Skip to main content
sharethis

ผลศึกษาใหม่ของ 'WHO-ILO' พบว่าการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนทำงานกลางแจ้งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งผิวหนัง ชี้จำเป็นต้องมีการป้องกันและบรรเทาผลกระทบ


ที่มาภาพ: ILO

25 พ.ย. 2566 เกือบ 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตจาก 'มะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา' (Nonmelanoma) [1] มีสาเหตุมาจากการทำงานภายใต้แสงแดด ตามการประมาณการร่วมกันขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Environment International พบว่าคนทำงานกลางแจ้งมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้น ทั้งสององค์กรยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อป้องกันอันตรายร้ายแรงและการเสียชีวิตของคนทำงานจากสาเหตุดังกล่าว

จากการประมาณการร่วมกัน พบว่าคนวัยทำงาน (15 ปีขึ้นไป) จำนวน 1.6 พันล้านคน ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ขณะทำงานกลางแจ้งในปี 2562 คิดเป็น 28% ของคนวัยทำงานทั้งหมด ในปี 2562 เพียงปีเดียว ผู้คนเกือบ 19,000 คน ใน 183 ประเทศ เสียชีวิตจากมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมานี้ เนื่องจากต้องทำงานกลางแจ้งและสัมผัสกับแสงแดด ส่วนใหญ่ 65% เป็นผู้ชาย

“การสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์โดยไม่มีการป้องกันขณะทำงาน เป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งผิวหนัง” ดร.ทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าว “แต่ก็มีวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ในการปกป้องคนทำงานจากรังสีที่เป็นอันตรายของดวงอาทิตย์ และป้องกันผลกระทบร้ายแรงต่อพวกเขา”

การประมาณการดังกล่าวระบุว่าการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์จากการประกอบอาชีพ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน โดยการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุหลักอันดับ 3 ระหว่างปี 2543-2562 การเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสแสงแดดจากการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า โดยเพิ่มขึ้น 88% จากผู้เสียชีวิต 10,088 รายในปี 2543 เป็น 18,960 รายในปี 2562

“สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน” กิลเบิร์ต เอฟ. ฮุงโบ (Gilbert F. Houngbo) ผู้อำนวยการใหญ่ ILO กล่าว “การเสียชีวิตที่เกิดจากการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ ส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยมาตรการที่ดี จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาล นายจ้าง คนทำงาน และสหภาพแรงงานจะทำงานร่วมกันภายใต้กรอบด้านสิทธิ ความรับผิดชอบ และหน้าที่ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพจากการสัมผัสรังสียูวี สิ่งนี้สามารถช่วยชีวิตคนได้หลายพันคนในทุกปี”

การศึกษาชิ้นนี้ยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อปกป้องคนงานจากการทำงานกลางแจ้งท่ามกลางแสงแดดที่เป็นอันตราย เนื่องจากมะเร็งผิวหนังเกิดขึ้นหลังจากสัมผัสมาหลายปีหรือหลายสิบปี คนทำงานจึงต้องได้รับการปกป้องในขณะทำงาน รัฐบาลควรจัดทำ ดำเนินการ และบังคับใช้นโยบายและกฎระเบียบที่ปกป้องคนทำงานกลางแจ้ง โดยการให้ร่มเงา  เลื่อนชั่วโมงทำงานในช่วงแดดจัด ให้การศึกษาและการฝึกอบรม และจัดเตรียมครีมกันแดดและชุดป้องกันส่วนบุคคลให้กับคนทำงาน (เช่น หมวกปีกกว้าง เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว) เป็นต้น

WHO, ILO, องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน SunSmart Global UV ซึ่งช่วยให้คนทำงานกลางแจ้งสามารถประเมินการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ได้

มาตรการอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนัง ได้แก่ การสร้างความตระหนักรู้ของคนทำงานเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสแสงแดดจากการทำงานกับมะเร็งผิวหนัง และการให้บริการเพื่อตรวจหาสัญญาณเริ่มต้นของมะเร็งผิวหนัง

[1] Nonmelanoma (มะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา) เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดอื่น ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่ามะเร็งผิวหนังแบบเมลาโนมา โดยเซลล์มะเร็งมักเกิดขึ้นในผิวหนังชั้นนอกและโตค่อนข้างช้า อาการระยะเริ่มต้นอาจสังเกตเห็นเป็นก้อนนูนหรือรอยบนผิวหนัง ซึ่งมีสีผิดปกติ โดยก้อนนูนหรือรอยนั้นมักเกิดขึ้นนานเกิน 2-3 สัปดาห์ และมีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้รังสีอัลตราไวโอเล็ตหรือรังสียูวี ไม่ว่าจะเป็นรังสียูวีจากแสงแดดหรือเครื่องทำผิวแทน จัดเป็นปัจจัยหลักที่อาจก่อให้เกิด Nonmelanoma ซึ่งผู้ที่ต้องสัมผัสกับรังสียูวีเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง จะเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังแบบ Nonmelanoma มากกว่าคนทั่วไป

 

ที่มา:
Working under the sun causes 1-in-3 deaths from non-melanoma skin cancer, say WHO and ILO (ILO, 8 November 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net