Skip to main content
sharethis

ฮาร่า ชินทาโร่ ‘ผู้เชี่ยวชาญภาษามลายู’ แปลเอกสาร BRN ระบุ การเจรจายุคใหม่กับไทยภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย จำเป็นต้อง “ถอยหลังคนละก้าว” เพื่อทบทวนการเจรจาสันติภาพที่ผ่านมา แม้จริงจัง แต่อุปสรรคยังมากมายและถูกมองข้ามตลอด รัฐบาลประชาธิปไตยเป็นพลวัตสำคัญ แต่ยังหวั่นบางหน่วยงานรัฐ ดำเนินคดีนักกิจกรรมทำลายบรรยากาศพูดคุย ทั้งที่การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นปัจจัยความสำเร็จ ขอ 3 ข้อ เปิดทางสันติภาพปาตานี ‘ออกกฎหมายรองรับกระบวนการสันติภาพ - ตั้งคณะ กมธ.ถาวร – พร้อมพูดคุยที่ปัญหารากเหง้า’

ต้อง “ถอยหลังคนละก้าว” เพื่อทบทวนกระบวนการที่ผ่านมา

ฮาร่า ชินทาโร่ นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามลายู ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว ระบุว่า ฝ่ายคณะพูดคุยของ BRN ติดต่อและส่งคำกล่าวเปิดการพูดคุยครั้งที่ 7 (วันที่ 6 – 7 กุมภาพันธ์ 2567) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นภาษามลายูมาให้ จึงได้ทำการแปลเอกสารดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าเป็นข้อมูลชิ้นสำคัญที่แสดงถึงจุดยืนของคณะพูดคุยฝ่าย BRN ต่อกระบวนการสันติภาพ สภาพปัญหา และแนวทางแก้ไข

เอกสารดังกล่าวระบุว่า “กระผม อนัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยเจรจาสันติภาพของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ก่อนริเริ่มการเจรจาในยุคใหม่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลไทยชุดใหม่ที่เกิดจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย พวกเราจำเป็นต้องถอยหลังคนละก้าวเพื่อพิจารณาและทบทวนการเจรจาสันติภาพที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้

แม้จริงจัง แต่อุปสรรคยังมากมายและถูกมองข้ามตลอด

พวกเราได้เห็นพองต้องกันว่า การเจรจาสันติภาพเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและถูกต้องเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขเพื่อนำไปสู่สันติภาพอันแท้จริงและยั่งยืน ความพยายามเพื่อสร้างสันติภาพที่ปาตานีได้ดำเนินมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ โดยเฉพาะระหว่าง BRN กับคณะพูดคุยของรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตาม กระบวนการสันติภาพมักจะพบกับทางตันที่เกิดจากปัจจัยบางอย่างที่เป็นอุปสรรคสำหรับความคืบหน้าในกระบวนการเจรจา เช่น

1. ยังไม่มีจุดร่วมที่มีนัยสำคัญระหว่าง BRN กับคณะพูดคุยของรัฐบาลไทย

2. รัฐบาลทหารไทยก่อนหน้านี้พยายามจะหลีกเลี่ยงการพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งที่แท้จริง ทั้ง ๆ ที่ BRN ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงจังมาหลาย ๆ ครั้งในรูปแบบการหยุดยิงหลาย ๆ ครั้งก็ตาม เช่นการหยุดยิงฝ่ายเดียวในเดือนเมษายน 2560 เพื่อแสดงถึงความจริงจังในการสร้างสันติภาพให้แก่ประชาชนปาตานีและสังคมนานาชาติ และการหยุดยิ่งฝ่ายเดียวในช่วงโรคระบาด Covid-19 ถึงแม้ว่าฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลทหารในขณะนั้นฉวยโอกาสหลายครั้งเพื่อโจมตีนักต่อสู้ปาตานี จนหลายสิบคนเสียชีวิตเป็นชะฮีด แต่ BRN ใช้ความอดทนเพื่อแสดงถึงความจริงจัง

3. ข้อเสนอแนะสำหรับแนวทางแก้ไขความขัดแย้งจากฝ่ายนักต่อสู้ปาตานีถูกมองข้ามตลอด และไม่เคยได้รับความสนใจอย่างจริงจัง

4. จุดอ่อนหลายอย่างที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในการเจรจาควรได้รับการแก้ไข เช่นวิธีการดำเนินการเจรจา กลไกการนำปฏิบัติข้อตกลงและความสอดคล้องกับมาตรฐานการเจรจาสากลที่ถูกนำมาใช้อยู่ในสังคมนานาชาติ

รัฐบาลประชาธิปไตย พลวัตสำคัญในการสร้างสันติภาพ แต่ยังหวั่นบางหน่วยงานรัฐ

ประเด็นเหล่านี้ควรเป็นบทเรียนสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาให้มีความคืบหน้าต่อไป และการจัดตั้งรัฐบาลผ่านวิธีการประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นพลวัตสำคัญในการสร้างสันติภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาคมปาตานีทั้งปวงรอคอยและคาดหวังมานาน และ สังคมนานาชาติก็อยากเห็นว่า สันติภาพอันแท้จริง หรือสันติภาพเชิงบวก (positive peace) เกิดขึ้นที่ปาตานี

อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคจากบางฝ่าย โดยเฉพาะยังมีหน่วยงานของรัฐบาลไทยเองที่สร้างบรรยากาศที่คุกคาม และขีดกั้นกระบวนการสันติภาพ และอาจจะทำลายความน่าเชื่อถือของโต๊ะเจรจาที่กำลังเกิดขึ้นได้ด้วย

ดำเนินคดีนักกิจกรรม ทำลายบรรยากาศพูดคุย

ตัวอย่างเช่น ณ ตอนนี้ก็มีการกดขี่ การคุกคามและการข่มขู่นักกิจกรรมภาคประชาสังคมที่ปาตานีโดยใช้วิธีการที่เรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuit Against Public Participation, SLAPP)” ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย ที่กดดันและยังขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมการปรึกษาหารือกับประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสารัตถะที่ได้รับการบันทึกไว้ในหลักการทั่วไปก่อนหน้านี้ และยังบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สมควรเพื่อข่มขู่ ควบคุม ปิดปากและจำกัดพื้นที่ทางการเมืองสำหรับนักกิจกรรมภาคประชาสังคมที่ปาตานี

การกระทำเช่นนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาสันติภาพที่กำลังเกิดขึ้น และอาจจะทำให้ประชาชนปาตานีไม่มั่นใจและไม่เชื่อมั่นในการสร้างสันติภาพที่ดำเนินโดยรัฐบาลไทย

การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นปัจจัยความสำเร็จ

... การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเจรจาสันติภาพเป็นปัจจัยสำคัญและยังเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพ จึงต้องได้รับความเคารพและการพิจารณา

รัฐบาลประชาธิปไตยที่นำโดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และข้าราชการในรัฐบาลไทยทั้งหลายในยุคประชาธิปไตยนี้ ควรสร้างความมั่นใจในหมู่ประชาชนปาตานี ประชาชนไทยและสังคมนานชาติว่า การแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีด้วยแนวทางทางการเมือง เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อยุติความขัดแย้งในพื้นที่นั้นอย่างมีศักดิ์ศรี ยั่งยืนและอย่างแท้จริง

ขอ 3 ข้อ เปิดทางสันติภาพปาตานี ‘กฎหมายรองรับ-กมธ.ถาวร-พูดคุยรากเหง้า’

ทั้งนี้ เพื่อแสดงความจริงจัง BRN ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการประเด็นต่อไปนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ทุกฝ่าย ได้แก่

1. รัฐบาลไทยต้องบัญญัติกฎหมายฉบับหนึ่งเพื่อรองรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพปาตานีทุกประเด็น

2. รัฐสภาไทยจำเป็นต้องจัดตั้งคณะกรรมาธิการถาวรชุดหนึ่งตามกลไกรัฐสภา ที่รับผิดชอบโดยตรงต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี

3. เพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีอย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี รัฐบาลไทยต้องพร้อมที่จะพูดคุยในประเด็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนี้ และแสวงหาแนวทางแก้ไขที่ตรงจุดและสอดคล้องกับความใฝ่ฝันและความต้องการของประชาชนปาตานีในประชาคมปาตานี 

ดังนั้น พวกเราคาดหวังว่า ในการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถพูดคุยประเด็นเกี่ยวกับทิศทางของกระบวนการเจรจาสันติภาพได้ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการพูดคุยรอบก่อนหน้านี้ เป็นก้าวไปข้างหน้า และประสิทธิภาพกับประสิทธิผลในการแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการพูดคุย กลไกในการนำมาปฏิบัติข้อตกลง และรายละเอียดของหลักการทั่วไปและแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม”

อ่านต้นฉบับภาษามลายู : Link

เอกสารแปลฉบับนี้ ยังได้ระบุรายชื่อผู้เข้าร่วมการพูดคุยครั้งนี้ ประกอบด้วย

ตัน ศรี ดาโต๊ะ ศรี พล.อ. ฮัจญี ซุลกิฟลี บิน ฮัจญี ไซนัล อาบีดิน หัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุย ฝ่ายมาเลเซีย

นายฮาฟีซู อิสลาอีล หัวหน้ากองเลขาธิการการเจรจาสันติภาพ

นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย (PEDP/RTG)

ส่วนคณะพูดคุยฝ่าย BRN ได้แก่

  1. นายอนัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่าย BRN
  2. นายคาลิล บิน อับดุลเลาะห์ (E.Khalil Bin Abdullah)
  3. นาย มูฮัมหมัด ซัมซูล บิน ซัมซุดิน (En. Muhammad Samsul Bin Samsudin)
  4. นาย มะมุน อับดุลการิม (En. Makmun Abdulkarim)
  5. นาย นิมะตุลลา บิน ซือรี (En. Nikmatullah Bin Seri)
  6. นาย อาหมัด นูร อับดุลเลาะห์ (En. Ahmad Nur Abdullah)
  7. นาย มูฮัมหมัด ฮานิฟ อับดุลมาญิด (En. Muhamad Hanif Abdulmajid)

รวมทั้ง นาง Siri Skare และ รศ. ดร. มารค ตามไท ในฐานะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net