Skip to main content
sharethis

รายงานจาก Corporate Accountability Lab ตั้งคำถามกับผลิตภัณฑ์ติด 'ฉลากสินค้าที่เป็นธรรม' (Fair Trade) ในสหรัฐฯ ว่าแท้จริงแล้วกระบวนการที่ได้มานั้น เป็นธรรมกับแรงงานจริงหรือไม่ หลังพบเข้าข่ายใช้แรงงานบังคับในไร่ที่เม็กซิโก


ที่มาภาพ: James Daria/Corporate Accountability Lab

ผู้บริโภคชาวอเมริกันจำนวนมากที่เลือกซื้อสตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ และพืชผลอื่น ๆ ที่ติดฉลากไว้ว่า "เพาะปลูกอย่างรับผิดชอบ" "รับรองมาตรฐานแรงงาน" และ "สินค้าที่เป็นธรรม" ในซูเปอร์มาร์เก็ต

แต่เบื้องหลังฉลากดังกล่าว แรงงานชาวเม็กซิกันที่เก็บเกี่ยวพืชผลเหล่านี้อาศัยและทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจเรียกว่า "การค้ามนุษย์ในศตวรรษที่ 21"

จากรายงาน "Certified Exploitation: How Equitable Food Initiative and Fair Trade USA Fail to Protect Farmworkers in the Mexican Produce Industry" โดยแอนนา แคนนิง (Anna Canning) และเจมส์ ดาเรีย (James Daria) จากองค์กร Corporate Accountability Lab ที่ได้สัมภาษณ์แรงงานจำนวน 200 คน พบรายละเอียดเกี่ยวกับการขโมยค่าแรงอย่างแพร่หลาย การล่วงละเมิดทางเพศ การตอบโต้ที่รุนแรง และการใช้แรงงานบังคับ

ในรัฐบาฮาแคลิฟอร์เนียของเม็กซิโก แรงงานในไร่ส่วนใหญ่มักได้รับค่าแรงเพียง 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน ในขณะที่ทางเหนือเมื่อข้ามมายังพรมแดนสหรัฐฯ ไม่ถึง 200 ไมล์ แรงงานในไร่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง บ่อยครั้งที่พวกเขาเก็บเกี่ยวผลผลิตให้กับแบรนด์ชื่อดัง เช่น Driscoll's หรือ Andrew & Williamson แต่ก็มีความอยุติธรรมซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังฉลากที่ระบุว่าผลิตภัณฑ์นั้น "เพราะปลูกอย่างรับผิดชอบ" "รับรองมาตรฐานแรงงาน" และได้รับการรับรอง "สินค้าที่เป็นธรรม"

ทั้งนี้จึงเกิดคำถามทำนองว่า สภาพการทำงานของแรงงานในไร่ ควรเป็นเรื่องของการเลือกซื้อของผู้บริโภค หรือเป็นเรื่องของการกำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐ? และใครเป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือ "ความเป็นธรรม" ในสถานที่ทำงาน?

ฉลากเหล่านี้มีประโยชน์สำหรับแรงงานหรือไม่?


ที่มาภาพ: James Daria/Corporate Accountability Lab

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ อย่าง Fair Trade USA และ Equitable Food Initiative (EFI) อ้างว่าพวกเขาป้องกันการละเมิดแรงงานโดยการกำหนดมาตรฐานแรงงานสำหรับฉลากสินค้าที่เป็นธรรม (FairTrade Certified) มาตรฐานเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นผ่านกระบวนการที่ผ่านความเห็นจากแบรนด์ เกษตรกร และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ในกรณีของ EFI นั้นรวมถึงความเห็นจากสหภาพแรงงานในภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ ด้วย

เกษตรกรและผู้จัดจำสินค้าจะจ่ายเงินเพื่อรับการตรวจสอบว่าพวกเขาปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้หรือไม่ จากนั้น แบรนด์ต่าง ๆ จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพื่อนำฉลากอย่าง “FairTrade Certified” ไปติดบนผลิตภัณฑ์ของตนเอง แนวคิดก็คือ ผู้บริโภคสามารถสนับสนุนการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อแรงงานได้ผ่านการเลือกซื้อสินค้า

แต่แรงงานในไร่กลับต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่แตกต่างออกไป “ตั้งแต่ผมเริ่มทำงานที่ Rancho Nuevo เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมไม่เห็นว่าแรงงานได้รับประโยชน์จาก EFI” แรงงานคนหนึ่งซึ่งขอให้ระบุตัวตนเขาว่า "แรงงานชาวไร่นู ซาวี" (Ñuu Saví Farmworker) กล่าว “นี่คือสิ่งที่ผมอยากรู้ว่า EFI ช่วยเราได้อย่างไร?”

(ชื่อของแรงงานในรายงานชิ้นนี้เป็นนามแฝงทั้งหมด พวกเขากังวลเกี่ยวกับการตอบโต้จากบริษัทในสหรัฐฯ รวมถึงการถูกขึ้นบัญชีดำไม่ให้สมัครวีซ่าเกษตรกรรมแขก H-2A ซึ่งให้โอกาสในการหารายได้ที่สูงขึ้น)

ผู้วิจารณ์กระบวนการออกใบรับรองด้านจริยธรรมอย่าง Fair Trade USA และ EFI ส่วนใหญ่ประณามว่าเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ให้แบรนด์สินค้าเท่านั้น แต่รายงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่ามาตรฐานเหล่านี้ยังแย่กว่า "ความไร้ประโยชน์" นั่นคือ กระบวนการออกใบรับรองเหล่านี้กำลังสร้างอาณาจักรของตนเองขนานกันของกฎระเบียบที่มีอยู่แล้ว และกลับทำตัวเป็นมิตรกับแบรนด์สินค้า

แทนที่จะเป็นการ "จัดตั้งสหภาพแรงงานอย่างเสรี" แต่แรงงานในไร่ที่ได้รับการรับรองจะได้รับข้อเสนอให้เข้าร่วม "คณะกรรมการร่วมกับฝ่ายบริหาร" และแทนที่จะเป็นการสร้างความสามัคคีของแรงงาน อีกฝั่งหนึ่งของชายแดน กลับได้รับข้อเสนอให้ผู้บริโภคสนับสนุนแรงงานผ่านการเลือกซื้อสินค้าอย่างมีจริยธรรม

สหภาพแรงงานที่บริษัทควบคุมไว้

แรงงานชาวไร่นู ซาวี เล่าประสบการณ์ของเขากับ EFI เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของรูปแบบที่เป็นอยู่ ทั้งนี้มีเสียงไม่พอใจที่คล้ายคลึงกันมากมายในบรรดาแรงงานภาคเกษตรกรรมข้ามแดน 2 ล้านคน จากรัฐทางใต้ของเม็กซิโก 

อันที่จริง ตัวแรงงานมองว่าใบรับรอง Fair Trade USA และ EFI เป็นเครื่องมือในการกดขี่โดยฝ่ายบริหาร พวกเขาเปรียบเทียบใบรับรองเหล่านี้กับสหภาพแรงงานของบริษัทที่ควบคุมขบวนการแรงงานของเม็กซิโกไว้อย่างเหนียวแน่น

ในกระบวนการการออกใบรับรองเหล่านี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมแรงงาน-ฝ่ายบริหาร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีระบบการร้องเรียนที่คล้ายกับสหภาพแรงงาน EFI อธิบายว่า คณะกรรมการนี้เป็นเครื่องมือในการเสริมพลังให้แรงงานและสร้างทักษะความเป็นผู้นำ

แต่ลูซินดา (Lucinda) แรงงานที่เข้าร่วมคณะกรรมการที่ Rancho Nuevo Produce กล่าวว่า การจัดตั้งคณะกรรมการนี้ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง "พวกเขาอยู่ข้างเจ้านายเสมอ เพราะพวกเขาทั้งหมดเป็นครอบครัวเดียวกัน"

ทั้งใบรับรอง Fair Trade USA และ EFI ประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานผ่านบริษัทตรวจสอบจากภายนอกที่เข้าเยี่ยมชมพื้นที่เพาะปลูกและสัมภาษณ์แรงงาน

กระบวนการตรวจสอบนี้ดำเนินการเพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดี โดยมุ่งเน้นที่การสัมภาษณ์แบบกลุ่มย่อยต่อหน้าฝ่ายบริหาร "ใช่ พวกเขาถามเราหลายคำถาม" ลูซินดากล่าว "แต่เราไม่สามารถพูดความจริงได้ เพราะผู้ประสานงานของบริษัทอยู่ที่นั่น และฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็อยู่ที่นั่น"

"ก่อนที่พวกเขา [ผู้ตรวจสอบ] จะมา พวกเขาบอกเราว่า 'เราต้องคุยเรื่องนี้ และเมื่อพวกเขามา เราต้องบอกพวกเขาว่าใช่' กล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกเขาสั่งให้เราโกหก และจริง ๆ แล้ว เราไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างแท้จริง"

ขัดขวางการรวมตัวของแรงงาน 


ที่มาภาพ: James Daria/Corporate Accountability Lab

คำบอกเล่าของลูซินดา สอดคล้องกับผลการวิจัยภาคสนาม 8 ปี ที่นำมาสู่รายงานฉบับนี้ และสอดคล้องกับผลการวิจัยในอุตสาหกรรมอื่นๆ ตั้งแต่การเพาะปลูกเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรไปจนถึงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และในอุตสาหกรรมแฟชั่น ผู้ตรวจสอบเหล่านี้มักจะอนุมัติการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง

ขณะที่โมเดลการออกใบรับรองเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ในฐานะกลยุทธ์เพื่อแก้ไขทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมในห่วงโซ่อุปทาน แต่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นว่าเป็น "กลยุทธ์แบบนุ่มนวล” ที่ขัดขวางการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่เป็นอิสระ การออกใบรับรองเช่นนี้ดำเนินการโดยดึงความพยายามของแรงงานเข้าสู่คณะกรรมการที่ควบคุมโดยฝ่ายบริหารซึ่งไร้ประสิทธิภาพ และส่งเสริมแรงจูงใจด้วยเงินเพียงเล็กน้อย - แรงจูงใจที่แรงงานคนหนึ่งกล่าวว่า "เหมือนกับการปิดตาลาเพื่อนำมันมาใช้งาน"

หนึ่งในข้อโต้แย้งที่สนับสนุนการออกใบรับรองเหล่านี้คือ พวกเขาช่วยเติมเต็ม "ช่องว่างการกำกับดูแล" ที่บริษัทข้ามชาติดำเนินธุรกิจโดยมีกฎระเบียบหรือการบังคับใช้มาตรฐานคุ้มครองแรงงานเพียงเล็กน้อย

แต่ในความเป็นจริง มาตรฐาน Fair Trade USA และ EFI ต่ำกว่ามาตรฐานกฎหมายแรงงานของเม็กซิโกด้วยซ้ำ ส่วนประเด็นสำคัญ ผู้ออกใบรับรองอ้างว่าได้ "เสริมพลัง" ให้แรงงานผ่านการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย แต่พวกเขากลับปฏิเสธสิทธิตามกฎหมายของแรงงาน

ในรายงานฉบับนี้ยังพบองค์ประกอบบางอย่างของมาตรฐานการรับรองที่ลดลงน้อยลงตามกาลเวลา ซึ่งขัดแย้งกับข้ออ้างของผู้ออกใบรับรองเรื่อง "การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง"

สินค้าที่ไม่เป็นธรรม

กลุ่มแรงงานข้ามชาติเก็บแตงกวาที่ Rancho Santa Mónica ในเม็กซิโก ซึ่งเป็นไร่ที่ยังคงได้รับใบรับรองสินค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) จาก EFI ในสหรัฐฯ ถูกยึดเอกสารประจำตัวและได้รับค่าแรงอย่างล่าช้า พวกเขาถูกบังคับให้ทำงานนานเกินเวลาโดยไม่มีวันหยุด

“ผมรู้สึกเหมือนเป็นทาส” ปาโบล (Pablo) แรงงานคนหนึ่งกล่าว สภาพการทำงานของพวกเขาตรงกับตัวชี้วัดของการใช้แรงงานบังคับตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กำหนดไว้

สุดท้ายแล้ว ไม่ใช่ผู้ตรวจสอบหรือองค์กรอย่าง EFI ที่ช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ออกมาจากสถานการณ์นั้นได้ แต่เป็นการแทรกแซงของสหภาพแรงงานเกษตรกรรมอิสระเพียงแห่งเดียวในภูมิภาค นั่นคือ สหภาพแรงงานอิสระประชาธิปไตยแห่งชาติ (Sindicato Independiente Nacional Democrático de Jornaleros Agrícolas หรือ SINDJA)

SINDJA ให้การสนับสนุนการรวมตัวของแรงงานและการนัดหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าแรงและสภาพการที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีการข้อตกลงการต่อรองร่วมระหว่างสหภาพแรงงานและบริษัทเจ้าของไร่

ข้อตกลงเหล่านั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพแรงงานบริษัท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแรงงานอย่างสมาพันธ์แรงงานเม็กซิกันประจำภูมิภาค (Regional Confederation of Mexican Workers) และสมาพันธ์แรงงานเม็กซิกัน (Confederation of Mexican Workers) สิ่งนี้สะท้อนถึงความท้าทายสำคัญที่แรงงานเกษตรกรรมเผชิญ นั่นคือการควบคุมอย่างเข้มงวดของสหภาพแรงงานบริษัทที่มีต่อขบวนการแรงงานเม็กซิโก

สหภาพแรงงานที่ควบคุมโดยบริษัท ถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามอนุสัญญาสิทธิในการจัดตั้งองค์กรและการต่อรองร่วม (อนุสัญญาที่ 98) ของ ILO ถึงกระนั้น สหภาพแรงงานบริษัทเหล่านี้ยังคงมีอยู่ กระทั่งในไร่ที่ได้รับการรับรอง - แม้ว่ามาตรฐานของผู้รับรองจะสัญญาว่าจะปกป้องเสรีภาพในการรวมตัวกันของแรงงาน

ในอุตสาหกรรมการส่งออกอื่น ๆ เช่น การผลิตรถยนต์ การปฏิรูปแรงงานที่ระบุไว้ในข้อตกลงสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) กำลังผลักดันให้มีการเลือกตั้งสหภาพแรงงานอย่างเสรีและเป็นธรรม ซึ่งสหภาพแรงงานบริษัทเคยปิดกั้นมานาน

อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรกรรมยังไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นภาคส่วนสำคัญสำหรับการปฏิรูปดังกล่าว

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การรับรองสินค้าที่เป็นธรรมช่วยให้บริษัทสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าสภาพการณ์ที่เอารัดเอาเปรียบ และบ่อนทำลายการรวมตัวกันของแรงงาน ซึ่งจะเป็นสิ่งจำเป็นในการปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น

ดังที่ราอูล (Raul) แรงงานคนหนึ่งกล่าวว่า “สำหรับผมสินค้าที่ติดฉลาก Fair Trade หมายถึงสินค้าที่ไม่เป็นธรรม”

 

ที่มา:
Why Fair Trade Produce Labels Are Bogus (Anna Canning and James Daria, Labor Notes, 16 January 2024)
CERTIFIED EXPLOITATION HOW EQUITABLE FOOD INITIATIVE AND FAIR TRADE USA FAIL TO PROTECT FARMWORKERS IN THE MEXICAN PRODUCE INDUSTRY (Anna Canning and James Daria, Corporate Accountability Lab, October 2023)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net