Skip to main content
sharethis

ส่องปัจจัย ทำไมหลังกองกำลังทหารรับจ้างสัญชาติรัสเซีย 'แวกเนอร์' ได้ผู้นำคนใหม่ รับคำสั่ง รัฐบาล 'ปูติน' วางกำลังและสร้างอิทธิพลเพิ่มขึ้นในลิเบีย และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแอฟริกา 

 

กองกำลังทหารรับจ้าง 'แวกเนอร์' ที่รับคำสั่งจากรัฐบาลรัสเซีย ขยายกำลังของตัวเองในลิเบีย ตั้งแต่ปี 2561 เป็นอย่างต่ำ เมื่อตอนนั้นมีรายงานว่า ทางกลุ่มกองกำลังกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ทำการฝึกกองกำลังกลุ่มกบฏภายใต้การนำของผู้บัญชาการ คาลิฟา ฮัฟตาร์ (Kalifa Haftar) ผู้นำกองทัพแห่งชาติลิเบีย ซึ่งเป็นกองกำลังฝ่ายตะวันออกของลิเบีย

กองกำลังแวกเนอร์ในเบลาลุส เมื่อปี 2566 (ที่มา: ยูทูบ BelTA)

สำหรับลิเบีย เป็นประเทศที่มีสองรัฐสภาเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ในปัจจุบันมีผู้นำรัฐบาล 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่มีฐานในกรุงตรีโปลี คือ "รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ" (GNU) กับ "กองกำลังแห่งชาติลิเบีย" (LNA) ที่นำโดยฮัฟตาร์ ซึ่งองค์การสหประชาชาติ มีมติให้เรียก LNA ว่าเป็น "กองกำลังของฮัฟตาร์" (HAF) เนื่องจากไม่ต้องการให้ความชอบธรรมของพวกเขาว่าเป็นกองกำลังที่มาจากรัฐบาลลิเบีย

ภายหลังจากเสียชีวิตของเยฟเกนี พรีโกซิน ผู้ก่อตั้งแวกเนอร์ และอดีตพันธมิตรของปูติน ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วนั้น ส่งผลให้ทิศทางของกองกำลังแวกเนอร์ในลิเบีย และภูมิภาคแอฟริกา ขาดความแน่นอน

รัสเซียใช้งานกองทัพทหารรับจ้างหลายกลุ่ม อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลรัสเซียมากที่สุดก็หนีไม่พ้นแวกเนอร์ ที่ก่อตั้งโดนพรีโกซิน รัสเซียไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมาก แวกเนอร์ก็ช่วยให้รัสเซียได้อิทธิพลทางการเงิน ทางการทหาร และทางการเมือง ในลิเบีย และทั่วแอฟริกา

สถาบันรอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิส (RUSI) ที่เป็นหน่วยงานความมั่นคงของสหราชอาณาจักร รายงานว่า เมื่อพิจารณาจากผลประโยชน์แล้ว จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่รัสเซียจะทำการยุบแวกเนอร์ ถึงแม้ว่าแวกเนอร์ จะพยายามก่อกบฏต่อรัฐบาลรัสเซียเมื่อปี 2566 หลังจากที่พรีโกซิน เสียชีวิต 

เช่นเดียวกับกลุ่มกองกำลังทหารรับจ้างกลุ่มอื่นๆ อย่างเช่น คอนสเตลลิส ของสหรัฐฯ (ที่เคยใช้ชื่อ "แบล็กวอเตอร์") แวกเนอร์ทำให้ประเทศของตัวเองสามารถปฏิบัติการท่ามกลางความขัดแย้งในต่างประเทศได้ โดยที่ยังคงวางตัวดูเหมือนจะอยู่ห่างจากความขัดแย้ง ทำให้สามารถส่งอิทธิพลได้ไปพร้อมๆ กับสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ในระดับหนึ่ง พอสามารถวางตัวออกห่างได้เช่นนี้ ก็ทำให้กองกำลังทหารรับจ้างเหล่านี้ปฏิบัติการสงครามที่อยู่นอกขอบข่ายพันธกรณีของรัฐได้ เช่น ปฏิบัติการก่อการร้าย และปฏิบัติการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารในแบบที่กองทัพของประเทศไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำ

รัสเซีย จัดให้หน่วยงานข่าวกรองรัสเซีย GRU โดยเฉพาะ นายพล อังเดร เอเวอรียานอฟ เป็นผู้ทำหน้าที่บัญชาการวางกำลังของแวกเนอร์ในต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีการใช้กองกำลังทหารรับจ้างอื่นมาคั่นกลางอย่างกองกำลัง "คอนวอย" ซึ่งก่อตั้งในปี 2566 ขึ้นที่ไครเมีย พื้นที่ที่รัสเซียยึดครองจากยูเครน และกองกำลัง "รีดัต" ที่ปฏิบัติการในยูเครน 

ส่วนกองกำลังแวกเนอร์นั้นมีการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของรัสเซีย โดยที่ยังทิ้งช่องว่างให้รัสเซียปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ในตอนที่แวกเนอร์ ปฏิบัติการในยูเครนนั้น พวกเขามีการเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น "โวลุนเทียร์คอร์ปส์" และในปฏิบัติการที่อื่นๆ ก็มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "เอ็กซ์เพดิชันนารีคอร์ปส์"

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า กองกำลังแวกเนอร์ ยังคงมีความทะเยอทะยานอย่างไม่ลดละคือการที่พวกเขาสร้างกำลังรบรับจ้างทั่วแอฟริการาว 40,000 นาย ถึงแม้ว่าจะลดเหลือ 20,000 นาย แต่ก็นับว่าใหญ่กว่าที่พวกเขาเคยทำได้ในช่วงหลังๆ นี้

การประเมินเจตนาของนายพลเอเวอรียานอฟนั้น จะกระทำได้จากการมองย้อนกลับไปในตอนที่เขาเป็นผู้บัญชาการหน่วย 29155 ซึ่งเป็นฝ่ายข่าวกรองการทหารของรัสเซีย มีรายงานว่าในตอนนั้นหน่วยงานนี้ทำหน้าที่ดูแลจัดการการลอบสังหารข้ามชาติและการทำลายเสถียรภาพของประเทศในยุโรป

ทำไมแอฟริกาถึงสำคัญต่อ 'แวกเนอร์'

'แอฟริกา' เป็นหนึ่งในทวีปที่มีเชื้อเพลิงและแร่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งในตอนนี้เป็นทวีปที่มีประชากรหนุ่มสาวกำลัง "บูม" จึงเป็นที่ที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะประชากรของโลก

ในแอฟริกา มีประเทศลิเบีย ที่เป็นแหล่งน้ำมันและทองคำที่ใหญ่ที่สุดติดอันดับท็อป 50 ของโลก นอกจากนี้ ภูมิศาสตร์ของลิเบีย ที่ติดกับประเทศ ไนเจอร์ ชาด และซูดาน อีกทั้ง ยังเชื่อมกับแอฟริกาเหนือ และยุโรป ทำให้ลิเบีย มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์

ใน ก.ย. 2566 เอเวอร์ยานอฟ กับจอมพลฮัฟตาร์ เคยเดินทางด้วยกันเพื่อไปเยือน มาลี บูร์กินา ฟาโซ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และไนเจอร์ ทุกที่ที่พวกเขาเดินทางไปเยือน สรุปได้ว่าเป็นการไปขอทรัพยากร เพื่อแลกเปลี่ยนกับความมั่นคง

(ขวา) คาลิฟา ฮัฟตาร์ (ที่มา: X บัญชี StateDept_NEA)

มีแต่ลิเบีย เท่านั้นที่ใช้วิธีการแบบเดียวกันไม่ได้ โรงขุดเจาะน้ำมันของรัสเซีย ที่ใหญ่โตสามารถปฏิบัติการในลิเบีย ได้ ต้องอาศัยอีกรัฐบาลหนึ่งของลิเบีย ในกรุงตริโปลี คือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (GNU) ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ นั่นทำให้ฮัฟตาร์ และพรรคพวกของเขา จะต้องควักกระเป๋าตนเอง เพื่อให้มีการวางกำลัง "เอ็กซ์เพดิชันนารี คอร์ปส์" ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของแวกเนอร์

ตาเร็ก มีเกรีซี นักวิจัยอาวุโสจากคณะมนตรียุโรปด้านความสัมพันธ์ทางการทูต กล่าวว่า "ฮัฟตาร์ต้องการแวกเนอร์" เขาบอกอีกว่า นอกจากฮัฟตาร์ จะให้ที่พักพิงแก่แวกเนอร์ ในลิเบียแล้ว แวกเนอร์ยังสามารถใช้ฐานที่มั่นในลิเบีย เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการในซีเรีย ซูดาน และที่อื่นๆ ได้ด้วย

มีเกรีซี แสดงทัศนะว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องการสนับสนุนทางการทหาร แต่นับเป็น "เครือข่าย" แวกเนอร์ใช้ฐานที่มั่นทางตะวันออกของลิเบีย เพื่อขนส่ง "แคปตากอน" ยาเสพติดผิดกฎหมายจากซีเรีย มีการหันมาใช้ทอง เพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรและทำการลอบขนคนเข้าเมืองจากทางตอนใต้ของแอฟริกา รวมถึงจากที่อื่นๆ ที่มาไกลมากอย่างบังคลาเทศ

มีเกรซี มองว่า "ลิเบียเป็ยพื้นที่ที่ทำกำไรได้อย่างมากแก่แวกเนอร์"

อิทธิพลของแวกเนอร์

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า กองกำลังแวกเนอร์ในชื่อ 'เอ็กซ์เพดิชันนารี คอร์ปส' ในลิเบีย มีทหารรับจ้างอยู่ราว 800 นาย และมีราว 4,600 นายที่กระจายตัวไปทั่วแอฟริกาตอนล่างของซาฮารา นอกจากนักรบแล้ว ยังมีฐานทัพอากาศตามที่ต่างๆ ซึ่งมีการอนุญาตให้ทั้งกองกำลังของฮัฟตาร์และกองกำลังทหารรับจ้างใช้ฐานทัพอากาศเหล่านี้ในการลำเลียงสิ่งของต่างๆ ระหว่างกลุ่มพันธมิตรในซูดาน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

นอกจากอิทธิพลภาคพื้นดินแล้ว ตอนนี้กำลังมีการเจรจาเพื่อที่จะให้เรือรบรัสเซีย สามารถเทียบท่าในท่าเรือทอบรุค ของลิเบียได้ โดยแลกกับระบบป้องกันอากาศยานและการฝึกอบรมนักบินให้กับกองกำลังของฮัฟตาร์

อีวาน คลิสซิคซ์ เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายการต่างประเทศรัสเซียที่ศูนย์เพื่อการป้องกันประเทศและความมั่นคงจากเอสโทเนีย กล่าวว่า แถบเมดิเตอร์เรเนียนตอนกลาง และตะวันออก เป็นพื้นที่ที่สำคัญอย่างมากต่อยุโรป และต่อนาโต การที่รัสเซียสามารถเข้าถึงท่าเรือเมดิเตอร์เรเนียนในซีเรียอยู่แล้วและยังได้ท่าเรือในลิเบียเพิ่มขึ้นอีก จะกลายเป็นการแข่งขันด้านอาวุธกับยุโรป โดยเฉพาะกับอังกฤษ ที่มีการวางกำลังกองทัพเรือจำนวนมากที่ไซปรัส

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังประเมินว่ามีโอกาสที่กองกำลังแวกเนอร์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกเป็น 20,000 นาย ซึ่งมีการเกณฑ์กำลังพลจากที่ต่างๆ ทั่วแอฟริกา และอาจจะกลายเป็นการที่กลุ่มทหารรับจ้างกลุ่มนี้จะสามารถนำกองทัพจากประเทศในแอฟริกาประเทศหนึ่งไปวางกำลังในอีกประเทศหนึ่งได้โดยทำตามกฎที่พวกเขาตั้งขึ้นมาเอง จนอาจจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ได้ เช่น การข่มขืน การทารุณกรรม และการใช้ทุ่นระเบิดต่อต้านบุคคล

หมากเกมนี้จะลงเอยอย่างไร

ในลิเบียไม่ได้มีแต่แวกเนอร์เท่านั้นที่ส่งอิทธิต่อการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปๆ มาๆ แต่ยังมีกลุ่มติดอาวุธที่เป็นมิตรกับรัฐบาลในตรีโปลี และกองกำลังชาวตุรกี ที่คอยจับมือกับผู้นำทหารในท้องถิ่น พวกเขาเคยช่วยกันทำการขับไล่กองกำลังของฮัฟตาร์ ที่แวกเนอร์ หนุนหลัง 

นอกจากนี้ กลุ่มรัฐบาลในตรีโปลี ที่เป็นมิตรกับชาวตุรกียังมีอิทธิพลควบคุมเรื่องอุตสาหกรรมพลังงานในลิเบียด้วย ซึ่งเป็นภาคส่วนอุตสาหกรรมที่รัสเซียทุ่มทุนในลิเบีย ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงมองว่า รัสเซียและแวกเนอร์มีโอกาสที่จะทรยศฮัฟตาร์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง และอาจจะหันไปจับมือกับกองกำลังชาวตุรกีแทน 

คลิสซิคซ์ กล่าวว่า "คุณต้องไม่ลืมว่ารัสเซียนั้นปฏิสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์นานาชาติด้วยนัยยะเชิงภูมิภาค ... เจตนาของปูติน คือการสร้างโลกที่แบ่งขั้วกันหลายขั้ว ด้วยการที่ทั้งอินเดีย และจีน ต่างก็ใช้อำนาจของตนเอง แทนที่จะมีแต่ (อำนาจจาก) โลกตะวันตกแบบที่พวกเรามีอยู่ในตอนนี้"

 

เรียบเรียงจาก

Under new general, Russia’s Wagner makes deeper inroads into Libya, Aljazeera, 25-02-2024

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Western_Libya_campaign
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net