Skip to main content
sharethis

ช่วงปี 2551-2552 ชาวกัมพูชาใน อำเภอสำโรง และอำเภอจงกัล จังหวัดอุดรมีชัย หรือโอดอร์ เมียนเจย ร้องเรียนว่าบริษัทลูกของมิตรผลได้บีบให้ครอบครัวของพวกเขาต้องออกจากที่ดินจนไร้ที่อยู่ เพื่อแปลงสภาพเป็นไร่อ้อยขนาดใหญ่ที่จะส่งให้กับโรงงานบริษัทลูกของมิตรผลรวมถึงบริษัทน้ำตาลอังกอร์ รวม 3 บริษัท ใช้ที่ดินจำนวน 19,736 เฮคตาร์ (123,350 ไร่) ในจำนวนนั้นมีผืนป่าชุมชนที่ชาวบ้าน 26 หมู่บ้านบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งในท้ายที่สุดโครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ โดยบริษัทลูกของมิตรผลปิดตัวลง มิตรผลชี้แจงกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ายุติการลงทุน และคืนที่ดินสัมปทานให้รัฐบาลกัมพูชา และทางมิตรผลยังได้แนะนำรัฐบาลกัมพูชาให้คืนสิทธิในที่ดินแก่ชาวบ้าน แต่ทนายของชาวบ้านบอกว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับที่ดินผืนเดิมคืนจากรัฐบาล

ส่วนขั้นตอนการต่อสู้ทางคดีที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2561 นั้นเป็นการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ที่ศาลแพ่ง โดยเป็นกรณีที่นางฮอย ไม และนายสมิน เต็ต รวมกับชาวบ้าน 23 ครอบครัว จาก 700 ครอบครัวจาก 5 หมู่บ้าน ในอำเภอสำโรง อำเภอจังกัล หวัดอุดรมีชัย หรือโอดอร์ เมียนเจย ทางตะวันตกของประเทศกัมพูชา ที่ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท มิตรผล จำกัด เป็นจำเลย เนื่องจากถูกละเมิดสิทธิจากการประกอบกิจการของบริษัท อังกอร์ ชูการ์ บริษัทลูกของบริษัทมิตรผล โดยเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองและสมาชิกกลุ่มรวม 23 ครอบครัว เป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป นับเป็นคดีแรกในกระบวนการยุติธรรมไทยที่มีการฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อบริษัทข้ามชาติไทยที่ลงทุนและเกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ

ต่อมา 4 กรกฎาคม 2561 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้รับพิจารณาคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นชาวกัมพูชาไม่สามารถสื่อสารกับทนายโจทก์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ อีกทั้งที่เกิดเหตุในกัมพูชาเป็นพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเดินทางไปได้ง่ายในการจัดส่งหมายศาล ชาวบ้านจึงทำการยื่นอุทธรณ์

ต่อมา 31 กรกฎาคม 2563 ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลรับฟ้องแบบกลุ่มโดยอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วได้ความว่า เหตุที่เกิดความเสียหายกับบ้านเรือนและทรัพย์สินของสมาชิกกลุ่มบางส่วนรวม 23 ครอบครัว จาก 700 ครอบครัว ถือเป็นการละเมิดต่อกลุ่มบุคคลอย่างเดียวกัน และเป็นการเฉพาะกลุ่มโดยมีข้อเรียกร้องอย่างเดียวกัน แม้ความเสียหายจะแตกต่างกันแต่การฟ้องคดีแบบกลุ่มเป็นไปเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ตลอดทั้งป้องกันความซ้ำซ้อนในการดำเนินคดีและความขัดแย้งต่อคำพิพากษา

18 พฤษภาคม 2565 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ กรณีที่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น หลังจากที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมายว่า คดีนี้ฟ้องเมื่อขาดอายุความหนึ่งปีตามกฎหมายประเทศไทย ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดก่อนสืบพยาน โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้สืบพยานโจทก์จำเลยแล้วเสร็จก่อน จึงให้ยกคำร้อง และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเช่นกันว่าที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ช่วงบ่ายที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ผู้พิพากษานัดพร้อมเพื่อตรวจสอบเอกสาร โดยทั้งทนายโจทก์และทนายจำเลย รอแปลหลักฐานที่เป็นเอกสารภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย โดยต้องใช้เวลาในการรวบรวมและแปลเอกสารดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เช่นกัน คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงขอเลื่อนการพิจารณาออกไปสักนัดหนึ่ง

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เอกสารที่ทางฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยกล่าวอ้างนั้นเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในการสืบพยานของทั้งสองฝ่าย โดยอนุญาตเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานเอกสารทั้งสองฝ่ายใหม่ในวันที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. ทั้งนี้ศาลกำชับคู่ความทั้งสองฝ่ายหากถึงวันนัดหน้า มีเอกสารเพียงเท่าใดให้ถือว่าทั้งสองฝ่ายประสงค์ใช้เอกสารที่มีในวันนัดใช้ในการสืบพยานของฝ่ายตน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net