Skip to main content
sharethis

สื่อ Lanner รายงานกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมและเครือข่าย จัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องข้อเรียกร้องต่อภาครัฐเรื่องสวัสดิภาพและสวัสดิการของแรงงานหญิงและเด็กร่วมกับสมาชิก พร้อมเดินทางยื่นหนังสือข้อเรียกร้องเนื่องในโอกาสสัปดาห์วันยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กปี 2566 ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ 

Lanner รายงานว่าเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม และเครือข่าย จัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องข้อเรียกร้องต่อภาครัฐเรื่องสวัสดิภาพและสวัสดิการของแรงงานหญิงและเด็กร่วมกับสมาชิก ณ ห้องประชุมชั้น 2 โรงแรมฮอลิเดย์การ์เดน โฮเทลแอนด์รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเดินทางยื่นหนังสือข้อเรียกร้องเนื่องในโอกาสสัปดาห์วันยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กปี 2566 ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ 

กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม (กญธ.) (Women Workers For Justice Group) โดยมีสมาชิกแรงงานหญิงจากทุกสาขาอาชีพ ทุกชาติพันธุ์ จัดเวทีพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับสมาชิกและเครือข่าย เรื่องข้อเรียกร้องต่อภาครัฐเพื่อรับทราบและจัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มแรงงานหญิงและเด็ก เนื่องในโอกาสสัปดาห์วันยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ปี 2566 โดยในช่วงเช้า มีการพูดคุยโดยตัวแทนจากกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม, อาจารย์จากมหาวิทยาลัย, ตัวแทนจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และเครือข่าย

วิทยากรตัวแทนจากกลุ่มการเมืองหลังบ้าน ได้เปิดประเด็นในเวทีพูดคุยถึงประสบการณ์ความลำบากของการเป็นแรงงานหญิงด้วยข้อจำกัดทางเพศสภาพที่ต้องเผชิญกับอาการปวดประจำเดือนแต่ไม่สามารถลางานได้ ซึ่งกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน สวัสดิภาพการดำเนินชีวิตระหว่างการทำงาน ทั้งยังต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าอนามัยกว่า 2,500 บาทต่อปี แม้ตัวเลขอาจจะดูไม่มากแต่ผู้หญิงจำต้องรับภาระนี้ไปตลอดชีวิต ทั้งนี้ยังได้ยกตัวอย่างประเทศที่ผ่านกฎหมายผ้าอนามัยฟรีอย่าง สกอตแลนด์ ประเทศที่ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย เช่น เคนยา มาเลเซีย อังกฤษ โดยมีความหวังว่าการเรียกร้องต่อภาครัฐในครั้งนี้จะเป็นการผลักดันที่เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มแรงงานหญิงทุกคน เพื่อสวัสดิการชีวิตที่ดีขึ้น

ด้านศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา ตัวแทนมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้กล่าวต่อในประเด็นสวัสดิการพื้นฐานของเด็กที่ควรได้รับอย่างถ้วนหน้าโดยไม่เลือกปฏิบัติ เนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางที่ควรได้รับการดูแลสนับสนุนจากทุกสถาบันในสังคมในฐานะที่จะเป็นกำลังและอนาคตของชาติ นอกจากนี้ยังระบุถึงประเด็นด้านสวัสดิภาพในชีวิตของผู้หญิง เด็ก และผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ ทั้งในระดับครอบครัวและสังคม โดยต้องการเรียกร้องให้รัฐจัดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือและเป็นที่พักพิงในสถานการณ์ฉุกเฉิน

โดยในช่วงบ่าย กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมมและองค์กรเครือข่าย ได้ร่วมกันเดินขบวนเพื่อนำหนังสือข้อเรียกร้องยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.ขอให้มีการกำหนดวันหยุดโดยได้รับค่าจ้างให้กับคนทำงานทุกคนในวันที่เป็นประจำเดือน

2.ขอให้รัฐจัดให้มีผ้าอนามัยแจกฟรีทั่วประเทศ

3.ขอให้รัฐจัดสวัสดิการให้กับเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติและสถานะ

4.ขอให้รัฐจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทุกกรณีในสถานการณ์ฉุกเฉิน


โดยมีองค์กรเครือข่ายเข้าร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้อง 19 องค์กร
1.กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม
2.สหพันธ์แรงงานข้ามชาติ
3.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
4.มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์
5.มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์
6.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
7.มูลนิธิเพื่อนหญิง
8.มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์
9.กลุ่มรุ้งอรุณ
10.เครือข่ายสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม
11.สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย
12.กลุ่มเฟมินิสต์ปลาแดก
13.กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง
14.มูลนิธิศักยภาพชุมชน
15.กลุ่มฟื้นสุข
16.กลุ่มหิ่งห้องน้อย
17.กลุ่มการเมืองหลังบ้าน
18.Rainbow Dream Group Thailand
19.Sapphic Pride

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net