Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สุขภาพดีจนน่าอิจฉา แข็งแรงแบบที่พิสูจน์ได้ด้วยตา ‘โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลบางน้ำจืด’ บริหารจัดการโดย อบต. บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งว่ากันว่า เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีจัดการบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโดดเด่นกว่าที่ไหนๆ 

สีหน้าของผู้ร่วมคณะการเดินทาง อันประกอบด้วยผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเจ้าหน้าที่ เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะทันทีที่รถตู้หยุดนิ่ง ณ “โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลบางน้ำจืด” อ.หลังสวน จ.ชุมพร เพราะได้เห็น ‘นักเรียน’ ซึ่งเป็นคุณปู่-คุณย่า-คุณตา-คุณยาย กำลังเบิกบานอย่างมีสุขภาวะดี 

โรงเรียนผู้สูงอายุแห่งนี้ บริหารจัดการโดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางน้ำจืด ซึ่งว่ากันว่า เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีจัดการบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโดดเด่นกว่าที่ไหนๆ 

นักเรียนในวัยที่เลย 60 ปี และมากสุดถึง 86 ปี สวมชุดไทย แต่งหน้าสวยงามหลายสิบคน เห็นได้ชัดว่าเขาเหล่านั้นมีสุขภาพกายที่ดี เดินเหินคล่องแคล่วว่องไว กระฉับกระเฉง บางคนกำลังเต้นประกอบจังหวะเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน  

เราตั้งคำถามว่าทำไมพวกเขามีความสุขได้ขนาดนี้ เราสัมผัสได้ว่าเป็นความสุข สนุกสนานที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการประกอบสร้าง หรือแสดงเพียงครู่คราว 


แม่อุบล พลลภ ชาวบ้านตำบลบางน้ำจืด 

แม่อุบล พลลภ วัย 70 ปี บ้านอยู่ในตำบลบางน้ำจืด ใส่แว่นกรองแสง ข้อมือสวมใส่นาฬิกาสมาร์ทวอช Apple watch ดึงดูดให้เราปรี่เข้าไปพูดคุยด้วย  

คุณแม่อุบล บอกกับเราว่า ทุกวันนี้เดินวันละ 9,000 ก้าว อยู่บ้านก็เดินแถวบ้าน ส่วนนาฬิกาเรือนนี้ก็สวมใส่ตลอดทั้งวัน เพราะชอบดูตัวเลขค่าต่างๆ ที่บอกเรื่องสุขภาพของตัวเองได้ แม่อุบลบอกว่า เธอใช้งาน Apple watch เป็นและเข้าใจฟังก์ชั่นต่างๆ เป็นอย่างดี 

สาเหตุที่คุณแม่อุบลเชี่ยวชาญการใช้งาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณครูจากโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งนี้ให้คำแนะนำสอนวิธีการใช้ ถือเป็นการเชื่อมต่อโลกเทคโนโลยีกับผู้สูงอายุได้อย่างไร้รอยต่อ  

คุณแม่บอกด้วยว่า ทุกวันนี้ยังติดตามข่าวผ่านทางโซเชียล และบอกได้ด้วยว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนเฟคนิวส์  

แม่อุบลชอบมาโรงเรียนผู้สูงอายุมาก ถึงขนาดบอกว่า ถ้าให้มาเรียนทุกวันก็จะขับมอเตอร์ไซค์มาทุกวัน  

เราอึ้งไปเหมือนกันที่แม่อุบลวัย 70 ปียังขับขี่มอ'ไซค์ได้ แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ก็ไม่ควรมีอะไรที่น่าแปลกใจ 

"ถ้าไม่มีงานศพ หรืองานแต่ง แม่ไม่เคยขาดเรียนเลยนะ" นักเรียนท่านนี้บอก เราถามกลับว่า “แม่มาเรียนหลายรุ่นเลย แบบนี้ก็ถือว่าแม่เรียนซ้ำชั้นสิครับ"   

"ฮ่า ฮ่าๆ ไม่เป็นไร แม่ชอบมาเรียน" นักเรียนที่เรียนจบมาแล้ว 4 รุ่น บอกกับเรา “ถ้าไม่มีโควิด-19 ก็คงได้เรียนครบจบทุกรุ่นเลย” 

นักเรียนผู้สูงอายุอีกราย แม่ญารี รวดเร็ว อายุ 63 ปี เล่าให้เราฟังว่า กิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนผู้สูงอายุสนุกอย่างมาก และยังดีต่อสุขภาพร่างกาย ที่สำคัญมาเรียนก็ได้เห็นลูกหลาน ได้เข้าแถวเคารพธงชาติด้วยกัน ได้เรียนหนังสือด้วยกัน 

“แม่ได้สุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้นจากโรงเรียน ได้เพื่อนมากมายเลย ลูกหลานที่บ้านก็ชอบ ที่แม่ได้มีกิจกรรมแบบนี้ เขาก็มารับมาส่ง อบต.เขาก็ดูแลดีเลย คนแก่ทางนี้เลยมีแต่คนแข็งแรงๆ” แม่ญารี บอกย้ำก่อนขอผละไปแช่เท้าสมุนไพรกับ ‘เพื่อนๆ ในห้องเรียน’ 

สำหรับเบื้องหลังความสุขของผู้สูงอายุ คือความเอาจริงเอาจังของ อบต.บางน้ำจืด ที่นำโดย สุชาติ ช่วงสุรัตน์ นายก อบต. และทีมทำงานของเขา ที่ต้องการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ด้วยความมุ่งมั่น  

“ผู้สูงอายุคือร่มโพธิ์ของลูกหลาน ของชุมชน เราต้องดูแลเขาให้ดี ให้มีความสุข เพราะถ้าพวกเขามีความสุข ลูกหลานอย่างเราๆ ก็มีความสุข เราจึงค่อนข้างจริงจังกับการดูแลสุขภาพกาย และใจ” สุชาติ ย้ำหนักแน่น  

จากความตั้งใจ ควบรวมไปกับความต้องการของประชาชนในชุมชน สู่แผนการดำเนินงานที่จริงจัง โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลบางน้ำจืดจึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 ใช้ห้องประชุม อบต.บางน้ำจืด เป็นห้องเรียน  

นายก อบต.บางน้ำจืด ตั้งงบประมาณสำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุเอาไว้ปีละ 1 แสนบาท และขีดเส้นที่จะไม่ให้ลดลงไปกว่านี้ โดยเอาบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านการดูแลผู้สูงอายุ ชักชวนนักวิชาการมาให้องค์ความรู้ที่เหมาะสม มีกิจกรรมที่สอดรับกับทางกาย ใจ และสังคมเข้ามาเสริม  

คล้อยหลัง 4 ปี โรงเรียนผู้สูงอายุบางน้ำจืดคว้า ‘รางวัลโรงเรียนผู้สูงอายุดีเด่นระดับประเทศ’ ได้เงินรางวัลมา 6 แสนบาท อาคารโรงเรียนผู้สูงอายุก็เกิดขึ้น  

ผ่านมาถึงวันนี้ มีนักเรียนผู้สูงอายุเรียนจบไปแล้ว 6 รุ่น ปัจจุบันนี้มีนักเรียนประมาณ 30 คน ส่วนใหญ่หญิงมากกว่าชาย อายุมากสุดคือ 86 ปี  

นายกฯ สุชาติ บอกว่า จะคอยถามนักเรียนตลอดว่าอยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวก็มาดูเรื่องสุขภาพ ช่วงหน้าฝนก็มาแนะนำกันเรื่องระวังหกล้ม ปรับปรุงบ้านให้ หรือช่วงไหนที่เฟคนิวส์เยอะ ก็มาดูเรื่องการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ  

ส่วนสุขภาพก็มาตรวจติดตามกันประจำตามระยะ มีเช็คอัพร่างกาย มีหมอฟันมาตรวจสุขภาพ ส่วนคนที่ติดบ้านติดเตียงก็ได้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าไปช่วยพูดคุย ให้กำลังใจกัน และที่สำคัญคืองบประมาณจาก สปสช. และท้องถิ่น ที่ใช้ส่งเสริมสุขภาพให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่  

“นอกจากงบประมาณ อบต. ที่ให้ปีละ 1 แสนบาท เรายังได้งบประมาณส่วนหนึ่งจากกองทุน กปท. (กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น) ที่เรา (อบต.) กับ สปสช. สนับสนุนร่วมกันได้เสริมเติมเข้าไป ก็ทำให้มีออปชั่นในการเพิ่มกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้สูงอายุที่มีประโยชน์มากขึ้น” นายอบต.บางน้ำจืด บอกกับเรา  

สุชาติ ย้ำอีกว่า กองทุน กปท.ดีมาก เพราะให้อิสระกับท้องถิ่นในการนำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในชุมชน และยิ่งทำให้โรงเรียนผู้สูงอายุบางน้ำจืด ได้ยินเสียงชมจากท้องถิ่นหลายแห่งทั่วประเทศ พร้อมกับอยากจะเดินรอยตาม  

เมื่อมองไปยังกิจกรรม การเรียน และการสอนของโรงเรียนผู้สูงอายุบางน้ำจืด ก็ไปเจอว่ามีกระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบที่ชัดเจนแต่ทว่าเรียบง่าย และน่าจะเป็นแบบอย่างให้อีกกับหลายท้องถิ่นได้เดินตามอย่างที่นายกฯ สุชาติ ว่าเอาไว้   

เริ่มจากช่วงเช้า เวลา 08.00 น. ‘นักเรียน’ ของโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งนี้ จะเข้าแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ไหว้พระ แล้วก็กายบริหาร ซึ่งทำร่วมกันกับหลานๆ นักเรียนชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนบางน้ำจืด  

ต่อมาเวลา 08.30 – 14.30 น.จะเป็นเวลาเข้าห้องเรียน แต่ก่อนเข้าห้องเรียนก็จะมีการแช่เท้าด้วยสมุนไพร ช่วยเลือดลมไหลเวียน จิบชามะละกอที่ดีต่อสุขภาพ  

เมื่อเข้าห้องเรียน ก็จะมีการเรียนการสอน 5 วิชา ประกอบด้วย 1. วิชาดูแลสุขภาพร่างกาย จิตใจของตัวเอง 2.พุทธศาสนา 3. การงานอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 4. เทคโนโลยีการสื่อสาร และ 5. วิชาพัฒนาสมอง  

นักเรียนทุกคนต้องเข้าเรียนไม่น้อยกว่า 80% โดยมาเรียนทุกวันพฤหัสบดี เปิดภาคเรียนระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย. ระหว่างมาเรียนก็จะมีภาคีเครือข่าย บุคลากรทางการแพทย์มาตรวจคัดกรองสุขภาพตามระยะ เช็กเบาหวาน-ความดัน และมีกิจกรรมทางกาย สมอง และจิตใจเพื่อให้สุขภาพองค์รวมของผู้สูงอายุดีที่สุด  

ส่วนผู้สูงอายุที่ติดบ้าน มาไม่ได้ ก็จะมีกลุ่มนักเรียนผู้สูงอายุ อสม.ที่สูงวัย ไปเยี่ยมบ้าน ดูแลสุขภาพร่วมกันและให้กำลังใจระหว่างผู้สูงอายุด้วยกันเอง ที่เข้าอกเข้าใจกัน เพื่อเสริมความแข็งแรงให้จิตใจ  

ตอนท้ายของกิจกรรม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. บอกกับนักเรียนผู้สูงอายุกลุ่มนี้ว่า เท่าที่ดูแต่ละท่าน เรียนตามตรงว่าอ่อนกว่าวัยอย่างมาก และที่น่าสนใจคือตอนที่เต้นประกอบเพลง เต้นกันได้พร้อมเพรียง แสดงว่าสมองยังดีมาก 

นพ.จเด็จ ย้ำด้วยว่า ถ้าผู้สูงอายุเดินแค่วันละ 500 ก้าว ก็จะไม่เป็นอัลไซเมอร์เลย ดังนั้น กิจกรรมต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุจึงสำคัญมาก อย่างวันนี้ ได้มาเห็นกิจกรรมโรงเรียนผู้สุงอายุตำบลบางน้ำจืด ดีใจมากที่เห็นทุกคนแข็งแรง และผู้สูงอายุก็มีเพื่อนๆ ที่ได้พบปะกัน พูดคุยกัน  

“ผมเอง ถ้าเข้าสู่ช่วงสูงอายุแล้ว ก็อยากจะมีเพื่อนๆ เหมือนกัน ไว้พากันออกกำลังกาย ได้พูดคุยกัน มันคงจะดีอย่างมาก” นพ.จเด็จ บอกกับผู้สูงอายุ พร้อมกับอวยพรขอให้สุขภาพแข็งแรง อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นตัวอย่างของคนสุขภาพดีให้กับลูกหลานรุ่นหลัง 

เลขาธิการ สปสช. เสริมตอนท้ายว่า งบประมาณ กปท. ที่อบต.บางน้ำจืดนำไปเสริมสร้างสุขภาพ ส่วนหนี่ง สปสช.เองก็ได้ร่วมสนับสนุนในกองทุนนี้ แม้จะเป็นงบประมาณจำนวนน้อย แต่ก็ได้มีส่วนสนับสนุนให้ท้องถิ่นได้ใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนดูแลสุขภาพ เหมือนอย่างที่ อบต.บางน้ำจืดนำมาใช้กับกิจการโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ท้องถิ่นอื่นๆ อบต. ใกล้เคียงได้ขยายผลเป็นแนวทางที่นำไปใช้ในชุมชนของตัวเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net