Skip to main content
sharethis

ปลัด มท. เผยผลลงทะเบียนหนี้นอกระบบเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 มูลหนี้รวมทั้งประเทศสูงถึง 4.36 พันล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้วกว่า 8.27 หมื่นราย

เว็บไซต์กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย รายงานเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2566 ว่านายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการเปิดรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของการเปิดรับลงทะเบียน โดยในวันนี้เป็นวันที่ 9 จากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. พบว่ามีประชาชนลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น จำนวน 82,753 ราย เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 2,469 ราย แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 75,170 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 7,583 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 53,791 ราย มีมูลหนี้รวม 4,363.295 ล้านบาท โดยมีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้ 1. กรุงเทพมหานคร ยังมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 5,349 ราย เจ้าหนี้ 4,176 ราย มูลหนี้ 363.834 ล้านบาท ตามมาด้วย 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 3,473 ราย เจ้าหนี้ 2,578 ราย มูลหนี้ 183.665 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 3,402 ราย เจ้าหนี้ 2,239 ราย มูลหนี้ 197.645 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 3,249 ราย เจ้าหนี้ 1,887 ราย มูลหนี้ 215.936 ล้านบาท 5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,069 ราย เจ้าหนี้ 1,438 ราย มูลหนี้ 128.501 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 110 ราย เจ้าหนี้ 71 ราย มูลหนี้ 4.294 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 169 ราย เจ้าหนี้ 112 ราย มูลหนี้ 12.561 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 235 ราย เจ้าหนี้ 163 ราย มูลหนี้ 7.201 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 250 ราย เจ้าหนี้ 123 ราย มูลหนี้ 6.865 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 299 ราย เจ้าหนี้ 182 ราย มูลหนี้ 11.550 ล้านบาท

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งเป็นวาระแห่งชาติให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจ นายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้เน้นย้ำให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกคนในฐานะข้าราชการฝ่ายปกครองผู้ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ได้ประสานการทำงานบูรณาการร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีอิสรภาพต่อชีวิต สร้างขวัญและกำลังใจ ช่วยให้พี่น้องประชาชนเป็นอิสระ หลุดพ้นพันธนาการจากหนี้นอกระบบ

“ซึ่งในระดับพื้นที่ กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ได้เป็นผู้นำการบูรณาการทีมบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทุกระดับ บูรณาการเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งระดับกองบังคับการ และกองกำกับการ ในการช่วยกันเป็นกระบอกเสียง ช่วยกันสื่อสารในทุกช่องทางการสื่อสารในพื้นที่ เพื่อเชื้อเชิญให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนเข้ามาลงทะเบียนให้มากที่สุด รวมทั้งดำเนินการด้านโต๊ะข่าว เพื่อสืบหาข่าว ป้องกันและปราบปราม ดูแลสวัสดิภาพของประชาชนจากการถูกทวงหนี้จากแก๊งหมวกกันน็อค เว็บไซต์ให้กู้ยืมออนไลน์ หรือเจ้าหนี้นอกระบบในรูปแบบอื่น ๆ และเตรียมการเข้าสู่การเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้เข้าสู่การเจรจาประนอมหนี้ ไกล่เกลี่ยกัน ด้วยทางออกอย่างสันติวิธีและถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ถือเป็น “การค้าทาสยุคใหม่” ได้หมดไปอย่างถาวร พี่น้องประชาชนจะได้พ้นจากความทุกข์ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งญาติ ลูกหลาน ก็จะได้ปลดจากพันธนาการหนี้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด อันถือเป็นการ Change for Good ที่มี Success คือ การสร้างรอยยิ้ม คืนอิสรภาพ ให้กับพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือวอร์คอินได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net