Skip to main content
sharethis
  • หลายคนอาจรู้จัก MAPPA Studio ผู้รังสรรค์อนิเมชันชื่อดังช่วงที่ผ่านมาอย่าง 'Jujutsu Kaisen' หรือ 'Attack of Titan' แต่เมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมา พวกเขากำลังเผชิญเสียงวิจารณ์หนาหู จากคนทำงานเบื้องหลังอนิเมะเหล่านี้ เนื่องจากการทำงานที่หนัก แต่ได้ค่าแรงไม่สมราคา
  • โลกออนไลน์ผุดแฮชแท็ก "#thankyouanimator" เพื่อขอบคุณคนทำงานเบื้องหลัง และต้านการละเมิดสิทธิแรงงานของ MAPPA 
  • ด้านนิวยอร์กไทม์ เคยรายงานเชิงลึกต่อปัญหากรณีดังกล่าวเมื่อปี'64 เปิดปมเบื้องหลังของปัญหา ซึ่งมีทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง และทัศนคติทำงานชนิดทุ่มกายถวายหัวของชาวญี่ปุ่นเอง ขณะที่แนวทางแก้ปัญหายังคงพร่าเลือน และไม่รู้จะเริ่มจากไหน


ปัญหาการทำงานของ MAPPA Studio นี้ได้รับการเปิดเผยโดยคนที่ทำงานเบื้องหลัง อนิเมะ "Jujutsu Kaisen" ซีซัน 2 โดยหลายคนวิจารณ์ตรงกันว่าสภาพการทำงานสตูดิโอ MAPPA ย่ำแย่ ทั้งปัญหาภาระงานล้นเกิน ระยะเวลาทำงานอันจำกัด และได้รับค่าแรงอย่างไม่เป็นธรรม 

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2566 เว็บไซต์ Sportskeeda และ Screen Rant อธิบายจุดเริ่มต้นของความไม่พอใจนี้ เกิดจากนักวาดภาพอนิเมชันนามว่า "Hone hone" ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวผ่านทวิตเตอร์ หรือชื่อใหม่ "X" เมื่อ 12 พ.ย. 2566 ระบุว่า เขาต้องโหมทำงานภายใต้ระยะเวลาอันจำกัด ตอนทำอนิเมะเรื่อง "Jujutsu Kaisen 0"

Hone hone อธิบายต่อว่า โดยปกติแล้วการผลิตภาพยนตร์อนิเมชันเรื่องหนึ่ง ใช้ระยะเวลาเฉลี่ย 2 ถึง 3 ปี เพื่อให้งานเสร็จสมบูรณ์พร้อมออกอากาศ แต่กลายเป็นว่าภาพยนตร์อนิเมะเรื่อง "Jujutsu Kaisen 0" ซึ่งเป็นภาคก่อนเริ่มเนื้อเรื่องใน "Jujutsu Kasisen" ซีซัน 1 กลับต้องผลิตให้เสร็จภายใน 4 เดือนเท่านั้น 

 

 

อนึ่ง อนิเมะเรื่อง "Jujutsu Kaisen" หรือชื่อไทย "มหาเวทย์ผนึกมาร" สร้างจากมังงะแนวโชเนนแอ็กชันในชื่อเดียวกัน โดยอนิเมะออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นเรื่องของนักเรียนมัธยมฯ วัย 15 ปี อิตาโดริ ยูจิ ที่ชีวิตเขาต้องผกผันหลังเผลอไปเขมือบนิ้วต้องสาปและเป็นที่สถิตวิญญาณของ "เรียวเมน สุคุนะ" มหาปีศาจผู้ไร้เทียมทานเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว ซึ่งผลจากการทานนิ้วของสุคุนะ ทำให้ยูจิ กลายเป็นที่สถิตวิญญาณของสุคุนะ และเป็นที่ต้องการของเหล่าพลพรรคปีศาจ ที่พยายามปลุกปีศาจในร่างพระเอกขึ้นมา เพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ไม่สามารถใช้ไสยเวทย์

อิตาโดริ ยูจิ (ที่มา: ยูทูบ TOHO animation)

ต่อมา อาราอิ คาซูโตะ (Arai Kazuto) ผู้กำกับ Jujutsu Kaisen ซีซัน 2 ตอนที่ 13 เปิดเผยด้วยว่า ทีมงานเบื้องหลังเคยร้องขอทาง ‘คณะกรรมการโปรดักชัน’ ให้มีการชะลอการออกอากาศ แต่กลับถูกปฏิเสธ มากกว่านั้น ดูเหมือนว่าหลายๆ ตอนของการ์ตูนจะเสร็จก่อนออกอากาศเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการวางตารางงานโปรดักชันอันย่ำแย่

โอคุโบะ ชุนสุเกะ (Ookubo Shunsuke) ผู้กำกับ Jujutsu Kaisen ตอนที่ 12 แสดงออกผ่านงานภาพวาดของเขา โดยเขาวาดเป็นตัวละครจากอนิเมะเรื่อง "ชิโรบาโกะ" (Shirobako) (ก๊วนสาวนักสร้างอนิเมะ) ซึ่งเป็นการ์ตูนว่าด้วยการสร้างงานอนิเมะนั่นเอง โดยชุนสุเกะ วาดภาพหนึ่งในตัวละครจากชิโรบาเกะ กำลังแขวนคอจบชีวิตตัวเอง ด้วยใบหน้าที่อิดโรยอย่างชัดเจน 

 

 

นักสร้างอนิเมชัน "ฮาคุยู โก" (Hakuyu Go) เขาเคยร่วมสร้างอนิเมชันอย่าง Kekkai Sensen Mob Psycho 100 หรือ One Punch Man ได้ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า สำหรับเขา มองว่า MAPPA อยากจะประสบความสำเร็จในระดับเดียวกับ สตูดิโอชั้นนำอย่าง “เกียวโต อนิเมชัน” (Kyoto Animation) ผู้สร้างอนิเมชันชื่อดังอย่าง "รักไร้เสียง" (Koe no katachi) และ "K-On" และ "ยูฟอเทเบิล" (Ufotable) ผู้สร้าง "ดาบพิฆาตอสูร" (Kimitsu no Yaiba) และอนิเมะ "Fate Stay Night" แต่สตูฯ อย่างเกียวโตฯ หรือ ยูฟอเทเบิล สร้างชื่อเสียงมาหลายปี และก็ดูแลพนักงานได้ดี ต่างจาก MAPPA ที่มีแผนงานและสภาพการทำงานอันย่ำแย่สำหรับพนักงาน

ซาโตชิ ซากาอิ (Satoshi SAKAI) นักวาดอนิเมชัน หนึ่งในผลงานของเขาคือเรื่อง "Attack on Titan" นั้น เขาได้ใช้ทวิตเตอร์ เพื่อขอให้นักสร้างอนิเมชันต่างประเทศพูดถึงความไม่พอใจของพวกเขาทางออนไลน์ เพราะเขาเชื่อว่านักสร้างอนิเมชันชาวญี่ปุ่นรู้สึกว่าต้องไม่พูดถึงความไม่พอใจบนสื่อโซเชียลมีเดีย 

อิสึกิ ซึจิกามิ ผู้กำกับและคนคุมทิศทางสตอรีบอร์ดของอนิเมะ Jujutsu Kaisen ตอนที่ 16-17 โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์เมื่อ 21 ต.ค. 2566 ว่า เขาขอบคุณสำหรับตอนที่เขากำกับได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนๆ แต่น่าเสียดายที่ MAPPA ไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนให้งานของเราอย่างเหมาะสม ทีมงานต้องทำงานภายใต้ตารางงานที่จำกัด  ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังได้รับค่าจ้างน้อยกว่าโปรเจกต์อนิเมชันเรื่องอื่นๆ  

ซึจิกามิ ระบุด้วยว่า เขาไม่สบายใจเวลาที่มีคนชื่นชมบริษัทเกี่ยวกับผลงานในปัจจุบัน สำหรับเขาคนที่สมควรได้รับการยกย่องจริงๆ คือคนทำงานเบื้องหลัง ทั้งผู้กำกับ คนทำงานแต่ละแผนกทั้งฝ่ายผลิต และฝ่ายถ่ายทำภาพยนตร์ที่ทำงานกันอย่างอุตสาหะ

เมื่อปี 2564 MAPPA เคยประสบปัญหาเดียวกัน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการออกมาเปิดเผยปัญหาการทำงานของ MAPPA รายงานจากเว็บไซต์ 'อีพิก โดป' (Epic Dope) ระบุว่า เมื่อปี 2564 'มูชิโย' (Mushiyo) อดีตอนิเมเตอร์ของ MAPPA ชี้แจงเหตุผลที่ออกจาก MAPPA Studio เมื่อ 14 พ.ค. 2564 ว่าเป็นเพราะปัญหาสภาพการทำงานอันย่ำแย่ของ MAPPA และตารางการทำงานอันจำกัดตอนนั้น 

'มูชิโย' ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นฟรีแลนซ์อนิเมเตอร์ ระบุว่า เขาต้องเผชิญปัญหาตารางภาระงานที่หนักเกินไป เนื่องจาก MAPPA กำลังสร้างอนิเมะชื่อดังพร้อมกัน 4 เรื่อง ได้แก่ Attack on Titan, Jujutsu Kaisen ซีซัน 1, Re-Main, และ Zombie Land Saga Revenge โดยไม่มีการเตรียมตัวที่ดีพอ อนิเมเตอร์หน้าใหม่เผชิญปัญหาการแก้งาน และไม่มีเวลาให้เขาได้ฝึกฝนการทำงานก่อน มูชิโย มองว่าการทำงานตอนนั้นเรียกว่าเหมือน 'โรงงาน' ทีเดียว

นอกจากนี้ มูชิโย ระบุด้วยว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานใน MAPPA ตอนนั้นวิจารณ์สตูดิโอถึงตารางงานที่หนักจนเกินไป และ 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้เลือกลาออกด้วยเหตุผลดังกล่าว

ผุด #THANKYOUANIMATOR ให้กำลังใจทีมงานค่าย MAPPA

เพจเฟซบุ๊ก "เล่าเรื่อง" โพสต์ข้อความเมื่อ 17 พ.ย. 2566 ว่า หลังจากที่คนทำงานเบื้องหลังการ์ตูนชื่อดัง ออกมาแสดงความไม่พอใจสภาพการทำงาน และการละเมิดสิทธิแรงงานของ MAPPA Studio ส่งผลให้โซเชียลมีเดียรณรงค์ให้โพสต์ข้อความติดแฮชแท็กว่า #thankyouanimator" เพื่อให้กำลังใจคนทำงานเบื้องหลังของ MAPPA Studio  

โพสต์จากเพจ ‘เล่าเรื่อง’ ระบุเพิ่มว่า ตอนนี้ทั่วโลกก็กำลังรณรงค์ให้โซเชียลยกเลิกแฮชแท็ก  #ThankyouMappa เพราะพวกเขาไม่ต้องการสนับสนุนค่าย และมองว่าทางค่ายไม่สมควรได้รับเครดิตต่อสิ่งที่กระทำ ฝ่ายที่สมควรได้รับเครดิตควรจะเป็นอนิเมเตอร์ รวมถึงพนักงานมากกว่า

เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำรวจโซเชียลมีเดีย 'X' เพื่อตรวจสอบกระแสให้กำลังใจคนทำงานดังกล่าว โดยพบว่ามีอินฟลูเอนเซอร์ชาวไทยร่วมติดแฮชแท็กด้วยเช่น "Lowcostcosplay" โดยเมื่อ 17 และ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางเพจโพสต์ภาพคอสเพลย์เป็นตัวการ์ตูนจากเรื่อง "Jujutsu Kaisen" อย่าง นานามิ เคนโตะ หรืออิตาโดริ ยูจิ พระเอกของเรื่อง และมีการเขียนแคปชันติดแฮชแท็ก #thankyouanimator

 

 

 

 

ไม่ใช่แค่ใน MAPPA ที่เดียว

ไม่ใช่แค่ทางสตูดิโอแมปปะเท่านั้น ที่ถูกวิจารณ์เรื่องปัญหาสภาพการทำงานอันย่ำแย่ และค่าแรงน้อย เมื่อปี 2563 สตูดิโอจิบลิ ผู้สร้างสรรค์ผลงานระดับขึ้นหิ้งอย่าง "Spirited Away" (2544) หรือที่กำลังจะเข้าฉายบ้านเราอย่าง "The Boy and the Heron" (เด็กชายกับนกกระสา) (2566) เคยถูกวิจารณ์จาก สตีฟ อัลเพิร์ต (Steve Alpert) อดีตฝ่ายบริหารของจิบลิ ว่า ตอนที่เขาทำงานอยู่ที่จิบลิระหว่างปี 2539-2554 มีการละเมิดกฎหมายแรงงานของญี่ปุ่นหลายข้อ อย่างการทำงานหนักเกินมาตรฐานเวลาโดยเฉพาะช่วงเวลาที่งานใกล้กำหนดเดดไลน์

นอกจากนี้ อัลเพิร์ต ระบุด้วยว่า เขาต้องทำงานเป็นระยะเวลา 6 วัน โดยไม่ได้รับค่าแรงล่วงเวลา และไม่มีวันลาพักร้อน รวมถึงยังมีปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศในที่ทำงาน เช่น กฎเกณฑ์ที่ระบุว่างานทำความสะอาด และเสิร์ฟชาและกาแฟ เป็นหน้าที่เฉพาะพนักงานหญิง 

ในปีเดียวกัน เว็บไซต์ "Akibantan" (อกิบะตัน) รายงานว่า เมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2563 มีกระแสที่คนทำงานแอนิเมเตอร์ญี่ปุ่น พร้อมใจกันโพสต์ข้อความบนสื่อโซเชียลมีเดีย และติดแฮชแท็ก "#動画マン地獄篇" (แปลว่า นรกนักวาดภาพอนิเมชัน) เพื่อร่วมสะท้อนปัญหาการทำงานวงการนี้ที่หามรุ่งหามค่ำ แต่ได้รับค่าตอบแทนนิดเดียว

"ตอนเข้าไปใหม่ๆ ได้ค่าแรง 8,000 เยนต่อเดือน มันต้องเปลี่ยนแปลงได้แล้วไม่ใช่เหรอ มันไม่ใช่การดำรงชีวิตของคนแล้ว คิดว่านี่แหละคือจุดที่เลวร้ายที่สุดของอุตสาหกรรมนี้" ไซโต เคนโก (Saitou Kengo) หัวหน้าผู้กำกับแอนิเมชัน SSSS.Gridman กล่าว

 

 

"ฉันทำงานโต้รุ่งอยู่ 3 คืนที่สตูดิโอ เพื่อเงิน 4,000 เยน เผลอใส่แท็กนี้ กับเผลอหลุดเรื่องจริงออกไปเสียแล้ว แท็กนี้มันเปิดเผยด้านมืดของอุตสาหกรรมอนิเมชัดๆ ทุกคนที่ดูอนิเมกันอยู่แบบไม่รู้เรื่องนี้น่าจะดีกว่านะ" ชิมาดะ (นามสมมติ) ระบุ

 

 

ศิลปินนักเขียนการ์ตูน ฮานะมูระ ยาโซะ (Hanamura Yaso) ผู้เขียนการ์ตูนเรื่อง Animeta! ว่าด้วยเรื่องราวของ 'ซานาดะ มิยูกิ' ผู้ใฝ่ฝันเข้ามาทำงานวงการอนิเมชัน เนื่องจากความประทับใจการ์ตูนอนิเมะช่วงวัยเด็ก ก็ได้ร่วมโพสต์แฮชแท็กนี้ โดยกล่าวว่าจำนวนเงินค่าแรงของอนิเมเตอร์ในการ์ตูนเรื่องนี้ อ้างอิงประสบการณ์จากอนิเมเตอร์รุ่นเก่าท่านหนึ่ง เจ้าตัวเคยเข้ามาเป็นเด็กใหม่ทำอนิเมชันเมื่อ 20 ปีก่อน งานแรกได้เงินมา 45,000 เยน (รวมค่าเรียน) และต่อมาเดือนที่ 2 ได้ 18,000 เยนเท่านั้น (ถ้าเทียบเป็นเงินไทย ณ ปัจจุบัน คือเดือนละ 4,200 บาท)

นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนที่ Akibatan หยิบยกมา และหลังจากมีกระแสแฮชแท็ก 'นรกนักวาดภาพอนิเมชัน' ก็มีกระแสแฮชแท็ก #AnimationPaidMe เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เพื่อร่วมกันตีแผ่ด้านมืด โดยเฉพาะจากเหล่าอนิเมเตอร์ในฝั่งเอเชีย

อนิเมะรุ่งเรือง แต่ทำไมอนิเมเตอร์ถึงงานหนักและยากจน

รายงานเชิงลึก "อนิเมะได้รับความนิยม งั้นทำไมอนิเมเตอร์ยังยากจน?" (Anime Is Booming. So Why Are Animators Living in Poverty?) โดยนิวยอร์กไทม์ เมื่อปี 2564 ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมา มูลค่าการตลาดของอนิเมะทั่วโลก ทั้งรายการทีวี ภาพยนตร์ และสินค้าของที่ระลึกจากการ์ตูน สูงถึง 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยสำคัญคือความนิยมใช้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง (อาทิ เน็ตฟลิกซ์ หรืออเมซอนไพร์ม) ทำให้มีความต้องการอนิเมะ เพื่อมาป้อนตลาดมากยิ่งขึ้น เสมือนเงาติดตามตัว

รายงานระบุว่า แม้ว่าอนิเมะญี่ปุ่นจะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ค่าแรงของอนิเมเตอร์ในประเทศกลับไม่สูงตาม ข้อมูลจากองค์กรแรงงาน 'สมาคมผู้สร้างสรรค์แอนิเมชันญี่ปุ่น' (JAniCA) ระบุว่า เมื่อปี 2562 อนิเมเตอร์ระดับจูเนียร์ หรือที่เรียกว่า 'โดว์กะ-แมน' (douga-man) ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ถ้าเป็นอนิเมเตอร์ระดับสูง หรือที่เรียกว่า 'เกนกะ-แมน' (genga-man) อาจได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 36,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ข้อมูลนี้ยังไม่รวมถึงอนิเมเตอร์ฟรีแลนซ์ที่ JAniCA คาดว่าได้รับเงินค่าตอบแทนต่อปีต่ำกว่านี้

อนึ่ง อนิเมเตอร์ 'โดว์กะแมน' จะทำงานวาดภาพนิ่งจำนวนหลายภาพ เพื่อเชื่อมต่อฉากแต่ละฉากของอนิเมะเข้าด้วยกัน ก่อนที่ต่อมา เขาจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งคนที่เป็นอนิเมเตอร์ระดับสูง หรือที่เรียกว่า 'เกนกะแมน' โดยเขาจะได้รับหน้าที่วาดภาพเคลื่อนไหว (Seamless-motion) 

ค่าจ้างนี้ดูจะเทียบไม่ติดกับในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งอนิเมเตอร์แดนลุงแซมได้รับค่าจ้างต่อปีอยู่ที่ 65,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่านั้น และสำหรับงานที่ต้องใช้ทักษะที่ซับซ้อนมากกว่านี้ อาจได้ค่าจ้างต่อปีเฉลี่ยที่ 75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัจจัยปัญหาค่าแรงต่ำและสภาพการทำงานที่หนักส่งผลให้อนิเมเตอร์หลายคนเริ่มทบทวนเส้นทางการทำงานกันมากขึ้นว่าจะอยู่ทำงานต่อ หรือไปหางานที่ทำให้เขามีชีวิตที่ดีกว่านี้

'คณะกรรมการโปรดักชัน' เขาว่าเป็นตัวบ่อนทำลายรายได้สตูดิโอ

รายงานจากนิวยอร์กไทม์ เผยว่า เบื้องหลังของปัญหานี้ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจาก "คณะกรรมการโปรดักชัน" (production committee) ซึ่งเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจระหว่างบริษัทผู้จัดพิมพ์มังงะ ผู้ผลิตของเล่น และบริษัทอื่นๆ เพื่อจ่ายเงินค่าธรรมเนียมโครงการผลิตอนิเมะให้สตูดิโอ และเขาจะได้ลิขสิทธิ์การ์ตูนเรื่องดังกล่าวไว้ใช้เอง 

แม้เนื้อแท้ของระบบดังกล่าวมีขึ้นเพื่อประกันความเสี่ยงจากความล้มเหลว แต่มันก็เป็นปัจจัยขัดขวางความรุ่งเรืองของสตูดิโอทำอนิเมะในญี่ปุ่นในเวลาเดียวกัน เพราะรายได้และกำไรส่วนใหญ่จากการทำอนิเมะจะเข้าไปที่คณะกรรมการนี้เป็นหลัก มากกว่านั้น แทนที่สตูดิโอจะเจรจากับคณะกรรมการฯ เพื่อขอเงินหรือส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น พวกเขากลับมาบีบคนทำงาน โดยการลดต้นทุนในการทำงานแทน โดยการจ้างระบบฟรีแลนซ์ที่มีค่าจ้างทำงานที่ถูกกว่าอนิเมเตอร์ที่เป็นพนักงานประจำ 

ซิโมนา สแตนซานี ผู้ทำงานอยู่ในวงการธุรกิจล่ามเกือบ 3 ทศวรรษ ระบุว่า แม้ว่าปัญหาดังกล่าวมาจากโครงสร้างอุตสาหกรรมอนิเมะที่จำกัดรายได้และกำไรของสตูดิโอ แต่อย่างไรก็ตาม สตูดิโอเลือกหนีปัญหาโดยการลดค่าตอบแทนอนิเมเตอร์ เพราะว่ามีนักอนิเมเตอร์รุ่นเยาว์จำนวนมาก ที่ใฝ่ฝันอยากเข้ามาทำงานและสร้างชื่อในวงการอุตสาหกรรมอนิเมะอยู่เสมอ   

"มันมีศิลปินเจ๋งๆ ข้างนอกเต็มไปหมดเลย" "งั้นทำไมสตูดิโอต้องขึ้นค่าแรงละ" สแตนซานี กล่าว 

ทัศนคติด้านการทำงานทุ่มกายถวายหัว

รายงานของนิวยอร์กไทม์ ระบุด้วยว่า ทัศนคติการทำงานของประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่อาจทำให้สภาพการทำงานยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร อุตสาหกรรมอนิเมะเป็นหนึ่งอุตสาหกรรรมที่มีชื่อเสียงไม่ค่อยดีนัก อันเนื่องมาจากการเรียกร้องแรงกายแรงใจจากคนทำงานอย่างเข้มข้น แต่อย่างไรก็ตาม ตัวของอนิเมเตอร์บางรายกลับมองว่า การทำงานข้ามวันข้ามคืน ค้างอยู่ในสตูดิโอติดต่อกันหลายวันจนทำงานเสร็จทันภายในเดดไลน์ หรือการโหมงานหนักติดต่อกันจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ยังเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ

เรื่องนี้สะท้อนได้ดีจากการ์ตูนอนิเมะเรื่อง "ชิโรบาโกะ" (2558) ตอนที่ 1 มีการฉายภาพนักวาดอนิเมเตอร์สลบลงไป เนื่องจากการโหมทำงานช่วงใกล้เดดไลน์ แต่ในช่วงที่ชีวิตเขาอยู่บนเส้นด้าย การ์ตูนกลับนำเสนอภาพให้เราลุ้นว่า คนวาดการ์ตูนจะทำงานเสร็จทันภายในเดดไลน์หรือไม่เท่านั้น

ยังไม่มีทางออกสำหรับตอนนี้ 

เมื่อถามถึงแนวทางแก้ไข ผู้ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทม์ ระบุว่า เขายังไม่เห็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขเรื่องนี้นัก และบางรายมีความเห็นด้วยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นดูจะไม่ค่อยสนใจ แม้ว่าจะโปรโมท ‘อนิเมะ’ ในฐานะนโยบายทางการทูตเชิงวัฒนธรรม 

จุน ซุกาวาระ นักรณรงค์ที่ทำองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หาบ้านเช่าให้กับอนิเมเตอร์รุ่นเยาว์ระบุว่า เขาเริ่มรณรงค์ตั้งแต่เมื่อปี 2554 หลังทราบสภาพการทำงานจากของคนทำงานในวงการนี้ ระบุว่า การทำงานในระยะเวลายาวนานเกินมาตรฐานผิดกฎหมายแรงงานญี่ปุ่น แต่ทางการไม่ค่อยให้ความสนใจกับปัญหานี้มากนัก 

"จนตอนนี้รัฐบาลระดับประเทศและท้องถิ่นยังไม่มีวิธีแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ" ซุกาวาระ กล่าว 

ขณะที่ตัวแทนกระทรวงแรงงานญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทม์ เมื่อปี 2564 เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานตระหนักถึงปัญหาตรงนี้ดี แต่ไม่สามารถไม่สามารถช่วยอะไรได้จนกว่าอนิเมเตอร์จะยื่นเรื่องร้องเรียนมาที่หน่วยงาน นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานญี่ปุ่น เปิดเผยด้วยว่า เมื่อปี 2563 มีผู้ส่งเรื่องมาเพียงหยิบมือเท่านั้น โดยมี 2 สตูดิโอที่สามารถไกล่เกลี่ยกับลูกจ้างได้ เนื่องจากล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานว่าด้วยการจ่ายค่าล่วงเวลาทำงาน

ขณะที่โจเซฟ ชู (Joseph Chou) เจ้าของบริษัทคอมพิวเตอร์อนิเมชันในญี่ปุ่นเคยให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทม์ เมื่อปี 2564 ระบุว่า มีความพยายามเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติด้านแรงงานของสตูดิโอขนาดใหญ่ หลังเผชิญแรงกดดันจากฝ่ายนิติบัญญัติ และสาธารณชน ยกตัวอย่าง โครงการความร่วมมือระหว่างเน็ตฟลิกซ์ และ WIT Studio สนับสนุนเงินทุนและการฝึกอบรมอนิเมเตอร์รุ่นเยาว์ในการผลิตเนื้อหาให้กับสตูดิโอ จำนวน 10 คน และทั้งสิบคนจะได้เงินเดือน 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 6 เดือน 

โจเซฟ ชู มองว่า สตูดิโอขนาดใหญ่อาจไม่มีปัญหาในการปรับตัวเท่ากับสตูดิโอขนาดเล็กที่ไม่ค่อยมีรายได้ เนื่องจากสตูดิโอเป็นธุรกิจที่ได้กำไรน้อย และใช้แรงงานอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกสตูดิโอจะจ้างงานด้วยค่าแรงต่ำ ยกตัวอย่าง ‘เกียวโตอนิเมชัน’ ยังคงจ้างงานลักษณะลูกจ้างมากกว่าการจ้างฟรีแลนซ์

ซุกาวาระ แสดงความกังวลว่า ท้ายที่สุด ถ้าปล่อยปัญหาคาราคาซังต่อไป อุตสาหกรรมอนิเมะอาจล่มสลายขึ้นมาจริงๆ เนื่องจากคนทำงานเก่งๆ และคนทำงานรุ่นใหม่ จะทยอยออกจากวงการนี้ เพื่อไปหางานที่ทำให้ชีวิตพวกเขาดีกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net