Skip to main content
sharethis

สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากลและสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ชี้ความไม่เท่าเทียมและการปฏิบัติอย่างสองมาตรฐานส่งผลต่อผู้ต้องขังในไทยในปี 66 ผ่านรายงานเรือนจำประจำปี ย้ำแม้ว่าการปฏิบัติเป็นพิเศษต่อผู้ต้องขังที่มีสถานะทางสังคมสูงนั้นเป็นคุณลักษณะที่มีมายาวนานของระบบทัณฑสถานของประเทศไทย แต่กรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ดึงดูดความสนใจของทั้งในประเทศและต่างประเทศมายังประเด็นนี้

25 มี.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights - FIDH) เผยแพร่รายงานเรือนจำประจำปี ที่ FIDH ร่วมกับสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL) จัดทำ รายงาน 56 หน้า ครอบคลุมพัฒนาการ แนวโน้ม ข้อเท็จจริง และตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับระบบเรือนจำไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2566 ซึ่งเป้นการสัมภาษณ์ของ FIDH กับอดีตนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวในช่วงเวลาต่างๆ ในปี 2566 เผยให้เห็นว่า นักโทษที่ร่ำรวย มีชื่อเสียง หรือมีอิทธิพลมักจะได้รับสิทธิพิเศษมากมายเหนือประชากรเรือนจำทั่วไป รวมถึงเรือนนอนที่มีผู้พักอาศัยน้อยกว่า ที่นอนคุณภาพดีกว่าสำหรับการนอนหลับ ลำดับความสำคัญในการได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น และการไม่ต้องรับโทษในระดับหนึ่งเมื่อกระทำความผิดทางวินัย

"แม้ว่าการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีสถานะทางสังคมสูงเป็นพิเศษนั้นเป็นคุณลักษณะที่มีมายาวนานของระบบราชทัณฑ์ ไทย แต่กรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้ดึงความสนใจในระดับชาติและระดับนานาชาติมายังประเด็นนี้" รายงานตอนหนึ่งระบุ

อดิลูร์ เราะห์มาน ข่าน (Adilur Rahman Khan) เลขาธิการ FIDH กล่าวด้วยว่า ในเรือนจำไทย แม้ว่าผู้ต้องขังส่วนใหญ่จะต้องเผชิญกับสภาพความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐานซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเขา แต่ก็มีผู้ต้องขังเพียงไม่กี่คนที่ได้รับสิทธิพิเศษและได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่จะต้องปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติและประกันว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและมีศักดิ์ศรีตามมาตรฐานสากลและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย

รายงานยังพบว่าสภาพเรือนจำยังคงย่ำแย่ โดยมีความท้าทายอย่างต่อเนื่องที่ถูกรายงานโดยอดีตผู้ต้องขังในหลายพื้นที่ ได้แก่ สภาพที่พัก การลงโทษ คุณภาพของอาหารและน้ำดื่ม การเข้าถึงการรักษาพยาบาล งาน การติดต่อกับโลกภายนอก กิจกรรมสันทนาการและการฟื้นฟูสมรรถภาพ และขั้นตอนในการร้องเรียน

ท่ามกลางพัฒนาการเชิงบวกบางประการได้แก่ การจัดหาเครื่องนอนที่มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งรายงานโดยผู้ต้องขังที่ถูกสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ ในขณะที่อดีตผู้ต้องขังหญิงรายงานว่ามีผลิตภัณฑ์สุขอนามัยสำหรับผู้หญิงอย่างเพียงพอ

ความแออัดยัดเยียดยังคงแพร่ระบาดในเรือนจำ โดยมีทัณฑสถาน 112 แห่ง (หรือ 78%) จากทั้งหมด 143 แห่งของประเทศไทยที่ต้องปฏิบัติการเกินความสามารถอย่างเป็นทางการ จำนวนผู้ต้องขังที่ถูกจำคุกจากความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดยังคงเป็นสัดส่วนใหญ่ (75%) ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด นอกจากนี้ นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562 ที่จำนวนผู้ต้องขังทั้งหมดเพิ่มขึ้น (+4.5%) เมื่อเทียบเป็นรายปี และเป็นปีที่สองติดต่อกันที่จำนวนผู้ต้องขังที่ต้องโทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้น (+43%)

ขณะเดียวกัน ในปี 2566 ผู้ต้องขังไทยทั่วประเทศถูกห้ามไม่ให้ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 การตัดสิทธิ์แบบครอบคลุมของพลเมือง อย่างน้อยประมาณสองแสนห้าหมื่นคน ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ในตอนนี้ รายงานเรือนจำประจำปีของ FIDH และ UCL ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ถือเป็นการประเมินสภาพเรือนจำที่เป็นอิสระและครอบคลุมเพียงฉบับเดียวในประเทศไทย รายงานฉบับนี้ให้ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติหลายประการสำหรับการปรับปรุงสภาพเรือนจำให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net