Skip to main content
sharethis

คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาฯ ลงพื้นที่พบชาวกะเหรี่ยงบ้านกลาง แม่เมาะ จ.ลำปาง ชี้ การแก้ปัญหาไฟป่าและ PM2.5 ต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมจากชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง 

5 มี.ค.2567 วานนี้(4 มี.ค. 2567) คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่พบปะชาวกะเหรี่ยงบ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่บ้านกลางและชุมชนใกล้เคียง

การลงพื้นที่ครั้งนี้มีเวทีเสวนาประเด็นการสร้างองค์ความรู้ในการจัดการไฟป่าให้กับชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และข้อจำกัดทางกฎหมาย นโยบายของรัฐ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านในฐานะคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวร่วมกับพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจากบ้านกลาง บ้านแม่ส้าน บ้านห้วยตาด รวมไปถึงชุมชนจากพื้นที่ใกล้เคียงที่มาร่วมรับฟังเวทีเสวนาในครั้งนี้

สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านชุมชนพี่น้องกะเหรี่ยงบ้านกลาง กล่าวตอนหนึ่งบนเวทีเสวนาว่า พี่น้องกะเหรี่ยงบ้านกลางรวมทั้งบ้านแม่ส้านมีวิถีชีวิตคนอยู่ร่วมกับป่าและการบริหารจัดการทรัพยากรป่ามาเป็นเวลานาน แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตดังกล่าวโดยเฉพาะการทำเกษตรไร่หมุนเวียนกำลังจะได้รับผลกระทบจากนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ ด้วยมาตรการห้ามเผาของจังหวัดลำปางที่ส่งผลกระทบต่อการเตรียมพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนอย่างที่ควรจะเป็นไปตามฤดูกาลและวิถีดั้งเดิมของพี่น้องกะเหรี่ยง

สมชาติยังกล่าวต่อไปอีกว่า พี่น้องกะเหรี่ยงจะเตรียมพื้นที่เพาะปลูกบนไร่หมุนเวียนในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายนของทุกปี โดยเริ่มจากการแผ้วถาง ทำแนวกันไฟ และเผา ซึ่งในระหว่างที่กำลังเผาไร่ ชาวบ้านจะต้องช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้ไฟลุกลามออกนอกพื้นที่เตรียมเพาะปลูกได้ ซึ่งการเผาไร่หมุนเวียนจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที วัชพืชก็เผาไหม้หมดแล้ว

“แต่ปัจจุบันเราทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะนอกจากมาตรการกำหนดห้วงห้ามเผาของจังหวัดลำปางแล้ว แม้กระทั่งการทำแนวกันไฟ หรือจะเข้าป่าไปหาน้ำผึ้งก็ยังต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ ซึ่งความกังวลเหล่านี้กำลังจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตพี่น้องกะเหรี่ยงบ้านกลางและแม่ส้านที่เริ่มทำไร่หมุนเวียนน้อยลง หลายครอบครัวละทิ้งไร่หมุนเวียนแล้วไปทำเกษตรเชิงเดี่ยวแทน เพราะกลัวว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่อนุญาตให้เผาป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียน” สมชาติกล่าว

ศุกร์ ไทยธนสุกานต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้กล่าวเสริมต่อประเด็นนี้ว่า ที่ผ่านมาการบริหารจัดการไฟป่าของบ้านกลางได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นระบบการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่มีประสิทธิภาพ โดยบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเบื้องต้นสามารถสนับสนุนและรับพิจารณาเป็นข้อบัญญัติเพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการตัวเองได้

พนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่อธิบายเพิ่มเติมต่อประเด็นมาตรการห้ามเผาของจังหวัดลำปางว่า ข้อกำหนดการห้ามเผาจริง ๆ แล้วมีข้อยกเว้นในกรณีที่เป็นการเผาเพื่อบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ที่มีแผนรองรับ ทำในวงจำกัดโดยไม่กระทบจุด Hotspot และรัฐพิจารณาแล้วอนุญาตให้ดำเนินการตามแผนที่แจ้งมาได้

พชร คำชำนาญ

พชร คำชำนาญ ในฐานะภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นร่วมกับชาวกะเหรี่ยงบ้านกลางและบ้านแม่ส้านได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อจังหวัดลำปางกำหนดมาตรการห้ามเผาและพี่น้องกะเหรี่ยงก็ไม่ได้เผาไร่หมุนเวียนในห้วงเวลาดังกล่าว แต่ค่าฝุ่น PM2.5 กลับไม่ได้ลดลงก็ได้ชี้ชัดแล้วว่า PM2.5 ไม่ได้เกิดจากการเผาไร่หมุนเวียนอย่างที่ถูกกล่าวหา

“ทุกวันนี้พี่น้องกะเหรี่ยงที่นี่กำลังถูกขังอยู่ในคุกที่ไม่มีกรงด้วยข้อบังคับกฎหมายต่าง ๆ ที่บัญญัติโดยรัฐส่วนกลางที่ไม่เคยมาถามชาวบ้านในพื้นที่ว่าอยากได้แบบนี้ไหม ทำให้พี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองถูกกดทับและจำกัดสิทธิทำกินโดยอำนาจรัฐผ่านข้อบังคับทางกฎหมาย ยกตัวอย่างเมื่อปี 2565 บ้านกลางเคยขอทำแนวกันไฟป่าผ่านโครงการกองทุนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ แต่กรมป่าไม้กลับไม่อนุมัติโครงการดังกล่าว แม้ว่างบสนับสนุนจะไม่ได้มาจากกรมป่าไม้ก็ตาม” พชรกล่าว และว่า ไร่หมุนเวียนเป็นทั้งระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและมรดกทางวัฒนธรรมที่สากลยอมรับ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ดังนั้น ถ้ารัฐจะแก้ปัญหาไฟป่าและ PM2.5 ต้องยกเลิกมาตรการห้ามเผาหรือดึงระบบไร่หมุนเวียนออกจากมาตรการห้ามเผา

ชลธานี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต 3 ได้กล่าวถึงสถานการณ์การป้องกันไฟป่าและ PM2.5 ว่า จากกรณีไฟป่าบนดอยพระบาทและการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพตได้ชี้ให้เห็นข้อเปรียบเทียบระหว่างการจัดการไฟป่าในพื้นที่ที่มีคนดูแลกับไม่มีคนดูแลว่า คนที่อยู่ร่วมกับป่าสามารถดูแลและจัดการป่าได้ง่ายกว่าป่าที่ไม่มีคนในพื้นที่ดูแล แต่อย่างไรก็ตาม การพิสูจน์องค์ความรู้การดูแลและจัดการไฟป่าโดยวิถีคนอยู่กับป่าต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันระหว่างรัฐฝ่ายบริหาร ประชาชน ชุมชน และรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อผลักดันไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าด้วยเช่นกัน

พริษฐ์ วัชรสินธุ

พริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้กล่าวสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ออกเป็น 6 ประเด็นหลักคือ 

  • ใช้กลไกรัฐผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การเสนอร่างประมวลกฎหมายป่าไม้เพื่อนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดต่อป่าไม้ รวมไปถึงการผลักดัน รื้อฟื้น และพิสูจน์สิทธิที่ดินทำกิน โดยร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ระหว่างยกร่าง 
  • สร้างกติกาให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่เพื่อบริหารจัดการพื้นที่นิเวศวัฒนธรรมร่วมกัน โดยมีคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
  • ลดค่านิยม อคติทางสังคม พี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไม่ใช่แพะรับบาปของไฟป่าและ PM2.5 อย่างที่ถูกกล่าวหา โดยนำมาตรการทางวัฒนธรรมมาสะท้อนองค์ความรู้เรื่องไร่หมุนเวียนและขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียงให้เกิดการวางมาตรการใหม่
  • กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ผู้นำท้องถิ่นมีอำนาจจัดบริการสาธารณะ เพิ่มความสามารถในการหารายได้พัฒนาพื้นที่ และใกล้ชิดกับประชาชนให้มากที่สุด
  • สร้างกลไกให้พี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงกฎหมายและนโยบายมากขึ้น เช่น พรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตที่เพิ่มสัดส่วนชาติพันธุ์ในการเลือกผู้แทน
  • ยกระดับสวัสดิการให้ทั่วถึง ถ้วนหน้า และสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบันมากขึ้น

มานพ คีรีภูวดล ในฐานะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ดำเนินเวทีเสวนาในครั้งนี้ได้กล่าวสรุปอีกครั้งว่า จากเสียงสะท้อนทั้งหมดที่กล่าวมาได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาระบบรัฐรวมศูนย์ที่ส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่ใกล้ปัญหา ใกล้พื้นที่ ใกล้ชิดประชาชน แต่กลับไม่มีอำนาจจัดการกับปัญหาในท้องถิ่นจนทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐจนวิถีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองได้รับผลกระทบจนเริ่มไม่สามารถส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปได้ ดังนั้นสิ่งที่รัฐจะสามารถถอดบทเรียนจากการพูดคุยบนเวทีครั้งนี้คือ การบริหารจัดการเชิงพื้นที่หรือ Area Based ของบ้านกลางและบ้านแม่ส้านที่มีระบบการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพจนสามารถยกระดับเป็นโมเดลต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net