Skip to main content
sharethis
  • 'ปัญญา' ให้ปากคำกับ 'สุรเชษฐ์' รอง ผบ.ตร. ยืนยันถูก ตร.นายหนึ่งบังคับให้รับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือฆ่า 'บัวผัน' โดยมีการคลุมถุงดำ บังคับถอดเสื้อ และเปิดแอร์ ให้เกิดความเหนื่อยล้า และหนาว จนยอมรับสารภาพ
  • 'สมชาย' กก.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ เผยการกระทำของตำรวจ ผิดตาม ม.6 กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานฯ และมาตรา 157 หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จี้ตำรวจต้องปฏิบัติตามกฎหมายติด 'Body Cam' บันทึกภาพเคลื่อนไหวระหว่างปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง

 

18 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวันนี้ (18 ม.ค.) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หนึ่งในองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องการทรมานและอุ้มหายเป็นหนึ่งในประเด็นที่แอมเนสตี้ฯ ผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation - CrCF) ได้มีโอกาสพูดคุยกับ สมชาย หอมลออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เกี่ยวกับคดีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการคลุมถุง ปัญญา คงคำแสน อายุ 54 ปี หรือที่หลายคนเรียกว่า 'ลุงเปี๊ยก' ผู้ต้องสงสัยคดีการเสียชีวิต บัวผัน ตันสุ อายุ 47 ปี หรือที่หลายคนเรียกชื่อเล่นว่า 'ป้ากบ' ตามที่เป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้

สมชาย หอมลออ

คลุมถุงดำขณะสอบปากคำ ผิดกฎหมายป้องกันซ้อมทรมานฯ-ละเว้นปฏิบัติหน้าที่

โดยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ชี้ตำรวจไม่มีอำนาจคลุมถุงดำ ขณะสอบปากคำ นายปัญญา หรือปัญญา ผู้ต้องสงสัยคดีการเสียชีวิตของบัวผัน ชี้ผิดกฎหมายทรมาน-อุ้มหาย ม.6 อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำ โหดร้ายไร้มนุษยธรรม-ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิด ม.157 และขณะควบคุมตัวต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวเป็นหลักฐานยืนยันความโปร่งใสขณะจับกุม ย้ำตำรวจไทยต้องไม่ลืมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามทรมานอุ้มหาย 

จากคดีการเสียชีวิตของบัวผัน ที่พบเยาวชนในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวะสระแก้ว ตกเป็นผู้ต้องหาเพราะร่วมกันก่อเหตุ ยังเป็นคดีฆาตกรรมที่สังคมให้ความสนใจ เพราะก่อนหน้านี้มีผู้ต้องสงสัยคือ ปัญญา สามีของบัวผัน ผู้เสียชีวิต ออกมาให้ปากคำกับตำรวจและทำแผนประกอบคำรับสารภาพตามพื้นที่ต่างๆ จนล่าสุดมีการตั้งข้อสงสัยถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ดูแลคดีความว่าโปร่งใสและผิดกฎหมายมาตราใดบ้างในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย  

ภายหลังจากที่มีการออกมาอ้างว่าขณะควบคุมตัวปัญญา ตำรวจไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวระหว่างการจับกุม ด้วยกล้อง Boday Cam ตามมาตรา 22 ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย โดยอ้างว่าเป็นการเชิญตัวและผู้ต้องสงสัยยินดีที่จะมอบตัว รวมถึงมีคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นเสียงของตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีความคุยกันว่า มีการนำถุงดำคลุมหัว ปัญญา ในห้องสอบปากคำ โดยคุยกันในลักษณะที่ว่าเป็นการทำเล่นๆ ไม่ได้มัดหรือทำให้หายใจไม่สะดวก 

ควบคุมตัวผู้ต้องสัยคดีต่างๆ ตำรวจต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว Body Cam ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย 

สมชาย หอมลออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เผยว่า การเชิญตัวหรือให้มอบตัวใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ในคดีการเสียชีวิตของบัวผัน หากตำรวจไม่บันทึกภาพและเสียงด้วยภาพเคลื่อนไหวผ่านกล้อง Body Cam ตามมาตรา 22 ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานอุ้มหาย ขณะควบคุมตัว โดยอ้างว่าไม่ได้บังคับเพราะผู้ต้องสงสัยคือ ‘ปัญญา’ เต็มใจมอบตัวกับตำรวจนั้น 

ในกรณีนี้ต้องดูพฤติกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ มานำตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาไปสอบปากคำ แม้ตำรวจอ้างว่าเชิญตัว แต่หากผู้ถูกเชิญตัวไม่ไป หรือไม่ให้ความร่วมมือ ตำรวจจะใช้กำลัง  ก็ถือว่าเป็นการควบคุมตัวแล้ว หรือถ้าผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาเข้าใจว่า ถ้าตำรวจบอกให้ไป ตัวเองต้องไป มิเช่นนั้น เจ้าหน้าที่จะใช้กำลังบังคับ ก็หมายถึงเป็นการจับกุมหรือควบคุมตัวเช่นกัน จึงต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลา จนกว่าจะส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน และระหว่างการสอบปากคำต้องมีการบันทึกภาพและเสียงด้วยจนสิ้นสุดตามกฎหมาย  

"ถ้าตำรวจอ้างว่าเป็นการเชิญตัว ‘ปัญญา’ มาสอบปากคำ และเป็นการมามอบตัวเอง จึงไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวผ่านกล้อง Body Cam สำหรับเรื่องนี้แม้ตำรวจจะอ้าง แต่ว่าผู้บังคับบัญชาต้องสอบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสอบสวนผู้ที่เห็นเหตุการณ์ โดยเฉพาะ ‘ลุงเปี๊ยก’ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของบัวผัน ว่าเขารู้สึกอย่างไรหรือเข้าใจอย่างไรตอนนั้น ตำรวจมีพฤติกรรมอย่างไร ถ้าเขาเข้าใจว่าตำรวจเข้ามาควบคุมตัว ถ้าตัวเองไม่ไปก็ไม่ได้ น่าจะถือว่าเป็นการจับกุม เรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาต้องสอบสวนให้ชัด มันเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าเป็นการคุกคามต่อสวัสดิภาพหรือเสรีภาพของประชาชน ถ้าปล่อยให้ตำรวจอ้างตลอดเวลาว่า 'เชิญตัว' พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย จะไม่มีผลบังคับใช้"  

ตำรวจไทย ไม่มีสิทธิคลุมถุงดำ สอบปากคำผู้ต้องสงสัย-ผู้ต้องหา เข่าข่ายโหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 

ส่วนกรณีที่มีคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นการคุยกันระหว่างตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีการเสียชีวิตของบัวผัน ที่พูดถึงการใช้ถุงดำคลุมหัว ‘ปัญญา’ ผู้ต้องสงสัยในขณะนั้น สมชาย กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ระบุว่า หากเป็นเรื่องจริงการที่ตำรวจใช้ถุงดำคลุมศีรษะผู้ต้องสงสัยคดีนี้ ถือเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 6 ความผิดฐาน กระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  

"อยากจะถามว่า ‘ปัญญา’ เป็นเพื่อนเล่นของตำรวจหรือยังไง ถึงเล่นกันโดยการนำถุงดำมาคลุมหัวเล่นกับเขา ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ โดยพฤติกรรมถ้าฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจตามกฎหมาย อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในสภาพผู้ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิด แล้วตำรวจกำลังสอบปากคำ เอาถุงดำมาคลุม ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157  

ประเด็นที่สองน่าจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะว่าคนที่ถูกถุงดำคลุมขณะอยู่ในภาวะเช่นนั้น ต้องมีความรู้สึกตกใจอย่างมากจนแทบสิ้นสคชติ น่ามีความรู้สึก หวาดกลัวอย่างสุดขีด"

ส่วนกรณีที่มีประเด็นอ้างว่า ตำรวจถอดเสื้อ 'ปัญญา' ผู้ต้องสงสัยระหว่างอยู่ในห้องสอบปากคำให้อยู่ในที่แอร์เย็น ถือเป็นการทรมานหรือไม่ สมชาย กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย บอกว่าในส่วนนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีเช่นกัน โดยอาจไม่ถึงขั้นทรมาน 

วอน ผบ.ตร. ลงโทษหนักตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาทุกคน  

สมชาย หอมลออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพูดทิ้งท้ายถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในคดีการเสียชีวิตของบัวผัน ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว รวมถึงคดีอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการทรมานและอุ้มหายว่า ตำรวจคือเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย เป็นผู้ที่รักษากฎหมายและมีอำนาจตามกฎหมาย มีหน้าที่ในการเคารพปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน หากตำรวจมีพฤติกรรมแบบที่ปรากฏเป็นข่าวจริง คือการทำความผิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและระดับสากล รวมถึงเป็นการกระทำที่ชี้ชัดว่าผิดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานอุ้มหาย เรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งในทางวินัยและในทางอาญา 

"เรื่องนี้น่าจะได้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับผู้เสียหาย ในทางกฎหมายแนะนำว่าน่าจะต้องมีการแจ้งไปที่พนักงานอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หรือฝ่ายปกครอง เพื่อให้ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ในส่วนนี้ ที่นี้หากทางผู้เสียหายไม่ดำเนินการ ใครก็สามารถแจ้งไปที่พนักงานอัยการ DSI หรือแจ้งไปที่นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ได้ด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นคดีที่เข้าข่ายในลักษณะความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่ ใครๆ ก็สามารถแจ้งได้"

ส่วนที่มีการสั่งย้ายตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนเดิมในคดีการเสียชีวิตของบัวผัน เรื่องนี้สมชาย ฝากถึง พลตำรวจเองสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) การย้ายตำรวจที่อาจจะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ยังไม่ใช่การลงโทษแต่เป็นเพียงการย้ายเพื่อที่จะทำการสืบสวนสอบสวนต่อเพื่อไม่ให้ไปยุ่งเหยิงกับพยานในพื้นที่ ตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือทำให้เห็นความโปร่งใสในการทำงานของตำรวจ เสนอให้พักข้างราชจนกว่าจะสืบสวนสอบสวนสิ้นสุด

"พฤติกรรมอย่างนี้น่าจะสั่งพักราชการไปเลย ขั้นตอนต่อไปควรต้องดำเนินคดีทางวินัยและอาญาต่อไปกับตำรวจกลุ่มนี้ เพื่อไม่ให้ตำรวจคนอื่นๆ ทำเป็นเยี่ยงอย่างต่อไป อันนี้ฝากทางท่านรอง ผบ.ตร. ด้วย เพราะท่านเป็นคนเอาจริง เอาจัง และเคร่งครัด อยากจะให้เอาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ พ.ร.บ.ป้องกันและปรามปราบการทรมานอุ้มหาย ถูกใช้อย่างจริงจังในสังคมไทย ไม่ควรมีใครถูกกระทำอย่างย่ำยีศักดิ์ศรีอย่างโหดร้ายและไร้มนุษยะรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ"

การทรมานคือการที่เจ้าหน้าที่รัฐสร้างความเจ็บปวดต่อผู้เสียหาย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ให้ยอมรับสารภาพ หรือเพื่อข่มขู่ให้กลัว การทรมานอาจก่อให้เกิดบาดแผลทางร่างกายจากการถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย เช่น ทุบ ตี ทำร้ายร่างกาย บีบหรือรัดคอให้หายใจไม่ออก หรือในทางจิตใจ เช่น การบังคับอดนอน อดอาหารและน้ำ หรือสร้างความอับอายให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ การทรมานด้วยรูปแบบใหม่ๆ อาจทำให้ไม่เกิดรอยแผลบนผู้เสียหาย แต่สร้างความเจ็บปวดอันสาหัส เช่น การทุบด้วยวัสดุพิเศษ หรือขังไว้ในห้องเย็น ทำให้การตรวจสอบร่องรอยการทรมานทำได้ยากขึ้น 

การทรมานเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดประเภทหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ถูกห้ามตามกฏหมายระหว่างประเทศอย่างเด็ดขาด เนื่องจากการทรมานเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บ่อนทำลายขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ทั้งไม่มีเหตุผลหรือกรณีใดๆ ที่สามารถรับรองความชอบธรรมของการทรมานได้ 

ย้อนรอยคดี 'บัวผัน'

คดีฆาตกรรม บัวผัน ตันสุ หรือป้ากบ คนเร่ร่อน อายุ 47 ปี เกิดขึ้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมื่อประมาณวันที่ 11 ม.ค. 2567 หลังทาง สภ.ได้รับแจ้งว่าพบผู้เสียชีวิตในสระน้ำข้างโรงเรียนสระแก้ว ก่อนที่ต่อมา ตำรวจจะสามารถควบคุมตัวคนร้ายคือ ปัญญา โดยตำรวจเผยว่าปัญญาให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือทำร้ายป้ากบ โดยใช้เก้าอี้เหล็กทุบ และโยนร่างของบัวผันลงสระน้ำด้วยตัวเอง

15 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวช่อง 8 ได้นำเปิดคลิปวงจรปิดในที่เกิดเหตุทำร้ายป้ากบ ออกอากาศ ชี้ให้เห็นว่าปัญญา ไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ แต่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน จำนวน 5 คน อายุระหว่าง 12-16 ปี เป็นผู้ลงมือ จึงนำมาสู่การจับกุม และทั้งหมดให้การรับสารภาพ

ทั้งนี้ มีการระบุด้วยว่า 1 ในผู้ถูกจับกุมเป็นลูกชายของรองสารวัตรสืบสวน สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อีกด้วย จากจุดนี้ทำให้สื่อและสาธารณชนตั้งคำถามว่า ทำไมปัญญา ต้องรับสารภาพทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ

เปิดคลิปพูด 'มีการคลุมถุงดำ' บังคับให้รับสารภาพ

16 ม.ค. 2567 ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้แถลงต่อสื่อมวลชนกรณีการฆาตกรรมบัวผัน โดย 'ปัญญา’ กล่าวว่า ไม่มีใครบังคับให้เขารับสารภาพ และตนมีอาการเมาค้างเลยอาจทำให้รับสารภาพแบบนั้น

17 ม.ค. 2567 สื่อ PPTV มีการเผยแพร่คลิปเสียงการสนทนาระหว่างตำรวจนายหนึ่ง (มีการสันนิษฐานว่าเป็น รองสารวัตรสืบสวน สภ.อรัญประเทศ) และชายนิรนาม เป็นการยืนยันว่ามีการคลุมถุงดำปัญญา เพื่อบังคับให้รับสารภาพ 

สื่อได้นำเรื่องนี้ไปสอบถาม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่ลงพื้นที่สระแก้วหลังมีข้อสงสัยว่าอาจมีผู้บังคับให้ปัญญา รับสารภาพ นั้น ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่า หลังมีคลิปเสียงเผยแพร่ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และสั่งเช็กไทม์ไลน์ที่ปัญญา หายตัวไป ระหว่างถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 2 ชม. ทั้งที่จุดที่ควบคุมตัวปัญญา มาที่โรงพักไม่ไกลกันมาก ถ้าพบว่าจริง ถือว่าผิดกฎหมาย และต้องมีการสอบสวนใหม่ว่าการรับสารภาพเป็นการบีบบังคับหรือไม่ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ ถ้ามีส่วนเกี่ยวข้องถือว่ามีความผิดทั้งทางวินัย และอาญา 

'ปัญญา' รับมีการบังคับรับสารภาพ

สื่อ PPTV รายงานถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (18 ม.ค.) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังสอบปากคำปัญญา ด้วยตัวเองที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดปทุมธานี 

ตลอดทั้งวัน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มาพูดคุยกับปัญญา ประเด็นถูกตำรวจใช้ถุงดำคลุมศีรษะบังคับให้รับสารภาพจริงหรือไม่ ปัญญา ยืนยันกับรอง ผบ.ตร.ว่าถูกกระทำแบบนั้นจริง แต่ถูกเอาถุงดำคลุมศีรษะเท่านั้น บังคับให้ถอดเสื้อ และเปิดแอร์ให้เกิดอาการหนาว แต่ยืนยันว่าไม่มีการล่ามโซ่ 

รอง ผบ.ตร. ระบุว่า ปัญญาให้การว่าที่ต้องรับสารภาพ เพราะตอนถูกบังคับให้ถอดเสื้อในห้องเปิดแอร์ รู้สึกหนาวจนทนไม่ไหว และรู้สึกเหนื่อย เลยยอมรับสารภาพให้จบๆ ไป 

นอกจากนี้ เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ตำรวจจะนำตัวกลับไปที่ สภ.อรัญประเทศ เพื่อให้ชี้ตัวตำรวจที่ข่มขู่ให้รับสารภาพ แต่รอง ผบ.ตร.เปลี่ยนแผนให้พรินต์ภาพ และให้ปัญญา ชี้ตัวผู้ปฏิบัติการใน สภ.อรัญประเทศ ประมาณ 10 กว่านาย โดยปัญญา ชี้ตัวตำรวจนายหนึ่งที่จำได้แม่น เนื่องจากนายตำรวจคนดังกล่าวใส่ขาเทียม

ส่วนกรณีที่สื่อถามว่าระดับผู้กำกับ และรองผู้กำกับ มีความผิดด้วยหรือไม่นั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุว่าต้องไปสอบสวนต่อ หากทราบก่อน และไม่ห้ามหรือตักเตือน ถือว่าผู้บังคับบัญชามีความผิดเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net