เดินมิตรภาพ: ความมั่นคงทางอาหารกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเมล็ดพันธุ์ฉบับใหม่

ข้อกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเมล็ดพันธุ์ฉบับใหม่ เสี่ยงถูกผูกขาด-เอื้อประโยชน์กับบรรษัทขนาดใหญ่ ลดความหลากหลายทางชีวภาพ อาจเก็บพันธุ์ที่ได้รับความคุ้มครองมาปลูก-จำหน่าย-แจก ไม่ได้ เสี่ยงพันธุ์พืชใหม่ผสมกับพันธุ์ทั่วไปชาวบ้านอาจมีความผิด

กิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” โดยเครือข่ายประชาชน People Go Network มีเป้าหมายการเดินทาง 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น เพื่อเชื่อมร้อยประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา สร้างความเข้าใจกัน ยืนยันสิทธิของประชาชนทุกด้านในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศโดยประเด็นหลักที่ต้องการบอกเล่าเรื่องราวและรณรงค์ มี 4 ประเด็นคือ 1. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและรัฐสวัสดิการ 2. ความมั่นคงทางอาหาร 3. สิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชุน 4. รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย

ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร หากลองคิดดูง่ายๆ ว่าในข้าวหนึ่งจานที่เรากินทุกวันนี้ มีที่มาจากเมล็ดพันธุ์หลากหลายชนิด ทั้งเมล็ดข้าวและเมล็ดผักต่างๆ ซึ่งเราไม่เคยรู้ที่มาที่ไป ไม่รู้ขั้นตอนและวิธีการ ไม่รู้จักคนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ อาจทำให้เราต้องหันมาตั้งคำถามกับที่มาที่ไปของอาหารให้มากขึ้น 

เนื่องมาจากข้อกังวลของหลายฝ่ายต่อร่างกฎหมายนี้ ที่อาจทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บรักษาพันธุ์ไว้ปลูกต่อและพัฒนาพันธุ์ได้ เนื่องจากร่างกฎหมายนี้ให้สิทธิแก่ผู้คิดค้น พัฒนาหรือนักปรับปรุงพันธุ์พืชซึ่งอาจหมายถึงบริษัทเมล็ดพันธุ์ ทำให้เกิดการผูกขาดพันธุ์จากบริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ ซึ่งหมายถึงความหลากหลายของพันธุ์พืชที่จะลดลง ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร

เมล็ดพันธุ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร

ความมั่นคงทางอาหาร คือการที่ทุกคนมีความสามารถเข้าถึงอาหารทั้งในทางกายภาพและเศรษฐกิจอย่างเพียงพอ ปลอดภัย มีเสถียรภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อการมีชีวิตที่ดีและสุขภาพที่แข็งแรง

ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เพราะทำให้เรามีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่หลากหลาย และอาหารเหล่านั้นไม่ได้ถูกผูกขาดจากระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ผลิตโดยไม่สนใจผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพของทั้ง 3 แหล่ง จากอินเดีย มลายู และตอนใต้ของจีน ไทยจึงมีความหลากหลายมาก ไทยมีจุดแข็งที่ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วย เช่น วัฒนธรรมอาหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชและระบบเกษตรกรรม

ระบบพันธุกรรมเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเกษตร เมล็ดพันธุ์จึงเป็นเรื่องใหญ่ เมล็ดพันธุ์เหล่านี้สูญหายไปอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ทศวรรษมานี้ จากเดิมที่ไทยเคยมีพันธุ์กว่า 100,000 ชนิดพันธุ์ที่เก็บตัวอย่างพันธุ์ได้ โดยปัจจุบันในพื้นที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ปลูกข้าวเพียง 5 สายพันธุ์ เมล็ดพันธุ์พื้นเมืองที่เคยแพร่หลายในหมู่เกษตรกรรายย่อยค่อยๆ ลดความหลากหลายลงเรื่อยๆ ขณะที่เมล็ดพันธุ์ที่บริษัทการเกษตรขนาดใหญ่เป็นผู้ผลิตกลับครองตลาดอยู่ไม่กี่ราย

เรื่องนี้เป็นผลจากการดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ที่สอดคล้องไปบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ต่างมุ่งผูกขาดวัตถุดิบ เทคโนโลยีการผลิต จนถึงช่องทางจัดจำหน่าย โดยการพยายามทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเหมือนกันในระดับนานาชาติตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีแต่อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารขนาดใหญ่เท่านั้นที่ทำได้ ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยต้องออกจากระบบตลาดและถูกกีดกันการเข้าถึงพันธุกรรมสัตว์และพืชโดยใช้ระเบียบการค้าควบคุมและเทคโนโลยีกำหนด

ถึงที่สุดแล้วความต้องการวัตถุดิบจำนวนมหาศาลแต่เพียงไม่กี่ชนิดอย่างต่อเนื่องตามหลักความประหยัดต่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้ทำลายความหลากหลายของพันธุกรรมพืชและสัตว์อย่างต่อเนื่อง กระบวนการผลิตและแปรรูปก็มักไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันแนวโน้มต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารแบบอุตสาหกรรมก็สูงขึ้นตามราคาน้ำมันจนการขึ้นราคาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงทำให้อาหารแพงขึ้นมาก นอกเหนือไปจากนั้นปัญหาการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหารที่รวมศูนย์การจัดการก็ก่อวิกฤตแก่ผู้บริโภคและเกษตรกรมาแล้วในช่วงพิบัติภัย

ดังนั้นหากปล่อยให้เกิดการผูกขาดชนิดพันธุ์จากบรรษัทขนาดใหญ่จึงมีแนวโน้มที่เราจะบริโภคอาหารที่มีราคาสูงขึ้น มีสารเคมีส่งผลต่อสุขภาพ ทำลายสิ่งแวดล้อม และทำให้เรามีทางเลือกในการบริโภคน้อยลง

ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ระบุชัดเป็นไปตามยูปอฟ 1991 และ FTA เอื้อประโยชน์บรรษัทขนาดใหญ่

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาบรรษัทข้ามชาติและบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ได้ผลักดันให้ประเทศไทยยอมรับระบบกฎหมายผูกขาดพันธุ์พืชตามระบบ UPOV (ยูปอฟ)1991 ทั้งที่เป็นการผลักดันโดยตรงและผ่านการทำเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-ยุโรป เป็นต้น แต่ก็ไม่เคยประสบผลสำเร็จ

ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ โดยกรมวิชาการเกษตร ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการร่างกฎหมายเพื่อให้เป็นไป ‘ตามแนวทางของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (อนุสัญญายูปอฟ 1991)’ และรองรับ ‘การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ผลักดันให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญายูปอฟ 1991’

ยูปอฟ 1991 คืออะไร?

UPOV (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants) คือสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เป็นการตกลงเพื่อให้สิทธิผูกขาดพันธุ์พืชใหม่แก่บริษัทและนักปรับปรุงพันธุ์พืช โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปกป้องสิทธิ สร้างแรงจูงใจในการค้นพบพันธุ์พืชใหม่ สายพันธุ์ดี และจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรและผู้บริโภค บังคับใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1961 และต่อมามีการปรับปรุงแก้ไขในปี 1972, 1978 จนในที่สุดความตกลง UPOV1991 ก็ใกล้เคียงกับการผูกขาดโดยระบบสิทธิบัตร เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกคือ จะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ แต่การถอนออกจากการเป็นสมาชิกทำได้ยาก และอาจมีผลทำให้ประเทศที่ต้องสูญเสียค่าชดเชยในภายหลัง

ในปี 2557 มีการสัมมนาที่สนับสนุนโดยกรมการค้าเมล็ดพันธุ์กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ว่าด้วยเรื่องการเข้าภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ UPOV 1991 ดีอย่างไร และผู้สนับสนุนซึ่งประกาศอยู่ในเว็บไซต์ http://www.thasta.comได้แก่บริษัทเกี่ยวกับพันธุ์พืชขนาดใหญ่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลก เช่น มอนซาโต้ ไพโอเนีย แปซิฟิก อีสต์เวสต์ซีด ซินเจนทรา รวมทั้ง เจียไต๋ ศรแดง และอื่นๆ

การสัมมนาครั้งนี้ได้สรุปโดยนำเสนอเพียงแค่ข้อดีของ UPOV 1991 เท่านั้น การร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ที่ประกาศชัดเจนว่าเพื่อให้เป็นไปตาม UPOV 1991 รวมถึงการผลักดันให้ไทยเข้าร่วม UPOV 1991 นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากบริษัทขนาดใหญ่ผู้ครอบครองส่วนแบ่งหลักทางการตลาดเป็นผู้สนับสนุน

เพิ่มความคุ้มครองนักปรับปุรงพันธุ์ หากนำไปปรับปรุงพันธุ์อีกและปรากฏลักษณะสำคัญเดิม ฟ้องเรียกผลตอบแทนได้

ร่างกฎหมายฉบับใหม่อิงกับอนุสัญญายูปอฟ 1991 นำมาใช้คือแนวคิดที่เรียกว่า ‘พันธุ์ที่ได้รับพันธุกรรมสำคัญจากพันธุ์อื่น’ หรืออีดีวี (Essentially Derived Variety: EDV) ซึ่งเป็นแนวคิดที่พยายามผลักให้การคุ้มครองพันธุ์พืชเข้าใกล้ระบบสิทธิบัตรที่ปรากฏอยู่ในอนุสัญญายูปอฟ

แนวคิดอีดีวีคือ ถ้านักปรับปรุงพันธุ์นำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปมาปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ใหม่ และนำไปจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ โดยอ้างลักษณะสำคัญบางประการ หากพันธุ์ดังกล่าวมีการเผยแพร่ต่อไป มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จากนักปรับปรุงพันธุ์คนอื่นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าลักษณะสำคัญที่ว่ายังคงอยู่ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย นักปรับปรุงพันธุ์คนแรกก็ยังคงสามารถอ้างสิทธิของตน เพื่อขอส่วนแบ่งรายได้ได้เสมอ หรือในกรณีที่นักปรับปรุงพันธุ์อีกคนหนึ่ง นำพันธุ์พืชพื้นเมืองตัวเดียวกันมาปรับปรุงจนได้พันธุ์ใหม่ แต่พันธุ์ใหม่ข้างต้นกลับปรากฏลักษณะสำคัญของนักปรับปรุงพันธุ์รายแรกที่จดไปแล้ว นักปรับปรุงพันธุ์รายแรกก็มีสิทธิฟ้องและพิสูจน์ เพื่อเรียกผลตอบแทนได้เช่นเดียวกัน ตราบใดที่ยังไม่หมดอายุการคุ้มครอง

ขยายสิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น

1.ขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืช แต่เดิมพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี และพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ในเวลาเกินกว่า 2 ปีให้การคุ้มครอง 12 ปีและ 17 ปีตามลำดับนั้น ในมาตรา 31 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ขยายระยะเวลาออกไปเป็น 20 ปี ส่วนไม้เถายืนต้น (เช่น องุ่น) ให้มีระยะเวลา 25 ปี

2.ขยายการคุ้มครองจากแต่เดิมให้การคุ้มครองเฉพาะ ‘ส่วนขยายพันธุ์’ (มาตรา 33 ของพ.ร.บ.ฉบับเดิม) ให้เพิ่มรวมไปถึง ‘ผลิตผล’ และ ‘ผลิตภัณฑ์’ ตามร่างพ.ร.บ.มาตรา 37 และร่าง พ.ร.บ.มาตรา 38 ตัวอย่างเช่น หากพบว่ามีการเก็บรักษาพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อทั้งๆ ที่มีการประกาศว่าเป็น ‘พันธุ์พืชส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์’ ตามมาตรา 35 ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเพาะปลูกและแปรรูปทั้งหมดถือเป็นทรัพย์สินของผู้ทรงสิทธิหรือบริษัทเมล็ดพันธุ์

3.ขยายการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ไปยังสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เป็นพันธุ์ที่ได้พันธุกรรมสำคัญมาจากพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง (EDVs-Essentially Derived Varieties) พันธุ์ที่ไม่แสดงความแตกต่างจากพันธุ์พืชใหม่ และพันธุ์ที่ต้องอาศัยพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองในการขยายพันธุ์ทุกครั้ง (มาตรา 40 ร่างพ.ร.บ.)

ยกตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิมีความหอมเป็นลักษณะสำคัญ แต่นักปรับปรุงพันธุ์จากบริษัทหนึ่งพัฒนาจนเป็นข้าวหอมมะลิสีม่วง ได้สิทธิในสายพันธุ์นั้น ปรากฏว่ามีคนเอาข้าวหอมมะลินี้ไปปลูกแล้วกลายพันธุ์หรือปรับปรุงพันธุ์จนข้าวหอมมะลินี้มีวิตามินอีสูงมาก จนนำไปใช้เป็นยาเป็นเครื่องสำอางได้ แต่ยังมีสีม่วงอยู่ กฎหมายนี้บอกว่า ถ้ามีลักษณะพิเศษนี้ของบริษัทอยู่ ให้ถือว่าสายพันธุ์นั้นเป็นสายพันธุ์ย่อยของบริษัท

เกษตรเก็บพันธุ์ปลูกต่อได้หรือไม่ไม่ชัดเจน แต่ขายหรือแจกจ่ายไม่ได้ผิดกฎหมาย

วรรคแรกของมาตรา 35 ว่า เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง

แต่ วรรค 2 ของมาตรา 35 ซึ่งดูเหมือนมีอำนาจมากกว่าวรรคแรก กล่าวว่า เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้

หมายความว่าในวรรคแรกคือหลักทั่วไป แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐมนตรีประกาศก็สามารถทำให้วรรคแรกนั้นหมดความหมายได้ และสามารถห้ามไม่ให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อได้ทันที และสิ่งนี้เป็นจุดประสงค์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์มาโดยตลอด ร่างกฎหมายใหม่นี้จึงเน้นคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ และวรรค 2 ในมาตรา 35 นั้น ถึงที่สุดจะกระทบต่อเกษตรกรในการจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์ของเกษตรกร

ส่วนมาตรา 74 ผู้ใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 33 หรือมาตรา 57 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชนั้น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ มาตรานี้ถูกตีความว่า จะทำให้เกษตรกรที่ปลูกพันธุ์พืชใหม่ตามประกาศข้างต้นแล้วเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้าน จะมีความผิด

สิทธิชุมชนถูกทำลาย-เสี่ยงพันธุ์พืชใหม่ผสมกับพันธุ์ทั่วไป ชาวบ้านอาจมีความผิด

วิถีดั้งเดิมของชุมชนเกษตรคือการได้พันธุ์พืชเพื่อปลูกแล้วคัดจนกว่าจะได้พันธุ์ที่ดีมาเป็นลำดับ และแลกเปลี่ยนกันระหว่างชุมชน ซึ่งมีพื้นฐานจากแนวคิดช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันในสังคมเกษตรของไทยมาแต่โบราณ การอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ของชุมชนนั้นมีรากเหง้ามาจากวิถีชีวิตในแบบเดิมที่ไม่เคยเห็นพันธุ์พืชเป็นทรัพย์สินที่ใครคนใดคนหนึ่งจะหวงเอาไว้เป็นของตนเอง

แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ให้สิทธิความเป็นเจ้าของแก่นักปรับปรุงพันธุ์และบริษัทเมล็ดพันธุ์ ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงที่พันธุ์พืชใหม่อาจผสมกับพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปโดยธรรมชาติ ซึ่งถ้าดูพันธุกรรมอาจจะมีลักษณะสำคัญของพันธุ์พืชใหม่อยู่ ทำให้เมื่อตรวจดูแล้วอาจเห็นพันธุกรรมสำคัญที่มาจากพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง หรือที่เรียกว่า essentially derived varieties (EDV) ดังนั้นชาวบ้านจะมีความผิดฐานละเมิดสิทธิพันธุ์พืชใหม่ได้ ตามร่างกฎหมายใหม่

เปิดทางให้นำพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือแบ่งปันผลประโยชน์

1. มีการเปลี่ยนแปลงนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปว่า ‘พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป’ หมายความว่าพันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศหรือมีอยู่ในประเทศ ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ไม่รวมถึงพันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า หรือพันธุ์พืชที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นพันธุ์ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ (ร่างพ.ร.บ.มาตรา4) การแก้คำนิยามดังกล่าวทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ใดๆ เมื่อมีการนำเอาสารพันธุกรรมหรือพันธุ์พืชไปใช้ โดยเพียงแต่เอาพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือพันธุ์พืชป่า มาผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์เสียก่อนเท่านั้นก็ไม่เข้าเงื่อนไขการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์แล้ว

2. กฎหมายเดิมกำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ต้องแสดงที่มาของสารพันธุกรรมตามมาตรา 9 (3) แต่ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชกลับตัดวรรคดังกล่าวออกและร่างขึ้นใหม่เป็น ‘ข้อมูลหรือเอกสารหรือวัสดุที่จำเป็นแก่การตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด’ (ร่าง พ.ร.บ. มาตรา18 (3) การแก้ไขดังกล่าวมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการนำเอาสารพันธุกรรมและพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์นั่นเอง

ในปัจจุบันแม้แต่ประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าแต่ขาดแคลนทรัพยากรชีวภาพ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ฯลฯ แต่ประเทศเหล่านั้นได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของตนให้ต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพ เพื่อรองรับหลักการแบ่งปัน

สถานการณ์ล่าสุด-เจรจา FTA กับ EU พ่วงยูปอฟ 1991 ด้วย

ประชาไทได้สัมภาษณ์ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ถึงสถานการณ์ล่าสุดของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งวิฑูรย์ได้กล่าวว่า หลังจากมีการเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยของคนหลายฝ่าย ทางคุณฉัตรชัย สาริกัลยะอดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็คุยกันว่าจะมีการปรับปรุง แต่ในที่สุดเขาก็โดนปรับจากรัฐมนตรีเกษตรฯ ไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี แล้วเปลี่ยนคณะผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งชุด

หลังจากที่เปลี่ยนแล้ว กรมวิชาการเกษตรออกมาให้สัมภาษณ์ว่ายังคงยืนยันจะผลักดันร่างกฎหมายนี้ต่อ ซึ่งเป็นการออกมาให้ข่าวแบบนี้แค่ครั้งเดียว จากนั้นก็เงียบหายไป ยังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์จะไปถึงไหน แต่เท่าที่เราประเมินสถานการณ์คิดว่า อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่กรมวิชาการเกษตรจะผลักดันร่างกฎหมายนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเกษตรฯ ชุดใหม่ เพราะคณะรัฐมนตรีส่วนหนึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าไม่น่าจะเห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เพราะมีเสียงค้านค่อนข้างเยอะ

ส่วนสถานการณ์ภายนอกประเทศ ประเด็นสำคัญคือหลังจากประเทศไทยประกาศจะมีการเลือกตั้ง ทาง EU ก็แถลงความพร้อมว่าจะมีการเจรจา FTA กับไทย กระทรวงพาณิชย์ก็เตรียมการเดินหน้าจะเจราจากับ EU แล้ว ตอนนี้ก็กำลังนัดหมายจะขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ อยู่ ซึ่งถือเป็นขั้นเริ่มต้นเจรจาแล้ว ประเด็นเรื่องยูปอฟ 1991 ก็จะเป็นหนึ่งในหัวข้อการเจรจาแน่ๆ จะทำให้มีแรงผลักดันมาจากการเจรจาระหว่างประเทศมาถึงร่างกฎหมายนี้

ทั้งหมดนี้คือข้อกังวลต่อร่างพ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้เกิดการผูกขาดจากนักปรับปรุงพันธุ์และบรรษัทขนาดใหญ่ในการได้รับความคุ้มครองพันธุ์พืช และมีความเสี่ยงที่เกษตรกรรายย่อยจะถูกฟ้องร้องได้จากการเก็บเมล็ดพันธุ์ไปขายหรือจ่ายแจก หรือกระทั่งพัฒนาพันธุ์พืชที่ได้รับความคุ้มครอง อันเป็นวิถีปฏิบัติดั้งเดิมภายในชุมชน ผลักให้พื้นที่ทางการตลาดของเกษตรกรรายย่อยลดลง ทำให้ความหลากหลายทางอาหารลดลง กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท