Skip to main content
sharethis

กิจกรรมการสนทนาบนแอพพลิเคชั่น Clubhouse เรื่อง “ทำแท้ง/ท้องไม่พร้อม : เรื่องที่สังคมต้องรับผิดชอบร่วมกัน” แนะทุกภาคส่วนต้องช่วยกันดูแลประคับประคองผู้หญิงที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ให้เข้าถึงข้อมูลที่เพียงพอแก่การตัดสินใจ

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2564 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย ได้จัดกิจกรรมการสนทนาบนแอพพลิเคชั่น Clubhouse เรื่อง “ทำแท้ง/ท้องไม่พร้อม : เรื่องที่สังคมต้องรับผิดชอบร่วมกัน” โดยวิทยากรการเสวนาประกอบด้วย ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ดำเนินรายการโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. 
    
รศ.กฤตยาเปิดประเด็นว่า เรื่องสิทธิการทำแท้งนี้ มาจากการทำงานอย่างเกาะติดมายาวนานของอย่างน้อย 2 เครือข่าย ทั้งเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม นอกจากนี้ในปี 2557 ยังมีการตั้งเครือข่ายขึ้นมาอีก1เครือข่าย  ที่ต้องให้เครดิตสมาชิกเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกฯท่านหนึ่งคือ คุณทัศนัย ขันตยาภรณ์ ที่ได้ผลักดันให้สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ (ภายใต้กรมอนามัย) มีบทบาทในการรองรับเครือข่ายที่เราเรียกว่า RSA (Referral system for Safe Abortion หรือ เครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย) ซึ่งเป็นเครือข่ายของแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ ที่อาสาจะทำงานส่งต่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย เป็นเครือข่ายที่ทางสำนักอนามัยเจริญพันธุ์รับรอง มีการขึ้นทะเบียนชื่อหมอ พยาบาลเอาไว้ เรียกได้ว่าเป็นเครือข่ายที่มีความเป็นทางการ ขณะที่เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกฯเป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ แต่มีการจัดตั้งมาอย่างยาวนาน
    
จนมีกรณีที่ พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ ซึ่งอยู่ในเครือข่าย RSA ก็ถูกจับกุมที่หัวหินด้วยข้อหาให้บริการทำแท้งผิดกฎหมาย ซ้ำยังจับกุมผู้หญิงที่ทำแท้งด้วย แล้วมาเกลี่ยกล่อมผู้รับบริการว่าถ้ายอมมาเป็นพยาน จะไม่ถูกดำเนินคดี ทีนี้พอขึ้นศาลก็ปรากฏว่า ผู้รับบริการหลายคนเป็นพยานที่ให้การอันเป็นประโยชน์แก่คุณหมอศรีสมัย 
     
จากคดีนี้ เราทั้ง 2 เครือข่าย ก็เห็นช่องทางที่เราจะเสนอแก้กฎหมายได้ เราจึงเริ่มยื่นเรื่องไปที่แรกคือผู้ตรวจการแผ่นดิน  เพราะกฎหมายบังคับว่าหากเราจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เราต้องยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน ก็ปรากฏว่าเขาเห็นความสำคัญที่ต้องแก้ไขกฎหมาย แต่ไม่เห็นว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ  เราจึงใช้สิทธิในการยื่นเรื่องโดยตรงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญในนามของเครือข่าย แต่ทางเจ้าหน้าที่ศาลบอกว่าเราทั้ง2เครือข่ายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง เราก็เลยไปทำเรื่องถอน แล้วจึงให้คุณหมอศรีสมัยซึ่งถูกตำรวจจับกุมขณะนั้น ทำการมอบอำนาจให้เราทั้ง 2 เครือข่ายเป็นตัวแทนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทางศาลรัฐธรรมนูญจึงรับไว้ เรายื่นไปว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 นั้นขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และ 28 กรณีนี้นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของเอกชนและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน 
    
ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ไม่เป็นทางการออกมาว่า ป.อาญา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราที่ 27 (ความเสมอภาคชาย-หญิง) และ 28 (ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์) แต่พอมีคำวินิจฉัยทางการออกมา ปรากฏว่าศาลตัดประเด็นรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ออก แล้วชี้ว่า ป.อาญา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพียงมาตราเดียวคือมาตราที่28 ก็คือขัดในเรื่องสิทธิในร่างกายเนื้อตัวของผู้หญิง 
    
มาถึงการแก้กฎหมาย ซึ่งต้องแก้ภายใน360วัน คือศาลรัฐธรรมนูญบอกให้แก้ ป.อาญา 301 และให้ปรับปรุงมาตรา 305 เนื่องจากล้าสมัย ไม่สอดคล้องสภาพสังคมปัจจุบัน ทีนี้ในส่วนคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) และกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ดูแลเรื่องนี้ แต่ในทางปฏิบัติจริง ผู้ที่ดูแลการแก้ไขกฎหมาย คือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะฉะนั้นผู้ที่ร่างกฎหมายแก้ไขฉบับที่เป็นของรัฐบาล ก็คือคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็มีการเชิญพวกเราเข้าไปให้ความเห็น เราก็ยื่นเอกสารไป ฝ่ายพวกเราก็เสนอว่า ควรยกเลิก ป.อาญา301 ไปเลย เพื่อให้ผู้หญิงที่ทำแท้งไม่ต้องมีความผิด ปรากฏว่าสิ่งที่คณะกรรมการกฤษฎีกาทำ ก็คือเขียนร่างกฎหมายใหม่ให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ แต่หากทำแท้งตอนอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ จะยังมีโทษหนักตามกฎหมายเก่า  ตรงนี้เราก็คัดค้าน เพราะจุดยืนเราคือ ทำแท้งไม่ควรเป็นอาชญากรรม แต่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาทำคือ แก้ไขโทษจำคุกลดจาก1ปี เป็น 6 เดือน และปรับไม่เกิน1หมื่นบาท โดยคณะกรรมการผู้หลักผู้ใหญ่ในที่ประชุมมองว่า นี่คือการกำหนดโทษที่เบาแล้ว   ซึ่งเราก็ยังยืนยันไม่เห็นด้วย เพราะเราเห็นว่าการคงการลงโทษไว้ สะท้อนวิธีคิดว่าสังคมไทยยังมองการทำแท้งเป็นอาชญากรรม ผู้หญิงทำแท้งยังต้องเป็นอาชญากร ซึ่งเรารับไม่ได้  
    
ส่วน ป.อาญามาตรา 305 เขาก็ค่อนข้างจะคงเดิมเนื้อหาเดิมไว้ เพิ่มเรื่องอนุญาตให้ทำแท้งได้ถ้าทารกในครรภ์มีความผิดปกติ แล้วก็ระบุในตัวกฎหมายเลยว่าเรื่องนี้ให้ออกเป็นระเบียบแพทยสภา แล้วก็ส่งร่างกฎหมายนี้ไปที่สภาผู้แทนราษฎร ก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งตนก็ได้เป็นกรรมาธิการในโควตาพรรคก้าวไกล ก็ถือว่าเป็นฝ่ายกรรมาธิการเสียงข้างน้อย นำเสนออะไรไปก็ไม่ตรงกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก  เราก็ได้ทำให้เกิด ป.อาญา มาตรา 305 (5) โดยเราเห็นว่าระยะเวลาอายุครรภ์ 12 สัปดาห์นั้นไม่เพียงพอ ควรต้องอนุญาตให้ทำแท้งได้แม้อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์   
    
ปัจจุบันในประเทศไทย แพทย์ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์กรณีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์มีอยู่แค่ประมาณ 4-5 แห่ง เราก็ให้คุณหมอวรชาติ มีวาสนา และคุณหมอศรีสมัย เชื้อชาติ ซึ่งเป็นแพทย์ในกลุ่มนี้เข้าไปให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ ซึ่งก็โน้มน้าวเสียงในคณะกรรมาธิการให้เห็นด้วยกับการอนุญาตให้ทำแท้งเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ได้ ก็ต้องมาสู้กันว่าอายุครรภ์สูงสุดไม่เกินเท่าไหร่ที่จะให้ทำแท้งได้?  เราเสนอไปว่าควรเป็น 24 สัปดาห์ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้วิจัยมาแล้ว แต่กรรมาธิการเสียงข้างมากก็ยืนยันให้ที่ระยะเวลา 20 สัปดาห์ ก็สรุปออกมาเป็นมาตรา 305 (5) แม้ตนจะยืนยันว่า “สิทธิตัวอ่อน” ไม่มีในโลกนี้ก็ตาม เนื่องจากว่าตัวอ่อนจะเป็น “บุคคล” ได้ก็เมื่อเกิดรอดออกมาจากครรภ์แล้ว ฉะนั้นสิทธิมนุษยชนที่ประกาศมาแต่ปี 1949 มันคุ้มครองบุคคล ไม่ได้คุ้มครองตัวอ่อนในครรภ์ สิทธิตัวอ่อนเป็นสิทธิที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยกลุ่มที่ต่อต้านการทำแท้ง ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นที่มีฐานะและเป็นกลุ่มศาสนา
    
มีเงื่อนไขเข้ามาว่า ผู้หญิงที่อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ และ 20 สัปดาห์ ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ ต้องไปขอรับคำปรึกษาทางเลือก แล้วก็ต้องไปพบแพทย์ อันนี้ต้องให้ปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข โดยที่การประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ต้องให้ทำภายใต้คำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 
    
แล้วเดิมเขาต้องการแค่คำปรึกษาเฉยๆ แต่เรามองว่ามันไม่ชัด จึงเสนอว่าต้องเป็น “คำปรึกษาทางเลือก” เพราะเป็นงานที่เครือข่ายส่งเสริมทางเลือกฯ กับ RSA และศูนย์พึ่งได้ ทำกันมาเป็น 10 ปีแล้ว นั่นคือการจัดทำหลักสูตรการให้คำปรึกษาทางเลือก คือเป็นการให้คำปรึกษาแบบไม่ตัดสิน ตั้งใจฟังและให้ข้อมูลรอบด้านเพียงพอที่ผู้หญิงจะตัดสินใจได้ด้วยตนเอง 
    
ตอนนี้ส่วนของข้อบังคับแพทยสภาเสร็จเรียบร้อยประกาศใช้แล้ว ส่วนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เข้าใจว่ากำลังพยายามจะให้ประกาศใช้ได้ภายในเดือน ต.ค. 2564 นี้ ซึ่งประกาศฉบับนี้ เนื้อหาก็กลายเป็นว่าให้ดูแลเฉพาะคนที่ต้องการตั้งครรภ์ต่อ แต่ไม่สนใจคนที่ต้องการทำแท้งเลย 
    
ด้านของสุภัทรา ในฐานะที่เป็นอดีตกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ก็ได้เล่าประสบการณ์ว่า พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนี้  เริ่มมาจากความพยายามขับเคลื่อนให้มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ให้มีหลักประกันในการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ แต่สุดท้ายก็กลับเหลือเพียงเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ทีนี้พอกฎหมายนี้ออกมา หลายคนก็มองว่า มีก็ดีกว่าไม่มี ตนก็ได้รับการติดต่อทาบทามเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามกฎหมายนี้ในด้านของสิทธิวัยรุ่น เราก็ตอบรับ ก็คิดว่ากฎหมายนี้มันก็เป็นความก้าวหน้า แต่พอเข้าไปอยู่ในที่ประชุมของคณะกรรมการซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (มอบหมายให้รองนายกฯมาทำหน้าที่แทน) ก็พบว่าตัวแทนกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ก็ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องแนวคิด มีค่านิยมเรื่องเพศที่ไม่หนีไปจากกรอบคิด ค่านิยมเรื่องเพศแบบเดิมๆ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าการตั้งท้องของผู้หญิงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นการทำหน้าที่ทางสังคม การท้องไม่พร้อมก็เช่นกัน 
    
เราก็คิดว่าเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ไม่ว่าจะของกลุ่มวัยรุ่น หรือกลุ่มประชากรเปราะบางอื่น ๆ ไม่ใช่เรื่องปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องของส่วนรวม เป็นเรื่องของสังคม ที่ต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม แปลว่าเขายังเข้าไม่ถึงบริการที่จำเป็นในเรื่องเพศหรือไม่ 
    
คือแม้เรามีกฎหมายแล้ว แต่ถ้าทัศนคติของผู้เกี่ยวข้องยังไม่เปลี่ยน มันก็ลำบาก  เช่นตัวอย่างที่ตนในฐานะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้รับเคสต์จากสายด่วน 1663 เป็นเคสต์ที่คุณแม่ของน้องเด็กผู้ชายระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับนักเรียนหญิงระดับมัธยมฯ ปีที่ 3 กระทั่งฝ่ายเด็กผู้หญิงท้อง ทั้ง 2 คนจึงปรึกษาผู้ปกครองของตนเอง ปรากฏว่าพอเคสต์ไปถึงที่โรงเรียน โรงเรียนก็ให้เด็กผู้หญิงได้เรียนต่อ แต่ในส่วนเด็กผู้ชายนั้นจะต้องโดนลงโทษ เพราะว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้เพื่อน ก็ถูกทางโรงเรียนถามว่า “จะลาออกเอง หรือจะให้ทางโรงเรียนหาที่เรียนใหม่ให้?” เคสต์นี้จึงถูกนำเข้ามาในที่ประชุมของคณะกรรมการ ที่ประชุมมีความเห็นว่ากฎหมายนี้คุ้มครองเฉพาะเด็กผู้หญิง ไม่ได้คุ้มครองเด็กผู้ชาย ตนก็ข้องใจว่าเจตนารมณ์กฎหมาย มันไม่ควรลงโทษเด็กทั้งสองฝ่าย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเด็ก 2 คน แต่เป็นเรื่องของสังคมทั้งหมดที่จะต้องเข้ามาร่วมกัน รับผิดชอบดูแล ช่วยกันแก้ไขและป้องกันปัญหา ทั้งครู ผู้ปกครอง เพื่อนนักเรียน เด็กไม่ใช่ปัญหา ปัญหามันอยู่ที่สิ่งที่อยู่รอบๆตัวเด็ก และเราควรช่วยเหลือดูแลเด็ก จริง ๆ โรงเรียนเองควรใช้กรณีนี้ทำให้เกิดความรับรู้และตระหนักในกรณีที่เด็กจะมีเพศสัมพันธ์กัน แล้วจะต้องไม่เกิดกรณีท้องไม่พร้อมขึ้นมา มากกว่าการที่จะมาบอกว่า “เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี”  
    
สุดท้ายมติที่ประชุมก็เห็นว่าโรงเรียนทำถูกแล้ว เพราะตัวบทกฎหมายนี้คุ้มครองเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ไม่ได้คุ้มครองเด็กผู้ชายที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์  เด็กผู้ชายจึงต้องถูกย้ายโรงเรียน นี่คือความบกพร่องในวิธีคิดที่ตนได้พบมาในกลไกกฎหมายนี้
    
ตนเห็นว่าการพูดเรื่องท้องไม่พร้อม หรือว่าการทำแท้ง ส่วนหนึ่งเราก็ต้องยืนยันในหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงที่จะตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายของตนเอง และเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดของสังคมให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันรับผิดชอบและช่วยกันดูแล  ต้องจัดบริการที่เพียงพอ ทั่วถึง เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติกับผู้หญิงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ เด็ก ผู้ใหญ่ หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เขามีความต้องการที่จะยุติการตั้งครรภ์ จะต้องได้รับการบริการที่ปลอดภัยและเข้าถึงง่าย เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง รับรองสิทธิในการทำแท้งของผู้หญิง ก็ผูกพันเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องจัดระบบบริการเรื่องนี้ให้กับผู้หญิง เครือข่ายทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมควรมีการหารือกับหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดบริการ เช่น สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ให้บริการ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริการให้สอดคล้องกับกฎหมาย ในกรณีที่ระบบบริการไม่เพียงพอ อาจต้องให้มีหน่วยบริการของภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือมีกระบวนการพัฒนาและสนับสนุนงบประมาณให้ภาคประชาสังคมเป็นหน่วยร่วมบริการรับส่งต่อเฉพาะทางในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
    
ศยามล ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ความเห็นว่า ปัญหาเหล่านี้เราจะคิดแต่บนฐานของกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองไปถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย ดังนั้นเรื่องการท้องไม่พร้อม เป็นเรื่องของสังคมที่ต้องร่วมรับผิดชอบ แล้วสาเหตุของปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็ก แต่มันเป็นเรื่องสังคมแวดล้อมด้วย เหมือนเรื่องยาเสพติด ทำไมเราถึงให้ผู้เสพเป็นอาชญากร? นี่ก็เช่นกัน ทำไมเราถึงให้คนที่อยากยุติการตั้งครรภ์เป็นอาชญากร เราต้องไม่ให้ผู้หญิงรับภาระด้วย เราต้องการไม่ให้มีคนที่ต้องเข้าไปอยู่ในคุกเพราะเรื่องนี้โดยเฉพาะคนจน  ซึ่งเราก็ติดในข้อกฎหมายว่าทุกอย่างเป็นเรื่องที่ต้อง “ควบคุม” ไปเสียหมด  
    
ตอนที่ตนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนอยู่ที่ตรัง ก็เจอกรณีนักศึกษาที่ท้อง ซึ่งพ่อแม่เข้าใจ ก็ให้ลูกเรียนจบปริญญาตรีก็ได้แต่งงานพร้อมกับผู้ชาย สร้างครอบครัวไปได้ด้วยดี 
    
ตนเห็นด้วยว่าไม่ควรมีกฎหมายห้ามทำแท้ง เพราะมันเป็นภาระของผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ยากจน ก็ต้องเลี้ยงลูกไปในสภาวะที่ไม่พร้อม คือกฎหมายเรื่องทำแท้งที่ได้รับการแก้ไขแล้ว มันก็ช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง 
    
ทีนี้ตนก็อยากจะทราบเหมือนกันว่า ตอนที่เรื่องทำแท้งอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ มีตุลาการท่านใดที่ไม่เห็นด้วย? เพราะมันมีข้อมูลและตัวอย่างในต่างประเทศที่มากเพียงพอที่เราจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ นักกฎหมายควรยอมรับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์  สังคมวิทยา มานุษยวิทยา มันจึงจะทำให้การแก้กฎหมายเป็นไปอย่างถูกจุด   
    
นอกจากนี้ในวงเสวนายังได้หารือร่วมกันว่า ในกรณีของการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นนั้น โดยตัวกฎหมายที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ได้ระบุให้มีคณะกรรมการที่รับเรื่องร้องเรียนได้  แต่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่แก้ไขตาม ป.อาญานั้น ไม่มีกลไกอะไรที่จะรับเรื่องร้องเรียนเลย ซึ่งเราก็ยกประเด็นนี้มาแล้ว  แต่กระทรวงกลับบอกว่าไม่จำเป็นต้องมี  ทีนี้อาจจำเป็นต้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติช่วยรับเรื่องร้องเรียน เพราะระหว่างที่กฎหมายแก้ไขเรื่องการทำแท้งประกาศใช้แล้ว ทาง 1663 ก็ดี ทางเครือข่ายส่งเสริมทางเลือกฯเอง ก็พบคนตั้งครรภ์ไม่พร้อมไปโรงพยาบาลแล้วไม่ได้รับการบริการ หลายแห่งไล่ผู้มาขอรับบริการด้วย หากไม่มีกลไกเช่นนี้ ก็คงต้องขอให้ กสม. ช่วยเป็นตัวกลาง
    
และยังต้องพูดถึงการมีหน่วยให้บริการที่เพียงพอ โดยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาจสนับสนุนภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่มีความพร้อมในการจัดบริการ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของระบบให้บริการ 
    
วรภัทร กรรมการ ครป. ได้กล่าวทิ้งท้ายย้ำไว้ว่า การที่สังคมต้องร่วมกันรับผิดชอบการตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น วันนี้สังคมเรากำลังเดินทางมาถึงจุดที่เราต้องพูดกันเรื่อง Gender responsive Budgeting (GRB) คือจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงความจำเป็นและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากบทบาท โอกาส และการเข้าถึงทรัพยากรของหญิงและชาย ซึ่งอย่างเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากผู้ชายและผู้หญิง แต่เมื่อการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ภาระกลับตกหนักที่ผู้หญิงตั้งแต่การเป็นผู้อุ้มครรภ์ การตัดสินใจว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ แบกรับภาระด้านสุขภาพทั้งระหว่างและหลังการยุติการตั้งครรภ์ หรือหากเลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อ ก็ต้องรับผิดชอบภาระทางสุขภาพในการดูแลครรภ์จนถึงวันคลอด ตลอดจนการดูแลบุตรให้เกิดและเติบโตภายใต้คุณภาพชีวิตที่ดี จึงเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันดูแลประคับประคองผู้หญิงที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ให้เข้าถึงข้อมูลที่เพียงพอแก่การตัดสินใจ ตลอดจนการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้หญิงนั้นไม่ว่าจะตัดสินใจเลือกทางใดก็ตาม 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net