Skip to main content
sharethis

เวทีเสวนานิรโทษกรรมเสนอว่าการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทั้งหมดเป็นโอกาสที่จะพูดคุยเจรจาลดความขัดแย้ง และเมื่อการดำเนินคดีด้วยกระบวนการที่ผิดพลาดนับมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ก็ควรจะมาเริ่มกันใหม่ แต่การนิรโทษกรรมเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำให้คนในสังคมกลับมาอยู่ร่วมกันเท่านั้นหลังจากนิรโทษกรรมแล้วยังต้องคุยกันถึงเรื่องที่จะต้องทำต่อไปอีก

8 ก.พ.2567 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีเสวนา 'นิรโทษกรรมประชาชน: หนทางสู่ความปรองดอง หรือ ปมความขัดแย้งครั้งใหม่ ?'  โดยในการเสวนาครั้งนี้มีมุนินทร์ พงศาปาน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และยังเป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการนิรโทษกรรม ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนและเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินดคีทางการเมือง

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ ภาพจาก Friends Talk

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ จากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนกล่าวอธิบายถึงเนื้อหาสาระของ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนที่ต่างจากร่างอื่นๆ ตรงที่มีการระบุฐานความผิดที่จะให้มีการนิรโทษกรรมไปเลย โดยเริ่มนิรโทษกรรมคดีตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549 เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิดขของคนในสังคมเวลานี้เป็นผลสืบต่อเนื่องกันมา และในตอนนี้ก็มีคนที่ถูกดำเนินคดีอยู่ 1,900 กว่าคนนับตั้งแต่ 2563 เป็นต้นมา ทำให้คนกลัวที่จะออกมาใช้เสรีภาพและกลัวที่จะออกมาปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังนั้นจึงต้องทวงคืนความเป็นธรรมให้กับคนเหล่านี้

ประชาชนไม่ได้รับการนิรโทษกรรมมานานมากแล้วนับตั้งแต่ 66/23 หลังจากนั้นมามีแต่การนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ก่อรัฐประหาร ความสำคัญในการทวงคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนก็ถูกทำให้เลือนหายไป นิรโทษได้แค่กับฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ แต่ลืมที่จะคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนด้วย

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนจะมีการระบุฐานความผิดไว้ 5 ฐานที่จะได้รับการนิรโทษกรรมอัตโนมัติ ซึ่งก็จะเป็นคดีขัดคำสั่ง คสช. หรือคดีที่พลเรือนไปขึ้นศาลทหาร แล้วก็คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เป็นคดีส่วนใหญ่ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมมา ซึ่งเป็นคดีที่ทำให้คนรู้สึกกลัวที่จะออกมารวมตัวชุมนุมกัน 

นอกจากนั้นยังรวมไปถึงคดีจากช่วงทำประชามติ 2559 มีจำนวนประมาณ 197 คนที่ออกมารณณรงค์โหวตโนหรือโนโหวตแล้วถูกดำเนินคดี รวมไปถึงคดีม.112 ที่รัฐพยายามบอกว่าเป็นคดีความมั่นคงแยกออกจากการเป็นคดีการเมือง ที่จำเป็นต้องระบุเพราะเป็นคดีการเมืองที่ไม่ต่างจากคดีการเมืองอื่นๆ เลย มีเหตุจูงใจที่ถูกหยิบนำมาใช้ในทางการเมืองอย่างชัดเจนที่เห็นได้จากการที่มีคดีที่วิจารณ์สถาบันกษัติรย์แล้วไม่มีการใช้ข้อหานี้อยู่ช่วงหนึ่งและเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศให้ใช้กฎหมายทุกมาตราในช่วงปี 2563 ก็ทำให้กฎหมายมาตรานี้กลับมาใช้อีกครั้ง ทำให้มีคำถามว่าใครเป็นคนอนุญาตให้ใช้ ทำไมกฎหมายนี้ถึงมีช่องให้บังคับใช้หรือไม่บังคับใช้ได้

ส่วนคดีที่มีมูลเหตุมาจากเรื่องทางการเมืองที่เป็นข้อหาอื่นๆ ก็จะให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตามกฎหมายเป็นผู้พิจารณาให้มีตัวแทนจาก สส.ในสภาและตัวแทนจากประชาชนที่ถูกดำเนินคดีร่วมด้วยเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้าไปแสดงความเห็นด้วย และให้มีตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมที่ให้ความช่วยเหลือคดีทางการเมืองเข้าร่วมด้วยเนื่องจากองค์กรที่ทำงานในประเด็นนี้มีข้อมูลอยู่

ไม่นิรโทษเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน แล้วก็คนที่มาทำรัฐประหารก็จะไม่นิรโทษฯ ให้กับคนที่มาฉีกอำนาจประชาชน ซึ่งเนื้อหาของกฎหมายนี้เป็นการช่วยกันยืนยันหลักประกันในสิทธิเสรีภาพที่จะใช้เสรีภาพในการออกมาปกป้องสิทธิ์และเรื่องปากท้องและใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือจุดยืนทางความคิดของตัวเองแล้วจะไม่ต้องกังวลว่าจะติดคุก

ภัสราวลีกล่าวว่า แม้ว่าตัวเธอเองจะถูกดำเนินคดีแล้วมาพูดเรื่องนี้อาจจถูกตั้งคำถาม แต่ก็อยากให้คิดว่าทุกคนที่อยูภายใต้กฎหมายนิรโทษกรรมนี้ก็จะมีหลักประกันในการใช้สิทธิเสรีภาพเหมือนกัน และถูกยกเลิกความผิดที่ไม่ควรเป็นความผิดตั้งแต่แรกทวงคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ออกมาใช้อำนาจของตัวพวกเขาเอง แล้วก็ยังจะได้รับการเยียวยาด้วยเนื่องจากเมื่อมีคนที่ถูกดำเนินคดีแล้วก็ไม่ได้มีแค่ผลกระทบที่เกิดตัวเขาเท่านั้นแต่ยังกระทบไปถึงคนรอบข้างครอบครัวของเขาด้วย และทำให้คนรอบข้างกลัวที่จะออกมาใช้สิทธิ์ของตัวเองต้องคิดมากขึ้นว่าจะออกมาใช้สิทธิ์ของตัวเองหรือไม่ การเยียวยาจึงเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ซ้ำอีก

ตัวแทนเครือข่ายยังกล่าวอีกว่าในร่างจะให้มีการลบประวัติอาชญากรรมด้วยเพื่อให้พวกเขาได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ กลับมาทำงานอย่างมนุษย์ปกติ คิดว่าการนิรโทษกรรมนี้เป็นการยืนยันหลักสิทธิเสรีภาพ 

“กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นการสร้างหลักประกันว่า เราคือประชาชนที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศนี้ตามอำนาจในระบอบจริงๆ ไม่ใช่แค่ระบอบบอกว่าเป็นประชาธิปไตยแต่ดันมีรัฐมาควบคุมอีกทีว่าเราใช้อำนาจได้แค่ไหนอย่างไร” 

ภัสราวลีกล่าวว่าจุดตัดสำคัญของเรื่องการนิรโทษกรรมนี้ก็คือเรื่องจะนิรโทษกรรมให้กับคดีม.112 หรือไม่ แต่ข้อหานี้ก็เป็นจุดตัดสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งการโต้กลับกันไปมาของคนในสังคมนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งรัฐเองก็ใช้ประเด็นนี้มาบอกว่ามีประชาชนพูดได้แค่ไหนอย่างไร ทำให้หลักการใช้อำนาจของประชาชนบิดเบี้ยวไปหมดเพราะเราที่เป็นเจ้าของอำนาจไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์องค์กรที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญได้อย่างตรงไปตรงมา และเมื่อตั้งคำถามถึงก็ถูกคัดออกกลายเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งและการบังคับใช้กฎหมายนี้ก็ไม่ได้มีมาตรฐานหลักเกณฑ์แน่นอนแล้วไปกระทบต่ออิสรภาพของคนในสังคมก็ควรจะถูกหยิบมาพิจารณาอย่างจริงจัง เพราะตั้งแต่ 2563 เพิ่มขึ้นมากว่า 260 กว่าคดี แล้วก็ทำให้คนถูกจองจำอย่างไม่รู้ว่าจะออกมามีอิสรภาพเมื่อไหร่ มีการขังเขาไว้ 40-50 ปีชีวิตของเขาหายไปเลย ไม่ต่างกับการฆ่าเขาทั้งเป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ ภาพจากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการนิรโทษกรรม กล่าวถึงการนิรโทษกรรมที่ในภาษาอังกฤษคือ แอมเนสตี้ คำนี้ถูกแปลได้ว่าคือการให้อภัยอย่างเป็นทางการแก่ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีทางการเมือง ซึ่งเมื่อพูดถึงแนวคิดของการให้อภัยก็ทำให้นึกถึงสิ่งที่ชัยวัฒน์ สถาอานันท์เคยพูดไว้ในงานวันสันติภาพไทย

ชญานิษฐ์เล่าสิ่งที่ชัยวัฒน์พูดถึงความจำเป็นของการให้อภัยว่า ชีวิตของมุนษย์เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอนาคตก็ไม่แน่นอน แต่ในอีกทางหนึ่งการที่เราทำอะไรไว้ในอดีตเรากลับไปแก้ไม่ได้แล้ว ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นสำหรับกับการอยู่กับอดีตให้ได้คือการให้อภัย แต่เมื่อเธอมองกลับมาที่ไทยการให้อภัยนั้นจะให้อภัยอย่างไรให้กับใครก็เป็นเรื่องที่มองได้ในหลายแง่มุม 

ในแง่หนึ่งก็คือการยอมรับว่าผู้ต้องหาทางการเมืองไม่ควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่ต้นและไม่เพียงแต่ทำลายชีวิตเขาและกระทบต่อบรรยากาศในการแสดงออกและการพูดคุยกันอย่างมีอารยะเพื่อขับเคลื่อนสังคมการเมืองของเรา แต่ยังกระทบไปถึงชีวิตคนรอบข้างของผู้ต้องหาคดีการเมืองด้วย การนิรโทษกรรมจึงเป็นการทำให้รัฐยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายบางอย่างมีปัญหา และเมื่อย้อนเวลาไปกลับไปในอดีตเพื่อแก้ไม่ได้แล้วก็ต้องจัดการกับคดีเหล่านี้ในตอนนี้ 

เมื่อมองเรื่องนิรโทษกรรมจากมุมของคนที่ศึกษาเรื่องความขัดแย้งแล้ว การนิรโทษกรรมเป็นความจำเป็นทางการเมืองเพื่อเป็นการส่งสัญญาณของคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่ายที่ส่งถึงกันและกันว่ายังพอมีเจตจำนงค์ที่อยากจะอยู่ร่วมกันเมื่อกลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้แล้ว และยังอยากสร้างสังคมที่เป็นธรรมให้เราอยู่ร่วมกันได้

ชญานิษฐ์กล่าวต่อถึงเรื่องคดีความทางการเมืองว่า ในช่วงที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายที่สามารถย้อนไปถึงพ.ศ.2548 การบังคับใช้กฎหมายเป็นการช่วยผดุงความยุติธรรมจริงหรือเปล่า เพราะเมื่อพูดถึงความยุติธรรมเธอก็จะนึกถึงว่าคือการยุติความขัดแย้งด้วยความเป็นธรรม เมื่อไม่ยุติด้วยความเป็นธรรมความขัดแย้งก็ไม่ยุติ เมื่อการบังคับใช้กฎหมายในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดความกังขาของสาธารณะชนแล้วหรือยังถูกมองไปว่าผู้กุมอำนาจรัฐพยายามบังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นไปเพื่อกดขี่ปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองหรือเปล่า

เธอเล่าถึงงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ว่าได้พยายามตั้งคำถามกดขี่ปราบปรามโดยรัฐว่าไม่ใช่แค่การสลายการชุมนุมแต่มาในรูปของการใช้กฎหมายด้วยเพราะจะทำให้คนเชื่อว่าเป็นความจำเป็นในการรักษาสังคมให้อยู่ในขื่อแป แต่ไ่ม่ไ่ด้ตั้งคำถามถึงตัวกฎหมายที่ถูกเอามาบังคับใช้

ชญานิษฐ์กล่าวต่อว่าจากงานวิจัยทำให้ได้คุยกับเจ้าหน้าที่รัฐถึงเรื่องนี้ เขาบอกว่าแทบจะเป็นนโยบายไม่เป็นทางการ เมื่อมีคนออกมาต่อต้านก็ให้ฟ้องคดีไว้ก่อนให้รุงรังเพื่อเพิ่มต้นทุนให้กับคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองให้รู้ว่าจะเกิดความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตให้เลิกเคลื่อนไหวได้แล้ว ซึ่งมีข้อสังเกตต่อวิธีการของเจ้าหน้าที่ว่าผลลัพธ์อาจไม่เป็นเช่นนั้น

“คือยิ่งฟ้องให้รู้รั้ง ยิ่งบ่อนเซาะความชอบธรรมของรัฐและความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม” 

เธออธิบายว่า ให้ดูว่าทุกครั้งที่มีคำตัดสินคดีทางการเมืองบรรยากาศทางการเมืองในเวลานั้นเป็นอย่างไร คนคิดว่าความยุติธรรมได้รับการผดุงเอาไว้ได้ความขัดแย้งจะน้อยลง หรือว่า คนรู้สึกโกรธแล้วตั้งคำถามว่ายุติธรรมจริงหรือไม่ผลที่ออกมาเป็นอย่างที่ผู้มีอำนาจตั้งใจหรือไม่ เพราะแม้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาการชุมนุมทางการเมืองจะน้อยลงแต่เธอกลับไม่แน่ใจว่าความไม่พอใจของผู้คนได้ลดน้อยลงไปด้วย โดยเห็นได้จากปรากฏการณ์หลายอย่าง

ชญานิษฐ์กล่าวถึงสมมติฐานของเธอว่า การฟ้องคดีความให้รุงรังหรือปิดกั้นโอกาสที่จะแสดงออกทางการเมืองของประชาชน เป็นการส่งสัญญาณให้กับประชาชนว่าไม่มีที่ทางให้กับประชาชนที่จะแสดงออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง โดยเธอยกตัวอย่างที่เธอศึกษาในกรณีในชายแดนใต้ที่ความรุนแรงดำเนินมากว่าสองทศวรรษแล้ว 

เธอกล่าวว่าในกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ ก่อนที่ความรุนแรงจะเกิดขึ้นมีการยิงกันในพื้นที่ กลุ่มประชาชนในชายแดนใต้เคยพยายามจะเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรงมาก่อน แต่สิ่งที่รัฐทำก็ไม่มีที่ทางให้กับการแสดงออกที่ไม่ใช่ความรุนแรงแล้วก็ใช้คดีความและการปราบปรามต่างๆ จนถึงจุดหนึ่งคนชายแดนใต้รู้สึกว่าไม่มีที่ทางให้กับการคุยหรือมีบทสนทนากับรัฐไทยได้อย่างมีอารยะโดยไม่ใช้ความรุนแรงอีกแล้ว เขาก็ตัดสินใจจับอาวุธขึ้นสู้ และพลวัตรของการใช้ความรุนแรงลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก 

“เราไม่อยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะฉะนั้นสังคมไทยควรจะนั่งลงคุยกันและเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องคิดเรื่องนี้ และคิดถึงการนิรโทษกรรมที่จะเป็นกลไกลดบรรยากาศ ลดอุณหภูมิความขัดแย้งแล้วพาเราไปสู่ความขัดแย้งที่ลดน้อยลงได้”

ทั้งนี้เมื่อถามว่าผู้กุมอำนาจรัฐเองที่ผ่านมาก็ดูไม่ได้ใส่ใจในการที่จะลงมาเจรจาเพราะก็อาจจะเห็นว่าอีกฝ่ายไม่ได้มีอำนาจอะไรที่จะมาต่อรองและยังกดปราบให้ไม่มีอำนาจขึ้นมาเทียบเท่ากับผู้ที่กุมอำนาจรัฐอยู่ 

ชญานิษฐ์ก็เห็นว่าผู้มีอำนาจรัฐเองก็ไม่ค่อยมีการเรียนรู้ว่าจะต้องมาฟังเสียงประชาชนจริงๆ แต่ถ้ารัฐไทยฉลาดก็จะเห็นสัญญาณเต็มไปหมด ทั้งช่วงการชุมนุมที่กระแสสูงสุดมีการสลายการชุมนุมมีการดำเนินคดีเต็มไปหมดแต่ยิ่งกดคนก็ยิ่งไม่หงอ ผลที่เห็นออกมาก็คือการเลือกตั้งที่ชนะเลือกตั้งถล่มทลายแต่รัฐก็ยังไม่เรียนรู้แล้วกดลงมาอีก และล่าสุดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรา 112 ออกมา ภายหลังก็เห็นว่ามีคนบริจาคเงินให้พรรคก้าวไกลเยอะมาก และเมื่อไปดูที่เว็บไซต์ของพรรคก้าวไกลตรงที่สมัครสมาชิกระบบก็ยังแจ้งเตือนมาอีกว่าถ้ามีการติดต่อกลับช้าก็เพราะมีคนสมัครสมาชิกมาเป็นจำนวนมาก

"มันมีสัญญาณออกมาเยอะมาก รัฐตอนนี้ยังคงรู้สึกว่ามีอำนาจเยอะแต่ว่าเนื่องจากความชอบธรรมของรัฐและการบังคับใช้กฎหมายมันมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนก็เห็น ผลที่มันโต้กลับมาในลักษณะต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนก็พูดว่ามันเป็นความขัดแย้งระหว่างรุ่นของคนรุ่นใหม่ ถ้าเขาถูกว่าคนรุ่นใหม่เขารักสิทธิเสรีภาพของตัวเองมากขึ้น วันหนึ่งก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันนั้นมันก็จะกลับกัน ถ้ารัฐที่ยังคงกุมอำนาจรัฐมีวิสัยทัศน์และฉลาดพอ ตอนนี้จึงเป็นโอกาสที่จะประนีประนอมและหาโอกาสที่จะคุยกันหาหนทางที่จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องฝ่ายหนึ่งชนะแล้วฝ่ายหนึ่งแพ้ และมีฝ่ายหนึ่งชนะแล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งแพ้ทุกทาง เราไม่อยากให้สังคมไทยเป็นแบบนั้น” ชญานิษฐ์กล่าว

มุนินทร์ พงศาปาน ภาพจากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน

มุนินทร์ พงศาปาน  กล่าวว่าตัวเขาเองเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมและคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสังคมไทย ยังเชื่อว่าสังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย การยุติความขัดแย้งทางการเมืองหรือเยียวยาความเสียหายจากการบังคับใช้กฎหมายก็ควรจะให้ประชาชนตัดสินใจบนพื้นฐานของการพูดคุยกัน และเมื่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนได้เข้าสู่สภาก็จะได้มีการพูดคุยหาทางออกร่วมกัน

ในมิติทางกฎหมายของการนิรโทษกรรม การให้อภัยกับคนที่กระทำความผิดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่แนวคิดในการอภัยอาจจะคนละแนวกับการนิรโทษกรรมเพราะเป็นการอภัยโทษ ก็จะมีคนที่ได้รับการให้อภัยได้รับโอกาส ยุติการลงโทษหรือลดโทษทำให้คนเหล่านนั้นไม่ต้องรับโทษตามคำพิพากษาหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ คนเหล่านั้นก็จะได้ใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนการนิรโทษกรรมอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยแม้แนวคิดอาจจะไม่เหมือนกันแต่พื้นฐานเหมือนกันคือการให้อภัยให้โอกาสแก่คนที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีที่ถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมายหรือไม่ก็ตาม

ส่วนประเด็นเรื่องความชอบธรรมทางกฎหมายของการนิรโทษกรรมนั้นมีแน่นอน ในทางนิติศาสตร์แล้วถ้าตัวแทนของประชาชนเห็นว่าถึงเวลาที่จะนิรโทษกรรมการออกกฎหมายมันก็มีความชอบธรรมในทางนิติศาสตร์อยู่แล้วว่าทำได้ การให้อภัยคนมันไม่ได้มีข้อเสียมันมีแต่ข้อดี ต่อให้ไม่มีการนิรโทษกรรมก็ยังมีการอภัยโทษอยู่และตัวของกฎหมายเองมันไม่ไ่ด้มีปัญหาในทางเทคนิกกฎหมายหรือนิติศาสตร์เลย แต่เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของกฎหมายนิรโทษกรรมได้ไปแก้ปัญหาทางนิติศาสตร์ 

มุนินทร์อธิบายว่าแม้ในตัวกฎหมายนิรโทษกรรมจะไม่มีการประนามโดยตรง แต่นักกฎหมายในเวลานี้ส่วนใหญ่ก็ทราบว่าหลังรัฐประหาร 2549 มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายมาตลอดและการดำเนินคดีกับคนที่เป็นเหยื่อ ทั้งนักการเมืองและประชาชนที่ออกมาต่อสู้ ถึงแม้ว่าคนเหล่านั้นจะกระทำความผิดกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรในกฎหมายแต่กระบวนการดำเนินคดีกลับมีปัญหา เช่น กรณีทักษิณถ้าถามในมุมนักกฎหมายแม้ชี้ได้ว่าการกระทำความผิดของทักษิณจะผิดตามตัวบทกฎหมายมาตราไหนบ้าง แต่มันไม่ได้แค่บอกว่าคนๆ นี้กระทำความผิดตามมาตราไหน แต่กระบวนการในการพิสูจน์ความผิดต้องมีความชอบธรรมด้วย 

ปัญหาก็คือกระบวนการยุติธรรมของเราได้เปิดโอกาสในการพิสูจน์ความผิดของตัวเองอย่างเต็มที่หรือไม่ ผู้ถูกกล่าวหาได้นำเสนอหลักฐานอย่างไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลของฝ่ายตรงข้ามหรือเปล่า ยังไม่ต้องนับคนเล็กคนน้อยหลายคนโดนคดีจากประกาศคณะปฏิวัติ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่มีความชอบธรรม เพราะอะไรก็ตามที่ออกมาจากคณะปฏิวัติไม่มีความชอบธรรมทางนิติศาสตร์อยู่แล้วเพราะไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ ไม่สามารถเป็นฐานทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับคนได้ แต่เมื่อมีคนได้รับผลกระทบไปแล้วก็ยากหรือไม่สามารถฟื้นคืนความเป็นธรรมให้กับคนเหล่านี้ได้

การกระทำความผิดตามม.112 ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับสถานการณ์การเมืองก่อนหน้านั้นที่เริ่มมาตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมา ดังนั้นหลักการตามร่างกฎหมายนี้มีความชอบธรรมแล้วที่จะพิจารณาย้อนนิรโทษกรรมไปถึงหลัง 2549 ด้วย นอกจากนั้นเขายังเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับกฎหมายมาตรา .112 เป็นกระบวนการที่มีปัญหาและมีข้อสงสัยเยอะมาก 

มุนินทร์อธิบายว่า ภาพรวมทั้งหมดกระบวนการยุติธรรมนับตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมานั้นมีสภาวะยกเว้นทางนิติศาสตร์ และมีอยู่ 2 เรื่องที่เป็นสภาวะยกเว้นอยู่ในระบบกฎหมายของไทยก็คือคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อคดีเข้าสู่ศาลแล้วจะมีกระบวนการพิจารณาคดีที่แปลกและผิดปกติ  อีกทั้งมีแนวโน้มว่าประชาชนมีโอกาสน้อยมากที่จะชนะคดี เมื่อเป็นเรื่องของความมั่นคงก็ทำให้คนรู้สึกหวั่นเกรงแม้กระทั่งผู้พิทักษ์รักษากฎหมาย และเขามองว่าเรื่องแบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะคนในกระบวนการยุติธรรมควรเป็นเสาหลักให้กับประชาชนที่กำลังหวาดกลัวอยู่แล้วกัลการใช้อำนาจของรัฐและการใช้ความรุนแรง คนในกระบวนการยุติธรรมควรจะเป็นเสาหลักที่มั่นคงให้กับประชาชนไม่ควรโอนอ่อนไปตามอำนาจ 

ข้อยกเว้นประการที่สองคือกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับม.112 โดยเฉพาะในกระบวนพิจารณาและหลายคดีก็มีผู้บริหารศาลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วก็มีนกระบวนการพิจารณาหรือคำสั่งแปลกๆ ที่เกิดขึ้นที่ทำให้สงสัยว่าทำไมไม่ดำเนินการไปตามหลักกฎหมายหรือกระบวนการปกติ 

เมื่อเทียบกับคดีฆ่าคนตาย กระบวนการในศาลก็จะเป็นเรื่องปกติมาก มีการตั้งข้อหา ส่งตัวฟ้องศาล แล้วก็ขอประกันตัวก็ได้รับการประกันตัว มันเป็นเรื่องตรงไปตรงมาที่เห็นว่าก็ปกติดีแม้ว่าคดีจะเป็นคดีอาญาร้ายแรงขนาดไหน แต่พอเป็นคดีม.112 มักจะมีความไม่ปกติในทุกกระบวนการทางกฎหมายที่ทำให้คนหยิบยกขึ้นมาได้เสมอทั้งการจับกุม การให้ประกันตัวการสืบพยานในศาล การตีความกฎหมายกว้างแคบแค่ไหน 

คดีม.112 กลายเป็นคดีนโยบายกลายเป็นคดีพิเศษที่ศาลหรือคนในกระบวนการยุติธรรมจะปฏิบัติต่างจากคดีอื่นๆ คำถามคือทำไมต้องปฏิบัติแตกต่างจากคดีอื่นๆ การปฏิบัติต่างจากคดีอื่นๆ ทำให้สิทธิของคนที่ถูกกล่าวหาหรือเป็นจำเลยได้รับตามรัฐธรรมนูญครบถ้วนหรือไม่ 

ปัญหาเหล่านี้ทำให้เห็นความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรมไทย ต้องยอมรับว่าคดีในช่วงเวลานี้แม้กระทั่งคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นจะเกินเลยไปบ้างแต่เมื่อพิจารณาบริบททั้งหมดก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นและก็เข้าใจได้ว่าควรให้อภัยกับการกระทำทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน ไม่ควรต้องมานั่งแยกว่าเกินไปไปมากเกินไปแค่ไหน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเป็นการกระทำที่เข้าใจได้มันมีสาเหตุของมันที่ทำให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ แต่กระบวนการทั้งหมดมันมีปัญหาทางกฎหมายมีตำหนิที่ควรจะมาเริ่มกันใหม่

มุนินทร์กล่าวยืนยันว่าเรื่องนิรโทษกรรมนั้นไม่ได้มีปัญหาในทางกฎหมายแต่มีคุณประโยชน์ในทางกฎหมายที่จะเข้าไปแก้ปัญหา เหลือแค่ว่ามันเป็นเรื่องของการตัดสินใจทางการเมืองคือนักการเมืองก็ต้องชั่งน้ำหนักตลอดว่าทำในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ว่าตัวเองจะได้ประโยชน์ในทางการเมืองอย่างไร ถ้าย้อนไป 3-4 ปีที่แล้วที่พรรคการเมืองต่างๆ กระตือรือล้นที่จะมาช่วยกันประกันตัวผู้ต้องหาคดีม.112 เพื่อแสดงออกในการสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพ และนักการเมืองก็พยายามแสดงให้เห็นเห็นถึงต้นตอของปัญหาแล้วก็อยากจะแก้ไขแม้กระทั่งตอนเลือกตั้งก็ยังมีการเสนอนโยบายแก้มาตรา 112 แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนเหล่านั้นก็เหมือนจะลืมเรื่องในอดีตไป

มุนินทร์กล่าวทิ้งท้ายในช่วงแรกว่า อย่างไรก็ตามแม้ในเวลานี้การที่เกิดความเงียบในตอนนี้ไม่ได้หมายความว่าคนจะรู้สึกลืมไปแล้วว่าเคยเกิดอะไรมาบ้าง แต่เขาเชื่อว่าจะเกิดการปะทุขึ้นมาอีกถ้ารัฐไม่จริงใจที่จะหาวิธีการจัดการต้นตอของปัญหา และการนิรโทษกรรมที่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นไม่ใช่จุดสุดท้ายที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แล้วก็ไม่ใช่การนิรโทษกรรมมาตรา 112 อย่างเดียวแต่เมื่อทำสำเร็จแล้วก้ต้องคุยกันต่อไปว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรภายใต้กฎหมายมาตรานี้ การนิรโทษกรรมไม่ใช่เพื่อที่จะบอกทุกคนว่าต่อไปนี้จะไม่มีใครทำผิดอีกแล้วครั้งนี้จะเป็นโอกาสสุดท้าย แต่ต้องมาสร้างเวทีที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันเรื่องนี้แล้วคิดถึงว่าควรทบทวนหรือแก้อะไรบ้างในมาตรา 112 ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาแบบนี้ต่อไป แต่การนิรโทษกรรมจะเป็นการสร้างเวทีที่ปลอดภัยและความรู้สึกที่ดีต่อกันในหมู่คนที่ได้รับผลกระทบทั้งหลาย

แล้วเจ้าหน้าที่รัฐควรได้รับนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่?

มุนินทร์ตอบคำถามเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชนว่า ยังเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้อยู่ที่จะคุยกันในประเด้นนี้ เพราะยังพอมีเหตุผลที่จะนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่บางระดับหรือการกระทำบางอย่างที่ควรจะได้รับการอภัยโทษด้วย และการไม่ปิดโอกาสไปทั้งหมดก็อาจจะทำให้เปิดเวทีพูดคุยได้ง่ายขึ้น แล้วให้สภาถกเถียงกันว่าจะให้อภัยเจ้าหน้าที่กับการกระทำบางอย่างด้วยมั้ย 

ถ้าเราตั้งหลักว่าการเจ้าหน้าที่ระดับล่างก็ถูกสั่งกันมาจากต่างจังหวัดหลายคนก็อาจจะไม่ได้อยากมาต้องมาตากแดดเบี้ยเลี้ยงก็ไ่ม่ได้ สถานการณ์การสลายการชุมนุมต่างๆ มันก็มีความเครียดความกดดันที่ในสถานการณ์ปกติคงไม่ใช่ข้ออ้าง แต่ถ้าเราพยายามเข้าใจการกระทำของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องมันก็ควรทำความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันในระดับหนึ่ง แต่ก็คงจะคุยกันอย่างละเอียดว่าการกระทำแค่ไหนที่จะได้นิรโทษกรรม ที่สำหรับคนทำรัฐประหารก็คงมีคำตอบกันชัดเจนว่าจะทำอย่างไร แต่กับการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจนเกิดการเสียชีวิตก็คงต้องมาคุยกันให้หนัก 

เพราะถ้าเริ่มต้นแล้วว่าการนิรโทษกรรมทำได้ในทางกฎหมายแล้ว แต่การจะนิรโทษกรรมใครอย่างไรบ้างก็เป็นเรื่องที่ต้องถามคนที่มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ว่าจะรับได้ขนาดไหน เพราะการจะนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ในบางระดับนั้นสามารถอธิบายได้ในทางกฎหมาย

ชญานิษฐ์ ตอบประเด็นนี้ว่าการนิรโทษกรรมในหลายสังคมจะเห็นด้วยว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคมต่อไป แต่ทุกที่ก็ต้องถกเถียงกันว่าจะนิรโทษกรรมใครบ้างอย่างไร 

ชญานิษฐ์ยกตัวอย่างการนิรโทษกรรมในรวันดาที่ไม่ใช่แค่เรื่องของเจ้าหน้าที่แต่รวมไปถึงประชาชนที่ก่อความรุนแรงด้วย โดยในรวันดามีการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ก่อความรุนแรงก็ต่อเมื่อยอมแลกกับการเล่าข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งก็อาจจะเอามาปรับใช้กับการจะนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่กระทำความรุนแรงได้หรือไม่โดยให้มาเล่าถึงเหตุการณ์ สถานการณ์ความจำเป็นที่ทำให้ต้องตัดสินใจแบบนั้นเพราะในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาเราแทบไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นเรื่อง “ความจริง” ที่เราไม่เคยคุยกันมาก่อนก็ควรจะต้องยกมาคุยกัน

นอกจากนั้นชญานิษฐ์ยังเห็นว่าควรจะเพิ่มต้นทุนในการก่อรัฐประหารเพราะที่ผ่านมาคนก่อมักลอยนวลพ้นผิดอยู่เสมอเพราะไม่เคยมีต้นทุนที่จะต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตัวเองเลย นอกจากการคุยกันเรื่องนิรโทษกรรมแล้ว สังคมไทยก็อาจจะต้องมาพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างจริงจังเสียทีด้วย 

ภัสราวลีกล่าวว่าเห็นด้วยเรื่องที่เจ้าหน้าที่ผู้น้อยที่ต้องรับคำสั่งแล้วก็มาปฏิบัติหน้าที่ต้องตกเป็นแพะรับบาปแทนผู้บังคับบัญชาก็มีอยู่เยอะและพูดจากประสบการณ์โดยตรงเองที่เพื่อนตำรวจของเธอต้องมาปฏิบัติการควบคุมการชุมนุมทั้งที่ไม่อยากมาและเพียงแค่ต้องการทำหน้าที่ของตำรวจในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ลักษณะนี้ก็ไม่ควรจะต้องถูกผลักออกมาให้เป็นแพะแบบนี้

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐก็มีอำนาจรัฐที่ใช้ในการปกป้องตัวเองอยู่เยอะมากเช่นการสลายการชุมนุมเจ้าหน้าที่ก็ไม่ติดป้ายชื่อหรือสังกัดมาทำให้ไม่รู้ว่าเจอกับใครอยู่ หรือการใช้ตำรวจกับทหารสลับกันเข้ามาก็มีความแตกต่างถึงระดับความรุนแรงที่ใช้ และก็ยังไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่คนไหนต้องรับผิดชอบกับการใช้ความรุนแรงหรือมีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ เช่น กรณีวาฤทธิ์ สมน้อย ก็ยังไม่มีการตามหาข้อเท็จจริงว่าคนทำเป็นใครจริงๆ คนทำมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่หรือไม่ หรือกรณีลุงคนหนึ่งที่โดนกระสุนยางยิงที่หลังก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหรับผิดชอบ หรือพายุ บุญโสภณที่โดนยิงตาบอดก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐออกมารับผิดชอบ  การถูกทำให้เคยชินกับเรื่องแบบนี้ทำกันเกินไปมากและทำให้เห็นว่ารัฐเองใช้กลไกป้องกันความผิดไม่ให้เกิดกับตัวเองและทำให้ใช้อำนาจได้อย่างชอบธรรมตลอด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม

นอกจากนั้นภัสราวลียังเห็นว่าเมื่อเกิดการสั่งการให้ใช้ความรุนแรงก็ไม่เคยรู้ว่าคำสั่งนั้นให้ใช้ความรุนแรงถึงขั้นไหน แต่เมื่อเกิดความสูญเสียเกิดขึ้นแล้วผู้บังคับบัญชาก็ไม่เคยออกมารับผิดชอบว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้นว่าเกินไปจากคำสั่งตัวเองหรือไม่ ดังนั้นในระดับผู้บังคับบัญชาเป็นส่วนสำคัญที่จะไมไ่ด้รับการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นเลย 

ส่วนระดับผู้ปฏิบัติการสิ่งที่ต้องทำคือการเอาเขามาสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เขาต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการลอยนวลพ้นผิดโดยการไม่นิรโทษกรรมให้เขาก่อนและจะเป็นการปูทางไปสู่การค้นหาความจริง แม้จะเข้าใจได้ว่าผู้ปฏิบัติการเป็นชั้นผู้น้อยแต่คำสั่งไหนที่เกินกว่าเหตุหรือหลักการของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่มีหน้าที่ปกป้องสังคมให้ปลอดภัยแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ไ่ด้ว่าผู้ปฏิบัติการที่ลงมือทำที่รุนแรงและโหดร้ายก็จำเป็นต้องจริงจังในการนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะเราก็อธิบายแทนไม่ไ่ด้จริงๆ ว่าทำไมพวกเขาถึงยังปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และด้วยสถานการณ์ตอนนี้ก็ชัดว่าไม่ยุติธรรมและไม่จำเป็นต้องให้อภัยพวกเขาถ้าไม่ยุติธรรมตั้งแต่แรก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net