Skip to main content
sharethis

ตัวแทนจากตำรวจ อัยการและฝ่ายปกครอง รวมถึงกรมคุ้มครองสิทธิแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย หลังจากบังคับใช้มาแล้ว 1 ปี ยังเจอปัญหาระบบรับแจ้งจับกุมไม่เหมือนกัน การตีความกฎหมายที่ ยังต้องจัดหาอุปกรณ์กล้องและระบบเก็บไฟล์เพิ่มเติม ฝั่งอัยการคนที่สืบสวนได้มีไม่พอ

29 ก.พ.2567 ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ จัดเสวนาวิชาการชุด “ 1 ปี พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ ข้อท้าทายและความคาดหวัง” จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสถาบันนิติวัชร์ ของสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม มูลนิผสานวัฒนธรรม สมาคมเพื่อการป้องกันการทรมานและ TIJ ซึ่งในงานแบ่งการเสวนาเป็นสามช่วง โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากและทำงานเกี่ยวข้องการป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย มาร่วมในทั้งสามเวที

สำหรับเวทีแรกเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว โดยมีตัวแทนจากฝ่ายอัยการ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

นรีลักษณ์  แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม  กล่าวถึงการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายที่ผ่านมาแล้ว 1 ปีว่า ตั้งแต่ก่อนกฎหมายจะประกาศใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อร่างกฎระเบียบต่างๆ เพื่อรอรองรับการใช้กฎหมายและเดินสายคุยกับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้เพื่อทำความเข้าใจและทำให้หน่วยงานภายใต้กฎหมายมีความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อถึงวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ก็มีการตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายขึ้นมาและตั้งอนุกรรมการชุดต่างๆ ตามมาอีก

โดยอนุกรรมการ 2 ชุดแรกเป็นเรื่องการออกกฎหมายลำดับรองระเบียบต่างๆ  ที่เกี่ยวกับการบันทึกเสียงและภาพวิดีโอระหว่างการจับกุมควบคุมตัวที่ประกาศใช้ไปแล้วเมื่อ 11 ก.ย.2566 ส่วนชุดที่สองเป็นการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายจากการซ้อมทรมานที่คาดว่าจะประกาศใช้ในวันที่ 20 มี.ค.2567 ซึ่งการออกกฎหมายลำดับรองเหล่านี้มีขึ้นเพื่อเป็นการสร้างกลไกขึ้นมารองรับ

นรีลักษณ์กล่าวต่อว่าภายหลังจากกฎหมายเริ่มบังคับใช้แล้วทางกรมฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว 13 กรณี แบ่งเป็นซ้อมทรมาน 6 กรณี การกระทำที่โหดร้ายย่ำยีศักดิ์ศรี 7 กรณี แต่ยังไม่มีกรณีอุ้มหายร้องเรียนเข้ามา ทั้งนี้หน่วยงานที่จะต้องดำเนินการต่อเพื่อติดตามข้อเท็จจริงคือ ตำรวจ อัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษและฝ่ายปกครอง  และยังมีกรณีที่ขอให้ตรวจสอบการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว 316 คดี แต่เมื่อทำการตรวจสอบแล้วกรณีส่วนใหญ่ก็เป็นการตายตามธรรมชาตีส่วนน้อยที่เป็นการตายผิดธรรมชาติที่จะต้องมีการดำเนินการต่อ

ทั้งนี้ ผอ.กองสิทธิมนุษยชนฯ ยังกล่าวถึงปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายมีอยู่มากและเป็นเรื่องของการตีความกฎหมายคือการกระทำแบบใดที่นับเป็นการควบคุมตัว และเมื่อเป็นการควบคุมตัวแล้วต้องทำการบันทึกวิดีโอและเสียงหรือไม่เพราะกฎหมายคลุมไปถึงพนักงานตรวจแรงงาน เทศกิจ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพราะหน่วยงานเหล่านี้ต่างก็มีอำนาจตามกฎหมายในการจับกุมควบคุมตัวเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในบางพื้นที่ยังไม่ได้รับรู้ถึงเนื้อหาของกฎหมาย หรือเมื่อเกิดการจับกุมแล้วแจ้งแค่ฝ่ายปกครองหรืออัยการแค่ฝ่ายเดียวทำให้สถิติการจับกุมจากทั้งสองหน่วยงานที่ต้องรับแจ้งการจับกุมตามกฎหมายมีไม่เท่ากัน

นรีลักษณ์ยังกล่าวถึงปัญหาที่ทางกรมคุ้มครองสิทธิฯ เองก็ไม่มีอำนาจสืบสวน แต่เมื่อรับเรื่องมาแล้วก็ต้องลงสืบเบื้องต้นโดยที่เจ้าหน้าที่ของกรมไม่มีประสบการณ์หรือความรู้มากพอในการสืบสวนสอบสวนเหตุที่เกิดด้วย

พ.ต.อ.วีร์พล ใหญ่อรุณ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักกฎหมายและคดี ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าตำรวจถือเป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวกับการจับกุมควบคุมตัว การบังคับใช้กฎหมายนี้ถือว่าค่อนข้างฉับพลันสำหรับผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ทางหน่วยงานก็มีการเตรียมความพร้อมในหลายส่วน ทั้งการให้ความรู้ ฝึกอบรมกำลังพลและจากการประเมินเจ้าหน้าที่ในบางพื้นที่ก็มีความเข้าใจและใช้ได้ดี

ตัวแทนจาก ตร. กล่าวถึงปัญหาด้วยว่า เมื่อกฎหมายบังคับให้แจ้งอัยการและฝ่ายปกครอง รวมถึงให้บันทึกภาพและเสียงตลอดการจับกุมจนถึงปล่อยตัว จึงต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ฉุกละหุกมาก แม้ว่าเดิมทีจะมีการเตรียมอุปกรณ์ไว้บ้างแล้วแสนกว่าเครื่องแต่ไม่ได้ใช่เพื่อบันทึกการจับกุมโดยตรงก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ในภารกิจนี้ทันที ทำให้ต้องสั่งถึงหน่วยต่างๆ ใช้งบของตนจัดซื้อกันเองไปก่อนซึ่งรวมถึงฮาร์ดไดรฟ์ขนาดประมาณ 5 เทระไบต์สำหรับเก็บรวบรวมไฟล์เอาไว้ในแต่ละหน่วย

พ.ต.อ.วีร์พล กล่าวว่าตอนนี้มีการตั้งงบประมาณไว้ 400 ล้านบาทเพื่อไว้ซื้อกล้องอีกจำนวน 40,000 กว่าตัว และอีก 91 ล้านบาทเพื่อซื้อจัดซื้อกล้องในภารกิจปราบจลาจล ซึ่งมีการประกวดราคาเมื่อธันวาคม 2566 ทั้งนี้ที่ต้องจัดซื้อเพราะอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ตอนนี้ระบบก็ยังไม่เสถียรมากนัก นอกจากนั้นยังต้องทำระบบคลาวด์ที่เมื่อเจ้าหน้าที่ถ่ายแล้วสามารถอัพโหลดเข้าศูนย์ตามระเบียบของกระทรวงยุติธรรมเพื่อใช้ในกรณีต้องเรียกดูตรวจสอบการจับกุมกรณีมีข้อร้องเรียนในการจับกุมเข้ามาแต่ในส่วนนี้ได้งบมาจาก ปปส.มา 45 ล้านบาทได้ดำเนินการและมีความพร้อมในการใช้งานแล้วแต่ก็ยังมีความเป็นห่วงเรื่องรูปแบบในการอัพโหลดไฟล์เข้าระบบ แต่ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็ทำระบบสำรองไว้เป็นอีกส่วน

แต่นอกจากส่วนที่มีการจัดซื้อไปแล้วก็ยังมีอุปสรรคในเรื่องของงบประมาณและการซ่อมบำรุงที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะต้องใช้ทั้งหมดเท่าไหร่

นอกจากนั้นทาง ตร.เองยังได้จัดทำกฎหมายลำดับรองโดยต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายรอบเพราะเมื่อ ยธ.ออกระเบียบกลางมา ตร.ก็ต้องออกคำสั่งตามเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบกลางของ ยธ.

ทั้งนี้พ.ต.อ.วีร์พลกล่าวว่าในเรื่องของการแจ้งหลังจับกุมยังคงมีปัญหาเรื่องระบบการแจ้งที่หน่วยงานที่ต้องรับแจ้งอย่างฝ่ายปกครองและอัยการใช้ระบบแตกต่างกัน ที่ฝ่ายปกครองมีระบบหน้าเว็บไว้รับแจ้งที่เรียกว่า Arrest DOPA แต่ของอัยการยังให้ใช้วิธีส่งอีเมล์อยู่

นรีลักษณ์ตอบเสริมในเรื่องระยะเวลาการเก็บไฟล์วิดีโอและเสียงว่าถ้าเป็นการจับกุมควบคุมตัวที่ไม่ได้มีเรื่องที่น่าสงสัยเลยก็จะเก็บไว้ 180 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีมีการร้องเรียนก็จะเก็บไว้ 2 ปี และหากเป็นคดีความก็จะเก็บไว้จนกว่าจะสิ้นสุดคดีความ

รัฐวิช จิตสุจรติวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนการสอบสวนคดีอาญา กรมการปกครอง กล่าวว่าฝ่ายปกครองถือเป็นหน่วยงานที่ต้องใช้กฎหมายนี้เยอะที่สุดเกือบทุกมาตราเพราะเป็นทั้งผู้จับกุมและยังเป็นผู้รับแจ้งการจับกุมด้วย ทางกรมการปกครองจึงมีการเตรียมความพร้อมและให้ความสำคัญเป็นเรื่องแรกๆ ของหน่วยในฝ่ายปกครองตลอดปี 2566

ตัวแทนจากฝ่ายปกครองกล่าวว่าทางกรมเองจัดตั้งศูนย์รับแจ้งทั่วประเทศ 879 หน่วยตามอำเภอต่างๆ และหน่วยกลางที่นางเลิ้งเพื่อรับแจ้งการจับกุมร่วมไปถึงรับเรื่องร้องเรียนด้วย และทางกรมการปกครองได้ทำระบบเว็บไซต์เพื่อรับแจ้งการจับกุมจากทุกหน่วยงานที่มีอำนาจจับกุมในชื่อ Arrest DOPA ซึ่งศูนย์รับแจ้งจะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง ปีที่ผ่านมาได้รับแจ้งการจับกุมกว่า 2 แสนกรณี แต่มีเรื่องเรียนเข้ามา 16 เรื่องมีการดำเนินการแล้วบางส่วน และมีบางเรื่องที่ยุติไปแล้วเนื่องจากไม่ตรงกับข้อกฎหมาย

อังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่าหลังจากกฎหมายออกมาทางหน่วยงานก็ต้องกลับมาทบทวนรูปแบบการทำงานทั้งการให้ความรู้และศึกษากฎหมายฉบับนี้ และจัดหาอุปกรณ์แต่ก็ทำได้ง่ายกว่า ตร.เพราะมีเจ้าหน้าที่ไม่เยอะมากนัก และทางกรมเองก็เข้ามารับเรื่องร้องเรียนตรวจสอบด้วยแม้ว่าจะไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับแจ้งการจับกุมอย่างฝ่ายปกครองและอัยการ ซึ่งตอนนี้ทางกรมรับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว 11 กรณีตั้งแต่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ 1 ใน 11 คดีนี้มีคดีของลุงเปี๊ยกที่เป็นกรณีถูกจับกุมเพราะตกเป็นต้องสงสัยทำร้ายป้ากบเสียชีวิตด้วย

ตัวแทนจาก DSI ยกกรณีการทำงานในกรณีของลุงเปี๊ยกว่า เนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานภายใต้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ ที่ยังเป็นกฎหมายใหม่มีการตีความหลากหลาย DSI จึงมีหนังสือไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและกรมการปกครองเพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมทำงานในคดีลุงเปี๊ยกด้วยเพื่อช่วยกันตีความกฎมหายและข้อเท็จจริง ซึ่งเขามีความคาดหวังว่าการทำงานตรงนี้จะทำให้เกิดการตีความตรงกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

อย่างไรก็ตาม อังศุเกติ์ก็มองว่า กฎหมายนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องระมัดระวังในการทำงานมากขึ้น แต่ก็ทำให้เจ้าหน้าที่เองใช้ในการป้องกันตัวเองเมื่อต้องมีการยืนยันข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่และการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่เองด้วย

สุริยนต์ ประภาสะวัต อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่าพอกฎหมายออกมาใช้ทางฝั่งอัยการก็มองเห็นแล้วว่างานตามกฎหมายใกล้เคียงกับงานของสำนักงานการสอบสวนที่สุด แต่ก็ยังถือว่าเป็นงานใหม่จึงมีการเตรียมการ ทั้งเรื่องภาพที่จะต้องส่งเข้ามาในฐานะที่อัยการเป็นผู้รับแจ้งก็มีการเขียนระบบขึ้นมาให้สามารถใส่วิดีโอเข้ามาในคลาวด์ได้ แล้วอัยการเองเมื่อรับแจ้งเข้ามาแล้วก็ยังมีงานส่วนอื่นอีกเพราะหากเป็นการซ้อมทรมานอัยการก็ต้องเป็นผู้ดำเนินคดีจึงต้องมีการพิสูจน์ว่ากรณีที่เข้ามาในระบบเป็นซ้อมทรมานหรือไม่

นอกจากนั้นทางฝั่งอัยการเองก็มีการออกระเบียบมาใช้ แต่เมื่อคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตามกฎหมายออกระเบียบต่างๆ มา ช่วงแรกระเบียบที่ออกมาอาจจะขัดกันบ้างกับของอัยการก็ต้องมาปรับเข้าหากันกัน เช่น ระเบียบกลางอาจจะบอกว่าผู้จับกุมไม่ต้องส่งวิดีโอส่งเฉพาะรูปภาพให้อัยการแต่ระเบียบของอัยการบอกให้ส่ง ซึ่งก็มีคำถามว่าถ้าผู้จับกุมไม่ส่งให้แล้วอัยการจะดูรายละเอียดจากอะไร

นอกจากนั้นยังเจอปัญหาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ในกรณีอุ้มหายที่กฎหมายเขียนไว้ว่าต้องทำการสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะพบผู้ที่หายไปแล้วคดีไม่มีอายุความ แต่ไทยก็ติดกับดักตัวชี้วัด เช่น กรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่คณะกรรมการป้องกันซ้อมทรมานฯ ให้อัยการสูงสุดเป็นคนหาข้อเท็จจริง กรณีวันเฉลิมก็เป็นกรณีหนึ่งที่ไปติดกับดักตัวชี้วัดแล้วยังไปติดเรื่องขอเอกสารจากต่างประเทศด้วย  ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ค้นหาเลยจริงๆ ก็คืออัยการแต่ก็มีเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนได้มีไม่เยอะ ซึ่งนิติกรและเจ้าพนักงานตามคดีทำไม่ได้ทำได้แค่ช่วยอัยการ และยังติดปัญหาในการขอเอกสารข้อมูลจากต่างประเทศด้วยถ้าสุดท้ายแล้วประเทศปลายทางไม่ให้ความร่วมมือก็จะทำให้คดีจบไม่ลง

สุริยนต์กล่าวต่อว่าเมื่อปฏิบัติงานตามกฎหมายมาได้แล้วหนึ่งปีก็ต้องเก็บข้อบกพร่องปัญหาที่เกิดขึ้นมาใช้วิเคราะห์ต่อ ซึ่งพ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ ก็เปิดไว้ให้เสนอแก้กฎหมายได้ ด้วย และข้อมูลวิดีโอต่างๆ ก็ต้องเอามาใช้ประกอบในคดีด้วยไม่ใช่เก็บกันไว้เฉยๆ

ตัวแทนจากอัยการกล่าวถึงอุปสรรคในการปฏิบัติงานตามกฎหมายด้วยว่า มีทั้งเรื่องกำลังคนและเรื่องแนวคิดวิธีการที่ไม่ตรงกัน เช่น คนที่ไปดูงานที่สหรัฐฯ มาก็บอกว่าวิดีโอที่ถ่ายมาแล้วก็แค่โยนเข้าคลาวด์เอาไว้ไม่ต้องมีคนมารอรับแจ้งตลอด 24 ชั่วโมง แต่ของร่างกฎหมายของไทยก็กำหนดไว้ว่าต้องมีคนรอรับแจ้งตลอดเวลาก็ต่างกัน ทั้งที่อนุสัญญาก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องใช้กลไกอะไรหรือจะต้องมีการแจ้งฝ่ายปกครองแจ้งอัยการหลังจับกุม แค่ระบุว่าป้องกันไม่ให้มีคนถูกอุ้มหายไม่มีคนถูกซ้อมทรมาน แต่อัยการก็มีระบบรับแจ้ง 24 ชั่วโมงด้วยโดยระบบหลักคือให้ส่งเป็นอีเมลและมีระบบสำรองเป็นกลุ่มไลน์

สุริยนต์กล่าวว่าสำหรับเรื่องรับแจ้งการจับกุมนี้ เขาเห็นว่าอยากปรับให้ใช้ระบบเดียวกันไปเลยคือ Arrest DOPA  ของกรมการปกครองเลย แต่ก็ยังต้องไปตามดูว่าที่เสนอไปจะออกมาเป็นอย่างไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net