Skip to main content
sharethis

อนุกรรมาธิการแถลงการดำเนินงานประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติ พบปัญหานโยบายรัฐที่ขาดความเข้าใจ ทำให้คนข้ามชาติ แรงงานหลุดจากระบบ เข้าไม่ถึงการคุ้มครอง เสี่ยงตกเป็นเหยื่อแสวงหาประโยชน์ โดยภารกิจของอนุฯ จะจบใน มี.ค. 2567 จะส่งต่อข้อเสนอถึง กมธ.การกฎหมายต่อไป

 

8 ก.พ. 2567 เพจเฟซบุ๊ก The Reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์วานนี้ (7 ก.พ.) ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ โดยมี กัณวีร์ สืบแสง ประธานอนุกรรมาธิการฯ และ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม พร้อมด้วยสมาชิกอนุกรรมาธิการฯ แถลงผลการดำเนินงานกว่า 4 เดือนที่ผ่านมา ในประเด็นข้อค้นพบและปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

กัณวีร์ กล่าวเบื้องต้นว่า การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติคือการที่คนเราถูกบังคับให้ออกจากบ้านเกิดประเทศตนเองไปที่ประเทศอื่นอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งอาจจะเหตุปัจจัยเรื่องการหนีการประหัตประหาร ได้รับผลกระทบจากสงคราม และอื่นๆ โดยส่วนบุคคลเหล่านี้คือผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หรือคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ดังนั้น จึงมีหลายกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทย และที่ผ่านมาเรายังไม่มีแนวทางรับมือหรือการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และตอนนี้เมื่อเขาเข้าไม่ถึงการคุ้มครอง ก็ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพิ่มเข้ามา

กัณวีร์ กล่าวถึงสถานการณ์และความจำเป็นว่า หลังการทำรัฐประหารพม่าปี 2564 พม่าอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีผู้ลี้ภัยหนีการประหัตประหารเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก หรือมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย และเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เราจำเป็นต้องมองหาแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งการใช้กฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งต่างๆ ที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น อนุกรรมาธิการฯ จึงมีการแบ่งคณะทำงานออกมาเป็น 4 คณะคือคณะผู้ลี้ภัย คณะแรงงานข้ามชาติ คณะคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และคณะที่รวมทั้งหมด เพื่อตกผลึกและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา

กัณวีร์ สืบแสง

ต้นปัญหาแรกไทยยังไม่เข้าใจการโยกย้ายถิ่นแบบผสมผสาน

ศิววงศ์ สุขทวี อนุกรรมาธิการ กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะเผชิญปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติมานานถึง 50-60 ปี แต่เป็นครั้งแรกที่ได้นำเรื่องมาพิจารณากันในสภาฯ แห่งนี้ ความสำคัญประเทศไทยด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาคมาอย่างยาวนาน แต่เงื่อนไขตั้งแต่หลังสงครามอินโดจีน ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน ความแตกต่างด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน และความต้องการแรงงานของไทย ทำให้เกิดปัจจัยโยกย้ายถิ่นที่มีความผสมหลากหลาย (mixed-migration) 

ศิววงศ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่านโยบายของรัฐไทยจะพยายามจัดการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติมาโดยตลอด แต่กลับไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นในปัจจุบัน เมื่อพิจารณาร่วมกับสังคมไทยที่มีกำลังแรงงานลดลง และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะลดลงมากขึ้น การโยกย้ายถิ่นฐานจึงมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ความซับซ้อนของปัญหาทำให้เราพบปัญหาในหลายกลุ่มระหว่างการศึกษา เช่น แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานเริ่มศูนย์เสียสถานะทางกฎหมาย และไม่สามารถเข้าถึงการมีฐานะทางกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ จากกรอบนโยบายที่มีความซับซ้อน มีระยะเวลาที่ยาวนาน และใช้ต้นทุนที่สูงขึ้น

ศิววงศ์ สุขทวี

กรณีผู้ลี้ภัย การที่ไทยไม่มีนโยบายรับรองผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ทำให้คนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ และหลายคนได้รับแรงกดดันทั้งทางสังคมและทางจิตใจ และการใช้กำลังบังคับปราบปรามจากประเทศต้นทาง เรามีกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติในชายแดนอีกหลายแสนคน หลายคนต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อพัฒนาสัญชาติ ซึ่งเหล่านี้ทำให้ปัญหาซับซ้อน และรัฐไม่เคยแก้ไข นอกจากนี้ รัฐไทยสร้างปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาเอง และสังคมไทยบางส่วนกำลังมีลักษณะแสวงหาผลประโยชน์จากการทำงานของผู้ที่เข้าไม่ถึงการปกป้องคุ้มครองในปัจจุบัน 

ปัญหานโยบายเน้นแก้ไขปัญหาสถานะเดียว ทำให้คนหลายกลุ่มหลุดจากการคุ้มครอง

อดิศร เกิดมงคล อนุกรรมาธิการ กล่าวถึงข้อค้นพบจากการศึกษาตอนนี้ผู้ที่เข้ามาในประเทศไทยมีสถานะทางกฎหมาย 2 แบบ ผู้อพยพจากพม่าจำนวนมากที่ลี้ภัยเข้ามา ไม่สามารถมีสถานะที่ถูกกฎหมาย ทำให้ต้องขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานข้ามชาติ ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหา 2 สถานะที่เกิดขึ้น สถานะแบบนี้ค้นพบข้อสังเกตสำคัญคือคนที่มีหลากหลายสถานะ แต่การออกแบบนโยบายของไทยเน้นการแก้ไขปัญหาสถานะใดสถานะหนึ่ง เช่น 1. การแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติโดยไม่สนใจเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานผู้ลี้ภัย 2. การออกแบบนโยบายมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเดียวทำให้ไปลงโทษคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายโดยใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง กับผู้หนีภัยการสู้รบ ทำให้การอยู่ในไทยของเขาไม่ปลอดภัย และ 3. ข้อค้นพบของอนุกรรมาธิการฯ คือไทยมีกฎหมายหลายตัวที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอเราไม่เข้าใจเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานแบบผสมผสาน มันทำให้การออกแบบนโยบายซับซ้อนมากขึ้นส่งปัญหาต่อเนื่องทำให้คนหลายกลุ่มเข้าไม่ถึงสิทธิความคุ้มครอง

“เราพบว่าแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายและต้องการต่ออายุใบอนุญาตทำงานหายไปจากระบบ 7 แสนคน และผู้ลี้ภัยอีกราว 1 แสนคนที่เข้าไม่ถึงการพิจารณาสถานะทางกฎหมาย เรามีคนไร้รัฐไร้สัญชาติอีกราวนับแสนคนที่อยู่ในประเทศไทย โดยไม่มีกระบวนการดำเนินการที่ชัดเจน ดังนั้น เราประมาณการคร่าวๆ มีอีกหลายคนที่อยู่ในประเทศไทยที่เกิดจากการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติ” อดิศร กล่าว

อดิศร เกิดมงคล

เสี่ยงตกเป็นเหยื่อแสวงหาผลประโยชน์

อดิศร ระบุต่อว่า ข้อสุดท้ายที่เราค้นพบคือภาวะความไม่ชัดเจนทางกฎหมาย และไม่เข้าใจการโยกย้ายถิ่นฐาน นำไปสู่การแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มคนเหล่านี้ ในพื้นที่ทั้งในภูเก็ต และแม่สอด จ.ตาก ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องแสวงหาการอยู่อาศัยอย่างไม่ปกติ เช่น การทำบัตรกับตำรวจ การจ่ายส่วยให้กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เพื่อให้อยู่ในพื้นที่ได้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นมันจึงกลายเป็นภาวะไม่ปกติของกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายด้วย 

โจทย์ไทยต่อไป สังคมผู้สูงวัย กำลังแรงงานกำลังจะหายไป

อดิศร กล่าวต่อว่า โจทย์ที่สำคัญต่อไปของไทยคือความขาดแคลนกำลังคนอันเนื่องมาจากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ปัจจุบัน ในประเทศไทยอัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราการตายค่อนข้างมาก ระยะยาวมันจะเกิดช่องว่าง โดยเราประมาณการว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าประชากรไทยจะหายไปประมาณ 1.6 ล้านคน ดังนั้น ในเมื่อเรามีกำลังคน 1 ล้านคนที่อยู่ในระบบ จะทำยังไงให้เขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมไทยได้ ซึ่งข้อมูลที่เราต้องศึกษาต่อที่ชัดเจนคือการจัดการ กฎหมายคนเข้าเมือง

ข้อค้นพบลงพื้นที่ภูเก็ต อ.แม่สอด แรงงานเข้าไม่ถึงสิทธิ และเด็กข้ามชาติเข้าไม่ถึงการศึกษา

ชวรัตน์ ชวรางกูร อนุกรรมาธิการ กล่าวถึงปัญหาที่เจอ 3 ปัญหาจากการลงพื้นที่ภูเก็ต และ อ.แม่สอด จ.ตาก 1. การเข้าไม่ถึงสิทธิการบริการขั้นพื้นฐาน ตอนไปดูงานที่ภูเก็ต เราพบว่า แรงงานจำนวนมากต้องคลอดลูกในบ้านตัวเอง หรือถ้าเกิดการระบาดโรคจากการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพจริงๆ จะทำให้เกิดโรคระบาดเข้ามาในเมืองภูเก็ตหรือไม่ 

จากการลงพื้นที่อำเภอแม่สอด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมจังหวัดตากเขต 2 ออกประกาศ เรื่อง มาตรการเกี่ยวกับการรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยโดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนในเขตปฏิเสธการรับนักเรียนต่างชาติบางกลุ่มได้ ในขณะที่มีเด็กฝั่งเมียนมาประสบปัญหาสงคราม อาจจะมีพ่อแม่บางส่วนเข้ามาทำงานในเมืองไทย ต้องดึงลูกหลานมาด้วยเพื่อความปลอดภัย แต่เด็กเหล่านี้กำลังเข้าไม่ถึงการศึกษาในไทย

ภาพบรรยากาศการลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก

ผู้ลี้ภัยเดิมเข้าไม่ถึงสิทธิแม้อยู่ไทยมา 40 ปี

ชวรัตน์ ระบุต่อว่า สถานะบุคคลของผู้ลี้ภัยเดิมที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งชายแดนไทย-เมียนมา กลุ่มนี้ไม่มีสถานะเลยแม้อยู่ประเทศไทยมา 40 ปี ไม่มีใครมีสถานะทำให้เขาไม่ได้รับการคุ้มครองทั้งจากต่างประเทศและประเทศไทย และเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ได้เลย

ชวรัตน์ กล่าวว่า ข้อค้นพบประการต่อมา พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ไม่สอดคล้องกับบริบทการโยกย้ายถิ่นฐานที่เปลี่ยนแปลงทั่วโลก มันส่งผลให้เกิดการลิดรอนสิทธิ และถูกใช้เพื่อการปราบปราม จับกุม คุมขัง และส่งกลับ โดยเราไม่ได้มองเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยธรรม และการพัฒนา

ชวรัตน์ ชวรางกูร

เสร็จสิ้นภารกิจ มีนา 67 ส่งข้อเสนอแนะ กมธ. 

กัณวีร์ ข้อเสนอเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานนั้นจะเสร็จสิ้นภารกิจในกลางเดือนมีนาคม 2567 ข้อเสนอแนะจะนำไปสู่การพิจารณาของกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และลองดูว่าเราจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรอย่างไร ถ้าสภาฯ เห็นชอบ จะนำไปสู่การเสนอรัฐบาล หรือ ครม. ต่อไป

กัณวีร์ กล่าวต่อว่า หลายคนอาจมีคำถามทำไมเราต้องทำงานกับคนกลุ่มนี้ อันนี้จริงๆ แล้วเป็นการพัฒนาการเมืองไทย และเราจะพัฒนาการเมืองไทยได้อย่างไร ถ้าเราไม่มองมนุษย์เป็นมนุษย์ กมธ. จะทำให้เราเห็นว่าเราได้มนุษย์อย่างเป็นมนุษย์แล้ว 

หลังจากนั้น อนุกรรมาธิการฯ ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net