Skip to main content
sharethis

แฟนๆ นิยายและภาพยนตร์เกี่ยวกับโรงเรียนพ่อมดที่ต่อสู้กับจอมวายร้ายผู้เป็นตัว แทนของเผด็จการและการใช้แรงงานทาส ได้รับแรงบันดาลใจจนร่วมกันช่วยเรียกร้องให้บริษัทผลิตภาพยนตร์และขายสินค้า จากแฮร์รี่ พอตเตอร์ เลิกใช้วัตถุดิบที่มาจากการกดขี่แรงงานหรือใช้แรงงานเด็ก


ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Walkfree.org ที่อ้างอิงถ้อยคำของตัวละครที่ชื่อเฮอร์ไมโอนี่
ซึ่งกล่าวว่า "มันเป็นการใช้แรงงานทาสชัดๆ ... ทำไมถึงไม่มีใครทำอะไรกับมัน"

ที่มาภาพ : Walk Free FB page


แฟนหนังสือและภาพยนตร์เรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ ช่วยกันรณรงค์เรียกร้องให้บริษัทผลิต "กบช็อกโกแลต" ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากในเรื่องใช้วัตถุดิบที่ไม่ได้มีที่มาจากการกดขี่แรงงาน

การร่วมกันรณรงค์ของพวกเขาถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเมื่อบริษัท วอร์เนอร์ บราเธอร์ เอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ผู้ผลิตภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ประกาศแผนการให้สินค้าช็อกโกแลตที่มีแรงบันดาลใจจากเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ เช่น กบช็อกโกแลต ต้องใช้วัตถุดิบที่ได้รับการรับรองจากระบบการค้าที่เป็นธรรมหรือแฟร์เทรด หรือมีการใช้เมล็ดโกโก้ที่ได้รับรองโดยองค์กรยูทีซี

ทั้งสององค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรที่เน้นเรื่องการค้าอย่างเป็นธรรม โดยแฟร์เทรดคือระบบการค้าที่สร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งกับผู้ผลิต ผู้จำหน่าย แรงงานที่อยู่ในระบบรวมถึงผู้บริโภค ส่วนยูทีซีเป็นโครงการที่รับรองความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูกชา กาแฟ และเมล็ดโกโก้ รวมถึงให้ความสำคัญด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและสภาพการทำงานที่ดีของแรงงานในการเพาะปลูก

กลุ่มแฟนๆ ของพ่อมดน้อยรวบรวมสมัครพรรคพวกเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่ชื่อว่าสหพันธ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ (HPA) ซึ่งดำเนินการรณรงค์ในเรื่องต่อต้านการใช้แรงงานทาสมาเป็นเวลา 4 ปี ทางด้าน เจ.เค. โรว์ลิง ผู้เขียนเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์เองก็เรียกร้องให้วอร์เนอร์ บราเธอร์ เลิกซื้อโกโก้จากบริษัท บีห์ร ช็อกโกแลต ซึ่งมีปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้แรงงานเด็ก

เว็บไซต์ เยส แม็กกาซีน ระบุว่าแฟนของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ดำเนินรอยตามตัวเอกในนิยายของตนจนกลายเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกได้ ในเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตัวเอกต่อสู้กับ "ลอร์ด โวลเดอร์มอร์" ผู้ที่เป็นตัวแทนของเผด็จการ การกดขี่ และการใช้แรงงานทาส และพอตเตอร์ยังลุกขึ้นสู้เพื่อคนที่ถูกกดขี่รังแกด้วย

สหพันธ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำให้แฟนๆ ของนิยายเรื่องนี้หันมาสนใจปัญหาความไม่เป็นธรรมในโลกความจริง ในปี 2553 พวกเขาช่วยรวบรวมเงินบริจาคให้ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเฮติเป็นเงิน 120,000 ดอลลาร์ มีการรวบรวมหนังสือมากกว่า 200,000 เล่ม เพื่อบริจาคให้กับห้องสมุดทั่วโลก และเรียกร้องเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับเลวร้ายมากในโลกจริง แฟนๆ ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ รู้สึกทนไม่ได้ที่เห็นการผลิตโกโก้แบบกดขี่แรงงานแล้วเอาชื่อแฮร์รี่ พอตเตอร์แปะป้ายผลิตภัณฑ์

การเรียกร้องจากสหพันธ์ที่ตั้งขึ้นมาจากความชื่นชอบทางวัฒนธรรมในสิ่งเดียวกันเช่นนี้ เฮนรี เจนกิน นักวิชาการด้านสื่อ เรียกว่า "กิจกรรมเพื่อสังคมโดยกลุ่มแฟนคลับ" หรือ "fan activism" ซึ่งในกรณีของสหพันธ์แฮรี่ พอตเตอร์ พวกเขาไม่เพียงประสบความสำเร็จจากความสามารถในการระดมทุนบริจาคแต่ยังสามารถทำให้บรรษัทยักษ์ใหญ่ยอมเปลี่ยนนโยบายเพื่อหยุดการใช้แรงงานทาสซึ่งเจนกินบอกว่าเป็นความสำเร็จอย่างไม่เคยมีมาก่อน

แต่เส้นทางการต่อสู้ในโลกความจริงก็ต้องมีการฝ่าฟันอุปสรรคหลายอย่าง สาวกของนิยายพ่อมดน้อยเริ่มต้นรณรงค์ในชื่อ "อย่าใช้ชื่อแฮร์รี่ของพวกเราทำแบบนี้" (Not in Harry's Name) หลังจกาที่มีสมาชิกสหพันธ์คนหนึ่งที่ชื่อลิซา วาลเดซ เข้าหา แอนดรูว สแล็ก ผู้เป็นประธานสหพันธ์และผู้อำนวยการขบวนการอิมเมจินเบตเทอร์เพื่อเสนอเรื่องควรให้สินค้ากบช็อกโกแลตใช้วัตถุดิบที่ได้รับการรับรองแฟร์เทรด ทำให้สแล็กติดต่อกับโรงงานแฟรงฟอร์ดแคนดี้ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้วอรเนอร์ในปี 2552 และพบว่าพวกเขาใช้โกโก้จากแหล่งผลิตที่ไม่เป็นธรรม


ภาพประกาศชัยชนะที่ทำขึ้นล้อเลียนหนังสือพิมพ์ Daily Prophet
ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของพ่อมดแม่มดใน 'แฮร์รี่ พอตเตอร์'
ที่มาภาพ :
Tumblr

สหพันธ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ มีลักษณะการรณรงค์ที่ดึงดูดสมาชิกด้วยคำศัพท์เฉพาะจากในนิยาย เช่นโครงการรณรงค์ 'เครื่องรางยมทูต' (Deathly Hallows - ชื่อภาคของหนังสือเล่มที่ 7) ที่ขอให้สมาชิกช่วยเหลือในการต่อสู้กับ "ฮอร์ครักซ์ในชีวิตจริง" (Horcrux - ในนิยายหมายถึงสิ่งที่ตัวร้ายของเรื่องใช้บรรจุเศษเสี้ยววิญญาณเพื่อให้คงความเป็นอมตะ ตัวเอกของเรื่องจึงต้องทำลายวัตถุเหล่านี้เพื่อกำจัดตัวร้าย) ซึ่งหนึ่งในฮอร์ครักซ์ที่ระบุถึงคือ "ปัญหาค่าแรงในระดับที่ทำให้คนอดอยาก"

นอกจากนี้ยังมีการจัดแฟลชม็อบหรือการชุมนุมอย่างฉับพลันในระยะสั้นมากกว่า 150 แห่งทั่วโลก โดยมีการจุดเทียนและไฟฉายเพื่อเรียกร้องให้มีการค้าอย่างเป็นธรรมหรือแฟร์เทรด การจัดแฟลชม็อบของกลุ่มคนรักแฮร์รี่ พอตเตอร์ เหล่านี้เรียกว่า 'ลูมอส ปาร์ตี้' (Lumos - เป็นชื่อคาถาให้แสงสว่างในนิยาย) และมีการล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้อง ในช่วงนั้นเองที่วอร์เนอร์เปลี่ยนผู้ผลิตเป็นบริษัท บีห์ร ช็อกโกแลต

ในปี 2554 แอนดรูวนำเสนอรายงานให้กับฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคของวอร์เนอร์ซึ่งเป็นรายงานที่พวกเขาทำร่วมกับ Free2Work เพื่อให้คะแนนว่าบริษัทบีห์รมีการปฏิบัติด้านการค้าที่เป็นธรรมมากน้อยเพียงใด ซึ่งพวกเขาให้เกรดอยู่ที่ F หรือแย่มาก แต่หลังจากนั้นทางวอร์เนอร์ก็อีเมลตอบกลับทางสหพันธ์ว่าพวกเขาพอใจในเรื่องจรรยาบรรณและการใช้แรงงานที่เป็นธรรมของบีห์รซึ่งทางประธานสหพันธ์ตอบกลับไปว่าพวกเขาขอหลักฐานสนับสนุนในคำกล่าวอ้างของวอร์เนอร์ แต่ก็ไม่มีการตอบกลับ หลังจากนั้นในปี 2555 แฟนๆ แฮร์รี่ร่วมกันจึงเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ ShowUsTheReport.com ให้วอร์เนอร์เปิดเผยหลักฐานว่าไม่มีการละเมิดสิทธิแรงงาน

หลังจากนั้นเหล่าแฟนคลับจึงแจ้งเรื่องนี้ให้กับ เจ.เค. โรว์ลิง ผู้เขียนนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้ทราบ ซึ่งโรว์ลิงผู้ให้กำเนิดเรื่องราวของพ่อมดน้อยก็รู้สึกกระตือรือร้นอยากมีส่วนร่วม อยากช่วยสืบสวนในเรื่องการใช้แรงงานทาสด้วย

สหพันธ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ยังเคยผลิตกบช็อกโกแลตด้วยตัวเองซึ่งได้รับการรับรองจากแฟร์เทรด พวกเขาใช้ช็อกโกแลตวัตถุดิบจากตราผลิตภัณฑ์ลา เซียมบรา ผลิตโดยบริษัทลักกี้ช็อกโกแลต และมีคนวาดบรรจุภัณฑ์คือ อเล็ก ลองสเตรธ  เพราะพวกเขาต้องการพิสูจน์ให้วอร์เนอร์เห็นว่าการใช้ผลิตภัณฑ์แบบแฟร์เทรดเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และทำกำไรได้

กลุ่มนักกิจกรรมแฟนคลับแฮร์รี่
ยังมีการรณรงค์ชื่อ 'มักเกิ้ล โฮวเลอร์' หรือ 'เสียงเรียกร้องจากผู้ไม่มีเวทย์มนต์ ด้วยการให้แฟนๆ บอกเล่าผ่านวิดีโอว่าพวกเขาต้องการให้วอร์เนอร์ขายช็อกโกแลตแบบแฟร์เทรด หลังจากนั้นก็มีคนจัดทำวิดีโอร่วมรณรงค์จำนวนมาก และยังคงรณรงค์เรียกร้องต่อเนื่องหลังจากนั้นจนกระทั่งมีการใช้เว็บไซต์ change.org เป็นที่ลงนาม และโรว์ลิงก็เริ่มแสดงการมีส่วนร่วมกับการรณรงค์อย่างเต็มตัวในช่วงปี 2557

สหพันธ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ อาศัยความร่วมมือจากองค์กรวอล์กฟรี (Walk Free) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติเพื่อการหยุดยั้งการใช้แรงงานทาสในยุคสมัยใหม่ ทั้ง 2 กลุ่มเข้าพบกับผู้บริหารของวอร์เนอร์ บราเธอร์ และนำรายชื่อที่ล่าได้ 400,000 รายชื่อมอบให้เขา รายชื่อเหล่านี้มาจากคนที่เรียกร้องให้บริษัทเลิกสัญญากับบริษัทผลิตโกโก้ที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน

จนถึงเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2557 การเรียกร้องของสหพันธ์ก็ประสบความสำเร็จ พวกเขาระบุว่ามันเป็นชัยชนะของทุกคน ทั้งของแฟนๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ของผู้เขียนนิยาย เจ.เค. โรว์ลิง ขององค์กรวอล์กฟรี และของวอร์เนอร์ บราเธอร์ เองด้วย

"ไม่ว่าพวกคุณจะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้มาแต่แรกหรือเพิ่งได้ยินเรื่องการต่อสู้ในวันนี้ พันธกิจของคุณในการบริโภคสินค้าที่มีจรรยาบรรณและเพิ่มการเรียกร้องจากสื่อที่คุณรักให้มากขึ้นทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้" สหพันธ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ระบุในคำแถลงชัยชนะในปี 2558

"อาวุธที่เรามีคือความรัก" สหพันธ์ระบุในคำแถลง

ลอวเรน เบิร์ด ตัวแทนจากสหพันธ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ระบุว่ากลุ่มของพวกเขาใช้เวลา 4 ปีในการจัดตั้ง ให้ความรู้ ประสานงาน และเจรจาหารือ ทำให้พวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมโดยกลุ่มแฟนคลับได้อย่างเต็มปาก จากการให้แฟนๆ นิยายทำงานร่วมกันจนเกิดผลในโลกความจริงได้ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตของผู้เพาะปลูกโกโก้โดยตรงเป็นจำนวนมากเพราะเบิร์ดยอมรับว่าช็อกโกแลตแฮร์รี่ พอตเตอร์ไม่ใช่ตลาดใหญ่ แต่เบิร์ดก็บอกว่าชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ นี้อาจจะนำไปสู่หนทางชนะในเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เพราะแฟนๆ ผู้นิยมแฮร์รี่ พอตเตอร์มีอยู่จำนวนมาก

"มันคือความหวังของพวกเราที่ว่าบรรษัทใหญ่ๆ จะมองดูและเดินตามรอยทางของวอร์เนอร์ บราเธอร์ ในการอาศัยแหล่งวัตถุดิบที่มีจรรยาบรรณมากกว่านี้ ...ในตอนนี้พวกเรายังไม่เห็นว่าอุตสาหกรรมโกโก้มีการพัฒนาและชีวิตของคนงานไร่โกโก้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น" เบิร์ดกล่าว


การประกาศชัยชนะของกลุ่มสหพันธ์แฮร์รี่ พอตเตอร์


เรียบเรียงจาก

400,000 Harry Potter Fans—and J.K. Rowling—Just Won a Deal to Get Child Labor Out of Chocolate, Yes Magazine, 13-01-2015
http://www.yesmagazine.org/people-power/harry-potter-fans-and-jk-rowling-launch-slave-free-chocolate-company

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

แฟร์เทรด คืออะไร, ดร.มนัสนันท์ พงษ์ไชยวณิช, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดแฟร์เทรด
http://www.sryfairtrade.com/index.php?option=com_content&view=article&id=63&Itemid=86

เว็บไซต์ UTZ Certified
https://www.utzcertified.org/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net