วสังคมเกิดความเดือดดาลย่อมไม่ใช่เรื่องผิดแปลก ถ้าไม่โกรธเลยต่างหากที่น่าจะผิดปกติ อย่างไรก็ตาม ความโกรธไม่ได้นำไปสู่ทางแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ การแก้กฎหมายเอาผิดเด็กและเยาวชนให้เท่ากับผู้ใหญ่ สุดท้าย เราอาจได้อาชญากรผู้ใหญ่เพิ่มอีกหนึ่งคนโดยไม่คาดคิด ดั่งที่ทิชาย้ำนี่ไม่ใช่การให้ท้ายเด็กและเยาวชนที่ก่อคดี ไม่ใช่การไร้ความเห็นอกเห็นใจเหยื่อ แต่คือการพยายามมองให้กว้างและลึกถึงที่มาที่ไปของความรุนแรง

ทั้งสุณีย์และทิชาเห็นสอดคล้องกันว่าการแก้กฎหมายไม่ใช่ทางออก แต่ควรใช้กฎหมายที่มีอยู่ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อดูแล ป้องกัน และฟื้นฟูเด็กและเยาวชนกลับคืนสู่สังคม ให้เต็มที่ตามกระบวนการเสียก่อน ผู้มีอำนาจตามกฎหมายต้องทำงานและไม่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่

เพราะไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจที่ต้องกำจัดทิ้งแต่ต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net