Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดีปิดกั้นการชุมนุม We Walk ชี้การกระทำของตำรวจถือไม่ได้ว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ถึงขนาดทำให้ไม่สามารถชุมนุมได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2567 ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีที่ตัวแทนเครือข่าย People Go Network ได้แก่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ (ผู้ฟ้องคดีที่ 1), ณัฐวุฒิ อุปปะ (ผู้ฟ้องคดีที่ 2), วศินี บุญที (ผู้ฟ้องคดีที่ 3) และ นิมิตร์ เทียนอุดม (ผู้ฟ้องคดีที่ 4) ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง, พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี และ พล.ต.ต.สมหมาย ประสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1, 3 และ 4 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1- 7 ตามลำดับ จากกรณีการถูกเจ้าหน้าที่ ปิดกั้นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ขณะทำกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ช่วงระหว่างวันที่ 19-21 ม.ค. 61   

เหตุในคดีนี้เกิดจาก เลิศศักดิ์และเครือข่ายประชาชน People Go Network ได้ร่วมจัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตถึงจังหวัดขอนแก่น เพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนใน 4 ประเด็น ได้แก่เรื่องหลักประกันสุขภาพ นโยบายไมทำลายความมั่นคงทางอาหาร กฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชนสิทธิชุมนุม และรัฐธรรมนูญต้องมาจากการมีส่วนร่วมและรับฟังอย่างรอบด้าน

นอกจากนั้น เลิศศักดิ์ได้มีการแจ้งการชุมนุมต่อ พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 แล้วเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2561 โดยใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ภายหลัง พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ได้รับแจ้งจากฝ่ายสืบสวนและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงฝ่ายทหารว่าผู้จัดกิจกรรมมีการขายเสื้อที่มีข้อความ “ช่วยกันคนละชื่อ ปลดอาวุธ คสช.” และมีการร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558

พ.ต.อ.ฤทธินันท์ จึงมีหนังสือถึงเลิศศักดิ์ว่า ตามที่ตนได้รับรายงานมาเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่เป็นการมั่วสุมหรือเป็นชุมนุมทางการเมือง ซึ่งขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หากเลิศศักดิ์ต้องการชุมนุมต่อให้ดำเนินการขออนุญาตผู้มีอำนาจต่อไป ทั้งนี้เลิศศักดิ์ได้ทำหนังสือถึง พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ยืนยันการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมาย

ต่อมาในวันที่ 20 ม.ค. 2561 ผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน ได้เดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่มีตำรวจประมาณ 200 นาย ตั้งแถวหน้ากระดานปิดกั้นไม่ให้เดินออกไปจนทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนทยอยกลับ จน 16.00 น. ผู้ชุมนุมเดินออกจาก มธ.ทางประตูอื่นและเดินไปขอพักที่วัดลาดทรายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวันต่อมาผู้ชุมนุมเดินออกจากวันลาดทรายในเวลา 6.00 น. เพื่อเริ่มทำกิจกรรมวันที่สอง ตำรวจและทหารได้ตั้งด่านบริเวณทางเข้าวัดตรวจบัตรประชาชนและซักประวัติทุกคนที่ผ่าน และตรวจรถยนต์และตรวจสำเนาทะเบียนรถทุกคันและมีการกักรถกระบะที่ใช้ขนสัมภาระและน้ำดื่มเพื่อตรวจค้น

กรณีข้างต้นนำไปสู่การฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางให้วินิจฉัยว่า การที่เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะได้ดำเนินการตรวจค้น ปิดกั้น ขัดขวางการชุมนุมของผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำละเมิดผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากเป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เพียงใด

ต่อมาในวันที่ 28 ก.ย. 2561 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีนี้ โดยระบุเหตุผลว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึง 7 ซึ่งอยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลการชุมนุมสาธารณะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย มิได้กระทำการตรวจค้น ปิดกั้น ขัดขวางการชุมนุม อันเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงพิพากษายกฟ้อง  (ดูรายละเอียดการไต่สวนคดีเพิ่มเติม)

ต่อมาผู้ฟ้องทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยครบถ้วนอีกทั้งการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ผู้ฟ้องทั้งสี่จึงชอบที่จะได้รับความคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการชุมนุมซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของรัฐเสรีประชาธิปไตย 

การปฏิบัติการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 และเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2561 เป็นการปฏิบัติการทางปกครองเพื่อปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยอ้างเหตุตามข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  และมิใช่การใช้อำนาจตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

การชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ไม่ได้กระทบต่อการจราจรและก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนอื่นเกินสมควร หรืออาจส่งผลกระทบต่อการใช้บริการสถานที่ราชการตามที่ผู้ถูกฟ้องทั้งเจ็ดกล่าวอ้าง

การปฏิบัติการของผู้ถูกร้องและเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ข่มขู่ คุกคาม และทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมกิจกรรมเกิดความหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเมิดสิทธิผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ จึงต้องรับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องทั้งสี่

นอกจากนั้นผู้ฟ้องคดียังเห็นว่าศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดยังเคยมีความเห็นตรงกันในคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเป็นการปิดกั้นการชุมนุม และมีคำสั่งให้คุ้มครองการชุมนุมครั้งนี้ไปแล้วเมื่อ 14 ก.พ.2561

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 อธิบดีอัยการภาค 1 ยังมีคำสั่งไม่ฟ้องสมาชิกเครือข่าย People Go Network จำนวน 8 คน ในเหตุจากการชุมนุมครั้งนี้ ซึ่งถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และทางอัยการได้ส่งความเห็นถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ทั้งตำรวจก็มีความเห็นไม่ฟ้องเช่นเดียวกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net