Skip to main content
sharethis

ในรัสเซียเพิ่งจะมีการพยายามก่อรัฐประหารโดยกองทัพเอกชนแวกเนอร์ที่นำโดย เยฟกินี พริโกซิน เศรษฐีผู้ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีปูติน และมีส่วนในการรุกรานยูเครน การรัฐประหารดังกล่าวล้มเหลวและชวนให้นึกถึงความพยายามรัฐประหารในยุคของ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ปี 2534 แต่ก็มีบทวิเคราะห์ชี้ว่าถึงแม้การรัฐประหารในครั้งนี้จะไม่สำเร็จ แต่สะท้อนให้เห็นว่าปูตินอ่อนแอกว่าที่คิด

"หน้ากากเผด็จการตัวบุคคลที่เข้มแข็งของวลาดิเมียร์ ปูติน ร่วงหล่น และยูเครนก็มองเห็นโอกาสในช่วงเวลาโกลาหล" คือประโยคแรกในบทวิเคราะห์ของสื่อ Politico เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2566 หลังเกิดเหตุการณ์ที่กองกำลังเอกชนแวกเนอร์พยายามก่อรัฐประหารรัฐบาลรัสเซียของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แต่ไม่สำเร็จ

เยฟกินี พริโกซิน เศรษฐีคนสนิทของปูตินเจ้าของกองทัพเอกชน แวกเนอร์กรุ๊ป ที่มีส่วนในการสู้รบกับยูเครน พยายามแข็งข้อก่อกบฏต่อประธานาธิบดีของรัสเซียในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่ามันจะเป็นความพยายามที่อายุสั้น แต่มันก็ได้เปิดเผยให้เห็นว่าปูตินมีอำนาจคัดง้างในมือตัวเองอยู่ไม่มากนัก รวมถึงยังเผยให้เห็นความแตกแยกในกองทหารของเขา และความเปราะบางของการคุ้มกันพรมแดนของรัสเซียเอง

เหตุผลก็เพราะว่า มันเป็นเรื่องง่ายมากที่กองกำลังทหารรับจ้างแวกเนอร์สามารถยึดครองพรมแดนของรัสเซียเอาไว้ได้และเคลื่อนพลเข้าประชิดกรุงมอสโกได้ในระยะ 200 กม. มีวิดีโอที่ชาวรัสเซียโห่ร้องแสดงความยินดีต่อกองกำลังแวกเนอร์แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลปูตินนั้นห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบไร้จุดอ่อน

ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนกล่าวไว้เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมาหนึ่งวันหลังเกิดเหตุการณ์แข็งข้อ โดยบอกว่า "วันนี้โลกได้เห็นว่าพวกผู้นำรัสเซียนั้นไม่ได้ควบคุมทุกอย่าง... เพียงแค่วันเดียวพวกเขาก็สูญเสียเมืองไปมหาศาล และแสดงให้พวกโจรรัสเซีย, ทหารรับจ้างรัสเซีย, พวกผู้นำคณาธิปไตยรัสเซีย และคนอื่นๆ ได้เห็นว่ามันง่ายขนาดไหนที่สามารถยึดเมืองของรัสเซียและอาจจะรวมถึงคลังอาวุธด้วย"

เซเลนสกีกล่าวถึงพรรคพวกของปูตินอีกว่าพวกรัฐบาลรัสเซียนั้น "กำลังอกสั่นขวัญแขวนอย่างเห็นได้ชัด" และอาจจะไปซ่อนตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งไม่กล้าปรากฏตัว เซเลนสกีคาดเดาว่าปูตินไม่น่าจะอยู่ในกรุงมอสโกอีกต่อไปแล้ว และมองว่าปูตินกำลังหวาดกลัวเพราะเขาเป็นคนที่ก่อสงครามขึ้นมาเอง

"ความชั่วร้ายทั้งหมดทั้งมวล ความสูญเสียทั้งหมดทั้งมวล ความเกลียดชังทั้งหมดทั้งมวล เขาเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นมาเอง เขาไม่สามารถหนีไปหลบอยู่ตามบังเกอร์ต่างๆ ได้อีกต่อไปแล้ว พวกคุณทั้งหมดจะสูญเสียมากขึ้นไปอีก พวกคุณทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัสเซีย" เซเลนสกีกล่าว

ในสัปดาห์ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุพยายามรัฐประหารรัสเซีย ยูเครนมีปฏิบัติการโต้ตอบกลับกองทัพรัสเซียเพื่อขับไล่กองกำลังฝ่ายรัสเซียที่ยึดครองเมืองของพวกเขา ซึ่ง พลเอกมาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐฯ ประเมินว่ายูเครนต้องประสบกับการต่อสู้ที่ยากลำบากและใช้เวลากับทรัพยากรอย่างมากในการต่อสู้ที่รุนแรงแต่กองกำลังของยูเครนก็ "สร้างความคืบหน้าได้อย่างคงเส้นคงวา"

เกิดอะไรขึ้นกับกองกำลังแวกเนอร์

ในวันที่ 23 มิ.ย. กองกำลังแวกเนอร์ประกาศก่อกบฏต่อกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย โดยอ้างว่ากระทรวงกลาโหมของรัสเซียโจมตีและสังหารทหารของแวกเนอร์ไป 2,000 นาย การประกาศก่อกบฏนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ประเมินว่ากองทัพจากรัสเซียที่ถูกสังหารในยูเครนช่วงระหว่างเดือน ธ.ค. 2565 - มิ.ย. 2566 เป็นกลุ่มนักรบจากแวกเนอร์

พริโกซิน เจ้าของแวกเนอร์กล่าวหาว่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมรัสเซีย พลเอก เซอร์เก ชอยกู เป็นตัวการที่ทำให้กองกำลังแวกเนอร์เพลี่ยงพล้ำ เช่น การส่งอาวุธให้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่ารัฐบาลรัสเซียอ้างความชอบธรรมแบบผิดๆ ในการโจมตียูเครน ซึ่งเป็นความชอบธรรมที่ตั้งอยู่บนเรื่องเท็จโดยกล่าวหาว่ายูเครนเป็นข้าศึกที่ก้าวร้าวและจะรุกรานรัสเซียพร้อมกับนาโต ซึ่งเป็นการสร้างภาพหลอกลวงประชาชนเพื่อผลประโยชน์ของปูติน, ชอยกู และพวกพ้องรัฐบาลรัสเซียเท่านั้น

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา พริโกซิน กล่าวอ้างว่ากองกำลังของเขาเคลื่อนพลจากยูเครนเข้าสู่รัสเซียได้สำเร็จและได้เคลื่อนกำลังไปถึงรอสตอฟ เมืองทางคะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย โดยที่ไม่มีการโต้ตอบใดๆ จากทหารเกณฑ์อายุน้อยที่ด่านตรวจ พริโกซินประกาศในวิดีโอที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ว่าพวกเขาจะ "ทำลายทุกคนที่ขวางทาง" และจะเดินหน้าไปจนสุดทาง

มีการตั้งข้อสังเกตว่าทางการรัสเซียมีการรับมือและมองเรื่องนี้เป็นภัยคุกคามอย่างจริงจังจากการเพิ่มการรักษาความปลอดภัยในมอสโกและรอสตอฟ ซึ่งมีศูนย์บัญชาการทหารของรัสเซียที่ใช้ในปฏิบัติการสงครามยูเครนอยู่ที่นั่น

มีบล็อกเกอร์ด้านการทหารของรัสเซียรายหนึ่งวิเคราะห์ว่าที่พริโกซินพยายามก่อรัฐประหารต่อปูตินน่าจะเป็นเพราะต้องการตอบโต้ที่ทางการรัสเซียพยายามถอดเขี้ยวเล็บแวกเนอร์โดยการพยายามควบรวมแวกเนอร์เข้ากับกองทัพทางการรัสเซีย โดยที่รัฐมนตรีกลาโหมชอยกู สั่งให้มีการ "ถอนตัวโดยสมัครใจ" จากแนวหน้าของสงครามยูเครนแล้วเซ็นสัญญาเข้าร่วมกับกองทัพรัสเซียภายในวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งพริโกซินประกาศคัดค้านเรื่องนี้

สื่อ Politico เปรียบเทียบว่าการพยายามรัฐประหารของกลุ่มแวกเนอร์ที่ล้มเหลวในครั้งนี้ชวนให้นึกถึงยุคสมัยของอดีตผู้นำ มิคาอิล กอร์บาชอฟ เมื่อปี 2534 ที่เคยมีการรัฐประหารที่ล้มเหลวจากฝ่ายหัวแข็งพรรคคอมมิวนิสต์ที่ไม่พอใจการปฏิรูปของกอร์บาชอฟ ทำให้มีการนำรถถังจากไครเมียเข้าสู่มอสโก ซึ่งก็เป็นความพยายามรัฐประหารอายุสั้นแบบเดียวกับของพริโกซินที่ทำได้แค่ 3 วันเท่านั้น หลังจากการรัฐประหารไม่เป็นผลทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อระบอบคอมมิวนิสต์ และพอถึงเดือน ธ.ค. 2534 สหภาพโซเวียตก็ล่มสลาย

บทบาทของแวกเนอร์ในสงครามยูเครน

ถึงแม้ว่าแวกเนอร์จะกลับลำหันมากล่าวหารัฐบาลปูตินในเรื่องสงครามยูเครน แต่กองกำลังแวกเนอร์เองก็มีบทบาทอย่างมากในการรุกรานยูเครน มีการเกณฑ์ทหารรับจ้างเหล่านี้จากนักโทษและจากข้างถนนในรัสเซียเพื่อเป็นเบี้ยให้ปูตินไว้ใช้งาน พวกเขาก่อเหตุทารุณป่าเถื่อนเช่นการใช้ค้อนยักษ์สังหารคนที่หนีทัพ อีกทั้งยังมีการใช้กองกำลังแวกเนอร์ไปรบในสภาพที่โหดเหี้ยมด้วย

พอถึงช่วงฤดูหนาว กองกำลังฝ่ายรัสเซียก็เริ่มร่อยหรอและขาดกำลังใจ ขณะที่ยูเครนเริ่มตีโต้กลับในคาร์คีฟ และเคอร์ซอน ในตอนนั้นรัสเซียได้ใช้ทหารรับจ้างของพริโกซินในการอุดช่องว่างในสนามรบเพื่อให้กองทัพของทางการรัสเซียเองได้หยุดพัก แต่อาวุธของฝ่ายรัสเซียก็ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ จนต้องพยายามเกณฑ์และซ้อมรบทหารใหม่เพื่อโยนเข้าไปในสงคราม

กองกำลังของพริโกซินยังมีบทบาทสำคัญในยุทธการชิงเมืองบัคมุตที่เป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางตะวันออกของยูเครนด้วย ซึ่งในยุทธการดังกล่าวเป็นที่ๆ มีการสู้รบหนักที่สุดที่หนึ่งและมีการสูญเสียจากฝ่ายรัสเซียมากที่สุดในสงครามยูเครน

การรัฐประหารที่ล้มเหลวนี้ทำให้พริโกซินซึ่งเคยเป็นอดีตคนใกล้ชิดของปูตินต้องหลบหนีและอาจจะต้องระแวดระวังตัวจากการลอบสังหารจากรัฐบาลรัสเซีย ส่วนกองกำลังแวกเนอร์ที่เหลือ 25,000 นายนั้นถ้าไม่แยกย้ายกลับบ้านของตัวเองไป บางส่วนก็อาจจะไปเข้ากับกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย

การพยายามรัฐประหารสร้างรอยอัปยศต่อปูติน เสริมกำลังให้ยูเครน

ในขณะที่ยูเครนกำลังรุกคืบได้อย่างยากลำบากในยุทธการโต้กลับรัสเซีย แต่ความพยายามรัฐประหารที่เกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ก็ทำให้ยูเครนมีขวัญกำลังใจมากขึ้น ส.ส. พรรคเสรีนิยมของยูเครน คิรา รูดิกถึงกับบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น "สิ่งที่พิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าคุณสามารถต่อสู้กับรัสเซียได้และคุณสามารถเอาชนะรัสเซียได้"

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่กองกำลังยูเครนจะอาศัยความได้เปรียบในช่วงนี้ในการรุกคืบฐานที่มั่นของรัสเซียได้มากขึ้น จากการที่กองกำลังแวกเนอร์ถูกสั่งให้คอยยึดพื้นที่อาณาเขตในรัสเซียเอาไว้แทนที่จะสู้รบกับยูเครน

ผลกระทบอีกเรื่องหนึ่งจากความพยายามก่อรัฐประหาร คือผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของปูตินในสายตาชาวโลก การที่รัสเซียอาศัยกองกำลังของพริโกซินเพื่อทำสงครามต่อยูเครนด้วยภาพลักษณ์แบบจอมอวดเบ่งความเป็นชายนั้น พอพวกเขาเพลี่ยงพล้ำทั้งๆ ที่มองว่ากองทัพยูเครนที่พวกอ่อนแอกว่า พวกเขาก็หันไปโทษผู้นำอย่างปูติน

พริโกซินกล่าวหาว่าปูตินนั้นอยู่ห่างไกลจากสภาพความเป็นจริง, อ่อนแอ และถูกหลอกง่าย คือภาพลักษณ์ที่อยู่ตรงข้ามกับผู้นำเผด็จการตัวบุคคลแบบแข็งกร้าวที่คอยควบรวมอำนาจไว้ที่ตัวเองจากการเป็นผู้กุมบังเหียนรัสเซียมาตลอดหลายสิบปี

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net