Skip to main content
sharethis
  • ย้อนดูการจัดสรรงบประมาณช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และช่วงโควิด-19 พบกระทรวงกลาโหมถูกลดงบ 6-21% ขณะที่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในมุมรัฐบาลเศรษฐา กลับได้เพิ่ม 2%
  • นอกจากนี้ ‘ทัพเรือ’ ยังวางเงินนอกงบประมาณ 660 ล้าน ผ่านเงินกู้ต่างประเทศ เพื่อพัฒนาสนามบินตะเภา-ท่าเรือสัตหีบ พร้อมประมาณการล่วงหน้าถึงปี 70 ยอด 1.3 หมื่นล้าน

กว่า 3 เดือนที่มีการถกเถียงถึงความจำเป็นของการกู้เงินมาเพื่อจัดทำโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลยกเหตุผลสำคัญคือประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวย้ำมาตลอดว่า มีวิกฤตเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องกู้ หรือแม้แต่การแถลงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของนายกฯ วานนี้ (3 ม.ค.) ต่อสภาผู้แทนราษฎร ก็ยังย้ำถึงจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเริ่มจากการสร้างอุปสงค์ (Demand) ในกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย นำไปสู่การผลิตสินค้า ที่จะต้องมีการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อขยายการผลิต ก่อให้เกิดการขยายอุปทาน (Supply) มีการพัฒนาขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรม ยกระดับการผลิตและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้ใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นทั้งประเทศนั้น

อย่างไรก็ตามงบประมาณหน่วยงานหนึ่งที่มักถูกตัดลดในช่วงเวลาที่ประเทศเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจคืองบประมาณของกองทัพหรือกระทรวงกลาโหม

ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2541-2542 งบประมาณกระทรวงกลาโหมในปีงบฯ 42 ลดลง จากงบฯ 41 คิดเป็น 21%

  • งบรายจ่ายประจำปี 41 วงเงิน 97,766,348,000 บาท
  • งบรายจ่ายประจำปี 42 วงเงิน 77,066,937,000 บาท

ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2552-2553 งบประมาณกระทรวงกลาโหมในปีงบฯ 53 ลดลง จากงบฯ 52 คิดเป็น 9%

  • งบรายจ่ายประจำปี 52 วงเงิน 170,157,393,800 บาท
  • งบรายจ่ายประจำปี 53 วงเงิน 154,032,478,600 บาท

ช่วงโควิด-19 ปี 2564-2565 งบประมาณกระทรวงกลาโหมในปีงบฯ 65 ลดลง จากงบฯ 64 คิดเป็น 6%

  • งบรายจ่ายประจำปี 64 วงเงิน 214,530,648,400 บาท
  • งบรายจ่ายประจำปี 65 วงเงิน 201,666,421,000 บาท

ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในมุมรัฐบาลเศรษฐา 2566-2567 ร่างงบประมาณกระทรวงกลาโหมในปีงบฯ 67 เพิ่มขึ้น จากงบฯ 66 คิดเป็น 2%

  • งบรายจ่ายประจำปี 66 วงเงิน 194,498,728,200 บาท
  • ร่างงบรายจ่ายประจำปี 67 วงเงิน 198,320,443,100 บาท (+ เงินนอกงบประมาณ 660,200,000 บาท)

 

‘ทัพเรือ’ วางเงินนอกงบประมาณ 660 ล้าน พัฒนาสนามบินตะเภา-ท่าเรือสัตหีบ พร้อมประมาณการล่วงหน้าถึงปี 70 ยอด 1.3 หมื่นล้าน

สำหรับเงินนอกงบประมาณ 660,200,000 บาท นั้น เมื่อไปพิจารณาในรายละเอียดเป็นงบประมาณของกองทัพเรือ โดยระบุแหล่งที่มาเป็นเงินกู้ต่างประเทศ อีกทั้งเมื่อพิจารณาดูแผนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณในปี 68 ระบุไว้ด้วยว่าจะมีเงินกู้ต่างประเทศถึง 4,890 ล้านบาท ปี 69 ขึ้นเป็น 4,967.6 ล้านบาท และปี 70 อยู่ที่ 3,260.5 ล้านบาท อีกด้วย  เมื่อดูรายละเอียดพบจะเป็นรายจ่ายเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และบริการของท่าอากาศยานอู่ตะเภาและท่าเรือพาณิชย์-สัตหีบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รอบรับและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเมื่อดูที่แผน 10 ปี (ปี 2561 ถึง ปี 2570) วางเงิน 20,662,523,700 บาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 6,884,013,700 บาท และ เงินนอกงบประมาณ 13,778,510,000 บาท (ดูรายละเอียดตามภาพด้านล่าง)

ที่มา :

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net