Skip to main content
sharethis

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กลุ่มทะลุแก๊ซและประชาชน จัดเดินรณรงค์ หน้าป้ายแยกราชประสงค์ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสยามสแควร์ ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ภาคประชาชน หวังสร้างความรับรู้ต่อประชาชนในกรุงเทพฯ

29 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 ม.ค.) เวลา 15.05 น. บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กลุ่มทะลุแก๊ซ และประชาชน จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ ผลักดันร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมคดีการเมือง ภาคประชาชน ตั้งแต่ แยกราชประสงค์ ถึงสยามสแควส์ โดยมีเป้าหมายสร้างความรับรู้ต่อประชาชนในกรุงเทพฯ ในเรื่อง พ.ร.บ. ดังกล่าว

ธีรัตม์ พณิชอุดมพัชร์ หรือ แชมป์ สมาชิก ครช. กล่าวว่า วันนี้จะมีกิจกรรมเดินรณรงค์ด้วยกัน 4 จุด ประกอบด้วย ป้ายแยกราชประสงค์ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจุดสุดท้ายคือสยามสแควร์ นอกจากจะมีการเดินรณรงค์ชูป้ายแล้ว จะมีการแจกแผ่นพับข้อมูล พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และสติกเกอร์ และหลังจากที่เดินรณรงค์ที่สยามสแควร์แล้ว จะมีการไปรณรงค์ที่จตุจักรอีกด้วย โดยคาดว่ากิจกรรมทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในเวลา 19.30 น.

ธีรัตม์ ระบุต่อว่า สำหรับประชาชนที่สัญจรผ่านไป-มาและรู้สึกสนใจ หรือสงสัยว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คืออะไร  อาจจะลองเข้าไปเสิร์ชใน Google ก็ได้ว่าเขาทำอะไรกัน เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ 

หลังจากนี้ ในวันที่ 1 ก.พ. 2567 จะเป็นวันเปิดแคมเปญใหญ่ ผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ฉบับประชาชน ที่รัฐสภา และจะมีการเดินสายไปตามพรรคการเมืองต่างๆ เช่น พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคอื่นๆ 

สมาชิก ครช. กล่าวต่อว่า ช่วงระหว่าง 1-14 ก.พ. จะมีกิจกรรมตลอด ประชาชนสามารถไปเข้าร่วมหรือส่งเสียงได้ หรือเข้าชื่อผลักดัน กฎหมาย นิรโทษกรรมฯ ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.05 น. นักกิจกรรมและประชาชนเริ่มเดินขบวนไปที่ป้ายแยกราชประสงค์ เพื่อรณรงค์ชูป้าย ปรากฏข้อความว่า “นิรโทษกรรมประชาชน” จากนั้น เวลา 15.23 น. ประชาชนได้ดินไปชูป้ายนิรโทษกรรมฯ ที่หน้าโรงพยาบาลตำรวจ และหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามลำดับ

เวลา 15.46 น. นักกิจกรรมได้เดินทางต่อมาที่สยามสแควร์ แต่ระหว่างที่ยืนทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ประกาศผ่านโทรโข่งแจ้งข้อกล่าวหาต่อ กรกช แสงเย็นพันธุ์ แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ขอให้ยุติการชุมนุมภายในเวลา 30 นาที เนื่องการการชุมนุมของกลุ่ม DRG ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการละเมิด พ.ร.บ. การชุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และไม่ได้มีการจดแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า

หลังจากตำรวจแจ้ง พ.ร.บ.ชุมนุมเสร็จสิ้น นักกิจกรรมได้ตะโกนตอบรับว่า “เยี่ยมจริงๆ” ซ้ำๆ

เมื่อเวลา 16.07 น. นักกิจกรรมได้เคลื่อนขบวนไปที่สถานีรถไฟฟ้า BTS จตุจักร เพื่อยืนถือป้ายรณรงค์ต่อ และยุติกิจกรรมในเวลา 17.00 น.

สำหรับผู้ที่ต้องการอ่านสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ฉบับประชาชน และเปรียบเทียบกับร่างอื่นๆ อีก 3 ร่าง สามารถอ่านได้ที่นี่ https://prachatai.com/journal/2024/01/107780

นิรโทษกรรมคดีการเมืองสำคัญอย่างไร

ธีรัตม์ พณิชอุดมพัชร์ หรือ ‘แชมป์’ สมาชิก ครช. ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวก่อนการเริ่มกิจกรรม ระบุว่า การนิรโทษกรรมคดีการเมือง ทั้งคดีที่สิ้นสุดแล้ว หรืออยู่ระหว่างสอบสวน ตั้งแต่ปี 2549 พวกเขาควรได้รับการนิรโทษกรรมฯ เนื่องจากพวกเขาถูกคดีความจากการใช้เสรีภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น พวกเขาไม่ควรจะโดนคดีความแต่แรก

ธีรัตม์ กล่าวต่อว่า นิรโทษกรรมฯ ช่วยประชาชนได้มาก ต้องนึกว่าคนหนึ่งๆ เมื่อโดนคดีทางการเมือง เขาต้องเสียอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตแม้ว่าจะไม่ได้เข้าเรือนจำ จำนวนมากผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองได้รับความเดือดร้อนจากการเดินทางมารับทราบข้อหา บางคนบ้านอยู่เหนือสุดของประเทศไทยแต่กลับต้องเดินทางไปภาคใต้เพื่อรับทราบข้อหา เรื่องนี้สร้างความเดือดร้อน และอย่างที่บอกไป คนที่โดนดำเนินคดีมีจำนวนเยอะมาก

“อย่าบอกว่าคนที่โดนคดีอย่างไม่เป็นธรรม มันไม่ได้เดือดร้อนแค่ตัวเขา แต่มันเดือดร้อนคนรอบข้าง เขามีครอบครัว มีเพื่อน การที่เขาต้องถูกดำเนินคดีทางการเมือง ทำให้ครอบครัวของเขาเดือดร้อนไปด้วย หลายคนที่โดนดำเนินคดีทางการเมืองไม่ได้เป็นคนมีฐานะ ทำงานหาเช้ากินค่ำ ไม่ได้มีเงินในการประกันตัว แค่ค่าเดินทางยังไม่มีเลย คนเหล่านี้โดนคดีต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาบ่อยๆ ก็ไม่สามารถทำงานได้”

“แม้ว่าคนที่โดนคดีคุณอาจจะมองว่าเป็นคนส่วนน้อยของสังคม แต่ไม่มีควรโดนคดีหรือได้รับผลกระทบจากตรงนี้ แม้ว่าการนิรโทษกรรม อาจจะชดเชยสิ่งที่เขาสูญเสียไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยเขาก็ควรได้รับอิสรภาพ” สมาชิก ครช. กล่าว

ธีรัตม์ พณิชอุดมพัชร์

ทำไมต้องรวมมาตรา 112

สำหรับก่อนหน้านี้มีประเด็นถกเถียงกันว่า ผู้ต้องหามาตรา 112 ควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ และบางคนมองว่ามาตรา 112 ไม่ได้เป็นคดีทางการเมือง ธีรัตม์ มองว่า ในทางกฎหมาย มาตรา 112 เป็นคดีอาญา แต่การบังคับใช้เป็นคดีการเมืองแท้ๆ เลย  ถ้าเราดูในส่วนของนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง จำนวนมากโดนข้อหา 112 โดยที่การกระทำของเขาไม่เข้าองค์ประกอบความผิดด้วยซ้ำ คือเขาไม่ได้ดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ แต่แค่การแสดงความเห็น แชร์สเตตัส แชร์ข้อความต่างๆ พวกเขาก็โดนคดีมาตรา 112 และต้องเข้าไปอยู่เรือนจำจำนวนมาก 

ธีรัตม์ กล่าวต่อว่า ไม่ใช่แค่นักกิจกรรมแต่ตอนนี้มีประชาชนอีกหลายคนที่โดนคดีมาตรา 112 เพราะว่าอาจจะเป็นเรื่องการเมือง หรือการกลั่นแกล้งกัน ปัญหาของมาตรานี้มันเปิดช่องให้ฟ้องใครก็ได้ และตัวเจ้าหน้าที่ก็ต้องรับ ทำให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 จำนวนมาก และมันจะมีอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง อย่างน้อยถ้าเรายังไม่สามารถยกเลิก ปฏิรูปกฎหมายตัวนี้ได้ มันจำเป็นที่จะต้องนิรโทษกรรมฯ เพื่อให้ประชาชนและนักกิจกรรมไม่สูญเสียจากมาตรา 112 ไปมากกว่านี้ 

เสียงประชาชนสำคัญอย่างไร

สมาชิก ครช. ระบุว่า ที่เราต้องมาบอกประชาชนเพราะว่าเราต้องการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนี้ เพราะว่าเราต้องการแรงทุกคนช่วยเหลือ และยิ่งมีจำนวนมากเท่าไร เรายิ่งต้องมีพลังในการกดดันรัฐบาล 

“ถ้าเราร่วมกันส่งเสียงเป็นวงกว้างเป็นกระแสสังคมขึ้นมา ถึงฉันไม่เกี่ยว แต่ฉันก็อยากนิรโทษกรรมให้คนที่ใครก็ตามที่สมควรได้รับอิสรภาพ ฉันอยากยืนยันในหลักการนี้ ผมคิดว่าถ้ามันเป็นกระแสวงกว้างขนาดนั้น ผมคิดว่ารัฐบาลจะฟังมากขึ้น …ผมคิดว่าเรื่องนี้จะสำเร็จได้ จะเกิดจากเสียงที่ประชาชนร่วมกันส่งเสียง ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง”

"นักกิจกรรมทางการเมืองจำนวนมาก รวมถึงคนที่ไม่ใช่นักกิจกรรมทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นคนที่ไปชุมนุม เพื่อที่จะเรียกร้องอะไรสักอย่าง จำนวนมากเช่นเดียวกัน คนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ถูกคดีทางการเมืองและได้รับความเดือดร้อนในชีวิต เราอาจจะไม่ได้รู้จักเขามาก่อน ไม่รู้ว่าเขาเป็นใครที่ไหน ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตผม แต่เขาเป็นเพื่อนมนุษย์ และเขาควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ควรมีสิทธิเสรีภาพที่จะอยู่ข้างนอกกับพวกเราอย่างนี้

"เราเป็นประชาธิปไตยไม่ได้หรอกตราบใดที่เรายังมีคนเหล่านี้อยู่ในเรือนจำ หรือว่ามีคนเหล่านี้ถูกตั้งข้อหาทางการเมือง ก็เลยอยากให้ทุกคนมองเรื่องนี้เป็นปัญหา แม้มันจะไม่เกี่ยวกับพวกคุณ แต่มันเป็นปัญหาจริงๆ แล้วถ้าวันหนึ่งเรามีส่วนร่วมในการที่เราจะผลักดันให้อิสรภาพคนเหล่านี้ได้ ให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้ผ่านการนิรโทษกรรมฯ ก็อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมกัน ทั้งการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การติดแฮชแท็กในอินเทอร์เน็ต และการส่งเสียงบอกรัฐบาลว่านิรโทษกรรมประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญมากจริงๆ" ธีรัตม์ ทิ้งท้าย

ภาพบรรยากาศเพิ่มเติม : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net