Skip to main content
sharethis

“อังคณา นีละไพจิตร” ปาฐกถา รำลึก 20 ปี “ทนายสมชาย” ถูกบังคับสูญหาย หวังหน่วยงานรัฐบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายอย่างจริงจัง กระบวนการยุติธรรมต้องไม่ยอมนิ่งเฉยให้คนดีถูกข่มเหงรังแก โดยผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล

 

12 มี.ค. 2567 เวลา 13.30 น. ครอบครัวนีละไพจิตร และภาคประชาสังคม จัดกิจกรรม รำลึกถึง 20 ปี การบังคับสูญหาย ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน “สมชาย นีละไพจิตร” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้านอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร กล่าวปาฐถถา “20 ปีของการต่อสู้กับการลอยนวลผู้กระทำผิด“ ความว่า ดิฉันรู้สึกถ่อมตัวอย่างมากที่ได้มายืนต่อหน้ามิตรสหาย และท่านทั้งหลายในวันนี้เพื่อขอบคุณสำหรับมิตรภาพ และกำลังใจ ที่ท่านทั้งหลายมอบให้แก่ดิฉัน และครอบครัวคนหายอีกจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำหรับครอบครัว การบังคับสูญหายย้ำเตือนถึงความอยุติธรรมโดยรัฐที่เกิดขึ้น และยังดำรงอยู่โดยปราศจากความยุติธรรม

ในโอกาสครบ 20 ปีการสูญหายสมชาย นีละไพจิตร ดิฉันขอใช้เวลาในการบอกเล่าเรื่องราวความไม่เป็นธรรม การปกปิดความจริง และปัญหาการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย ผ่านมุมมองของผู้หญิงในฐานะเหยื่อ ดิฉันเชื่อว่าการพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนผ่านประสบการณ์ของผู้หญิงมีนัยยะสำคัญต่อกระบวนการคิด การตัดสินใจ การเผชิญแรงกดดัน การจัดการกับปัญหาการข่มขู่คุกคามในระหว่างเส้นทางของการหาความเป็นธรรม ภายใต้สภาวะจิตใจที่ปวดร้าวและแตกสลาย รวมถึงความหวังที่ไม่เคยหมดสิ้น

อังคณา นีละไพจิตร

ดิฉันหวังว่าเรื่องราวการบังคับสูญหายสมชาย นีละไพจิตร จะอธิบายว่าทำไมดิฉัน และเหยื่ออีกหลายคนจึงมุ่งมั่นถึงภารกิจบางประการร่วมกัน หลายท่านอาจรำคาญ เบื่อหน่ายที่จะฟังเรื่องราวซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายท่านอาจคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะพูดเรื่องเก่า ๆ แต่ดิฉันอยากบอกทุกท่านว่า เราจะไม่มีวันตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จนกว่าเราจะถูกพรากคุณค่าบางอย่างในชีวิตไป

ทุกครั้งเมื่อพูดเรื่องราวของผู้สูญหาย ดิฉันรู้สึกตัวเล็กลงอย่างมากเมื่อเทียบกับหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัวคนหายอีกหลายครอบครัว แม้จะล้มเหลว ถูกเย้ยหยัน แต่ผู้หญิงในครอบครัวคนหายก็ไม่เคยสูญสิ้นความศรัทธา และความเชื่อมั่นว่าสักวันความจริงจะปรากฏ และผู้สูญหายจะกลับคืนสู่ครอบครัว

เมื่อวานมีคนถามดิฉันว่า ดิฉันกับลูก ๆ ยังอยู่บ้านเดิมหรือเปล่า สำหรับครอบครัวคนหาย บ้านคือสถานที่ที่มีความทรงจำ ครอบครัวคนหายส่วนมากจึงยังอยู่ที่เดิม ด้วยหวังว่า สักวันคนรักที่หายไปจะกลับมา มีหลายครอบครัวที่จำเป็นต้องย้ายที่อยู่ แต่เด็ก ๆ ก็มักวนเวียนไปที่บ้านเดิมด้วยความหวังว่า “พ่ออาจกลับมา”

วันนี้หลายท่านอาจถามว่า สมชาย นีละไพจิตร คือใคร? ทำไมจึงต้องพูดถึงเรื่องของเขา สำหรับครอบครัว สมชายเป็นทนายความธรรมดา ๆ เกิดในครอบครัวชาวนา ไม่ร่ำรวย มีชีวิตที่พอกินพอใช้ สมชายทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ผิดพลาด ในการทำงานช่วยเหลือผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม สมชายใช้เงินที่หามาได้ในการช่วยเหลือผู้อื่น เขาสอนให้ลูก ๆ รู้จักอดออม เพื่อแบ่งปันช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่า เขาไม่เคยเรียกตัวเองว่า “ทนายสิทธิมนุษยชน” เขาอาจแตกต่างจากทนายความคนอื่นตรงที่เขารู้สึกทนไม่ได้เมื่อเห็นคนไร้อำนาจถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เขาทุ่มเททุกอย่างที่มีเพื่อปกป้องคนที่ถูกรังแก โดยไม่กลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เวลาว่าความ สมชายไม่เคยคิดว่าลูกความของเขาถูกทั้งหมด แต่เขาเชื่อว่าคนที่ทำผิดก็ควรได้รับโทษตามความผิดที่กระทำ และพวกเขาไม่ควรถูกใส่ร้ายป้ายสี ไม่ควรถูกทรมาน หรือถูกทำให้สูญหาย ... ไม่น่าเชื่อว่าการทำงานอย่างไม่กลัวเพื่อปกป้องหลักกฎหมายและความยุติธรรม การตรวจสอบการทำหน้าที่ของตำรวจอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้ สมชาย ถูกทำให้หายไปจากชีวิตของคนหลาย ๆคน

มีหลายคนถามดิฉันว่าถ้าสมชายรู้ว่าความยุติธรรมที่เขาพยายามเรียกร้องจะทำให้เขาต้องเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน พลัดพราก เขาจะยังคงทำสิ่งที่เขาทำอยู่ไหม ในฐานะที่ใช้ชีวิตร่วมกับเขามา 24 ปีก่อนที่เขาจะหายไป ดิฉันเชื่อว่าไม่ว่าจะอย่างไรเขาจะไม่ล้มเลิกความเชื่อมั่นและอุดมการณ์ และเขาจะไม่มีวันเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้น

20 ปีที่แล้ว หลังสมชายหายไป บรรยากาศในบ้านเงียบเหงาและปกคลุมด้วยความกลัว คงยากที่จะอธิบายความรู้สึกในวันนั้น วันที่เพื่อนสนิท และญาติพี่น้องหลายคนหายไปจากชีวิตเรา เพียงเพราะความกลัว เหลือไว้ในบ้านที่มีผู้หญิงและเด็กอยู่กันตามลำพัง วันที่ทำให้ดิฉันต้องตั้งคำถามแก่ทุกคนว่าทำไม “ทำใมการทำให้ใครสักคนหายไป ทำให้เราหวาดกลัวได้มากขนาดนั้น”

ประสบการณ์ของดิฉัน การบังคับสูญหายเกิดขึ้นในทุกยุคสมัย ไม่ว่าในรัฐบาลประชาธิปไตย หรือเผด็จการ เพราะการบังคับบุคคลสูญหายไม่ได้เกิดขึ้นเพราะนโยบายบางประการของรัฐเพียงอย่างเดียว หากแต่เบื้องหลังรัฐบาลยังมีระบบโครงสร้างสถาบันองค์กรที่แฝงตัวหยั่งรากลึก อยู่เบื้องหลัง และควบคุมสังคมไทย ดังที่นักวิชาการหลายคนใช้คำว่า “รัฐพันลึก” หรือ Deep State คือรัฐซ้อนรัฐที่เป็นอิสระ มีอำนาจ มีอาวุธ และพวกเขาไม่กลัวที่จะใช้มัน โดยเฉพาะกับคนที่ท้าทายอำนาจของพวกเขา โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับผิด ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปกี่คน แต่เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดกลับสามารถลอยนวลได้ทุกยุคสมัย เติบโตในหน้าที่การงาน ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ ในขณะที่เหยื่อกลับมีชีวิตอยู่กับความไม่ปลอดภัย และการถูกข่มขู่คุกคาม

ก่อนสมชาย นีละไพจิตร จะถูกทำให้หายตัวไป เจ้าหน้าที่ตำรวจมักเรียกเขาว่า “ทนายโจร” ไม่ต่างจากผู้ถูกบังคับให้สูญหายอีกหลาย ๆ คนที่ถูกกล่าวถึงว่า เป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้ก่อการร้าย หรือผู้เป็นภัยต่อรัฐ .. และคนไม่ดีก็สมควรที่จะหายไป

การสร้างภาพลวงต่อสังคมก็เพื่อให้ไม่ต้องรู้สึกผิดหากคนๆหนึ่งต้องหายไป ซึ่งอาจทำให้ผู้กระทำผิดคิดว่าเป็นชัยชนะ แต่อาจไม่มีใครรู้ว่าการกล่าวหาเช่นนี้ได้สร้างบาดแผลทางจิตใจให้แก่ครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆอย่างมาก ผู้หญิงและเด็กหลายคนที่ต้องเผชิญภาวะเช่นนี้มักต้องแอบซ่อนตัว ไม่กล้าออกมาทวงถามความเป็นธรรมเพื่อคนที่เขารัก เนื่องจากไม่อาจทนต่อการถูกตีตราจากสังคมได้ เด็กหลายคนปฏิเสธการไปโรงเรียนเนื่องจากถูกเพื่อล้อเลียน หรือบางคนเติบโตเป็นคนที่ต่อต้านสังคม ... การสูญหายของคนคนหนึ่งจึงหมายถึงความสูญเสียของอีกหลายชีวิตที่ไม่อาจประเมินได้

แม้เจ้าหน้าที่บางคนอาจเชื่อว่า ปัญหาจะหายไปหากคนบางคนหายไป แต่การอุ้มหายสมชาย นีละไพจิตร ได้ทำให้เรื่องราวการอุ้มฆ่าในประเทศไทยถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวางและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย เหยื่อหลายคนได้ลุกขึ้นมาทวงถามความยุติธรรมจากรัฐ และรัฐไม่สามารถปิดบังความจริงได้อีกต่อไป

สำหรับครอบครัว การบังคับสูญหายสร้างความคลุมเครืออย่างมาก ความคลุมเครือระหว่างการมีอยู่กับการไม่มีอยู่ ความคลุมเครือจึงเสมือนคำสาปที่ตรึงชีวิตของครอบครัวผู้สูญหาย ... ก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ ในขณะที่ถอยหลังกลับก็ไม่ได้เช่นกัน ความคลุมเครือที่ปกคลุมชีวิตทำให้เหยื่อหลายคนไม่สามารถเชื่อมโยงตนเองกับสังคมและวัฒนธรรมที่พวกเขาอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ความคลุมเครือ ของการมีชีวิตกับความตาย ผู้หญิงหลายคนที่สามีสูญหายไม่สามารถจัดวางสถานะของตัวเองระหว่างการเป็นหม้าย หรือสมรส เด็กๆไม่สามารถระบุสถานะของพ่อ สิ่งต่างๆเหล่านี้รัฐไม่เคยรับรู้ แม้คนของรัฐจะเป็นผู้กระทำผิด แต่รัฐปิดหูปิดตาต่อการก่ออาชญากรรมนี้มาโดยตลอด เมื่อไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รับรู้ จึงหลอกตัวเองว่าไม่มี

ผลกระทบเชิงลึกเช่นนี้ส่งผลให้เหยื่อประสบปัญหากับการไม่สามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับสังคม ทำให้การดำเนินชีวิตต่อของเหยื่อเป็นเรื่องยากลำบากและซับซ้อน อีกทั้งยังทำให้เหยื่อประสบปัญหาและเกิดความกดดันในการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้าง เหยื่อบางคนอาจต้องเผชิญกับอาการ Post-traumatic stress disorder (PTSD) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากทางจิตใจ

20 ปีที่ผ่านมา ดิฉันพยามถามหาความจริงมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 5 เดือนตุลาคม 2559 – 11 ปีหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีสมชายเป็นคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษมีมติงดการสอบสวนคดีสมชาย นีละไพจิตร โดยแจ้งเหตุผลด้วยวาจาต่อดิฉันว่า “เนื่องจากไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด และหากไม่งดการสอบสวน จะส่งผลกระทบต่อตัวชี้วัดของกรมสอบสวนคดีพิเศษ” อย่างไรก็ดี กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งว่า หากดิฉันมีพยานหลักฐานใหม่ ก็สามารถเริ่มการสอบสวนใหม่ได้ นอกจากงดการสอบสวนคดีสมชาย กรมสอบสวนคดีพิเศษยังยุติการคุ้มครองพยานแก่ดิฉัน ด้วยเหตุผลว่าชีวิตของดิฉันไม่อยู่ในอันตรายใดที่ต้องให้ความคุ้มครอง ความรู้สึกของดิฉันในวันนี้ คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษพยายามสลัดคดีสมชาย ให้พ้นไปจากความรับผิดชอบ

หลายท่านที่มีโอกาสสังเกตการณ์คดีสมชาย หรือได้อ่านเอกสารในคดีอย่างละเอียดจะเห็นชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายถูกกล่าวถึงในสำนวน ดิฉันจึงเชื่อว่า หากกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเต็มใจในการสืบหาตัวสมชาย ก็คงไม่เกินความสามารถในการที่จะนำคนผิดมาลงโทษอย่างแน่นอน การงดการสอบสวนด้วยเหตุผลเพียงกระทบตัวชี้วัด จึงเสมือนเป็นการให้ความสำคัญกับชื่อเสียง หน้าตาของหน่วยงานราชการ มากกว่าการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ

วันนี้ ด้วยการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของเหยื่อ ประเทศไทยมี พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่ความท้าทาย คือ ที่ประกาศใช้ครบ 1 ปี จะช่วยเหลือเหยื่อได้อย่างไร กฎหมายจะคืนความเป็นธรรม รวมถึงจะเปิดเผยความจริงเพื่อให้ครอบครัวหลุดพ้นจากความคลุมเครืออย่างไร และกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีท่าทีในการสืบหาความจริงคดีสมชาย และคดีอุ้มหายรายอื่น ๆ อย่างไร

ที่ผ่านมาเราได้เห็นความพยายามของหลายหน่วยงานทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด ในการใช้ พรบ. นี้ เพื่อยุติการทรมาน แต่เรายังไม่เห็นความพยายามของหน่วยงานเหล่านี้ในการตามหาคนหาย และคืนสิทธิที่จะทราบความจริงแก่เหยื่อตามที่ระบุไว้ในมาตรา 10 ของ พรบ. คือ ให้สืบสวนจนกว่าจะทราบชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด

วันนี้เรามีคณะกรรมการ / อนุกรรมการ ระดับชาติ ตาม พรบ. ที่มีอำนาจมากมาย แต่เรายังไม่เห็นความพยายามของคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบังคับสูญหาย หรือการบรรเทา ให้ความหวัง หรือการให้ความช่วยเหลืออื่น โดยเฉพาะการบรรเทาความทุกข์ทรมานทางจิตใจเหยื่อและครอบครัว

หลายคนถามดิฉันว่า กฎหมายจะมีผลย้อนหลังได้อย่างไร ดิฉันขอตอบว่า การตามหาคนหาย ไม่ใช่การใช้กฎหมายย้อนหลัง แต่ตาม พรบ. รวมถึงปฏิญญา และอนุสัญญาฯ สหประชาชาติระบุชัดเจนว่า การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง ดังนั้นผู้สูญหายเมื่อ 30 ปีที่แล้ว หากปัจจุบันยังไม่มีใครทราบที่อยู่และชะตากรรมของเขา กฎหมายก็ถือว่าเขายังผู้สูญหาย และการกระทำผิดยังดำเนินอยู่ และรัฐมีหน้าที่ต้องติดตามค้นหาจนกว่าจะทราบที่อยู่ และชะตากรรม ของพวกเขา

สิ่งที่ปรากฏทำให้เห็นว่า แม้วันนี้ประเทศไทยจะมีกฎหมาย แต่ข้อท้าทายที่สำคัญ คือ กฎหมายจะถูกนำไปปฏิบัติได้อย่างไร หนึ่งปีของการบังคับใช้กฎหมาย ไม่มีข่าวคราวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามหาคนหาย ไม่มีคำมั่นสัญญา ไม่ให้ความหวัง ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีสมชายยังคงลอยนวล มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น และปรากฏตัวต่อสื่อสาธารณะ โดยไม่มีความละอายต่อการกระทำผิด ในขณะที่เหยื่อที่ยังมีชีวิตอยู่ คือครอบครัวที่ส่วนมากคือผู้หญิงและเด็ก เราถูกทำให้อยู่กับความหวาดกลัว ถูกทำให้สูญเสียอัตตลักษณ์ สูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเพศถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีของเรา

มีหลายคนถามดิฉันว่า คุณทักษิณกลับมาแล้ว พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ดิฉันและครอบครัวคนหายจะไปพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเป็นธรรมไหม ถ้าจะให้ตอบอย่างตรงไปตรงมา ดิฉันลังเลใจอย่างมาก ประการแรก ตั้งแต่รับตำแหน่งดิฉันไม่เคยได้ยินท่านนายก พูดถึงกรณีคนหายในประเทศไทย ประการที่สอง เมื่อมองไปที่เหยื่อ ดิฉันทราบว่าทุกครอบครัวอยู่กับความทุกข์ทรมานมายาวนาน มันสมควรไหมที่เราจะให้พวกเขาไปขอความเมตตาจากผู้ที่ไม่เคยเห็นความทุกข์ยากของเขา มันสมควรไหมที่เราจะขอให้ให้ผู้ทรงสิทธิไปร้องขอให้ผู้มีอำนาจเคารพสิทธิและคุณค่าของพวกเขา แล้ววันนี้เราจะมีกฎหมายไว้ทำไม เราจะมีคณะกรรมการระดับชาติตามกฎหมายไว้ทำไม และแทนที่จะให้ผู้ทรงสิทธิไปร้องขอ ทำไมผู้มีอำนาจจึงไม่โน้มตัวไปหาพวกเขา คณะกรรมการ/ อนุกรรมการ จะร่างกฎระเบียบต่าง ๆ ได้อย่างไร หากไม่เคยรับฟังปัญหาจากเหยื่อ

สำหรับครอบครัวคนหาย การอุ้มหายจึงไม่ใช่เพียงการพรากใครบางคนไปตลอดกาล แต่การอุ้มหายทำให้คนที่มีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น สิ่งที่ทุกคนต้องการคือ “ความจริง” เด็ก ๆหลายคนพูดว่า “เขาเอาพ่อเราไปแบบมีชีวิต เราก็อยากได้พ่อคืนแบบมีชีวิต หรืออย่างน้อย คืนศพให้เราก็ยังดี” พวกผู้หญิงต่างหวังที่จะเจอลูก ๆ และสามีที่ยังมีชีวิต แต่ถ้าพระเจ้าไม่ประสงค์ พวกเธอก็คงทำอะไรไม่ได้ สำหรับครอบครัวคนหายแล้วพวกเราเหมือนถูกพันธนาการด้วยอดีตที่เจ็บปวด และมองไม่เห็นอนาคต

ในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้หญิงในฐานะเหยื่อมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกด้อยค่า ถูกทำให้เป็นคนไม่ดีในทุกครั้งที่พวกเธอออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนในครอบครัว ในหลายกรณี ความทรงจำของเหยื่อจะถูกทำลายโดยการสร้างความทรงจำใหม่ขึ้นมาทดแทน เพื่อทำลายอัตตลักษณ์และความชอบธรรมของพวกเธอ

หลังสมชาย นีละไพจิตร ถูกทำให้หายไป หลายคนยกย่องว่าดิฉันมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้กรณีบังคับสูญหายในประเทศไทยถูกหยิบยกมากล่าวถึงในวงกว้าง และเรื่องราวของผู้ถูกบังคับสูญหายไม่เงียบงันอีกต่อไป อย่างไรก็ดี ดิฉันก็ไม่เคยละอาย ที่จะพูดต่อหน้าท่านทั้งหลายว่าระหว่าง 20 ปีของการทวงถามความยุติธรรม ดิฉันพ่ายแพ้มาโดยตลอด

ดิฉันเคยถามกับเองว่า คุ้มไหมกับการที่เราจะต้องแลกทุกสิ่งที่มีอยู่ในชีวิต เพียงเพื่อความจริงและความยุติธรรม ซึ่งสุดท้ายแล้ว จนวาระสุดท้ายดิฉันอาจไม่มีโอกาสได้พบเลยก็เป็นได้ แต่สิ่งซึ่งเป็นเสมือนกำลังใจที่ทำให้ดิฉันยังคงยืนอยู่ได้ในวันนี้ คือความรัก กำลังใจ รวมทั้งน้ำใจไมตรี และมิตรภาพจากผู้คนร่วมสังคม ความอาทรห่วงใยจากบรรดากัลยาณมิตร รวมถึงความกล้าหาญ เสียสละ อดทน และอหิงสาของลูก ๆทุกคน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่หล่อเลี้ยงหัวใจของดิฉันให้เข้มแข็ง และสามารถยืนหยัดอยู่ได้

ดิฉันเชื่อมั่นว่าการต่อสู้ของผู้หญิงในฐานะครอบครัว จะสร้างความตระหนักแก่สังคมถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่อาจมีผู้ใดพรากไปได้ และคุณค่านี้เองที่จะนำมาซึ่งการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงทั้งตำรวจและกองทัพ  และประชาชนจะสามารถวางรากฐานของหลักนิติธรรมได้อย่างยั่งยืนในสังคมไทย ...

ดิฉันเชื่อว่าสังคมที่เราอาศัยอยู่จะหนักแน่นอดทนกับความจริงที่เกิดขึ้น จะต่อต้านผู้อธรรม และโอบกอดผู้ถูกกดขี่ และจะก้าวทันรูปแบบในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ซับซ้อนมากขึ้น กฎหมายที่บังคับใช้จะต้องไม่มีไว้เพื่อข่มเหงคุกคามผู้เปราะบาง และผู้เห็นต่าง กระบวนการยุติธรรมจะต้องไม่ยอมนิ่งเฉยให้คนดีถูกข่มเหงรังแก โดยผู้กระทำผิดยังคงลอยนวลเหมือนเช่นที่ผ่านมา และที่กำลังดำเนินอยู่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net