Skip to main content
sharethis

หน่วยงานบรรเทาทุกข์ปาเลสไตน์ของยูเอ็นที่ชื่อว่า UNRWA กำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องชาติตะวันตกหยุดบริจาคให้แก่องค์กรนี้ ทำให้เกิดความกังวลเรื่องที่ว่าจะกระทบต่อความช่วยเหลือต่อผู้คนในฉนวนกาซ่า สาเหตุที่หยุดบริจาคเพราะอิสราเอลกล่าวหาว่ามีคนทำงานให้ UNRWA ไม่กี่คนมีส่วนร่วมกับการก่อเหตุโจมตีโดยฮามาส ขณะเดียวกันก็มีข้อกังขาว่ากลุ่มชาติอาหรับที่ออกปากสนับสนุนปาเลสไตน์ทำไมไม่ช่วยบริจาคให้กับชาวปาเลสไตน์ที่เดือดร้อน

ทางการแคนาดาและทางการสหรัฐฯ ยกเลิกการบริจาคเงินทุนให้กับ "สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้" (UNRWA) หลังจากที่ทางการอิสราเอลอ้างว่า เจ้าหน้าที่บางคนขององค์กรดังกล่าว มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีอิสราเอลเมื่อต้นเดือน ต.ค. 2566

นอกจากนี้แล้วประเทศอื่นๆ อีก 7 ประเทศคือ สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, อิตาลี, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์ และฟินแลนด์ ก็ยกเลิกบริจาคให้กับองค์กรดังกล่าวเช่นกัน

ปัจจุบัน UNRWA กำลังให้ที่พักพิงแก่ประชาชนจากฉนวนกาซ่า สมาชิกขององค์กรนี้มีทั้งคนที่ทำงานเป็นครู, พยาบาล, ภารโรง และงานสังคมสงเคราะห์อื่นๆ ที่คอยดูแลผู้คนที่พลัดถิ่นเพราะการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล

องค์กร UNRWA นี้ยังมีบทบาทสำคัญในเรื่องการลำเลียงความช่วยเหลือจากองค์กรอื่นๆ คอยดูว่ามีความต้องการอะไรที่ยังขาดเหลืออยู่บ้าง และแสวงหาทรัพยากรเพื่อนำไปให้กับส่วนที่ขาดเหลือนั้น

ไมเคิล บอซิวคิว นักวิเคราะห์กิจการนานาชาติชาวแคนาดาที่เคยทำงานเป็นโฆษกองค์กร UNICEF เพื่อเวสต์แบงค์และกาซ่า กล่าวถึง UNRWA ว่า "พวกเขาก็เหมือนกับเทศบาลนั่นแหละ พวกเขาทำงานดูแลจัดการอะไรหลายอย่างมากๆ ตั้งแต่โรงพยาบาล, สาธารณสุข, การศึกษา, สุขาภิบาล อะไรประมาณนี้"

ประณามการรวมหัวหยุดบริจาค นับเป็น 'การลงโทษแบบเหมารวม'

ฟิลิปเป ลาซซารินี ประธานของ UNRWA ระบุว่าการที่กลุ่มประเทศตะวันตกหลายประเทศรวมหัวกันยกเลิกเงินบริจาคให้กับองค์กรของเขานั้นนับเป็น "การลงโทษแบบเหมารวม" อีกทั้งยังบอกว่าเป็นเรื่องน่าตกใจที่มีการตัดสินใจเช่นนี้ในช่วงที่กาซ่ากำลังเผชิญกับ "ภาวะอดอยากหิวโหยที่คืบคลานเข้ามา" หลังจากที่เมืองถูกทำลายจากการกระหน่ำโจมตีไม่หยุดจากกองทัพอิสราเอลนาน 4 เดือน ส่งผลให้ผู้คนถูกสังหารมากกว่า 26,000 ราย

อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการของสหประชาชาติร่วมเรียกร้องกับลาซซารินี ขอให้ผู้บริจาคยังคงบริจาคให้กับองค์กรบรรเทาทุกข์ต่อไปเพื่อช่วยเหลือคนในกาซ่าที่กำลังขาดแคลน

UNRWA มีคณะทำงานในกาซ่า 13,000 ราย เป็นองค์กรหลักที่คอยช่วยเหลือประชาชนในกาซ่าท่ามกลางหายนะด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้น ลาซซารินีกล่าวว่า ในพื้นที่ๆ ถูกล้อมอย่างกาซ่ามีประชาชนมากกว่า 2 ล้านจากประชากรทั้งหมด 2.3 ล้านคน ที่ต้องพึ่งพิง UNRWA เพื่อ "แค่ให้อยู่รอดได้" เช่น อาหารหรือที่พักพิง รวมถึงเตือนว่าระบบช่วยยังชีพเหล่านี้พร้อมที่จะ "พังลงมาเมื่อไหร่ก็ได้"

กูแตร์เรสบอกว่าลูกจ้างของ UNRWA ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับ "การก่อการร้าย" จะต้องถูกดำเนินการ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้คนหลายหมื่นคนที่ทำงานกับ UNRWA ที่ไม่สมควรจะถูกลงโทษไปด้วย มีคนทำงานให้ UNRWA อยู่จำนวนมากที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายอย่างมากสำหรับคนทำงานด้านมนุษยธรรม

การโจมตีจากกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 มีผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือนถูกสังหารประมาณ 1,100 ราย มีการจับคนเป็นตัวประกันประมาณ 240 ราย

ทางยูเอ็นระบุว่าพวกเขาได้มีการสืบสวนข้อกล่าวหาที่ว่ามีคณะทำงาน UNRWA 12 รายมีส่วนร่วมกับการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. และมีการไล่ออกคณะทำงาน 9 รายจาก 12 รายที่ถูกกล่าวหาในเรื่องนี้แล้ว ทั้งนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาอยู่รายหนึ่งที่ได้รับการยินยันว่าเสียชีวิตแล้ว และมีผู้ถูกกล่าวหาอีกสองรายที่ทางองค์กรกำลังทำการตรวจสอบตัวตนของพวกเขา นอกจากนี้ยูเอ็นยังระบุอีกว่าพวกเขาพร้อมจะให้ความร่วมมือกับ "ทางการที่มีความสามารถมากพอ" ในการดำเนินคดีกับบุคคลโดยเป็นไปตามกระบวนการปกติ

ลาซซารินีบอกว่ามันเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่มีการระงับการให้เงินบริจาคเพียงเพราะมีคณะทำงานกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คนที่ถูกกล่าวหาในเรื่องร่วมมือกันฮามาส โดยที่บุคคลเหล่านี้ถูกไล่ออกแล้วและกำลังมีการสืบสวนสอบสวนอย่างอิสระจากสำนักงานกำกับดูแลภายในของสหประชาชาติ ในขณะเดียวกันผู้คนอีก 2 ล้านคนกำลังเสี่ยงต่อการเผชิญภาวะอดอยากหิวโหยและกำลังต้องการความช่วยเหลือ

แต่อิสราเอลก็ยังคงเดินหน้ากล่าวโจมตีหน่วยงานของยูเอ็น รัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอลที่ชื่อ อิสราเอล แคตซ์ เรียกร้องให้ลาซซารินีออกจากตำแหน่ง
ฝ่ายปาเลสไตน์ประณามการระงับเงินบริจาค

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของปาเลสไตน์และฮามาสได้วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจระงับเงินบริจาคช่วยเหลือของชาติตะวันตกว่าเป็นการ "ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงด้านการเมืองและด้านความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรม"

ฮุสเซน อัล-ชีค เลขาธิการใหญ่ขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ระบุว่า "ในเวลาแบบนี้ และภายใต้การใช้กำลังรุกรานต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ พวกเราต้องการความช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อองค์กรนานาชาตินี้ และต้องการความช่วยเหลือสนับสนุนต่อพวกเขาอย่างไม่หยุดยั้ง" ชีคขอให้ประเทศที่ถอนการบริจาค "ทำการตัดสินใจให้กลับมาเป็นแบบเดิมโดยทันที"

รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของปาเลสไตน์วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ว่าเป็นแผนการของอิสราเอลในการโจมตี UNRWA และฮามาสได้ประณามเรื่องที่ยูเอ็นไล่พนักงานของ UNRWA ออกว่าเป็น "พิจารณาตามข้อมูลที่เอามาจากพวกไซออนิสต์ที่เป็นศัตรู" ("ไซออนิสต์" เป็นชื่อเรียกขบวนการชาตินิยมที่สนับสนุนให้ชาวยิวตั้งรกรากในแผ่นดินของปาเลสไตน์)

อดีตโฆษก UNRWA ถามหาชาติอาหรับ ทำไมไม่ช่วยชาวปาเลสไตน์

คริส กันเนส อดีตโฆษกของ UNRWA กล่าวว่ามันมี "การร่วมมือกันโจมตีทางการเมือง" ต่อหน่วยงานของยูเอ็นที่ทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ กันเนสบอกอีกว่า "อิสราเอลเคยพูดไว้ว่าพวกเขาไม่สามารถเอาชนะสงครามในกาซ่าได้เว้นแต่ UNRWA จะถูกยุบ คุณต้องการสัญญาณอะไรที่ชัดเจนกว่านี้อีกหรือ"

นอกจากนี้กันเนสยังได้ถามหากลุ่มประเทศอาหรับที่มักจะแสดงออกสนับสนุนปาเลสไตน์ว่า ในช่วงเวลาแบบนี้พวกเขาหายไปไหน ไม่มีการบริจาคเพิ่มให้กับหน่วยงานที่ช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์เพื่อทบกับส่วนที่หายไปเพราะตะวันตกระงับการบริจาค

"ข้อความจากผมถึงประเทศโลกอาหรับ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับ พวกคุณไปอยู่ไหนกัน เพราะว่าพวกคุณกำลังทำเงินหลายพันล้านต่อวันด้วยรายได้จากน้ำมัน แค่เงินเล็กๆ น้อยๆ จากรายได้การขายน้ำมันของคุณก็จะสามารถแก้ปัญหาทางการเงินของ UNRWA ได้ชั่วข้ามคืน ทำให้ชดเชยได้อย่างรวดเร็วต่อช่องว่าง(การขาดเงินบริจาค)ที่รุนแรงเกินกว่าเหตุจากการกระทำของชาติตะวันตก" กันเนสกล่าว

"มีกลุ่มคนที่กำลังเข้าตาจนในตะวันออกกลางที่ตอนนี้กำลังเผชิญกับภาวะอดอยาก พวกเขากำลังเผชิญกับความขาดแคลน และกลุ่มรัฐอาหรับก็ควรจะกระทำการอะไรสักอย่างกับวิกฤตนี้" กันเนสกล่าว

การเจรจาตัวประกันเป็นอย่างไรบ้าง

ทางการอิสราเอลเคยประกาศว่ามีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ, อิสราเอล, กาตาร์ และอียิปต์ ในการให้ฮามาสปล่อยตัวตัวประกันชาวอิสราเอลทั้งหมดเพื่อแลกเปลี่ยนกับการหยุดยิง 2 เดือน และระบุว่าการประชุมมีความคืบหน้าที่ดี แต่ก็ยังมีช่องว่างที่ต้องหารือร่วมกันเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าเพิ่มเติมในเรื่องนี้ระบุว่ามีการวางแนวทางความเป็นไปได้ของข้อตกลง อย่างการให้อิสราเอลถอนทัพออกจากกาซ่าทั้งหมด รวมถึงให้มีการหยุดการสู้รบกันเป็นเวลา 6 เดือนจากทั้งสองฝ่าย ในขณะที่กลุ่มฮามาสต้องปล่อยตัวตัวประกันที่เป็นพลเรือนทั้งหมดแลกกับการที่อิสราเอลจะต้องปล่อยตัวประกันกับนักโทษที่รวมแล้วมากกว่าจำนวนตัวประกันของปาเลสไตน์ถึง 3 เท่า

อย่างไรก็ตามร่างข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ได้มีการบรรลุข้อตกลงอย่างชัดเจนแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิสราเอลกล่าวต่อสื่อว่ามันมี "สัญญาณบ่งชี้ที่ชัดมาก" ว่าข้อตกลงนี้จะมีความคืบหน้าต่อไป

เรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net