Skip to main content
sharethis

'อรรถจักร์' นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มอง 2567 อาจเป็น “ปีแห่งโศกนาฏกรรมประชาธิปไตย” ของสังคมไทยผ่านรูปแบบการปกครองใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น คนเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ยังคงยืนอยู่บนบ่าของผู้คนอีกเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ในสังคม อำนาจรัฐกลไกจะ “บิดเบี้ยว” และรูปแบบการเมืองที่จะทำให้เกิดปัญหาความตึงเครียดหนักขึ้นในสังคมไทย ความแตกแยกจะนำมาสู่ความขัดแย้ง และการใช้ความรุนแรงเพื่อกำราบการต่อต้านการสถาปนาระบอบการปกครองใหม่กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจน

 

14 ก.พ. 2567 เฟซบุ๊กเพจ “ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง” เผยแพร่ความเห็นของอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อรรถจักร์วิเคราะห์ว่า ปี 2567 อาจเป็นปีแห่งโศกนาฏกรรมประชาธิปไตยของสังคมไทยผ่านรูปแบบการปกครองใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น

รูปแบบของการปกครองใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นจะเป็นรูปแบบการเมืองที่จะทำให้เกิดปัญหาความตึงเครียดหนักขึ้นในสังคมไทย ความแตกแยกอันจะนำมาสู่ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงเพื่อกำราบการต่อต้านการสถาปนาระบอบการปกครองใหม่กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจน

รูปแบบการปกครองใหม่เป็นรูปแบบการปกครองที่เชื่อมประสานกันระหว่าง “ประชานิยม” กับ “อำนาจนิยม” ซึ่งสร้างปฏิบัติการภายใต้กรอบคิดทางการเมืองหลัก ได้แก่ “ความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” การปกครองที่ประกอบสร้างขึ้นมานี้จะทำให้เกิดการใช้ความคิดเรื่อง “ความมั่นคงแห่งชาติ” กำกับทุกพฤติกรรมของผู้คนในสังคม เพราะ “ความมั่นคงแห่งชาติ” จะถูกนิยามให้กว้างขวางครอบคลุมไปทุกมิติเพื่อที่จะให้การปกครองใหม่ดำเนินไปโดยสามารถใช้กลไกอำนาจรัฐทุกอย่างกำจัดผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้โดยง่าย

ขณะเดียวกัน “ประชานิยม” ถูกทำให้มีมิติที่ซับซ้อนมากขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ประชานิยมทางเศรษฐกิจเท่านั้นแต่กระบวนการนี้ได้ดึงเอาอำนาจวัฒนธรรมเข้ามาร่วมอยู่ในการสร้าง “populist politics” อำนาจนิยมก็เช่นเดียวกันถูกทำให้ครอบงำสังคมไทยมากกว่าอำนาจตำรวจทั่วไป (police power: อำนาจนี้มีในทุกองค์กร เช่น ครูฝ่ายปกครองในโรงเรียน) หากแต่เป็นอำนาจที่ถูกอำนาจทางวัฒนธรรมเข้ามากำกับมากขึ้น ดังจะเห็นการยังคงปล่อยให้ผู้คนทั่วไปสามารถฟ้องคนอื่นในคดีสำคัญอย่างเสรี ซึ่งเชื่อได้ว่าการฟ้องร้องจะกระจายขยายตัวมากขึ้น

รูปแบบการปกครองใหม่ที่กำลังถูกสถาปนาขึ้นนี้จะจรรโลงความเหลื่อมล้ำให้เข้มข้นมากขึ้น หากเปรียบเทียบให้เห็นง่ายก็คือ รูปแบบการปกครองที่ทำให้คนเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของสังคมไทยยังคงยืนอยู่บนบ่าของผู้คนอีกเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ อำนาจรัฐกลไกจะ “บิดเบี้ยว” เพื่อที่จะรักษาโครงสร้างอำนาจนี้โดยทีไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักการความถูกต้องใด ๆ

แต่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่เกิดขึ้นในช่วงสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกใหม่ของผู้คนที่สำนึกถึงความเท่าเทียมขยายตัวมากขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีทางที่จะสยบยอมอย่างสิ้นเชิงต่อระบบการปกครองใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น การยุบพรรคการเมืองที่เป็นเสมือนหัวหอกของความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่สามารถหยุดความเปลี่ยนแปลงได้การเคลื่อนไหวในหลายมิติหลายรูปแบบก็จะเกิดขึ้นอย่างที่อำนาจรัฐและกลไกอำนาจรัฐจะทำให้หายไปไม่ได้แม้ว่าจะผ่านกรอบความคิดหลัก “ประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็ตาม

สภาวะที่อำนาจรัฐในระบบการปกครองใหม่ไม่สามารถที่จะกำราบพลังใหม่ของสังคมได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่ระบบการปกครองใหม่จะต้องทำ (ผู้เขียนคิดว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน) ก็คือการรัฐประหาร แต่จะเป็นการรัฐประหารที่แตกต่างไปจากเดิม แต่จะเป็นการรัฐประหารที่อ้างการรักษาประชาธิปไตย โดยที่รัฐบาลและผู้นำรัฐบาลหลังการรัฐประหารจะเป็นผู้นำและคณะจากพรรคการเมืองหลักที่เป็นรัฐบาลในขณะนี้ทั้งหมด (โดยมีผู้นำเก่าที่อ้างการรักษาตัวอยู่ก็จะโผล่แสดงตัวเป็นที่ปรึกษา)

การเมืองหลังการรัฐประหารเป็นการตกผลึกของระบอบการปกครองใหม่ รัฐบาลใหม่หลังการรัฐประหารที่จะเกิดขึ้นอ้างว่าตนเองมาจากการเลือกตั้ง แต่เกิดสภาวะยกเว้นด้วยการรัฐประหาร แต่ก็ยังคงเป็นนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ผ่านมาจากการเลือกตั้งและได้รับความยินยอมจากคณะรัฐประหารให้บริหารบ้านเมืองต่อไป คณะรัฐประหารก็อ้างว่าเพราะมีผู้รังควานความมั่นคงแห่งชาติ จึงต้องขจัด “เสี้ยนหนาม” ออกไปก่อนเพื่อให้รัฐบาลเดิมทำงานได้

การขจัด “เสี้ยนหนาม” ก็จะเป็นการจับกุม กุมขัง ฟ้องร้อง และใช้มวลชนจัดตั้งของกลไกอำนาจรัฐข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบ รวมไปถึงการเกิด “ฆาตกรรมมืด” ในหลายที่หลายแห่ง เพื่อที่จะทำให้ความกลัวกระจายไปทั่วทั้งสังคม (คล้าย ๆ ก่อนและหลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ )

การตกผลึกของการปกครองใหม่จะกลายมาเป็นการปกครองหลักได้นานเพียงใดยังไม่สามารถมองได้ ขึ้นอยู่กับพลังทางสังคมจะทนทานและปรับตัวต่อไปอย่างไร และที่สำคัญ ความผูกพันร่วมมือกับของชนชั้นนำทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่แนบแน่นกันในวันนี้ จะขัดแย้งและแตกแยกกันในอนาคตหรือไม่ เพราะผู้นำจริงในพรรคการเมืองหลักในรัฐบาลก็ไม่ได้รับความไว้วางใจอย่างแท้จริงจากผู้นำอำนาจทางวัฒนธรรม (การหักหลังเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่ว่าใครจะหักหลังได้สำเร็จ)

ความที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการพิจารณาจากเงื่อนไขและความเป็นมาในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ผลการเลือกตั้งออกมา การจัดตั้งรัฐบาล และการเคลื่อนไหวของกลุ่มชนชั้นนำทั้งหลาย เพื่อที่จะคาดหมายว่าภายใต้พลวัตของสิ่งที่เกิดขึ้น อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แต่ภาพฉากทัศน์ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า ก็คือโศกนาฏกรรมของประชาธิปไตย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net