Skip to main content
sharethis

งานศึกษาของ Solidarity Center พบวิกฤตสภาพอากาศและมลพิษส่งผลกระทบต่อคนทำงานโรงฟอกหนังในบังกลาเทศ


ที่มาภาพ: Solidarity Center

16 พ.ค. 2566 Solidarity Center ได้ทำการสำรวจชีวิตการทำงานและความเป็นอยู่ของคนทำงานโรงฟอกหนัง 200 คน ที่อาศัยอยู่ในเมืองเฮมาเยตปูร์ ประเทศบังคลาเทศ พบว่าผลกระทบจากมลพิษทางอุตสาหกรรม สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ และค่าจ้างที่ต่ำ ทำให้คนทำงาน ครอบครัว และชุมชนของพวกเขามีความเสี่ยงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศภายในประเทศ

“เมื่อรวมกับผลกระทบด้านสุขภาพ จากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบนั้นทวีคูณต่อคนงาน ครอบครัว และชุมชนของพวกเขา และมันกำลังสร้างความเสียหายอย่างมาก” ซอนยา มิสทรี หัวหน้าฝ่ายสภาพภูมิอากาศและความยุติธรรมด้านแรงงานของ Solidarity Center กล่าว

การศึกษาโดย Solidarity Center ได้รับการสนับสนุนโดยรองศาสตราจารย์มอสตาฟิซ อาห์เหม็ด แห่งมหาวิทยาลัย Jagannath พบข้อค้นพบในระยะแรก ได้แก่ :

- มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนทำงาน กล่าวว่าโอกาสในการมีงานทำของพวกเขาได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในจำนวนนี้เกือบ 70% ระบุว่ามาจากการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และยังรวมถึงการลดค่าจ้างด้วย

- มากกว่า 80% กล่าวว่าค่าจ้างของพวกเขาต่ำเกินไปที่จะจุนเจือครอบครัว และมากกว่า 90% ทำงานโดยไม่มีสัญญาจ้าง การจ้างงานที่ล่อแหลมทำให้ความเปราะบางรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง 

- 75% เคยประสบปัญหากระดูกแตก ร้าว หรือหักจากการทำงาน และในจำนวนใกล้เคียงกันประสบปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมถึงโรคหอบหืด

การผลิตเครื่องหนังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของบังกลาเทศ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ส่งออกเครื่องหนังรายใหญ่ที่ติดอับดับ 10 อันดับแรกของโลก เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่โรงฟอกหนังในแหล่งอุตสาหกรรมหลักในธากาทิ้งขยะพิษ 22,000 ลูกบาศก์เมตรลงในแม่น้ำ Buriganga ทุกวัน ทำลายล้างสิ่งมีชีวิตในน้ำและทำให้น้ำใต้ดินที่จำเป็นสำหรับการดื่มกินมีมลพิษปนเปื้อน

ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติ เพื่อให้บังกลาเทศปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ในโรงฟอกหนัง ในปี 2560 รัฐบาลบังกลาเทศ ได้สั่งให้คนทำงานโรงฟอกหนังประมาณ 25,000 คน และครอบครัว ย้ายจากเมืองฮาซาริแบกห์ หนึ่งในสถานที่ที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ไปยังโรงงานฟอกหนังแห่งใหม่ที่สร้างขึ้นในเมืองเฮมาเยตปูร์ แม้ว่าที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่จะมีโรงบำบัดน้ำทิ้งส่วนกลาง แต่กากตะกอนและน้ำทิ้งจากโรงงานทั้งหมดยังคงไม่ได้รับการบำบัดและภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมยังคงอยู่

“การมีส่วนร่วมกับคนทำงานและสหภาพแรงงานผ่านการเจรจาต่อรองร่วมและการพัฒนานโยบายเป็นสิ่งสำคัญในการปรับปรุงสภาพการทำงาน และการพัฒนาแนวปฏิบัติด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้จำเป็นต่อการปรับตัวอย่างเหมาะสมในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของคนทำงานและชุมชนของพวกเขา” มิสทรีกล่าว

สำหรับภาคส่วนโรงฟอกหนังของบังกลาเทศ Solidarity Center เป็นพันธมิตรกับสหภาพแรงงานโรงฟอกหนัง (TWU) ซึ่งทำงานมาเกือบ 60 ปี เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของคนงานในภาคส่วนนี้

อนึ่งบังกลาเทศเป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะพายุและอุทกภัย เนื่องจากอยู่ในเขตที่ได้รับผลกระทบจากพายุที่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย มักมีพายุระดับรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้เกิดน้ำท่วม และภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน


ที่มา:
BANGLADESH: UPCOMING REPORT DETAILS IMPACT OF CLIMATE CRISIS, POLLUTION ON TANNERY WORKERS (Carolyn Butler, Solidarity Center, 19 April 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net