Skip to main content
sharethis

อดีตคนงาน 'บอดี้แฟชั่น' ซึ่งถูกนายจ้างลอยแพ ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง กมธ.การแรงงาน ขอให้บังคับใช้กฎหมายแรงงาน ช่วยทวงเงินค่าชดเชย โบนัส ดอกเบี้ย เงินค่าจ้างให้คนงาน และอื่นๆ รวมกว่า 209 ล้านบาท

 

4 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานเมื่อ 1 ก.พ. 2567 ที่อาคารรัฐสภา แยกเกียกกาย อดีตคนงาน บริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด นำโดย ปีใหม่ รัฐวงษา ตัวแทนอดีตคนงาน ยื่นหนังสือถึง ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอให้บังคับใช้กฎหมายแรงงาน เพื่อทวงสิทธิและเงินค้างจ่ายจำนวนมากของอดีตคนงาน โดยวันนี้ สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธาน กมธ.การแรงงาน พร้อมด้วย เซีย จำปาทอง รองประธาน กมธ.การแรงงาน เป็นผู้มารับหนังสือ 

(ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

ทั้งนี้ โรงงานของบริษัทบอดี้แฟชั่น เป็นโรงงานที่ผลิตชุดชั้นในให้กับแบรนด์ชั้นนำมากมาย เช่น Victoria’s Secret Triumph และ Huber กรณีนี้มีอดีตพนักงานบอดี้แฟชั่น สาขาบางพลี จ.สมุทรปราการ และนครสวรรค์ เป็นผู้เสียหายรวม 932 ราย ถูกค้างค่าจ้าง เงินชดเชยเลิกจ้าง ดอกเบี้ย โบนัส และอื่นๆ รวมระยะเวลา 4 ปี (ตั้งแต่บริษัททยอยเลิกจ้างตั้งแต่ปี 2562) โดยคิดเป็นเงิน 209 ล้านบาท พนักงานที่ผู้สื่อข่าวเคยสัมภาษณ์ถูกค้างค่าจ้างและเงินชดเชยสูงถึง 1 แสนบาท ขณะที่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จ่ายเงินค่าชดเชยให้ 43 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้เมื่อ 22 ธ.ค. 2566 กลุ่มอดีตคนงานบอดี้แฟชั่น, เอเอ็มซี สปินนิ่ง, และแอลฟ่าสปินนิ่ง เคยเดินขบวนมาขอให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือแล้ว โดยให้เพิ่มเพดานเงินชดเชยจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เดิม 70 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ และขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณกลางช่วยลูกจ้างที่ถูกลอยแพ แต่ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลช่วยเหลือลูกจ้างเพิ่มเติมแต่อย่างใด จึงเป็นเหตุให้ทางอดีตพนักงานโรงงานบอดี้แฟชั่น เดินทางมายื่นหนังสือต่อ ประธานกรรมาธิการการแรงงานตามที่รายงานข้างต้น 

เซีย จำปาทอง ในฐานะรองประธาน กมธ. ระบุว่ากรรมาธิการการแรงงาน ช่วยติดตามกรณีที่กระทรวงแรงงาน ได้มีข้อตกลงว่าจะนำเสนอการเยียวยาให้ลูกจ้าง ตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2566 มาถึงวันนี้ (1 ก.พ. 2567) รวมระยะเวลา 1 เดือนกว่า แต่ความทุกข์ร้อนของพี่น้องแรงงาน วันเดียวก็ถือว่าทุกข์ร้อนมากสำหรับคนตกงาน 

เซีย กล่าวต่อว่า บทบาทของ กมธ.จะเร่งรัดช่วยเหลือลูกจ้างตามกระบวนการ กมธ. โดยจะมีการเชิญกระทรวงแรงงานมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีเหตุขัดข้องประการใดถึงไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องของลูกจ้างได้ 

รายละเอียดหนังสือ

เรียน ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร 

เรื่อง ขอให้บังคับใช้กฎหมายแรงงานเพื่อทวงสิทธิและเงินค้างจ่ายจำนวนมากของอดีตคนงาน

สืบเนื่องจากการที่บริษัทบอดี้แฟชั่นไทยแลนด์ ผู้ผลิตชุดชั้นในชื่อดังของโลก อาทิเช่น Victoria’s Secret, Triumph และ Huber ได้ทยอยปิดกิจการสาขานิคมเมืองใหม่บางพลี สาขาบางปลา จังหวัดสมุทรปราการ และสาขาจังหวัดนครสวรรค์ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เลิกจ้างคนงานทั้งหมดราวหนึ่งพันคน ไม่จ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย เงินโบนัส และเงินอื่น ๆ รวมเป็นจำนวนเงินมากกว่า 200 ล้านบาท แม้มีการฟ้องร้องต่อศาลแรงงานจนคดีถึงที่สุดและมีคำสั่งให้จ่ายเงินกับลูกจ้างแล้วก็ตาม

กระทรวงแรงงานไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน และได้ปล่อยให้การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างเป็นไปอย่างล่าช้า รวมถึงขาดการติดตามการบังคับคดีอายัดทรัพย์นายจ้างจนทำให้มีการโยกย้ายทรัพย์สินออกไปหมด ในขณะที่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้จ่ายเงินให้คนงานไปทั้งหมดเพียง 43 ล้านบาท ซึ่งขัดต่อสิทธิแรงงานและส่งผลให้คนงานต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ยาก

อีกเรื่องหนึ่ง ในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 อดีตคนงานบริษัทแอลฟ่าสปินนิ่ง บริษัทเอเอ็มซีสปินนิ่งและบริษัทบอดี้แฟชั่นไทยแลนด์ ได้เดินทางไปร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงานและนอนค้างคืนด้านนอกรั้วกระทรวงหนึ่งคืน โดยมีนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีฯ และที่ปรึกษา รวมไปถึงรองปลัดกระทรวงแรงงานและผู้ตรวจราชการกรมฯ ที่ได้มารับเรื่องในฐานะตัวแทนรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ซึ่งต่อมาในการประชุมวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ได้มีข้อสรุปร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่า

  1. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะจัดประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในวันที่ 28 ธันวาคม 2566 เพื่อแก้ไขระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย พ.ศ. 2565 ให้อัตราที่สูงขึ้นกว่าระเบียบเดิม 
  2. กระทรวงแรงงานเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นมาจ่ายให้ลูกจ้างทั้ง 3 บริษัท เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินตามสิทธิครบถ้วนตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด 

แต่จากการติดตามผลการประชุมดังนี้ ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่ได้ประชุมหารือและไม่มีการกระทำอื่นใด เพื่อช่วยเหลือคนงานที่ได้ประสบความเดือดร้อนมาเป็นเวลานาน

เราจึงเรียนมายังคณะกรรมาธิการการแรงงานให้ตรวจสอบรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เลขานุการรัฐมนตรี นายอารี ไกรนรา คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ซึ่งล้มเหลวทางหน้าที่ในประเด็นดังต่อไปนี้

  • ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายแรงงานให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด
  • ละเลยการติดตามและบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน
  • ละเลยการดำเนินคดีอาญากับนายจ้างที่ทำผิดกฎหมายและหลบหนีอย่างชัดเจน
  • ไม่ปฏิบัติดังคำสัญญาตามข้อสรุปการประชุมในวันที่ 22 ธันวาคม 2566 

ทั้งนี้เพื่อให้คนงานทั้ง 3 บริษัทได้รับเงินครบถ้วนเต็มจำนวนตามสิทธิที่ผู้ใช้แรงงานพึงมีภายใต้กฎหมายแรงงานปัจจุบันเสียทีและเพื่อมิให้อยุติธรรมต่อคนงานเช่นนี้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
ปีใหม่ รัฐวงษา ตัวแทนกลุ่มอดีตคนงานบอดี้แฟชั่น
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net