Skip to main content
sharethis

ประชาชนภาคใต้ประกาศค้านแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง นักวิชาการชี้ไม่คุ้มค่า ส่งผลกระทบมาก รัฐผลักดันโครงการลัดขั้นตอน หวั่นกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้สร้างทางด่วนให้กลุ่มทุน 

17 พ.ย.2566 เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมองค์การบริการส่วนตำบลพะโต๊ะ เครือข่ายประชาชนชุมพร-ระนอง สภาประชาชนภาคใต้ และภาคีเครือข่ายในภาคใต้ ได้จัดกิจกรรม “ชำแหละแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ใครได้ใครเสีย ?” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย ผศ.ประสาท มีแต้ม ดร.อาภา หวังเกียรติ วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย พล.ร.ต.จตุพร สุขเฉลิม หาญณรงค์ เยาวเลิศ สมบูรณ์ คำแหง วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมโชค จุงจาตุรันต์ ดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย   

กิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน จาก 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สตูล พังงา กระบี่ และ ตรัง รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์จากสมาคมคลองไทย อีกทั้งมีการถ่ายทอดสดทางเพจ The Reporters สื่อเถื่อน สภาประชาชนภาคใต้ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ อุบัติเมืองมลพิษแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง และ สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการภาคใต้ Thai PBS

บรรยากาศในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการให้ข้อมูลโครงการและข้อมูลผลกระทบโครงการ มีการสกรีนธงพร้อมข้อความหยุดแลนด์บริดจ์ มีป้ายผ้าให้ข้อมูลและประกาศเจตนารมณ์คัดค้านโครงการ เช่น คนชุมพร-ระนอง ขอคัดค้านแลนด์บริดจ์, ขอท่านนายกโปรดหยุดโรดโชว์แผ่นดินทองของเรา No แลนด์บริดจ์, เราไม่พร้อมเสียสละให้นายทุน พะโต๊ะไม่ใช่คอนโดที่จะบอกขายชาวต่างชาติ, แลนด์บริดจ์ = อุตสาหกรรม เคราะห์กรรมของชาวใต้, แลนด์บริดจ์มา เกษตรล่มสลาย ประมงมลาย การท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลหมดไปตลอดกาล

ประสาท มีแต้ม จากสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์เริ่มต้นจากโครงการคอคอดกระ ความคิดนี้มีตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ ต่อมา พ.ศ. 2536 ในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย ได้เปิดโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์ จากขนอมไปกระบี่ ความกว้าง 200 เมตร ถนนเสร็จแล้ว มีโครงการก่อสร้างท่อน้ำมัน ท่าเรือ รถไฟ มีทุกอย่างเหมือนโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ลงทุนไปแล้ว 3,500 ล้านบาท ดำเนินการเสร็จในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่ดำเนินการแล้วเสร็จเฉพาะถนน แต่ส่วนอื่นๆ ไม่มี ไม่เกิด

“ณ วันนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เพิ่งรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านไปแค่ ค.1 เพื่อจะบอกว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่เป็นห่วง แล้วต้องมี ค.2 สรุปว่าประเด็นที่พี่น้องสำคัญหรือไม่สำคัญ จะแก้ไขอย่างไรใน ค.3 ขั้นตอนตามกฎหมายเป็นอย่างนั้น แต่ปรากฎว่าท่านนายกฯ เราไปขายแล้ว ขายจีน ขายอเมริกา ขายยุโรป ทั้งที่ยังไม่รู้เลย นิตยสารต่างประเทศบอกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่ชัดเจน และความคิดตรงนี้เป็นความคิดเก่าสมัยพระนารายณ์ โลกมันเปลี่ยนจากใช้น้ำมันไปใช้รถไฟฟ้า ในอนาคตซึ่งเริ่มเกิดขึ้นแล้วคนหันไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะฉะนั้นสินค้าในโลกนี้จากน้ำมันและถ่าน 40% มีแนวโน้มจะหายไป ในจีนรถยนต์ 20% เป็นรถไฟฟ้า ความต้องการขนส่งสินค้าถูกทำลาย แต่สิ่งที่รัฐบาลเร่ขายคืออดีต ความคิดในอดีตที่ตกสมัยไปแล้ว ทำไม่ไม่ไปทำโครงการที่ลงทุน 3,500 ล้าน ให้แล้วเสร็จ และหากมีการก่อสร้างที่นี่จะร้างเหมือนที่สุราษฎร์ กระบี่ ไหม นี่คือคำถามที่รัฐบาลต้องตอบก่อน” ประสาท กล่าว

อาภา หวังเกียรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า โครงการขนาดใหญ่เชื่อมระหว่างอ่าวไทยกับอันดามันมี 2 โครงการ คือ โครงการขุดคลอง และโครงการเชื่อม 2 ฝั่ง ด้วยท่าเรือขนาดใหญ่และระบบขนส่ง ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเครมีระยะที่ 3 ระบุชัดเจนว่ามีการขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจากภาคตะวันออกที่เต็มแล้ว หมุดหมายคือภาคใต้ ซึ่งสัมพันธ์กับโครงการแลนด์บริดจ์อย่างชัดเจน ในส่วนความคิดของกลุ่มทุนจะให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางพลังงานโลก ศูนย์กลางปิโตรเคมีของโลก 

“จริงๆ ไม่ได้ย้ายมาบตาพุดมาที่นี่ ท่าเรือแหลมฉบัง 2 เฟส เนื้อที่ประมาณ 4 พันไร่ ท่าเรือมาบตาพุดที่สร้างแล้ว 3,800 ไร่ เพราะฉะนั้นเฟส 1 ของท่าเรือระนอง และชุมพร ฝั่งหนึ่งใหญ่เป็น 2 เท่าของมาบตาพุด อีกฝั่งใหญ่เป็น 2 เท่าของแหลมฉะบัง เป็นโครงการแบบที่นายกฯ เศรษฐาพูด เป็นโครงการอภิมหา เป็นโครงการใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ การถมทะเลส่งผลกระทบต่อชายฝั่งเยอะมาก ตอนนี้สิ่งที่ระนองกับชุมพรจะเจอคือ พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ SEC พรรคการเมืองนำเสนอกฎหมายนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว กำลังรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 6 พ.ย. จะประกาศใช้ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

กฎหมายฉบับนี้เหมือนการรัฐประหาร เอาแผ่นดินเราไปขายให้ต่างชาติ จะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายโดยมีนายกฯ เป็นประธาน เปรียบได้กับประธาน คสช. มีเลขาธิการ เปรียบได้กับนายกฯ จะมีอำนาจเหนือทุกอย่างในพื้นที่ที่ประกาศ สามารถตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการขึ้นโดยเฉพาะ สามารถอนุมัติ EHIA ภายใน 120 วัน สามารถออกกฎหมายอะไรก็ได้เพื่อสร้างช่องทางด่วนพิเศษติดจรวดให้กลุ่มทุนมาลงทุนให้เร็วที่สุด ซึ่งรวมถึงการเวนคืนที่ดินด้วย สามารถเข้าไปใช้ที่ สปก. สามารถออก พ.ร.บ. เวนคืนที่ดิน มีอำนาจเหนือกฎหมายผังเมือง กฎหมายฉบับนี้จะเป็นทางด่วนพิเศษติดจรวดมาปล้นแผ่นดินของเราไปขายให้ต่างชาติในราคาถูก ไม่พอ ยังปูพรมแดงอีก สร้างมอเตอร์เวย์ ท่อส่งน้ำมัน ทางรถไฟ รถไฟรางคู่ นิคมอุตสาหกรรม ให้ต่างชาติมาช็อปปิ้ง นอกจากนั้นยังให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนอย่างมาก” อาภา กล่าว

วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย นักวิจัย ซึ่งติดตามโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง กล่าวว่า จากเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 มีการใช้ภาษาอังกฤษ โดยระบุว่ามีสินค้า ปิโตรเคมี น้ำมัน ถังสำรองปูน ไม่แน่ใจว่ามีการทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่หรือไม่ ในส่วนการให้ข้อมูลกับประชาชนไม่มีความครอบคลุมพื้นที่ บริเวณที่จะสร้างท่าเรือระนองมีการกำหนดพื้นที่ได้รับผลกระทบในรัศมี 3-5 กิโลเมตร เพียง 6 พื้นที่ จากการลงไปเก็บข้อมูลพบว่าช่วงระหว่างอ่าวอ่างถึงเกาะพยาม เกาะขาม เป็นพื้นที่แหล่งทรัพยากรของชาวประมงพื้นบ้าน เรียกกันว่าเป็นเหมืองของชาวประมง มีชุมชนรอบพื้นที่กว่า 10 ชุมชน ที่ใช้ประโยชน์บริเวณนั้น แต่ชาวบ้านในพื้นที่นั้นไม่ได้ถูกนับรวมเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ได้ถูกถามความคิดเห็น 

พล.ร.ต.จตุพร สุขเฉลิม คณะทำงานความมั่นคง สภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า ประชาชนที่คัดค้านโครงการไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของตนเองอย่างเดียว แต่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ ปกป้องเงินตราของประเทศไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายอีกด้วย แลนด์บริดจ์มีมิติว่าสร้างขึ้นเพื่อประหยัดเวลา แต่มันประหยัดเวลาได้อย่างมากแค่ 8 ชั่วโมง หรือ 16 ชั่วโมง เท่านั้น ไม่ได้ประหยัดเวลา 4 วัน 7 วัน อย่างที่กล่าวอ้าง แนวคิดที่คิดกันมามันผิดตั้งแต่เริ่มแรก มันไม่คุ้มค่า มีการขนส่ง 2 ต่อ การขนสินค้าจากท่าเรือขึ้นรถไฟหรือระบบขนส่งต้องเสียค่าขนส่งแพง การค้าของเราฝั่งอันดามันมีสินค้าน้อย แค่ 10% สินค้าส่วนใหญ่อยู่ทางฝั่งอ่าวไทยถึง 90% ในส่วนช่องแคบมะละกาไม่ได้แออัดตามที่กล่าวอ้าง ช่องทางเดินเรือมีความกว้างประมาณ 1.8 กม. แบ่งเป็น 2 ช่องทาง  

สมโชค จุงจาตุรันต์ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กล่าวว่า ผู้รับผิดชอบโครงการไม่เสนอข้อมูลให้เราเห็นข้อมูลภาพรวม ต้องเข้าร่วมเวทีย่อย รถไฟ มอเตอร์เวย์ ท่าเรือ เพื่อศึกษาข้อมูลเอง โครงการแลนด์บริดจ์ด้วยงบประมาณก่อสร้าง 1 ล้านล้านบาท ภายใต้การลงทุนแบบ PPP รัฐบาลมีหน้าที่ขับไล่ประชาชน เขาจ่ายค่าชดเชยอาสินให้ออกไปจากแผ่นดิน ปล้นแผ่นดินด้วยกฎหมาย เราโต้แย้งก่อนเพื่อไม่ให้โครงการนี้เกิด หากโครงการนี้เกิดทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐานที่เป็นของคนชุมพรระนองจะถูกทำลาย ถูกยกไปให้ต่างชาติ เราต้องการให้ภาครัฐหันมาฟังเราบ้าง เริ่มต้นกันใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ไม่ใช่หลับหูหลับตาเอาข้อมูลด้านเดียวมาใส่หูประชาชน  

พื้นที่ก่อสร้างท่าเรือส่งผลกระทบต่อชาวประมง แหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำ แนวปะการัง ที่ชุมพรมีที่ท่องเที่ยวเกาะพิทักษ์ ที่ระนอง ราชกรูดมีประชากรเยอะประมาณ 5,000 คน มีไทยพลัดถิ่นประมาณ 200 คน มอแกลน 500 คน พื้นที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ระนอง ต.ราชกรูด 3,369 ไร่ ชุมพร อ.พะโต๊ะ 18,740 ไร่ อ.หลังสวน 47,800 ไร่ หากนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจะกระทบแหล่งน้ำที่นำมาใช้ในภาคเกษตร กังวลว่าจะเหมือนภาคตะวันออก บทเรียนจาก EEC ไม่อยากให้ภาคอุตสาหกรรมมาแย่งน้ำ น้ำควรเป็นทรัพย์สินสาธารณะ ประกอบกับ พ.ร.บ. SEC เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของเรา นิคมอุตสาหกรรมแย่งทุกอย่างไป เขาให้ของเสียเราอย่างเท่าเทียมกัน

พะโต๊ะทำเกษตรเป็นหลัก 6,178 ครัวเรือน 97.07% น้ำเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่มีเงินซื้อปุ๋ยรอได้ แต่ถ้าไม่มีน้ำรดพืชผลเกษตรเสียหายตายจาก ต้องเริ่มต้นใหม่ พะโต๊ะมีฐานทรัพยากรที่สมบูรณ์ มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ 1A เป็นแหล่งกำเนิดชีวิต กำเนิดแม่น้ำหลังสวน อุดมไปด้วยสัตว์ป่า กระทิง หมี ช้าง วัวแดง โครงการมีการเจาะอุโมงค์ 3 ที่ ในพื้นที่ อ.พะโต๊ะ กับ อ.หลังสวน หากมีการสร้างทางรถไฟ เจาะอุโมงค์ ทางน้ำจะเปลี่ยน 

“สินค้าที่ชาวพะโต๊ะภูมิใจคือทุเรียน พะโต๊ะมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 23,447 ไร่ ผลผลิต 55,460 ตัน และมังคุด 11,952 ไร่ ผลผลิต 25,849 ตัน สินค้าที่เราผลิตมีมาตรฐานปลอดภัย ซึ่งทางเกษตรรับรอง รายได้จากทุเรียนมังคุดปาล์มน้ำมันยางพาราของพะโต๊ะไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี อยู่ในมือประชาชน ถ้าแลนด์บริดจ์มาผลประโยชน์อยู่ที่กลุ่มทุน ขอเรียกร้องให้นายกฯ หยุดโรดโชว์ก่อน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนให้ครบทุกเวที ให้กระบวน EHIA แล้วเสร็จก่อน ประเทศไทยไม่ใช่คอนโด ถ้าอยากจะขาย อยากเป็นเซลล์แมน เรียกร้องให้ท่านมาขายทุเรียนจะเป็นประโยชน์กับคนพะโต๊ะมาก” สมโชค กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของกิจกรรม สภาประชาชนภาคใต้และภาคีเครือข่ายร่วมออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลเศรษา โดยระบุว่า “พวกเราไม่พร้อมที่จะเสียสละสิ่งที่เรามีอยู่ทั้งหมด อันเป็นฐานศักยภาพของผืนดินแห่งนี้ ทั้งทะเลชายฝั่ง ที่ดินทำกินสวนทุเรียน สวนผลไม้แหล่งน้ำ ป่าไม้ภูเขา ตลอดไปถึงสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตพื้นถิ่นของพวกเรา ด้วยการปล่อยให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีที่ชื่อเศรษฐา ทวีสิน ที่กำลังถือวิสาสะว่าเป็นผู้นำประเทศแล้ว จะดำเนินการอย่างไรกับพวกเราก็ได้เพียงอ้างคำว่า “พัฒนา”และจะทำให้ประเทศนี้เจริญขึ้น แล้วออกเดินสายเพื่อขายทุกอย่างที่พวกเรามีให้กับใครก็ได้โอกาสนี้ เราขอประกาศร่วมกันว่า เราจะไม่ยอมปล่อยให้ท่านนำศักยภาพและฐานทรัพยากรทั้งหมดนี้ ประเคนให้กับกลุ่มทุนต่างชาติ และตอบสนองความต้องการของนักการเมืองและคนบางกลุ่มภายในประเทศ ภายใต้โครงการขนาดใหญ่ที่ชื่อ “แลนด์บริดจ์ ระนอง – ชุมพร” ทั้งขอประกาศอย่างเป็นทางการว่า พวกเราจะร่วมกันคัดค้านโครงการนี้ร่วมกันอย่างถึงที่สุด จนกว่ารัฐบาลจะหยุดโครงการนี้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net