Skip to main content
sharethis

'สส.เบญจา' ชี้ปัญหาไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือสัตหีบ ค่าไฟแพง-คุณภาพย่ำแย่ กระทบประชาชน ตั้งคำถามภารกิจทัพเรือจำเป็นต้องจำหน่ายไฟฟ้าหรือไม่ ยกโมเดลบ้านฉางระยอง โอนให้ กฟภ. ดำเนินการ เตรียมนำหารือในประชุม กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ สัปดาห์หน้า

7 ก.พ. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีวาระสำคัญ 2 เรื่อง คือการพิจารณาเรื่องการให้บริการกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และการพิจารณากรอบแนวทางการดำเนินงานของ กมธ.

เบญจากล่าวว่า เนื่องจากมติในการประชุมครั้งก่อน อนุญาตให้ถ่ายทอดสดได้เป็นครั้งคราว เมื่อเริ่มการประชุม กมธ. สัดส่วนพรรคก้าวไกลจึงเสนอให้ถ่ายทอดสด เพราะทั้งสองวาระเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเด็นกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือฯ ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ต้องจ่ายค่าไฟแพง การขอมิเตอร์ไฟฟ้าถาวรเป็นไปได้ยาก ส่วนใหญ่ใช้มิเตอร์ชั่วคราว แต่ประธาน กมธ. ระบุข้อกังวลเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของกองทัพ และยืนยันไม่ให้ถ่ายทอดสด

ส่วนการถ่ายโอนกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ไปอยู่ในการดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นั้น จากการประชุมทำให้ได้ทราบข้อมูลที่ไม่เคยทราบมาก่อน ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ขายไฟให้กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือฯ แล้วกิจการฯ ก็ขายไฟต่อให้ประชาชนในราคาที่สูงกว่า จากปกติ 4 บาทกว่าต่อหน่วย มิเตอร์ถาวรของกิจการฯ ขายประมาณ 6 บาทกว่าต่อหน่วย ส่วนมิเตอร์ไฟชั่วคราว สูงไปถึง 8-10 บาทต่อหน่วย 

นอกจากค่าไฟแพง คุณภาพการให้บริการยังมีปัญหา ไฟตก ไฟติดๆดับๆ ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าของประชาชนเสียหาย จากเฟซบุ๊กเพจของกิจการฯ จะเห็นประชาชนเข้ามาตำหนิต่อว่าอยู่เสมอ นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญนำมาสู่การพิจารณาศึกษาว่าจะถ่ายโอนธุรกิจนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กฟภ. เข้ามาดูแลได้อย่างไรบ้าง

เมื่อถามถึงอัตราค่าไฟที่กิจการฯ ขายให้ประชาชนแพงกว่าปกติ เบญจากล่าวว่า กองทัพไม่ได้ชี้แจงเรื่องนี้อย่างชัดเจน บอกเพียงว่าอัตราค่าไฟเท่ากับ กฟภ. แต่เรามีบิลค่าไฟจากพี่น้องประชาชนมาใช้ยืนยันว่าค่าไฟแตกต่างกัน แม้กองทัพบอกว่านั่นคือมิเตอร์ชั่วคราว เราก็ยืนยันกลับไปว่าต่อให้เป็นมิเตอร์ถาวร ถ้าดูจากบิลค่าไฟจะเห็นชัดเจนว่ามีความแตกต่างอยู่ประมาณ 2 บาทต่อหน่วย เช่น ประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ของกองทัพ ใช้จำนวนหน่วยไฟฟ้าเท่ากัน จ่ายประมาณ 2,000 บาท แต่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กิจการฯ ต้องจ่ายประมาณ 6,000 บาท เมื่อรวมกับภาษีอื่นๆ เท่ากับจ่ายค่าไฟสูงกว่าความเป็นจริงเกือบสามเท่าตัว

“เราไม่ติดใจเลยถ้ากองทัพสำรองไฟไว้ใช้แค่ในกิจการภายในและอยู่ในพื้นที่ความมั่นคง ซึ่งควรแบ่งให้ชัดเจน เช่น พื้นที่ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ พื้นที่การรบ แต่พื้นที่ที่อยู่นอกเหนือ เช่น เป็นรีสอร์ท เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ กองทัพเรือยังมีความจำเป็นต้องเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าหรือไม่” เบญจากล่าว

เบญจากล่าวว่า สำหรับสัปดาห์ต่อไป กมธ. จะศึกษาโมเดลการโอนถ่ายกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือฯ ของ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ที่เคยโอนถ่ายเมื่อปี 2537 ให้ กฟภ. ดูแล โดยปัจจุบันพื้นที่ อ.บ้านฉาง คล้าย อ.สัตหีบ คือกลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กองทัพเรือชี้แจงว่ายังติดใบอนุญาตที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  ให้จำหน่ายไฟได้อีกประมาณ 25 ปี เรื่องนี้จึงต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำไปชำระค่าสัมปทานที่กองทัพเรือชำระให้ กกพ. หรือที่กองทัพเรือได้ลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าไปแล้ว เพื่อส่งมอบหรือโอนธุรกิจนี้ให้ กฟภ. ดูแล ซึ่งทาง กฟภ. มีความพร้อมอย่างยิ่ง ดังนั้น ถ้านำโมเดลของ อ.บ้านฉาง ปรับใช้กับ อ.สัตหีบ ก็สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนกรณีสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่ากองทัพยอมรับความเปลี่ยนแปลง โรงไฟฟ้าที่สัตหีบ กองทัพคืนได้ แต่จะกันเอาไว้เฉพาะส่วนที่ใช้ในกองทัพเท่านั้น ตนยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เพราะในที่ประชุม ตัวแทนจากกองทัพไม่ได้พูดเหมือน รมว.กลาโหม ทั้งยังยืนยันว่าพื้นที่กิจการฯ ดังกล่าวเป็นพื้นที่ความมั่นคง 

เบญจากล่าวว่า ส่วนวาระที่สอง คือการพิจารณากรอบแนวทางการดำเนินงานของ กมธ. ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้วที่ต้องการหารือเกี่ยวกับขอบเขตการทำงานของ กมธ. ชุดนี้  แต่ประธาน กมธ. ยังไม่มีความชัดเจน ขอเลื่อนเป็นวาระการประชุมครั้งหน้า ซึ่ง กมธ. สัดส่วนพรรคก้าวไกล รวมถึงคนอื่นๆ เห็นว่าไม่มีความจำเป็น เพราะเรื่องนี้ใช้เวลาไม่นาน ในขณะที่ธุรกิจกองทัพมีจำนวนมาก การทำงานจึงต้องวางกรอบให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อในการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ จะสามารถลงรายละเอียดแต่ละประเด็นได้ 

เช่น อนุฯ ศึกษาธุรกิจพลังงาน อนุฯ ศึกษาธุรกิจคลื่นวิทยุ จะทำให้รู้ว่ามีธุรกิจอะไรบ้างของกองทัพ ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ หรือที่เป็นสวัสดิการภายใน หรือที่เป็นสวัสดิการที่ต้องส่งเงินคืนคลัง เมื่อเห็นภาพชัด กมธ. จะทำงานได้ครบและรอบด้านภายในกรอบ 90 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net