Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความฯ ร้องเพิกถอนคำสั่งศาลที่ผิดระเบียบ หลังจำเลยและทนายความยื่นร้องเรียนคัดค้านผู้พิพากษาในคดี #ม็อบย่างกุ้ง แต่ผู้ลงคำสั่งไม่รับเรื่องร้องเรียนเป็นผู้พิพากษาที่ถูกร้องเรียนเสียเอง

27 พ.ย. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า จำเลยและทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งศาลที่ผิดระเบียบผ่านทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม ในคดีของ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และสมาชิกกลุ่ม WeVo หรือ We Volunteer รวม 11 คน จากการจัดกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง เพื่อจำหน่ายกุ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริเวณสนามหลวงและอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563

ทนายยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษา คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ #ม็อบย่างกุ้ง ของกลุ่ม WeVo เหตุมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณา-พิพากษา เสียความยุติธรรม

คำร้องขอเพิกถอนคำสั่งศาลระบุเหตุในการยื่นคำร้องว่า เนื่องจากในวันที่ 20 พ.ย. 2566 ทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษา คือ สิรพัชร์ สินมา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและนั่งพิจารณาคดีนี้ โดยอ้างเหตุอันมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 12

ในวันถัดมา (21 พ.ย. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 401 ศาลแขวงดุสิต ผู้พิพากษาสิรพัชร์อ่านคำสั่งยกคำร้องคัดค้านผู้พิพากษา ด้วยเหตุผลว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรณีไม่ต้องด้วยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 12 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ให้ยกคําร้อง โดยเป็นผู้สั่งตามคำร้องดังกล่าวด้วยตนเอง

ทนายความจำเลยเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 13 วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าศาลใดมีผู้พิพากษาคนเดียวและผู้พิพากษาคนนั้นถูกคัดค้าน หรือถ้าศาลใดมีผู้พิพากษาหลายคน และผู้พิพากษาทั้งหมดถูกคัดค้าน ให้ศาลซึ่งมีอํานาจสูงกว่าศาลนั้นตามลําดับเป็นผู้ชี้ขาดคําคัดค้าน”

คำร้องระบุว่า ภายใต้บทบัญญัติดังกล่าว ผู้พิพากษาสิรพัชร์ไม่มีอำนาจสั่งคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาด้วยตนเอง เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีศาลแขวง มีผู้พิพากษาคนเดียว ศาลที่มีอำนาจชี้ขาดคำร้องคัดค้านผู้พิพากษา คือ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิต หรือศาลซึ่งมีอำนาจสูงกว่าผู้พิพากษาสิรพัชร์ การสั่งคำร้องดังกล่าวจึงเป็นการสั่งคำร้องโดยตนเองไม่มีอำนาจ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนอกจากนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 13 วรรคสี่ตอนท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวจะชี้ขาดคำคัดค้าน ห้ามมิให้ผู้พิพากษาคนนั้นมีคำสั่งให้ยกคำคัดค้าน โดยผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งหรือข้าหลวงยุติธรรมมิได้เห็นพ้องด้วย” แต่ปรากฎว่าในคำสั่งของผู้พิพากษาสิรพัชร์ที่สั่งยกคำร้องคัดค้านผู้พิพากษา ไม่ปรากฎในคำสั่งว่าผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งหรือข้าหลวงยุติธรรมเห็นพ้องด้วยกับคำสั่งยกคำคัดค้านแต่อย่างใด

รวมทั้ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 14 บัญญัติว่า “เมื่อได้มีการร้องคัดค้านขึ้น และผู้พิพากษาที่ถูกคัดค้านไม่ยอมถอนตัวออกจากการนั่งพิจารณาคดี ให้ศาลฟังคำแถลงของคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องและของผู้พิพากษาที่ถูกคัดค้าน กับทำการสืบพยานหลักฐานที่บุคคลเหล่านั้นได้นำมาและพยานหลักฐานอื่นตามที่เห็นสมควร แล้วออกคำสั่งยอมรับหรือยกเสียซึ่งคำคัดค้านนั้น คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด” แต่ไม่ปรากฎว่าก่อนที่ผู้พิพากษาสิรพัชร์จะมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลนี้ได้มีการดำเนินการเพื่อฟังคำแถลงของคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องและของผู้พิพากษาที่ถูกคัดค้าน ทั้งไม่ปรากฎว่ามีการสืบพยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยและฝ่ายผู้พิพากษาซึ่งถูกคัดค้านจะได้นำมาและพยานหลักฐานอื่นตามสมควร กรณีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้น จำเลยที่ 1 และทนายความจำเลยจึงขอศาลได้โปรดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งยกคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาที่สั่งไปโดยผิดระเบียบดังกล่าว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนติดตามต่อไปว่า ศาลจะเห็นว่ากระบวนพิจารณาดังกล่าวผิดระเบียบ และมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาในวันที่ 21 พ.ย. 2566 รวมถึงคำสั่งยกคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net