Skip to main content
sharethis

‘การเมือง’ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันวงการฟุตบอลไทยเฟื่องฟู โดยเฉพาะการรัฐประหาร ยุบพรรค และตัดสิทธิฯ ในปี 2550 และ 2551 ทำให้นักการเมืองติดโทษแบนจำนวนหนึ่งหันมาสร้างฐานสนับสนุนทางการเมืองผ่านกีฬาฟุตบอล และเมื่อฟุตบอลไทยลีกบูม เราจึงเห็นภาพนักการเมืองและเครือญาติเข้ามาทำสโมสรฟุตบอล ข้อมูลปี 2566 มีผู้บริหารสโมสรฟุตบอลที่ใกล้ชิดเครือญาตินักการเมือง พรรคการเมืองมากกว่า 16 ทีม ขณะเดียวกันยังมีข้อสังเกตเรื่องการทุ่มทุนอุดหนุนสโมสรฟุตบอล ทั้งจากกลุ่มทุนการเมือง รวมไปถึงผู้มีฐานะดีที่มีความคลุมเครือเรื่องธุรกิจ ที่มีเคสถูกดำเนินคดีเพราะเกี่ยวพันกับธุรกิจสีเทา

รายงานตอนที่ 2 จาก 4 ตอน ของรายงานชุดพิเศษ “ฟุตบอลไทย: จาก ‘กีฬา’ สู่ “การเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น” ภายใต้โครงการสื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น [ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ] สำรวจฐานะและบทบาทของธุรกิจ การเมือง และ ความไม่โปร่งใสในวงการฟุตบอล

‘การเมือง’ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันวงการฟุตบอลไทยเฟื่องฟูขึ้นมากว่าในอดีตอย่างมาก โดยเฉพาะจากการรัฐประหารในปี 2549 ที่นำไปสู่การตัดสิทธิทางการเมืองนักการเมืองระดับชาติ 2 กรณีได้แก่กรณีกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ตามคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 และกรณีกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน, พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ตามคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมืองเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ทำให้นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเหล่านี้จำนวนหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงวิธีการสร้างฐานหรือหากิจกรรมที่ส่งเสริมอำนาจทางการเมืองให้กับกลุ่มของตนเองในระดับจังหวัดผ่านกีฬาฟุตบอล 

เนื่องจากกระแสความนิยมของกีฬาฟุตบอลในระดับจังหวัดได้รับความนิยมมากขึ้น นักการเมืองเหล่านี้ทยอยเข้ามามีบทบาทในวงการฟุตบอลตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2550 เป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ข้อมูล ณ ปี 2556 พบว่ามีนักการเมืองหรือเครือญาติซึ่งเป็นประธานสโมสรฟุตบอลในระดับไทยพรีเมียร์ลีกและลีกวันถึง 20 ทีม จากทั้งหมด 36 ทีม

สำหรับรูปแบบแรกเริ่มที่นักการเมืองเข้ามามีบทบาทในวงการฟุตบอล ได้แก่ การซื้อทีมสโมสรรัฐวิสาหกิจ ความชื่นชอบส่วนตัวของผู้บริหาร การสร้างความร่วมมือกับผู้สนับสนุนหลัก การเชิญนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นมาเป็นประธานสโมสร รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับผู้บริหารราชการในจังหวัด เป็นต้น

สำหรับตัวอย่างของสโมสรฟุตบอลที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองที่เห็นเด่นชัดช่วงทศวรรษ 2550 ได้แก่ ชลบุรี เอฟซี (กลุ่มการเมืองตระกูลคุณปลื้ม), พัทยา ยูไนเต็ด (กลุ่มการเมืองตระกูลคุณปลื้ม), เมืองทอง ยูไนเต็ด (ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนสยามสปอร์ต/กลุ่มเนสกาแฟของครอบครัวมหากิจศิริ ในขณะนั้นมีสายสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย), ศรีสะเกษ เอฟซี (กลุ่มการเมืองของสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พรรคเพื่อไทย), เชียงราย ยูไนเต็ด (กลุ่มการเมืองตระกูลติยะไพรัช พรรคเพื่อไทย), บางกอก ยูไนเต็ด (ประธานสโมสรคืออภิรักษ์ โกษะโยธิน พรรคประชาธิปัตย์) สงขลา ยูไนเต็ด (กลุ่มการเมืองตระกูลบุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์), สุพรรณบุรี เอฟซี (กลุ่มการเมืองตระกูลศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา), ชัยนาท เอฟซี (กลุ่มการเมืองตระกูลนาคาศัย ขณะนั้นกำลังเจรจากับพรรคภูมิใจไทย) และบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด (กลุ่มการเมืองของนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำเบื้องหลังพรรคภูมิใจไทย) เป็นต้น

กรณีของ‘เนวิน ชิดชอบ’ นับเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจและถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง หลังจากเขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เมื่อปี 2550 เนวินไม่ได้ทิ้งการเมืองไปเสียเลยทีเดียว แต่ยังคงเป็นผู้นำกลุ่มเพื่อนเนวินที่มี สส.ในกลุ่มอยู่ราว 30 คน มีบทบาทอย่างสูงในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ต่อมาเนวินเป็นแกนนำ (เบื้องหลัง) คนสำคัญของ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ สส. เดิมของพรรคมัชฌิมาธิปไตย และกลุ่มเพื่อนเนวิน พรรคพลังประชาชน ซึ่งถูกตัดสินยุบพรรค เข้าสังกัดและร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2551

อีกด้านหนึ่งที่เนวินทำคู่ขนานกันไป ก็คือการเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการฟุตบอล ในช่วงฤดูกาล 2552 เนวินต้องการซื้อหุ้นทีมฟุตบอลในไทยพรีเมียร์ลีกให้ย้ายไปเล่นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ความพยายามแรก ๆ ได้เจรจากับสโมสรฟุตบอลตำรวจ, สโมสรฟุตบอลทีโอที และสโมสรฟุตบอลทหารบก ตามลำดับ แต่ตกลงกันไม่ได้ ในที่สุดเนวินได้ซื้อหุ้นบางส่วนของสโมสรฟุตบอลการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และย้ายสนามแข่งจากจังหวัดอยุธยาไปอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากนั้นทางสโมสรได้เปลี่ยนแปลงชื่อทีมเป็น 'บุรีรัมย์ พีอีเอ'

ต่อมาในปี 2555 เนวินได้ซื้อหุ้นสโมสรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีก 30% มาบริหารจัดการเองทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น 'บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด' ทั้งนี้ตั้งแต่ช่วงฤดูกาล 2552-2565/66 บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สามารถคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของไทยได้ถึง 8 ครั้ง อาจจะกล่าวได้ว่าแม้จะมีนักการเมืองคนอื่น ๆ ก้าวเข้ามาในวงการฟุตบอลก่อนหน้าเขาหลายคน แต่เนวินถือเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงและประสบความสำเร็จในวงการฟุตบอลไทยมากที่สุด

ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ รายได้ด้านหลักของสโมสรฟุตบอลไทยโดยรวมมาจากผู้สนับสนุน หรือ 'สปอนเซอร์' ซึ่งก็มักขึ้นอยู่กับ 'ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล' (connection) ระหว่างคนทำทีมกับสปอนเซอร์เป็นสำคัญ ซึ่งการที่มีตำแหน่งแห่งหนและเครือข่ายทางการเมืองอยู่ด้วยย่อมเกื้อหนุนต่อการหาผู้ที่จะเข้ามาสนับสนุนสโมสรได้โดยง่าย นักการเมืองหลายคนที่หันมาทำทีมฟุตบอลก็ยอมรับในทำนองนี้ สำหรับกรณีเนวิน รูปธรรมที่ตอกย้ำได้ดีคือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สามารถก่อสร้างสนามฟุตบอลขนานแท้เพื่อเป็นสนามเหย้าชนิดสวยงามและทันสมัยที่สุดของประเทศ ได้สำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็วไม่ถึงปี โดยในแต่ละปีบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีผู้สนับสนุนและมีรายได้จำนวนมากเมื่อเทียบกับทีมอื่น ๆ ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าพรรคภูมิใจไทยของเนวินมักจะอยู่ฝ่ายรัฐบาลมาตลอดจนถึงการเลือกตั้งปี 2566

“ฟุตบอลไทย” จากกีฬาสู่การเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น (1) ทำไมทีมฟุตบอลไทยส่วนใหญ่จึงขาดทุน?, 13 ก.พ. 2567

เคว้งคว้างอยู่กลางเมืองใหญ่ด้วยสถานะของ ‘คนไร้บ้าน’, 10 ก.พ. 2567

สภาเด็กและเยาวชน? อะไร อย่างไร ทำไมไม่รู้ [ส่งเสริมวิถีประชาธิปไตยด้วยนะ รู้ยัง], 10 ก.พ. 2567

แม่ญิงสิเล่นการเมือง: ข้ามพ้นมายาคติทางเพศเพื่อสร้างพื้นที่ของผู้หญิงในภาคเหนือ, 27 ธ.ค. 2566

นักการเมืองลงหลักปักฐานในวงการฟุตบอล

ล่วงมาถึงทศวรรษ 2560 การเมืองก็ยังไม่ได้ออกไปจากฟุตบอลไทย หนำซ้ำอาจจะเรียกได้ว่าลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง โดยก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 สื่อกีฬาอย่าง Main Stand ได้ทำการสำรวจ 122 สโมสรในไทยลีกทั้ง 4 ดิวิชั่น พบว่ามีถึง 48 สโมสรที่มีผู้บริหารทีมเป็นคนจากภาคการเมือง (รวมถึงคนที่ให้การสนับสนุน) คิดเป็นสัดส่วน 39% จากสโมสรทั้งหมด โดยเมื่อจำแนกออกมาพบว่า 'นักการเมืองท้องถิ่น' เป็นกลุ่มคนการเมืองที่มีสัดส่วนเป็นผู้บริหารสโมสรฟุตบอลมากสุด ถึง 26 ทีม คิดเป็นสัดส่วน 21.3% ซึ่งก็มีตั้งแต่ นายก องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ), อดีต สมาชิกสภาจังหวัด (สจ.), สมาชิกวุฒิสภา (สว.) สมาชิก อบจ. องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และ นายกเทศมนตรี เป็นต้น

ตารางที่ 1. ตัวอย่างสโมสรฟุตบอลและความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองในปี 2562

ทีม

ความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมือง

ข้อสังเกต

ชลบุรี เอฟซี

กลุ่มการเมืองตระกูลคุณปลื้ม/พรรคพลังประชารัฐ

วิทยา คุณปลื้ม (ประธานสโมสร) กลุ่มการเมืองตระกูลคุณปลื้ม ในขณะนั้นมีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐ

สุโขทัย เอฟซี

พรรคพลังประชารัฐ

สมศักดิ์ เทพสุทิน (ประธานที่ปรึกษาสโมสร) ในขณะนั้นสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

ชัยนาท ฮอร์นบิล

พรรคพลังประชารัฐ

อนุชา นาคาศัย (ประธานสโมสร) ในขณะนั้นสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

ราชบุรี มิตรผล

พรรคพลังประชารัฐ

บุญยิ่ง นิติกาญจนา (ประธานสโมสร) สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

กาฬสินธุ์ เอฟซี

พรรคพลังประชารัฐ

ชานุวัฒน์ วรามิตร (ประธานสโมสร) สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

สมุทรปราการ ซิตี้

พรรคพลังประชารัฐ

ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม (ประธานสโมสร) กลุ่มการเมืองพรรคพลังประชารัฐ

ขอนแก่น ยูไนเต็ด

พรรคพลังประชารัฐ

วัฒนา ช่างเหลา (ประธานสโมสร) ในขณะนั้นสังกัดพรรคภูมิใจไทย

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

พรรคภูมิใจไทย

เนวิน ชิดชอบ (ประธานสโมสร) กลุ่มการเมืองพรรคภูมิใจไทย

ลำปาง เอฟซี

พรรคภูมิใจไทย

บริพัฒน์ สมมี (ประธานสโมสร) สังกัดพรรคภูมิใจไทย

อ่างทอง เอฟซี

พรรคภูมิใจไทย

ภราดร ปริศนานันทกุล (ผู้จัดการทีม) สังกัดพรรคภูมิใจไทย

สุรินทร์ ซิตี้

พรรคภูมิใจไทย

ปกรณ์ มุ่งเจริญพร (ผู้บริหารทีม) สังกัดพรรคภูมิใจไทย

ศรีสะเกษ เอฟซี

พรรคเพื่อไทย

ธเนศ เครือรัตน์ (ประธานสโมสร) สังกัดพรรคเพื่อไทย

ลำพูน วอริเออร์

พรรคเพื่อไทย

อนุสรณ์ วงศ์วรรณ (ผู้บริหารทีม) สังกัดพรรคเพื่อไทย

อยุธยา เอฟซี

พรรคเพื่อไทย

วิทยา บุรณศิริ (ประธานสโมสร) สังกัดพรรคเพื่อไทย

สุพรรณบุรี เอฟซี

พรรคชาติไทยพัฒนา

วราวุธ ศิลปอาชา (ประธานสโมสร) สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา

นครปฐม ยูไนเต็ด

พรรคชาติไทยพัฒนา

ภานุวัฒน์ สะสมทรัพย์ (ผู้จัดการทีม) สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา

นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี

พรรคชาติพัฒนา

เทวัญ ลิมปพัลลภ (อดีตประธานสโมสร) สังกัดพรรคชาติพัฒนา

สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด

พรรคไทยรักษาชาติ

มิตติ ติยะไพรัช (ประธานสโมสร) เลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ

ที่มา: รวบรวมโดย The Glocal – ท้องถิ่นเคลื่อนโลก

 

ในการเลือกตั้งปี 2566 Main Stand ทำการสำรวจข้อมูลหลังเลือกตั้ง พบว่ามีบุคลากรในวงการฟุตบอลที่เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารของแต่ละสโมสรทั้งในระดับไทยลีกสูงสุดไปจนถึงลีกรอง ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อย่างน้อย 11 คน ในจำนวนนี้เป็น สส. จากพรรคภูมิใจไทย 4 คน เพื่อไทย 3 คน (บัญชีรายชื่อ 1 คน) พลังประชารัฐ 2 คน ก้าวไกล 1 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คน

ในปี 2566 ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งการย้ายพรรคหรือการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง พบว่าปรากฏการณ์นี้ก็อาจส่งผลต่อวงการฟุตบอลด้วยเช่นกัน โดยในปี 2566 นักการเมืองเครือข่ายของพรรคภูมิใจไทย เข้ามามีบทบาทในวงการฟุตบอลแทนที่พรรคพลังประชารัฐในปี 2562 อย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดที่น่าสนใจกรณีหนึ่ง คือกรณีการเปลี่ยนแปลงสีประจำสโมสรรวมถึงสีเสื้อแข่งขันของสุโขทัย เอฟซี ในฤดูกาล 2566/67 ที่เปลี่ยนจาก 'สีส้ม' มาเป็น 'สีแดง' โดยให้เหตุผลว่าเป็นสีประจำจังหวัดสุโขทัย แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นการเปลี่ยนสีให้สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทย ที่สมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานที่ปรึกษาของสโมสร ได้กลับมาสังกัดพรรคนี้อีกครั้ง

ตารางที่ 2. ตัวอย่างสโมสรฟุตบอลและความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองในปี 2566

ทีม

ความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมือง

ข้อสังเกต

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

พรรคภูมิใจไทย

เนวิน ชิดชอบ (ประธานสโมสร) กลุ่มการเมืองพรรคภูมิใจไทย

อุทัยธานี เอฟซี

พรรคภูมิใจไทย

ชาดา ไทยเศรษฐ์ (ประธานสโมสร) สังกัดพรรคภูมิใจไทย

ขอนแก่น ยูไนเต็ด

พรรคภูมิใจไทย

วัฒนา ช่างเหลา (ประธานสโมสร) สังกัดพรรคภูมิใจไทย

อ่างทอง เอฟซี

พรรคภูมิใจไทย

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล (ประธานสโมสร) สังกัดพรรคภูมิใจไทย

สโมสรฟุตบอลอยุธยา ยูไนเต็ด

พรรคภูมิใจไทย

พิมพฤดา ตันจรารักษ์ (ผู้จัดการทีม) สังกัดพรรคภูมิใจไทย

กระบี่ เอฟซี

พรรคภูมิใจไทย

กิตติ กิตติธรกุล (ผู้จัดการทีม) สังกัดพรรคภูมิใจไทย

ชลบุรี เอฟซี

กลุ่มการเมืองตระกูลคุณปลื้ม/พรรคเพื่อไทย

วิทยา คุณปลื้ม (ประธานสโมสร) กลุ่มการเมืองตระกูลคุณปลื้ม มีบทบาทในพรรคเพื่อไทย

สุโขทัย เอฟซี

พรรคเพื่อไทย

สมศักดิ์ เทพสุทิน (ประธานที่ปรึกษาสโมสร) สังกัดพรรคเพื่อไทย

ศรีสะเกษ ยูไนเต็ด

พรรคเพื่อไทย

ธเนศ เครือรัตน์ (ที่ปรึกษาสโมสร) สังกัดพรรคเพื่อไทย

เชียงใหม่ ยูไนเต็ด

พรรคเพื่อไทย

ศรีโสภา โกฏคำลือ (ผู้จัดการทีม) สังกัดพรรคเพื่อไทย

ราชบุรี มิตผล เอฟซี

พรรคพลังประชารัฐ

บุญยิ่ง นิติกาญจนา (ที่ปรึกษาสโมสรและมารดาของประธานสโมสร) สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

นครศรี ยูไนเต็ด

พรรคพลังประชารัฐ

ชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว (อดีตประธานสโมสร) สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

นครปฐม ยูไนเต็ด

พรรคชาติไทยพัฒนา

พาณุวัฒน์ สะสมทรัพย์ (ผู้บริหารสโมสร) สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา

ชัยนาท ฮอร์นบิล

กลุ่มการเมืองตระกูลนาคาศัย/พรรครวมไทยสร้างชาติ

จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา (ประธานสโมสร) เป็นตัวแทนของอนุชา นาคาศัย ทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่หลายครั้ง ทั้งนี้ในปี 2566 อนุชาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ

นครราชสีมา มาสด้า

พรรคชาติพัฒนากล้า

วัชรพล โตมรศักดิ์ (ประธานสโมสร) สังกัดพรรคชาติพัฒนากล้า

สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด

พรรคเพื่อชาติ

วิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช (อดีตประธานสโมสร) ลาออกไปเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ

ที่มา: รวบรวมโดย The Glocal – ท้องถิ่นเคลื่อนโลก

ดังที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันธุรกิจสโมสรฟุตบอลไทยส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับการขาดทุน จึงเกิดคำถามที่ว่าทำไมนักการเมืองอันเป็นกลุ่มผู้ลงทุนสำคัญ ถึงยอมขาดทุนกับธุรกิจนี้ ซึ่งนักวิชาการได้ให้คำตอบไว้แล้วบ้าง เช่นในงานศึกษา 'เศรษฐกิจการเมืองของฟุตบอลไทยลีก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 – 2561' (ลัขณานันท์ ลักษมีธนานันต์, วารสารการวิจัยการบริหารการพัฒนา ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (2020): เมษายน-มิถุนายน 2563) ที่ทำการศึกษาสโมสรฟุตบอลที่มีนักการเมืองและเครือญาตินักการเมืองเป็นประธานสโมสรฟุตบอล 10 สโมสร ที่มีปัญหาภาวะขาดทุนสุทธิอย่างต่อเนื่อง พบว่าแม้จะเผชิญกับภาวะขาดทุนแต่การมีทีมฟุตบอลสำหรับนักการเมืองนั้นสะท้อนถึงอรรถประโยชน์ในด้านอื่นที่มากกว่าการมุ่งหวังเพียงผลสัมฤทธิ์ทางด้านธุรกิจ เพราะฟุตบอลถือเป็นประเภทกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นของประเทศไทย การบริหารจัดการกีฬาฟุตบอลผ่านสโมสรฟุตบอลอาชีพจึงถือเป็นอีกสถาบันหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจและความสนใจให้แก่ผู้คน ทำให้เกิดกระบวนความคิดเชิงศูนย์รวมจิตใจของคนท้องถิ่น เกิดกระแสท้องถิ่นนิยม การมีส่วนร่วมที่เข้าถึงได้ และส่งผลที่สำคัญคือ ความศรัทธาที่มีต่อนักการเมืองและเครือญาตินักการเมืองที่เป็นประธานสโมสรฟุตบอลอย่างยั่งยืน

สอดคล้องกับผลการศึกษาเรื่อง 'ฟุตบอลไทย ประวัติศาสตร์ อำนาจ การเมือง และความเป็นชาย' (วสันต์ ปัญญาแก้ว และคณะ, ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน, พฤษภาคม 2557) ที่ได้สรุปว่าสโมสรฟุตบอลส่วนใหญ่ของประเทศไทยถูกผูกขาดความเป็นเจ้าของโดยนักการเมือง แตกต่างจากบริบทของประเทศอื่น ๆ ซึ่งฟุตบอลเป็นธุรกิจเต็มตัว นักการเมืองไทยใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือสร้างความนิยมเชิงตัวบุคคลเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองและรักษามันเอาไว้

‘ทุนสีเทา-การฟอกเงิน’ ในวงการฟุตบอล

เมื่อเป็นธุรกิจแล้วความเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้มีงานศึกษาชี้ว่าวงการฟุตบอล มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินของอาชญากร มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมากมายหลายรูปแบบ โดย 'คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน' (Financial Action Task Force หรือ FATF) เคยทำการศึกษาและจัดทำรายงาน ‘FATF Report on Money Laundering through the Football sector’ ได้สรุปตัวอย่างการฟอกเงินผ่านวงการฟุตบอลไว้ดังนี้

1. ใช้ช่องทางโครงสร้างธุรกิจฟุตบอลในการฟอกเงิน เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้ง่าย จะเห็นได้จากผู้เกี่ยวข้องกับทีมฟุตบอลมักจะมาจากทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะแฟนบอล หุ้นส่วนทีม บริษัทเอกชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ลักษณะการเข้าถึงได้ง่ายนี้ ได้เปิดโอกาสให้อาชญากรร่วมกันกระทำความผิด ด้วยการแอบแฝงมากับบุคคลจากหลายฝ่าย เช่น ผู้บริหารทีม ผู้สนับสนุนทีม และนายหน้านักฟุตบอล เป็นต้น ลักษณะความสัมพันธ์และผลประโยชน์ร่วมกันเหล่านี้มักจะมีความซับซ้อนคลุมเคลือเข้าถึงยาก เป็นช่องทางที่เอื้อต่อการปกปิดการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟอกเงิน

2. ใช้ช่องทางระบบการเงินของธุรกิจฟุตบอลในการฟอกเงิน ธุรกิจฟุตบอลนั้นเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของเงินสดและผลประโยชน์ทางการเงินเป็นจำนวนมาก การไหลเวียนของเงินมักอยู่เหนือการควบคุมของหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้การซื้อขายนักฟุตบอลที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็ยังเป็นช่องทางฟอกเงินของอาชญากรได้เป็นอย่างดี แม้ว่าธุรกิจกีฬาฟุตบอลจะเจริญเติบโตขึ้นในภาพรวม แต่สโมสรฟุตบอลหลายทีมก็มีสถานะการเงินที่ติดลบ ความเปราะบางทางด้านการเงินนี้ก่อให้เกิดการยอมรับเงินสนับสนุนจากกลุ่มอาชญากรหรือการนำเงินผิดกฎหมายมาลงทุนกับสโมสรฟุตบอล

3. ใช้ช่องทางวัฒนธรรมกีฬาฟุตบอลในการฟอกเงิน กีฬาฟุตบอลมักมีบทบาทเชิงบวกในสังคม ผู้คนมักปกป้องกีฬาชนิดนี้ว่ามีความขาวสะอาด สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน และเป็นกีฬาของมหาชน อาชญากรที่ต้องการแสวงหาสถานะที่ดี จึงมักใช้ธุรกิจกีฬาฟุตบอลในการฟอกขาวตนเอง ในต่างประเทศอาชญากรที่นำเงินมาลงทุนในสโมสรฟุตบอลจะได้รับการขนานนามว่าเป็น 'ผู้อุปถัมภ์' (Sugar Daddy) และได้รับการยกย่องสรรเสริญ โดยผู้คนไม่สนใจว่าเงินที่นำมาลงทุนนั้นจะมาจากแหล่งใด ต้องการเพียงแค่ให้สโมสรฟุตบอลที่ตนเองเชียร์มีเงินสนับสนุน นอกจากนี้สโมสรฟุตบอลมักมีความเกี่ยวพันกับชุมชนท้องถิ่นอย่างเหนียวแน่น การเข้ามาลงทุนในสโมสรฟุตบอลจะทำให้องค์กรอาชญากรรมสามารถเข้าถึงและควบคุมกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ง่าย รวมถึงการก้าวเข้าสู่อำนาจทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ

‘ความไม่ปกติ’ ในวงการฟุตบอลไทย

สำหรับวงการฟุตบอลไทย บ่อยครั้งมีการตั้งข้อสังเกตการนำเงินมาอุดหนุนสโมสรฟุตบอล โดยเฉพาะนายทุนที่เป็นนักการเมือง ผู้มีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มการเมือง หรือผู้มีฐานะดีที่มีความคลุมเครือว่าทำธุรกิจอะไรอยู่เบื้องหลังกันแน่

มีงานศึกษา 'การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในธุรกิจกีฬาฟุตบอล' (ภูมิเกียรติ วรรณแก้ว, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555) ที่เคยสำรวจความเห็นของสโมสรฟุตบอลเกี่ยวกับรายได้ ซึ่งแต่ละสโมสรยอมรับว่าลำพังรายรับไม่พอกับรายจ่าย งานศึกษาชิ้นนี้ได้ชี้ถึงสิ่งบอกเหตุที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ปกติของสโมสรฟุตบอลไทยไว้ดังนี้

1. เจ้าของสโมสรฟุตบอลส่วนใหญ่จะมาจากนักธุรกิจ นายทุน และนักการเมืองซึ่งบุคคลเหล่านี้บางส่วนมักมีเงินได้ที่ไม่ต้องการเปิดเผย ดังนั้น การหลีกเลี่ยงในการเปิดเผย หรือรายงานธุรกรรมทางการเงินจึงเกิดขึ้นเสมอ 

2. ช่วงแรกเริ่มการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นฟุตบอลอาชีพเต็มตัวนั้น แต่เดิมยังไม่มีกฎระเบียบให้สโมสรกีฬาฟุตบอลเป็นนิติบุคคลเพื่อแสวงหากำไร ดังนั้นสโมสรฟุตบอลส่วนมากในต่างจังหวัดจึงได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากองค์กรบริหารส่วนจังหวัด ต่อมาเมื่อมีกฎระเบียบกำหนดให้สโมสรฟุตบอลทุกทีมต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อแสวงหากำไรซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้สโมสรฟุตบอลดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องการให้สโมสรฟุตบอลพึ่งพาเงินจากภาครัฐ แต่เท่าที่ปรากฏจะมีการตั้งบริษัทขึ้นแต่เพียงในนามโดยมีการแอบแฝงเอาเงินสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอยู่

3. การรายงานผลประกอบการของแต่ละสโมสรให้กับบริษัท ไทยลีก จำกัด ล้วนแล้วแต่ปรากฏว่าขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดคำถามว่าเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ทำไมแต่ละสโมสรยังคงดำเนินการอยู่ได้ กรณีนี้เป็นสิ่งบอกเหตุที่แสดงให้เห็นว่าจะต้องมีเงินสนับสนุนที่ไม่อาจเปิดเผยได้เกิดขึ้น

4. มีการปกปิดเงินได้จากผู้สนับสนุนซึ่งเป็นรายได้หลักในการดำเนินธุรกิจชนิดนี้ โดยแต่ละสโมสรเปิดเผยเพียงตัวเลขรายได้ประมาณการซึ่งไม่มีการแจกแจงที่มาและที่ไปอย่างชัดแจ้ง

และ 5. การตรวจสอบของบริษัท ไทยลีก จำกัด เป็นการตรวจสอบที่ไม่เคร่งครัดแต่อย่างใดคงมีลักษณะการตรวจสอบแบบขอไปทีเท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเงินที่ไม่ถูกต้องได้

จากการรวบรวมข้อมูลโดย The Glocal ในช่วงระหว่างปี 2565-2566 พบกรณีการดำเนินคดีที่มีความเชื่อมโยงกับวงการฟุตบอลที่น่าสนใจดังนี้

ตารางที่ 3. ตัวอย่างการดำเนินคดีที่มีความเชื่อมโยงกับวงการฟุตบอลที่น่าสนใจช่วงปี 2565-2566

กรณี ‘ชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว’ ประธานสโมสรฟุตบอลนครศรี ยูไนเต็ด

กุมภาพันธ์ 2565 ตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT จับกุมชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว หรือเสี่ยกฤต ประธานสโมสรฟุตบอลนครศรี ยูไนเต็ด โดยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับเครือข่ายพนันออนไลน์ ที่ตำรวจ PCT เข้าตรวจค้น 8 เป้าหมาย ทลายเว็บพนันชื่อ Gimi88 ที่ ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งสิ้น 46 ราย เงินหมุนเวียนกว่าพันล้านบาท ต่อมาชนนพัฒฐ์ได้รับการประกันตัววงเงินประกัน 100,000 บาท

อนึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2566 ที่ผ่านมา ชนนพัฒฐ์ ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. จังหวัดสงขลา เขต 4

กรณีบริษัท มังกรฟ้า ล็อตเตอรี่ จำกัด ผู้สนับสนุนหลักฟุตบอลไทยลีก 3 “มังกรฟ้าลีก” ในฤดูกาล 2564-65

มีนาคม 2565 มีการนำหมายศาลเข้าตรวจค้นบริษัท มังกรฟ้า ล็อตเตอรี่ จำกัด เบื้องต้น ตำรวจและสำนักงานสลากฯ แจ้งเอาผิดเรื่องการจำหน่ายสลากเกินราคาตั้งแต่ 90 – 105 บาท, การปิดบังบาร์โค้ดของสำนักงานสลากฯ, การเปิดเว็บการพนันหลอกลวงช่อโกง, การขายซ้ำหรือไม่ และตรวจสอบเรื่องของการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ถูกต้องหรือไม่

สำหรับความเกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลไทยนั้น บริษัท มังกรฟ้า ล็อตเตอรี่ จำกัดเป็นผู้สนับสนุนหลักฟุตบอลไทยลีก 3 ในชื่อ “มังกรฟ้าลีก” ในฤดูกาล 2564-65

กรณีกองสลากพลัส ผู้สนับสนุนหลักฟุตบอลไทยลีก 3 “กองสลากพลัสลีก” ฤดูกาล 2565-66 และผู้สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2022

เมื่อเดือนเมษายน 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมคณะพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ นำสำนวนการสอบสวน คดีพิเศษที่ 288/2565 มาส่งให้กับพนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เพื่อส่งฟ้อง นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือ นอท กองสลากพลัส กับพวก รวม 17 คน คดีร่วมกันฟอกเงิน และจัดให้มีการเล่นการพนัน

สำหรับความเกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลไทยนั้น กองสลากพลัส เคยเป็นผู้สนับสนุนหลักฟุตบอลไทยลีก 3 “กองสลากพลัสลีก” ฤดูกาล 2565-66 และผู้สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2022

กรณี ‘พงษ์ศิริ ฐาราชวงศ์ศึก’ ประธานสโมสรฟุตบอลลำพูน วอริเออร์

เมื่อมิถุนายน 2566 ‘พงษ์ศิริ ฐาราชวงศ์ศึก’ หรือ ‘บอสตาล’ ประธานสโมสรฟุตบอลลำพูน วอริเออร์ ถูกตำรวจจับกุมตัว ต่อมาได้มีการสั่งฟ้องสำนวนคดีอาญาที่ 616/2564 โดยมีการกล่าวหาว่าพงษ์ศิริ กับพวกรวม 6 คน ร่วมกันจัดให้มีการเล่น หรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ร่วมกันฟอกเงิน สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน

ช่วงปี 2566 แม้ว่าจะยังไม่มีการตัดสินคดีเกี่ยวกับการฟอกเงินโดยผ่านธุรกิจกีฬาฟุตบอลเกิดขึ้น แต่ก็มีกรณีที่คนในวงการฟุตบอลไทยถูกจับกุมตัวและอัยการสั่งฟ้องคดีเกี่ยวกับการฟอกเงินบ้างแล้ว คือกรณีของ ‘พงษ์ศิริ ฐาราชวงศ์ศึก’ หรือ ‘บอสตาล’ ที่ถูกตำรวจจับกุมตัวขณะดำรงตำแหน่งประธานสโมสรฟุตบอลลำพูน วอริเออร์ เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ต่อมามีการสั่งฟ้องสำนวนคดีอาญาที่ 616/2564 กล่าวหาพงษ์ศิริ กับพวกรวม 6 คน ว่าร่วมกันจัดให้มีการเล่น หรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ร่วมกันฟอกเงิน สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่าคดีนี้มีพยานหลักฐานเชื่อมโยมว่าพงษ์ศิริ ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันในรูปแบบต่าง ๆ โดยประกาศโฆษณาหรือชักชวน ให้ประชาชนทั่วไปหรือผู้อื่นเข้าเล่นพนันในโซเซียล ผ่านทางเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น LINE อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการพนันฯ ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจัดได้เป็นหลายกลุ่ม คือ

1. กลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ดูแล จัดการและชักชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าเล่นการพนันออนไลน์ 

2. กลุ่มบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากที่ใช้ในการจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ ที่รับโอนเงินจากการเล่นการพนัน บัญชีรับแทง บัญชีโอนจ่าย และบัญชีโอนผลประโยชน์

3. กลุ่มบุคคลผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งในการร่วมกันจัดให้เข้าเล่นการพนันเข้าเล่นในลักษณะดังกล่าว พบว่ามีวงเงินหมุนเวียนมูลค่าเป็นหลักพันล้านบาท และเป็นการจัดให้เล่นทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมิได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยศาลได้รับคำฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2731/2566

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.กมค. และ หน.ด้านปฏิบัติการ ได้กล่าวไว้กับสื่อมวลชนในช่วงที่มีการจับกุมเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ว่าจากสืบสวนติดตามพฤติกรรมของผู้ต้องหามาหลายปี จนมีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าพงษ์ศิริกับพวกน่าจะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดจริงเกี่ยวกับเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ TS911.com โดยทรัพย์สินของผู้ต้องหา ตำรวจประสานหารือร่วมกับสำนักงาน ปปง. สืบสวนหาทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกรณีนี้เพื่อทำการยึด อายัด และดำเนินคดีตามกฎหมาย สำหรับทรัพย์สินคาดว่าจะต้องถูกยึดคือ สโมสรฟุตบอลลำพูน วอริเออร์ เนื่องจากแนวทางการสืบสวนน่าเชื่อว่าพงษ์ศิริเข้าซื้อสโมสรฟุตบอลเพื่อบังหน้าธุรกิจอื่นในการฟอกเงินมีทรัพย์สินอื่น ๆ อีกมากมายที่น่าเชื่อว่าได้มาจากรายได้เครือข่ายการพนันออนไลน์ อาทิ บ้าน ที่ดิน ตามภาคเหนือ จ. ลำพูน จ.พะเยา จ.เชียงราย รถหรูหลายคันที่รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

คดีของอดีตประธานสโมสรลำพูน วอริเออร์ ถือเป็นกรณีที่น่าจับตาอย่างยิ่ง ซึ่งหากถ้าศาลมีคำตัดสินออกมาในทางใดทางหนึ่ง ก็อาจสร้างจุดเปลี่ยนให้กับวงการฟุตบอลไทยอีกครั้งก็เป็นได้

ในทำนองเดียวกันหากคนในท้องถิ่นต้องการที่จะทำทีมฟุตบอลโดยไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือธุรกิจสีเทาจะไปรอดหรือไม่ จะประสบกับปัญหาอะไรบ้าง โปรดติดตามตอนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net