Skip to main content
sharethis

กสม. เตรียมจัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล พร้อมมอบรางวัล 9 บุคคลและองค์กรดีเด่น ด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน - กสม. ร่วมจัดประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยผลกระทบนโยบายยาเสพติด สนับสนุน การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดแทนมาตรการทางกฎหมาย สร้างการยอมรับผู้เสพเป็นผู้ป่วย

วันที่ 30 พ.ย. 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์  เกตุปราชญ์  รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 44/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้  

1. กสม. เตรียมจัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล พร้อมมอบรางวัล 9 บุคคลและองค์กรดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กำหนดจัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2566 ในหัวข้อ 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน “ศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระลึกถึงและร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ครบรอบ 75 ปี และเพื่อแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศในการส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดจัดงานในวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลา 08.30 – 14.30 น. ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

ในงานจะมีการเสวนาหัวข้อ “ศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” โดยวิทยากรประกอบด้วย นายพิศาล  มาณวพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา พันตำรวจโท ประวุธ  วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางสาวเสาวลักษณ์  ทองก๊วย นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ นายสมพงค์  สระแก้ว ผู้อำนวยมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน และนายจำนงค์  หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ

นอกจากนี้ยังจะมีการมอบรางวัลแก่ผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2565 โดยมีบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 9 รางวัล ดังนี้

(1) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ที่มีผลการดำเนินงานสำคัญเกี่ยวกับการสื่อสารรณรงค์ถึงหลักการประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออก

(2) นายอลงกรณ์  เหมือนดาว บรรณาธิการ รายการข่าว 3 มิติ ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์และสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และการทำหน้าที่เป็นสื่อที่มุ่งนำเสนอเรื่องราวของประชาชน

(3) นายเดโช  ไชยทัพ นายกสมาคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ ผู้ขับเคลื่อนงานด้านประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย ด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ทำงานมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า 30 ปี

(4) รองศาสตราจารย์ บุญเลิศ  วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บุกเบิกการทำงานรวมกลุ่มคนไร้บ้านตั้งแต่ปี 2544 เมื่อครั้งยังทำงานที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

(5) นางสาวรอซิดะห์  ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (N-Wave) ผู้มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสร้างความร่วมมือกับผู้นำศาสนา คณะกรรมการอิสลาม และหน่วยงานภาครัฐในการยุติความรุนแรงในครอบครัวในจังหวัดชายแดนใต้

(6) นายจำนงค์  จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาชุมชน/เครือข่าย ผู้ผลักดันในการสร้างเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล 5 จังหวัดอันดามัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำมาหากินทางทะเลของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

(7) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่มีภารกิจพัฒนาฐานข้อมูลด้านสังคมและวัฒนธรรม 

(8) มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) องค์กรชุมชนที่ดำเนินงานในพื้นที่ที่มีความยากลำบาก เผชิญกับแรงเสียดทานของสังคมใหญ่ ที่มีอคติ ตัดสิน ตีตรา เลือกปฏิบัติต่อพนักงานบริการและพลเมืองหลากหลายเพศ

(9) นางสาวธนานุช  สงวนศักดิ์ ผู้สื่อข่าวอิสระ ผลิตสารคดีและสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์มาอย่างต่อเนื่อง ผลงานสารคดี/สารคดีเชิงข่าวที่ผลิตขึ้นนั้นเป็นการสืบเสาะ เจาะลึก ค้นหาความจริงที่ต้องลงพื้นที่ เกาะติดสถานการณ์เพื่อให้เห็นรายละเอียดของชีวิตที่นำเสนอ

ทั้งนี้ กรอบและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก ประกอบไปด้วย

1. เป็นบุคคลหรือองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้กรอบสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้ (1) มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีความมุ่งมั่นในการทำงาน แม้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความยากลำบาก โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง (2) การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่นเป็นรูปธรรม อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อชุมชน จนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีต่อบุคคลและองค์กรอื่น ๆ ในสังคม (3) การดำเนินงานที่ส่งผลต่อภาพรวมของสังคมและสร้างองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่ชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง (4) การดำเนินงานด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

2. เป็นบุคคลหรือองค์กรที่ไม่เคยมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน

3. เป็นบุคคลหรือองค์กรที่ไม่เคยได้รับรางวัลนี้ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาก่อน

2. กสม. ร่วมจัดประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยผลกระทบนโยบายยาเสพติด สนับสนุนการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดแทนมาตรการทางกฎหมาย สร้างการยอมรับผู้เสพเป็นผู้ป่วย

นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) และ คณะกรรมการประจำ  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social and Cultural Rights: CESCR) จัดการประชุมปรึกษาหารือระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดทำความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของนโยบายยาเสพติด โดยเป็นกิจกรรมคู่ขนานกับการประชุมประจำปี SEANF ครั้งที่ 20 และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดทำข้อคิดเห็นทั่วไป (General Comment) ของคณะกรรมการ CESCR มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของนโยบายยาเสพติด โดยเฉพาะสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อคณะกรรมการ CESCRจะได้นำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแนวทางสำหรับรัฐภาคีในการกำหนดนโยบายยาเสพติดที่เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วยสมาชิก SEANF ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศ สถานทูต นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการครบรอบ 75 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และการครบรอบ 30 ปี ของหลักการปารีส (Paris Principles) ซึ่งเป็นหลักการที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อแสดงถึงความน่าเชื่อถือและความมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงเรื่องที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เรียกร้องให้ภาคส่วนต่าง ๆ มุ่งมั่นที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

Mr. Anand Grover ผู้แทนคณะกรรมาธิการระดับโลกว่าด้วยนโยบายยาเสพติด (Global Commission on Drug Policy) บรรยายเรื่อง “สถานการณ์โลกเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากนโยบายยาเสพติด” นายเสรี  นนทสูติ กรรมการประจำกติกา CESCR และหัวหน้าผู้รายงานร่างเอกสารความเห็นทั่วไปว่าด้วยผลกระทบของนโยบายยาเสพติดต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม บรรยายเรื่อง “คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติและนโยบายยาเสพติด” และ Ms. Rebecca  Schleifer นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล (เครือข่ายความยุติธรรมด้านสุขภาพระดับโลก) และที่ปรึกษาการจัดทำร่างเอกสารความเห็นทั่วไป บรรยายเรื่อง “การนำเสนอเค้าโครงของร่างเอกสารความเห็นทั่วไปว่าด้วยผลกระทบของนโยบายยาเสพติดต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม”

นอกจากนี้ สมาชิก SEANF แต่ละประเทศได้นำเสนอสถานการณ์และนโยบายยาเสพติดของประเทศ ที่ส่งผลกระทบสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นำเสนอสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้ยาเสพติดประมาณ 4 ล้านคน กฎหมายกำหนดให้การเสพยาเสพติดเป็นความผิดทางอาญา ประเทศไทยมีผู้ต้องขังในเรือนจำสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก ร้อยละ 79.2 ของผู้ต้องขังเป็นผู้กระทำผิดในคดียาเสพติด ในปี 2564 ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติวาระพิเศษว่าด้วยยาเสพติด (UNGASS 2016) ซึ่งมีการพูดถึงมิติสิทธิมนุษยชนในการควบคุมปัญหายาเสพติด และเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุคำว่า การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) ไว้ในกฎหมาย แต่ยังคงกำหนดให้การเสพยาเสพติดเป็นความผิดทางอาญา และให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบำบัด รักษา ฟื้นฟู สมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีความเหมาะสม แต่ก็ยังขาดความพร้อมในหลายด้าน ที่ผ่านมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น การจับกุมโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบการทำร้ายร่างกาย การให้อำนาจพิเศษ ป.ป.ส.ในการควบคุมตัว เป็นต้น

กสม. สนับสนุนการนำมาตรการการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) มาใช้แทนมาตรการทางกฎหมาย ในส่วนของผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เพราะเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ควรยกเลิกโทษอาญาสำหรับผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เพื่อลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ ยกเลิก การบังคับบำบัดยกเว้นกรณีที่เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือสังคม การพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้ใช้ยาเสพติดที่เพียงพอ การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ยา ชุมชน ภาคประชาสังคม ในการร่วมจัดบริการที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) ให้กับผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการ และประชาชนทั่วไป

ในช่วงบ่าย ที่ประชุมทั้งกลุ่มย่อยจากหน่วยงานรัฐและนักวิชาการ และกลุ่มภาคประชาสังคม ได้นำเสนอและวิพากษ์ประเด็นเกี่ยวกับมิติระดับชาติและการกำหนดนโยบายยาเสพติด องค์ประกอบสำคัญที่ควรระบุในร่างเอกสารความเห็นทั่วไปดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) กรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APF) และคณะกรรมาธิการระดับโลกว่าด้วยนโยบายยาเสพติด ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองนโยบายยาเสพติดและสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในระดับภูมิภาค และ Mr. Virgilio da Silva Guterres ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม SEANF ครั้งที่ 21 ในปี พ.ศ. 2567 กล่าวปิดประชุม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net